พรนภา ศิริบุญญฤทธิ์ ‘รุกขกร’ที่ทำหน้าที่ไม่แพ้เพศชาย
ตกแต่งต้นไม้อย่างมีศิลปะและรักษาสุขภาพต้นไม้ เหล่านี้คือสิ่งที่ 'รุกขกร' ทำ และจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้แต่ละชนิดด้วย
รุกขกร (arborist) หรือ หมอต้นไม้ ผู้ดูแลต้นไม้ เป็นอาชีพใหม่ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย ตลาดกำลังมีความต้องการสูง ส่วนใหญ่คนทำอาชีพนี้จะเป็นเพศชาย แต่ก็มีเพศหญิงที่สนใจในอาชีพนี้อยู่บ้าง ‘พิมพ์ พรนภา ศิริบุญญฤทธิ์’ หนึ่งในรุกขกรหญิง บริษัท รุกขกรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งทำงานด้านนี้เพราะรักธรรมชาติและต้นไม้
เมื่อปีที่แล้ว เธอได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันปีนต้นไม้ The Asia Pacific Tree Climbing Championship 2019 (APTCC) ที่ เมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ประเภท Women's throwline ได้ประสบการณ์การจัดการต้นไม้ในเมืองที่นิวซีแลนด์มาใช้ในเมืองไทย
- มาทำอาชีพรุกขกรได้อย่างไร
พิมพ์จบคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เรียนเรื่องเกี่ยวกับป่าไม้ ซึ่งป่าไม้ก็มีหลายสาย เกี่ยวกับสัตว์ป่า, การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ,วนผลิตภัณฑ์ การนำเนื้อไม้มาใช้ การทำเยื่อกระดาษ มีหลากหลายสาขา พิมพ์จบสาขาชีววิทยาป่าไม้ เรียนเกี่ยวกับชีววิทยาของต้นไม้ เพื่อจะรู้ว่าต้นไม้มีธรรมชาติยังไง การตอบสนองต่อความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร เป็นคณะเดียวที่เรียนเกี่ยวกับวนศาสตร์ในประเทศไทย ค่อนข้างเฉพาะทาง
- จำเป็นไหมว่าคนที่จะมาทำอาชีพนี้จะต้องจบด้านป่าไม้
ถ้าจบวนศาสตร์มา ก็เป็นสายตรงกับงานรุกขกรรมเลย ถ้าเป็นสาขาที่ใกล้เคียง ก็เรียนคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ หรือว่าคณะที่เรียนเกี่ยวกับพืช แต่ว่างานรุกขกรรมจะเน้นเรื่องไม้ยืนต้น ส่วนทางด้านวนศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับป่าไม้ยืนต้นในป่า ก็ต้องมีการนำมาประยุกต์ใช้กับไม้ในเมือง ซึ่งธรรมชาติก็จะคล้าย ๆ กัน แต่ว่านิเวศวิทยาของไม้ในป่ากับในเมืองก็จะแตกต่างกัน
- งานปีนต้นไม้ น่าจะเหมาะกับผู้ชายมากกว่าไหม
ถ้าพูดถึงสัดส่วน ผู้ชายก็จะเยอะกว่า เพราะว่าเป็นงานภาคสนาม คือต้องออกไปดูหน้างานว่า ลูกค้ามีต้นไม้ต้นไหนให้เราต้องดูแล หลังจากประเมินเสร็จแล้วต้องเสนอราคา ก็จะมีทีมที่จะเข้าไปปีนป่าย แก้ไขปัญหาต่างๆ ลักษณะงานจะออกเอาท์ดอร์ตลอด ต้องลุยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็มีบ้าง ผู้หญิงที่ปีนต้นไม้เป็นอาชีพเลยก็มี
