‘ไก่งวง’ ทำไมต้องกินใน 'วันขอบคุณพระเจ้า'
"วันขอบคุณพระเจ้า" (Thanksgiving Day) ตรงกับวันพฤหัสบดีที่สี่ ของเดือนพฤศจิกายน วันนี้ชาวคริสต์จะฉลองกันด้วยเมนู "ไก่งวง" ยัดไส้อบ และของหวานอย่างพายแอปเปิ้ล หรือพายฟักทอง ซึ่งกินกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17
ประเพณีกิน ไก่งวง ในวันขอบคุณพระเจ้า เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1620 เมื่อผู้แสวงบุญจากอังกฤษ หรือพิลกริม (Pilgrim) ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากประเทศอังกฤษ ด้วยเรือ Mayflower มาขึ้นฝั่งที่เมืองพลีมัธ (Plymouth) ในรัฐแมสซาชูเสตต์ จากนั้นอีก 1 ปี ชาวพิลกริม หรือ Puritans ที่ต้องการเป็นอิสระต่อข้อบังคับทางศาสนาและการเมือง
หลังจากอยู่รอดปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ และอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว ในอเมริกาเหนือ ได้จัดงานฉลองวันขอบคุณพระเจ้า และฉลองให้กับการเก็บเกี่ยว เรียกว่า First Thanksgiving เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1621
ต่อมาสมัยประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ได้เปลี่ยนวันขอบคุณพระเจ้ามาเป็นวันพฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายน เมื่อปี 1863 เหตุผลก็เพื่อให้มีเวลาหยุดพักสักหน่อยก่อนถึงเทศกาลฉลองวันคริสต์มาส
ในวันขอบคุณพระเจ้านั้น ชาวพิวริทันส์หรือพิลกริม ได้เชิญชาวอินเดียนพื้นเมืองมาร่วมฉลองกับพวกเขาด้วย ซึ่งมี ไก่งวงป่า เป็ด ห่าน ปลาค็อด และกวาง อยู่ในมื้ออาหาร และคงมีข้าวโพดคั่ว ที่เหมือนป๊อปคอร์น กินเป็นอาหารว่าง โดยชาวอินเดียนพื้นเมืองสอนคนขาวทำอาหารจากข้าวโพด พืชพื้นเมืองในอเมริกา รวมทั้งสอนคนขาวปลูกพืชผักต่าง ๆ
ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็น ไก่งวง ก็เพราะไก่งวงเป็นสัตว์ปีกพื้นเมืองในอเมริกา พบได้ทั่วไป จริง ๆ ไก่งวง จัดอยู่ในสัตว์จำพวกนก (ไม่ใช่ไก่) แต่เป็นนกที่บินไม่ได้ และชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มันจึงง่ายต่อการถูกล่า ยิงไก่งวงง่ายกว่ายิงนกเพราะมันบินไม่ได้และตัวใหญ่ ยิงไก่งวง 1 ตัว ทำอาหารเลี้ยงคนได้ทั้งครอบครัว นับแต่นั้นมาไก่งวง จึงเป็นอาหารขึ้นโต๊ะฉลองวันขอบคุณพระเจ้า และเลยไปถึงฉลองวันคริสต์มาสด้วย
แล้วทำไมต้องกิน ไก่งวง นักสืบสายอาหารบอกว่า พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงชอบกินไก่งวงในงานฉลองคริสต์มาส ต่อมาถึงยุคควีนเอลิซาเบ็ธ พระธิดาของพระองค์ ทรงโปรดห่านอบมากกว่า อย่างไรก็ดี คำว่า ไก่งวง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Turkey ซึ่งหมายถึงประเทศตุรกี และชาวตุรกี แล้วทำไมถึงนำมาตั้งชื่อให้ไก่ตัวใหญ่ ที่หน้าของมันมีงวงงอกออกมาเหมือนช้าง
