ชวน 'ทำกระทง' ต้อนรับ 'Halloween 2020' พร้อมรู้จักกระทงไทยแบบต่างๆ
เมื่อ "ลอยกระทง" ตรงกับ "ฮาโลวีน" ชวนส่องไอเดีย "ทำกระทง" ให้เข้ากับธีม "Halloween 2020" ที่ทำเองได้ไม่ยาก พร้อมไปทำความรู้จักกระทงไทยในแบบต่างๆ ให้มากขึ้น
ปีนี้ "ลอยกระทง" เป็นวันเดียวกันกับ "ฮาโลวีน" พื้นที่จัดงานลอยกระทงหลายแห่ง จึงออกแบบ Theme งานให้สอดคล้องกับ "Halloween 2020" ไปพร้อมกัน ส่วนคนที่แพลนว่าจะไปลอยกระทงกับเพื่อนๆ หรือกับคนรัก คงกำลังมองหาไอเดีย "ทำกระทง" ให้เข้ากับธีมวันปล่อยผี อยู่แน่ๆ งั้นลองเอาไอเดียเหล่านี้ไปลองทำกระทงดูสิ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาส่องไอเดียทำกระทงวันฮาโลวีนที่มีชาวเน็ตออกมาแชร์กันในโลกออนไลน์ เผื่อใครจะลองเอาไปรับใช้ "ทำกระทง" ของตัวเองดูบ้าง นอกจากนี้เราจะพาไปส่องกระทงของไทยในท้องถิ่นต่างๆ ว่ามีความเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างในแต่ละภาค
- วิธี "ทำกระทง" ต้อนรับ "Halloween 2020"
มีไอเดียจากชาวเน็ตหลายคนที่มาแชร์วิธีทำกระทงในธีมวันฮาโลวีน ซึ่งวัสดุหลักๆ ที่นำมาใช้ทำกระทงก็คือ 'ฟักทอง' จะใช้เป็นฟักทองไทยหรือฟักทองสายพันธุ์ต่างประเทศก็ได้ เลือกเอาตามสะดวก จากนั้นนำมาเจาะรูด้านบนที่เป็นขั้วฟักทอง ให้เป็นวงกลม (ขนาดใหญ่สักหน่อย) แล้วใช้ช้อนคว้านไส้ข้างในออกมาให้หมด
จากนั้นออกแบบหน้าตาฟักทองให้เข้ากับธีมผีๆ ในวันฮาโลวีน ใช้มีดเจาะรูดวงตา และปาก ให้หน้าผีฟักทอง จากนั้นนำดอกไม้ที่ชอบ พร้อมธูป และเทียน มาประดับตกแต่งลงไปในลูกฟักทอง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ จากฟักทองธรรมดาก็กลายเป็นกระทงฟักทองในธีม "ฮาโลวีน" ที่สามารถนำไปลอยกระทงเก๋ๆ ได้แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กดเลย! 'ลอยกระทงออนไลน์' อยู่ที่ไหนก็ลอยได้ไม่สร้างขยะเพิ่ม
- ปักหมุดเที่ยวงาน 'ลอยกระทง 2563' กรุงเทพฯ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น
- เปิดที่มาประเพณี 'ลอยกระทง' พร้อมเผยบทสวดขอขมา 'พระแม่คงคา'
แบบที่ 1 : กระทงฟักทองสไตล์ฝรั่ง
ที่มา: Kamerr Inter กระทงหลงทางจากฟักทองฮาโลวีน
แบบที่ 2 : กระทงฟักทองสไตล์ไทยๆ
นอกจากกระทงเก๋ๆ ในธีมวันฮาโลวีนแล้ว เราจะพาไปย้อนรอยดูกระทงไทยแบบดั้งเดิมกันบ้าง โดยปกติเราก็มักจะคุ้ยเคยกับกระทงแบบภาคกลาง คือ กระทงที่ทำจากใบตองเป็นส่วนใหญ่ แต่ประเพณีลอยกระทงเกิดขึ้นทั่วทุกภาคในประเทศไทย ดังนั้นกระทงจึงมีหน้าตาแบบอื่นๆ ด้วย เรารวบรวมมาให้ชมกัน ดังนี้
- ลอยกระทงภาคกลาง ใช้กระทงใบตองรูปดอกบัว
ว่ากันว่าประเพณี "ลอยกระทง" มีอิทธิพลมาจาก 'ตำนานนางนพมาศ' ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยนั้นมีเทรนด์การทำกระทงในรูปแบบกระทงใบตองรูปดอกบัว ส่วนในกระทงจะใส่ธูป เทียน ดอกไม้ และใส่เหรียญเงินในกระทง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และในปัจจุบันก็มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น
รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกระทงให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เช่น "กระทงเทียนไข" (ลอยเสร็จแล้วเก็ยกลับขึ้นมาหลอมเป็นเทียนใช้ต่อได้) หรือ "กระทงน้ำแข็ง" ที่สามารถละลายไปกับน้ำได้ ไม่เกิดขยะจากใบตอง เป็นต้น