จะว่าไปแล้วผู้หญิงกับผู้ชาย ทักษะในการทำงานเกี่ยวกับรุกขกร ถือว่าพอๆ กัน อาศัยเรื่องเทคนิคต่างๆ ซึ่งผู้หญิงก็จะเรียนรู้เรื่องเทคนิคได้ อาจจะแพ้ตรงที่แรงน้อยกว่า แต่ว่าด้านเทคนิคการคิด การวิเคราะห์งาน การแก้ปัญหาเท่ากัน
- ทุกคนจะต้องเรียนเรื่องทักษะการปีนต้นไม้ด้วยใช่ไหม
ใช่ค่ะ ต้องฝึก งานรุกขกร ภาพที่ทุกคนเห็นจนชินตา คือ การปีนต้นไม้ จริงๆ แล้วงานรุกขกร มันแยกย่อยออกไปอีกเยอะ หน้าที่เกี่ยวกับรุกขกรไม่ใช่แค่ปีนต้นไม้ ขึ้นไปปรับแต่ง จะต้องทำตั้งแต่เรื่องการประเมินว่าต้นไม้ต้นนี้มีสุขภาพเป็นยังไง จะต้องแก้ไขปัญหายังไง ไปจนถึงปีนขึ้นไปแล้วก็ลงมา แล้วหลังจากนั้นจะดูแลต่อไปอย่างไร มีการฝึกจนครบวงจรเลย จะมีอีกส่วนหนึ่งคือ ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้(Tree Worker Climber) ซึ่งรุกขกรจะเป็นผู้ควบคุมทั้งกระบวนการ โดยมี Tree Worker Climber เป็นมือ รุกขกรก็ควบคุมงานปีนให้ไปรักษาสุขภาพต้นไม้
- มีแรงบันดาลใจอย่างไร ถึงมาทำอาชีพนี้
อาชีพรุกขกรเพิ่งเป็นที่รู้จักในประเทศไทย มีคนทำงานด้านนี้อย่างจริงจังไม่ถึง 5 ปี ตอนเด็ก ๆ เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า อาชีพรุกขกรคืออะไร รู้แค่ว่าเราชอบเรื่องธรรมชาติ เราชอบต้นไม้ ชอบเดินเที่ยวตามธรรมชาติ พอเรารู้ตรงจุดนั้น มันก็เลยเป็นที่มาของการเลือกเรียนคณะวนศาสตร์ มีความรู้สึกว่าอยากจะรักษาธรรมชาติที่เราชอบ รู้สึกว่าเราอยู่กับมันแล้วเรามีความสุข พอเรียนไปสักพักหนึ่ง ก็เริ่มเห็นว่าสายวนศาสตร์ ไม่ใช่ทำงานแค่ในส่วนราชการ กรมป่าไม้ หรือว่า ในพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่อุทยาน เท่านั้น ยังทำอาชีพรุกขกรได้
ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเอ็กซ์ตรีม ชอบเอาท์ดอร์อยู่แล้ว มาเจอการปีนต้นไม้ มันยิ่งท้าทายไปใหญ่ แล้วเราเป็นผู้หญิงด้วย ซึ่งมีจำนวนน้อยมากในตอนนี้ ที่ผู้หญิงจะทำอาชีพรุกขกร มันก็เลยจุดประกายเราว่า ถ้าเราทำมันได้ดี แล้วรักที่จะทำ ก็คงจะทำได้ดี เป็นแรงบันดาลใจตรงนี้มากกว่า เป็นอาชีพที่ท้าทายสำหรับผู้หญิง
- ตอนนี้มีรุกขกรผู้หญิงกี่คน
ไม่ถึง 10 คน เราเป็นบริษัทเอกชน แต่มีน้องๆ หรือรุ่นพี่ที่จบวนศาสตร์ด้วยกันออกมารับดูแลต้นไม้ ทำงานเป็นรุกขกรด้วยเหมือนกัน แต่ว่ายังน้อยอยู่ ที่รู้จักเห็นหน้ากันจริง ๆ จัง ๆ มี 5-6 คน เลยคิดว่าไม่น่าจะถึง 10 คน เราทำงานบริษัท รุกขกรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ทำงานร่วมกับ Big Trees รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีโปรเจคเกี่ยวกับต้นไม้ในเมือง งานรุกขกรเป็นส่วนหนึ่งที่บิ๊กทรีกำลังขับเคลื่อน พยายามส่งเสริมให้มีอาชีพนี้ มีการระดมรุกขกรอาสาไปทำงานจิตอาสา เพื่อดูแลต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ เราทำงานร่วมกับบิ๊กทรีบ่อย ๆ เพราะว่าเขาไม่มีรุกขกรในสังกัด แล้วก็จะมีเครือข่ายทำงานกับทีมอื่น ๆ ที่เป็นบริษัทบ้าง เป็นทีมที่รับตัดแต่งต้นไม้ รวม ๆ ที่รู้จักไม่น่าจะเกิน 10 ทีม