นักสืบสายอาหารรายงานต่อว่า Turkey ใช้เรียกชื่อไก่งวง น่าจะเริ่มมาจากกลางทศวรรษ 1500 จากความเข้าใจผิดของชาวอังกฤษ ที่คิดว่าไก่ต๊อก (guinea fowl) คือไก่งวง จากสีขนและลายจุดที่ดูคล้ายกัน แรกเริ่มมาจากพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่นำไก่ต๊อกจากอัฟริกาตอนเหนือมาขายให้ชาวยุโรป โดยเดินทางผ่านประเทศตุรกี ดังนั้นชาวอังกฤษจึงพากันเรียกไก่ชนิดนี้ว่า Turkish chicken
เวลาต่อมา เมื่อชาวยุโรปเดินทางสู่ทวีปอเมริกา ไปเห็นไก่ที่หน้าตาคล้ายไก่ต๊อก แต่จริง ๆ คือไก่งวง สัตว์พื้นเมืองในอเมริกาเหนือ พวกเขาก็โมเมต่อเรียกว่า “ไก่งวง” สมัยแรก ๆ นั้นเรียกว่า turkey cock หมายถึงไก่งวงตัวผู้ ที่นิยมกินเพราะตัวใหญ่ สีสวย (จับง่าย) และเนื้อเยอะ จวบจนเวลาผ่านไปเกือบร้อยปี คนตั้งชื่อไก่งวงว่า Turkey ถึงรู้ว่า ชื่อ “ตุรกี” ที่ตั้งเป็นชื่อไก่นั้นไม่เกี่ยวอะไรกับประเทศตุรกี และไม่ใช่ไก่ที่มาจากยุโรปด้วย
จะว่าไป ชาวตุรกีคงช้ำใจไม่น้อยที่เอาชื่อประเทศไปตั้งเป็นชื่อไก่ อย่างไรก็ดี คนตั้งชื่ออาหารก็มักคิดอะไรแผลง ๆ ชวนขำ อย่างตั้งชื่อมันฝรั่งทอดว่า French fries หรือ “ฝรั่งเศสทอด” เป็นต้น
แล้วคนตุรกีเรียกไก่งวงว่าอะไร ภาษาเติร์กเรียกว่า hindi ตั้งชื่อเพื่อรำลึกถึงชาวอินเดียในทวีปเอเชีย ไม่ใช่อินเดียนที่โคลัมบัสเรียกชนพื้นเมืองในอเมริกา เพราะหลงเข้าใจผิดว่า เจอประเทศอินเดียบนแผ่นดินโลกใหม่เข้าให้แล้ว...
ส่วนชาวฝรั่งเศสเรียกไก่งวงว่า dinde หมายถึง “มาจากอินเดีย” แต่สำหรับชาวอินเดีย คำว่าไก่งวง ภาษาฮินดีใช้คำว่า tarki ยังมีเรื่องตลกอีกว่า ชาวโปรตุเกสเรียกไก่งวงว่า Peru อันหมายถึงประเทศเปรูในอเมริกาใต้
ชาวอเชียไม่ค่อยมั่วอย่างชาวยุโรปนัก เช่น ชาวเวียดนามเรียกไก่งวงว่า gat ay หมายถึงไก่ที่มาจากแดนตะวันตก ความหมายชัดแจ้งไม่หลงเรียกผิด ๆ ถูก ๆ ก็เพราะคนเวียดนามบอกว่า ไก่พื้นบ้านของเขาตัวเล็กกว่าเห็นชัด ๆ
ภาษาดารี (Dari) ที่ใช้กันในอัฟกานิสถานและแถบเปอร์เซีย เรียกไก่งวงว่า fel murgh แปลว่า ไก่ช้าง หรือไก่ที่มีงวงเหมือนช้าง ชาวเมียนมาก็เรียกไก่งวงว่า kyat sin แปลว่า elephant chicken เช่นเดียวกับคนไทยเรียก ไก่งวง ก็เพราะมันมีงวงงอกออกมาเหมือนช้าง
ปี 2020 วันขอบคุณพระเจ้า ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน อยากร่วมฉลองวันขอบคุณพระเจ้า ด้วยไก่งวงอบ ของหวานได้แก่ พายฟักทอง (เพราะออกผลผลิตมากและกินไม่หมดจากเทศกาลฮาโลวีน) และอาหารหลากหลาย เลือกได้ มีอาทิ