- ลอยกระทงภาคเหนือ ใช้กระทงกาบกล้วย
ถ้าลองไปดูกระทงของทางภาคเหนือ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ จังหวัดลำปาง จะมีประเพณี ล่องสะเปา ก็คือประเพณีลอยกระทงของชาวเหนือ ที่มีรูปแบบกระทงแปลกตาออกไปจากภาคกลางนั่นคือ ชาวบ้านจะนำ "กาบกล้วย" มาทำเป็นรูปเรือสำเภา ใช้สำหรับลอยกระทงในแม่น้ำ ถ้าเป็นแบบดั้งเดิมเลยนั้น นอกจากจะใส่ดอกไม้ธูปเทียนลงในกระทงแล้ว เขาจะใส่ข้าวปลา อาหาร และเครื่องเซ่น ลงไปด้วย
หรืออย่างแถบภาคเหนือตอนล่าง แต่เก่าก่อนพวกเขาจะเย็บกระทงใบตองสี่มุม แล้วใส่หมากพลู เครื่องเซ่น แล้วเอาไปวางบนแพที่ทำจากต้นกล้วยอีกที และใส่เงินเหรียญไปด้วย เรียกว่า "แพกระทงเซ่น" โดยมีความเชื่อกันว่า ข้าวของและเครื่องเซ่นต่างๆ ที่ใส่ในกระทงนั้น เป็นการอุทิศให้กับบรรพบุรุษที่อยู่แสนไกล ที่คิดถึง อีกนัยหนึ่งก็อุทิศให้กับตัวเอง เอาไว้ใช้สอยในภพหน้าโน้น
- กระทงสาย กระทงเฉพาะถิ่นจังหวัดตาก
ประเพณีลอยกระทงสายจังหวัดตาก เป็นประเพณีที่แสดงการคารวะแม่น้ำปิงของประชาชนจังหวัดตาก ซึ่งมีตำนานบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า ชาวบ้านลงเรือออกไปหาปลาในแม่น้ำปิงช่วงวันเดือนเพ็ญ เมื่อคิดถึงบ้าน จะนำกะลาลอยอาหารผ่านสายน้ำปิง ไปสู่คนที่บ้านซึ่งอยู่ท้ายน้ำ ชาวประมงจึงสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำเป็นทั้งแหล่งอาหาร และเป็นสื่อกลางนำพาความคิดถึงไปสู่คนทางบ้าน
ต่อมาได้มีการพัฒนาการทำกระทงสาย โดยใช้กะลาบรรจุน้ำมันเทียน ลอยในแม่น้ำปิง เพื่อรำลึกและทดแทนพระคุณแม่น้ำปิงจนกลายเป็นกระทงสาย ประเพณีลอยกระทงสายจึงเป็นความภาคภูมิใจของคนจังหวัดตาก ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีเดียวในประเทศไทย และแห่งเดียวในโลก
- กระทงภาคใต้ ใช้หยวกกล้วยทำแพกระทง
ประเพณีการลอยกระทงของชาวใต้ ส่วนใหญ่นำเอา 'หยวกกล้วย' มาทำเป็นแพบรรจุอาหารเครื่องคาวหวาน แล้วลอยไปตามแม่น้ำ การลอยกระทงทางภาคใต้ ไม่มีกำหนดว่าเป็นช่วงกลางเดือน 12 เหมือนภาคอื่นๆ แต่จะลอยกระทงเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อให้หายโรคภัยไข้เจ็บที่ตนเป็นอยู่ เป็นการลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์เป็นหลัก
ส่วนการตกแต่งกระทงเรือ หรือกระทงแพลอยเคราะห์ จะมีการแทงหยวกเป็นลวดลายสวยงาม ประดับด้วยธงทิว ภายในบรรจุดอกไม้ ธูป เทียน เงินและเสบียงต่างๆ ตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น
- ลอยกระทงภาคอีสาน มาพร้อมเทศกาลไหลเรือไฟ
การลอยกระทงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า เทศกาลไหลเรือไฟ จัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดนครพนม โดยการนำหยวกกล้วยหรือวัสดุต่างๆ มาตกแต่งเป็นรูปพญานาคและรูปร่างอื่นๆ ตามจินตนาการ ข้างในเรือบรรจุด้วยข้าวต้มมัด ส่วนข้างนอกมีเรือจะใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดเรือให้สว่างไสวทั่วลำเรือ
ประเพณีนี้สืบทอดปฏิบัติกันมาในเทศกาลออกพรรษา (วันขึ้น 15 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำเดือน 11) ไม่ได้ทำในวันลอยกระทง (วันขึ้น 15 เดือน 12) แต่มูลเหตุของการปล่อยเรือไฟนี้ มีคตินิยมเช่นเดียวกับ "การลอยกระทง"