- สามารถทำเป็นอาชีพจริงจัง เลี้ยงชีพได้เลยไหม
ตอนนี้ถือว่าเป็นอาชีพเลย บริษัทเราก็รับดูแล รับตัดแต่งต้นไม้ทั่วไป ทั่วประเทศ นอกจากนี้มีทีมอื่น ๆ ที่เราส่งงานให้บ้าง ที่ผ่านมาไปออกภาคสนามที่วังจักรพงษ์ ประเมินสภาพต้นไม้ กลับมาวางแผน ทำแผนงาน เสนอลูกค้า ถ้าลูกค้าคอนเฟิร์ม อยากให้เราเข้าไปทำ ก็เข้าไปทำ แต่ถ้างานล้นมือ เราก็ส่งต่อให้ทีมอื่น
- เวลาไปประเมินสภาพต้นไม้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง
จะมีอุปกรณ์กล้องส่องทางไกลเพราะว่าต้นไม้ที่เราดูแลเป็นไม้ยืนต้น เป็นไม้สูง ต้องมีกล้องส่องไปถึงข้างบน แล้วก็มี ดาต้าชีท ให้จดบันทึกว่าเราพบเจอปัญหาอะไรกับต้นไม้ต้นนั้นบ้าง แล้วก็มีอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ค้อนยาง ไว้ตรวจเช็คต้นไม้ เสียมมือ อารมณ์คล้าย ๆ หมอไปตรวจคนไข้ เข็มฉีดยา ก็มี แต่เป็นขั้นตอนที่ทีมปฏิบัติการเข้าไปทำงาน สำหรับครั้งแรก เราจะไปประเมินเบื้องต้นก่อน เป็นการดูอาการเฉย ๆ ว่าอาการเป็นแบบนี้ พอเราทำแผนงานออกมาว่าเราจะแก้ไขยังไง จะวางแผนดูแลการรักษายังไง จากนั้นเราก็ส่งแผนการรักษานี้ต่อไปยังทีม B ซึ่งจะมีตั้งแต่อุปกรณ์นิรภัยที่เอาไว้ปีนขึ้นไป มีเชือก มีหมวกนิรภัย มีชุดใส่เกี่ยวตัวเองกับเชือก มีเข็มฉีดยา มีอุปกรณ์ใส่ปุ๋ย อุปกรณ์ฉีดพ่นน้่ำยา เป็นในส่วนของหน้างาน
- คนที่ไม่ได้เรียนจบด้านนี้ แต่ชอบปีนต้นไม้ จะทำอาชีพนี้ได้ไหม
จำเป็นต้องจบด้านป่าไม้มาค่ะ เพราะว่าเหมือนหมอเลย เราต้องรู้ว่ามีระบบ มีอวัยวะภายในร่างกายเป็นยังไง ถ้าไม่รู้ เขาก็จะไม่รู้ว่าจะรักษายังไง รุกขกร ถ้าไม่รู้ธรรมชาติของต้นไม้เลย ไม่รู้ว่าการลงเลื่อยตัดกิ่งในแต่ละครั้ง จะตัดโดนส่วนไหน แล้วตัดแบบนี้ถูกหรือยัง ถ้าคุณตัดผิดก็ทำให้ต้นไม้เกิดโพรง เกิดแผลที่ไม่จำเป็น เราจึงต้องมีความรู้เรื่องธรรมชาติของต้นไม้ เพราะว่าต้นไม้แต่ละต้น แต่ละชนิด มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนกันเลย
เราไม่สามารถเอาต้นไม้ที่หลากหลายชนิดพวกนี้ไปปลูกที่ไหนก็ได้ เราต้องรู้ว่ามันชอบดินแบบไหน ชอบน้ำแบบไหน เป็นความรู้ที่รุกขกรต้องมี มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรักษาต้นไม้ต้นนี้ได้ เช่น เอาต้นโกงกางที่ขึ้นตามป่าชายเลน มาปลูกบนบก มันก็ตาย
- แม้ว่ารุกขกรจะมี Tree Worker Climber เป็นผู้ช่วยหลัก แต่ก็ต้องปีนต้นไม้เป็นด้วยใช่ไหม
ทุกคนจะต้องปีนเป็นค่ะ รุกขกรแม้จะถูกแยกออกจาก Tree Worker Climber แต่ทุกคนจะต้องปีนเป็น ไม่เช่นนั้นคุณจะคุมงานไม่ได้ แล้วเราจะบอกเขาได้ยังไง รุกขกร ไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ในการปีนเป็นหลัก แต่รุกขกรต้องมีความรู้ในการปีน ต้องปีนเป็น เพื่อที่จะดูคนปีนได้ แล้วก็ต้องฝึกกับต้นไม้จริง ฝึกตัดแต่งกิ่งไม้ที่ตกลงมา หรือต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ก่อน