ห้องอาหาร ออร์คิด โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท, เอ ลักซ์ชัวรี่ คอลเล็คชั่น โฮเท็ล จัด บุฟเฟ่ต์มื้อค่ำวันขอบคุณพระเจ้า ในคืนวันที่ 26 พ.ย. กับเมนูพิเศษ เช่น ไก่งวงอบต้นตำรับ ซี่โครงไพร์มริบ แฮมอบน้ำผึ้ง ผักอบ เช่น เบบี้แครอท มันฝรั่ง หัวไช้เท้าฝรั่ง และขนมปัง แอปเปิ้ลอบกับแครนเบอร์รี่ กะหล่ำดาว น้ำเกรวี่ ซอสเห็ดและขนมปังข้าวโพด ของหวานได้แก่ พายฟักทอง พีแคนพาย แอปเปิ้ลทาร์ต นิวยอร์กชีสเค้ก พายมะนาว ฯลฯ ราคาท่านละ 2,200++บาท สอบถามโทร.0 2649 8355 อีเมล: [email protected]
ห้องอาหาร ซีซั่นนอล เทสท์ส โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท แนะนำบุฟเฟ่ต์มื้อค่ำ กับเมนูพิเศษฉลองวันขอบคุณพระเจ้า 26 พ.ย. เช่น ไก่งวงอบสอดไส้แบบดั้งเดิม เสิร์ฟพร้อมซอสแครนเบอร์รี่และเครื่องเคียง เนื้อวัวย่างไม้แอปเปิ้ล พร้อมไลน์บุฟเฟ่ต์นานาชาติ เช่น ขาปูอลาสก้า หอยนางรมฝรั่งเศส หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ สเต๊กเนื้อสันในออสเตรเลีย ซี่โครงแกะนิวซีแลนด์ ตับห่าน ซูชิ ซาซิมิ และของหวานหลากหลาย ราคาท่านละ 2,295++บาท ตั้งแต่เวลา 18.00 – 22.30 น. โทร.0 2207 8000 FB: westinbangkok
ห้องอาหาร เดอะ ดิสทริคท์ กริลล์ รูม แอนด์ บาร์ โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท จัดเมนูเฉลิมฉลองเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า คืนวันที่ 26 พ.ย. มีอาทิ เซตไก่งวงสูตรต้นตำรับ เครื่องเคียง 4 อย่าง (เซตไก่งวง ราคา 7,500++บาท สำหรับ 4 ท่าน) สามารถสั่งทานที่ร้านหรือสั่งกลับบ้าน และของหวานได้แก่ พายชนิดต่าง ๆ ราคา 290++บาท (ต่อ 1 ที่) กรุณาสั่งเซตไก่งวงล่วงหน้าภายในวันที่ 23 พ.ย.
ห้องอาหาร ฟิฟต์ตี้ เซเว่น โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท จัดบุฟเฟ่ต์มื้อค่ำกับอาหารฉลอง Thanksgiving Day ได้แก่ ไก่งวงอบ ขาแกะออสเตรเลียอบ อาหารทะเล ฯลฯ พายไส้ต่าง ๆ และไอศกรีมหลากรส ราคาท่านละ 1,675++บาท โทร.0 2 797 0000 อีเมล: [email protected]
ห้องอาหาร บีช โซไซตี้ โรงแรมโซ โซฟิเทล หัวหิน แนะนำอาหารฉลองวันขอบคุณพระเจ้า วันที่ 26 – 29 พ.ย. กับเมนูพิเศษประจำเทศกาล เป็นเซตอาหารค่ำ 3 คอร์ส ได้แก่ ไก่งวงอบ เสิร์ฟพร้อมไส้กรอกโชรีโซ และพายฟักทองซินนามอน ราคาท่านละ 1,200++บาท และเลือกจับคู่กับไวน์ราคา 1,800++บาท เวลา 18.00 – 22.00 น. สอบถามโทร.032 709 555 อีเมล: [email protected]