รู้จักโรค S.A.D. ภาวะ 'ซึมเศร้า' เมื่อ 'หน้าหนาว' มาเยือน

รู้จักโรค S.A.D. ภาวะ 'ซึมเศร้า' เมื่อ 'หน้าหนาว' มาเยือน

ใครเคยเป็นบ้าง? พอถึง "หน้าหนาว" ทีไร จิตใจเริ่มหดหู่ เหงา "ซึมเศร้า" และรู้สึกว่าชีวิตไม่แฮปปี้เหมือนเคย คุณอาจกำลังเจอกับภาวะ Seasonal Affective Disorder โดยเฉพาะคนที่อยู่ไกลบ้านในต่างแดน

เคยได้ยินคำว่า Winter Depression กันหรือเปล่า? ว่ากันว่าอาการหดหู่แบบนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ชอบ "หน้าหนาว" เกิดจากภาวะ S.A.D. (Seasonal Affective Disorder) หรือ ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

หากคุณเป็นคนที่ชอบอากาศเย็นๆ ของ "ฤดูหนาว" รับรองว่าไม่มีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้านี้แน่นอน แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ไกลบ้าน ไปทำงานหรือเรียนต่างประเทศ (ในแถบเมืองหนาว) นานหลายปี อาจจะเกิดภาวะนี้ขึ้นมาก็ได้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปรู้จักภาวะ S.A.D. กันให้มากขึ้น

 

  • จุดสังเกตของผู้ที่มีภาวะ S.A.D.

มักเกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตหนาว โดยผู้ป่วยภาวะนี้จะมีอาการของโรคซึมเศร้าเป็นระยะ จะเกิดขึ้นและหายไปในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี คือ จะเริ่มมีอาการในฤดูหนาวและค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อถึงฤดูร้อน

 

  • อาการอื่นๆ ของภาวะ "ซึมเศร้า" เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง

ผู้ป่วย S.A.D. มักแสดงอาการผิดปกติเช่นเดียวกับผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" ทั่วไป แต่จะมีอาการเป็นแค่บางช่วง โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว และค่อยๆ หายไปในฤดูร้อน ทว่าผู้ป่วยบางรายก็อาจเริ่มแสดงอาการป่วยในฤดูร้อนและมีอาการดีขึ้นในฤดูหนาวได้เช่นกัน ได้แก่ 

- รู้สึกหมดหวัง ไร้ค่า มีอารมณ์เศร้าต่อเนื่องเป็นเวลานาน

- หมดความสนใจในสิ่งที่ตนเองเคยสนใจ

- อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง หมดความกระตือรือร้นจะทำสิ่งต่างๆ

- อยากนอนตลอดเวลา หรือมีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท

- มีพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป เช่น กินอาหารมากเกินไป หรืออยากกินแป้งและน้ำตาลมากกว่าปกติ

- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน

- เก็บตัว ไม่ต้องการออกไปพบปะผู้อื่น

160602491684

 

 

  • สาเหตุของ "ภาวะซึม" เศร้าเมื่อถึงหน้าหนาว

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่คาดว่าช่วงเวลากลางวันหรือระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ในแต่ละวันอาจส่งผลกระทบต่อ "นาฬิกาชีวิต" ซึ่งเป็นวงจรที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น การตื่นนอน การนอนหลับ และการหลั่งฮอร์โมนบางชนิด และเมื่อนาฬิกาชีวิตผิดปกติ ก็จะส่งผลให้ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย ได้แก่

- ระดับเซโรโทนินลดลง : เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งการได้รับแสงแดดไม่เพียงพออาจส่งผลให้สารชนิดนี้มีปริมาณลดลงและอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

- ระดับเมลาโทนินสูงขึ้น :  เมลาโทนินมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการนอนหลับ หากฮอร์โมนชนิดนี้มีระดับสูงขึ้น อาจส่งผลให้รู้สึกง่วงนอนและเซื่องซึมจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

 

  • ใครมีความเสี่ยงต่อ ภาวะ S.A.D. บ้าง?

แม้ภาวะ SAD พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ กลุ่มเพศหญิง, กลุ่มอายุวัยผู้ใหญ่ตอนต้น, ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์, ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติป่วยซึมเศร้า, ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร 

นอกจากนี้ หากพบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าวแล้วปล่อยไว้นาน ไม่รีบรักษา อาจนำไปสู่อาการข้างเคียงอื่นๆ ได้ เช่น

- โรคอ้วน อาจนำไปสู่โรคเบาหวาน/โรคหัวใจได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีพฤติกรรมการกินมากผิดปกติ

- โรควิตกกังวล โรคแพนิค โรคกลัวการเข้าสังคม และมีปัญหาด้านความสัมพันธ์

- อาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

- การทำร้ายตัวเอง คิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย

160602491779

 

 

  • วิธีป้องกันภาวะ "ซึมเศร้า" เมื่อหน้าหนาวมาเยือน 

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ช่วยป้องกันภาวะ S.A.D. ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่เคยมีภาวะนี้มาก่อน มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า หรือการเข้ารับการบำบัดทางจิต ก่อนจะถึงช่วงเวลาที่อาการป่วยมักเกิดขึ้น อาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะ SAD ในผู้ป่วยบางรายได้ ซึ่งยังคงต้องมีการศึกษาในด้านนี้เพิ่มเติมต่อไป

 

  • ภาวะ S.A.D. รักษาได้หรือไม่? รักษายังไง?

- การรับประทานยา : แพทย์มักจ่ายยาต้านซึมเศร้าอย่าง "ฟลูออกซิทีน" หรือ "บูโพรพิออน" เพื่อบรรเทาอาการป่วย หรือรับประทานยาตั้งแต่ก่อนถึงช่วงฤดูที่ภาวะซึมเศร้าจะกำเริบเพื่อป้องกันอาการซึมเศร้า

- การทำจิตบำบัด : แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมและความคิด ซึ่งเป็นการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับภาวะซึมเศร้าอย่างเหมาะสม

- การบำบัดด้วยแสง : แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสง ที่จำลองมาจากแสงอาทิตย์วันละประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากตื่นนอน เพื่อปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล แต่วิธีนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียของการฉายแสงก่อนตัดสินใจ 

- ปรับพฤติกรรมใช้ชีวิต : ปรับพฤติกรรมชีวิตให้ผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินอาหารที่ดี อาหารบางอย่างช่วยต้านซึมเศร้าได้ ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ นั่งสมาธิ ฟังเพลง ทำอาหาร เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ เหล่านี้มีส่วนช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ดี 

---------------------

อ้างอิง :  pobpad.com/sad