เบื้องต้นก่อนที่คุณจะปีนต้นไม้จริง คุณมาตัดต้นเตี้ย ๆ ต้นเล็ก ๆ ให้เป็นก่อน จะได้ไม่ต้องไปพะวงเรื่องปีน เมื่อเรียนเรื่องตัดได้แล้ว ค่อยไปฝึกปีน การฝึกปีนก็ปีนอย่างเดียวไปก่อนอย่าเพิ่งตัด พอมีความรู้ทั้งปีนและตัดได้พร้อมกันแล้ว ค่อยปีนขึ้นไปตัด”
- ฝีกนานไหมกว่าจะทำงานได้จริง
ปัจจุบันมีการเปิดคอร์สอบรมให้กับผู้สนใจ อยากฝึกปีนตัดแต่งต้นไม้ เป็นคอร์สวันเดียวก็มี แต่เนื้อหาไม่เต็มที่ อาจจะรู้แค่เบื้องต้น เราไม่แนะนำว่าคุณจบคอร์สหนึ่งวันแล้ว คุณจะไปปีนตัดต้นไม้ได้เลย คอร์สแบบนั้น เรียนแค่รู้หลักการ รู้ไอเดีย สามารถดูแลต้นไม้ในบ้านได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นประกอบอาชีพ ยังมีคอร์ส 5-6 วัน คอร์ส 20 วัน มีตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงระดับใหญ่ ทุกคนจะต้องไปเรียน ไปเข้าคอร์ส เรื่องการใช้อุปกรณ์ นอกเหนือจากที่เราจะต้องรู้ตำแหน่งต้นไม้ให้ดีแล้ว เราก็ต้องมีการเซฟตัวเองที่ปีนขึ้นไปตัดด้วย ก็เลยต้องฝึกกันเยอะหน่อย เราจะต้องรู้จักอุปกรณ์ทุกชิ้นที่เราต้องเซตขึ้นมา เพื่อที่จะปีนขึ้นไปข้างบน มันเป็นความเสี่ยง เป็นเรื่องความปลอดภัยที่ต้องเรียนรู้
- ในส่วนของคอร์สอบรม ต้องเรียนอะไรบ้าง
เราสอนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานเลย ความรู้เรื่องต้นไม้ ธรรมชาติของต้นไม้ เขามีโครงสร้างเป็นยังไง เขาต้องการอะไร เรื่องปุ๋ย เรื่องน้ำ เรื่องแสงแดด เป็นการสอนภาคบรรยายวิชาการ จากนั้นก็มาสอนเรื่องการตัดแต่งที่ถูกวิธีว่า เราควรที่จะตัดแต่งต้นไม้ที่ตำแหน่งไหน วิธีการตัดเป็นยังไง ให้ต้นไม้มีความบอบช้ำน้อยที่สุด ให้แผลต้นไม้สมานได้ดีที่สุด แล้วก็เข้าฟอร์มเข้าโครงสร้างที่ดีของต้นไม้
มีเรื่องของการประเมินความเสี่ยงว่า ต้นไม้แต่ละต้นที่เราจะเข้าไปจัดการ เราจะลำดับความสำคัญมันยังไง เพราะว่าต้นไม้มีความเสี่ยงอันตรายกับพื้นที่รอบ ๆ พอเราประเมินความเสี่ยงเสร็จแล้ว เราจะรู้ว่าต้นไม้ต้นนี้มีความเสี่ยงสูงนะ ต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วน หรือต้นไหนมีความเสี่ยงน้อย เราก็อาจจะเก็บไว้จัดการทีหลังได้
ความเสี่ยงประกอบไปด้วยสองอย่างคือ ต้นไม้มีโอกาสที่จะหักจะโค่น มีโอกาสที่จะโดนคน โดนบ้าน โดนรถที่จอดอยู่ เราก็มาประเมินให้คะแนน ต้นไม้นี้จัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงสูงนะ ต้องรีบเข้าไปจัดการ หัวข้อถัดไปคือการปีน การเซฟตี้และการทำงานบนต้นไม้อย่างปลอดภัย เป็นภาคปฏิบัติ เราก็ออกไปปีน ไปเดินบนกิ่งไม้ แล้วก็ตัดแต่ง