American Film Market : ส่องตลาดหนังอเมริกันออนไลน์ในปีแห่งโรคร้าย 2020
สำรวจการปรับตัวของตลาดหนังอเมริกันในยุคโควิด-19 ว่าพวกเขาปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างไร ขณะที่หนังไทยเรื่อง ‘พันธนาการ’ หรือ Soul Prison โดยผู้กำกับ นิพันธ์ จ้าวเจริญพร ได้รับเลือกให้ฉายใน American Film Market หรือ AFM 2020
อย่างที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสในปีแห่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูง โรงภาพยนตร์หลายแห่งปิดบริการไปเป็นเดือน ๆ หนังฟอร์มยักษ์ทั้งหลายเลื่อนวันฉายอย่างไม่มีกำหนด เทศกาลหนังน้อยใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนจากการฉายในโรงเป็นการฉายเป็นแบบไดร์ฟอินหรือออนไลน์ ในขณะที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ทั้งหลายก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกันอย่างโกลาหล
ท่ามกลางภาวะอันไม่เป็นปกตินี้ ตลาดหนังแห่งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทว่าจัดงานกันในระดับนานาชาติอย่าง American Film Market ก็ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าจัดงานเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อขายและจัดจำหน่ายหนังจากประเทศต่าง ๆ มีโอกาสได้พบปะพูดคุยเจรจา สามารถติดต่อขอชม screener หนังเรื่องต่าง ๆ ที่สนใจ ร่วมวงเสวนาเพื่อหาทางออกต่อปัญหาที่วงการภาพยนตร์ทั่วโลกกำลังประสบร่วมกัน การจัดเวิร์คช็อป รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย connection ของกลุ่มต่าง ๆ อย่างที่เคยจัดมา
แต่จากที่เคยจัดงานกันในโรงแรมแห่งใหญ่ ณ เมืองแซนตาโมนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ปีนี้ตลาดหนัง American Film Market จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นงานออนไลน์ 100% เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ รวมทั้งไม่สามารถจัดงานเสวนาในห้องประชุม หรือจัดฉายภาพยนตร์ในโรงได้อย่างปลอดภัย และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมหนังจากทั่วโลกสามารถลงทะเบียนร่วมงานโดยไม่จำกัดเฉพาะผู้สนใจในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเว็บไซต์ของตลาดหนัง American Film Market หรือ AFM 2020 ก็ออกแบบโดยจำลองอาคารสถานที่ต่าง ๆ จากพื้นที่จริงที่เคยจัดงานในรูปแบบแผนผัง โดยมีลิงก์ให้ผู้เข้าร่วมสามารถคลิกเลือกกิจกรรมที่ตนเองสนใจ แยกออกเป็น อาคารสำนักงานย่อยของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายหนัง Industry Offices เวทีสำหรับการเสวนาสองเวที Stage One & Stage Two พื้นที่สำหรับการนัดหมายพบปะ Networking Pavilion จุดให้ข้อมูลแก่ผู้ร่วมงาน Info Center และโรงภาพยนตร์ On Demand Theatre ให้เลือกใช้บริการได้อย่างสะดวกง่าย
โดยนอกเหนือจากการออก virtual booth ของบริษัทหนัง และการจองห้องประชุมเพื่อนัดหมายพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจากชาติต่าง ๆ แล้ว American Film Market หรือ AFM 2020 ในปีนี้ ก็มีการจัดเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ อย่างคึกคัก ซึ่งก็มีทั้งเนื้อหาร่วมสมัยว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกจะปรับเปลี่ยนไปเช่นไร กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการสร้างภาพยนตร์ช่วงโควิด ไปจนถึงเนื้อหาที่เจาะลึกถึงกลุ่มหนังและกลุ่มประเทศต่าง ๆ ตามความสนใจของผู้เข้าฟัง
เนื้อหาเด่น ๆ ของการเสวนาใน AFM 2020 ประกอบไปด้วย การร่วมทุนกันระหว่างผู้สร้างหนังอเมริกันและยุโรป การตลาดของหนังกลุ่ม Video-On-Demand หรือ VOD การร่วมผลิตภาพยนตร์ฉายโรงและภาพยนตร์โทรทัศน์จากกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น การสำรวจการเปลี่ยนแปลงของเทศกาลภาพยนตร์ ตลาดหนัง และธุรกิจ Streaming ในยุคดิจิทัล การปรับกระบวนการสร้างภาพยนตร์ตามมาตรการเฝ้าระวังโควิด เทคนิคการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ด้วยทุนสร้างระดับหนังอินดี้ กลยุทธ์ด้านการตลาดของภาพยนตร์สารคดีฉายโรงขนาดยาว การลงทุนแบบ Crowdsourcing กลยุทธ์ทางการตลาดและการขายหนังแบบออนไลน์ และบทบาทของนักแสดงนานาชาติในการดึงดูดผู้ชม
ในส่วนของ On Demand Theatre ก็มี screener ภาพยนตร์ใหม่จากบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกให้บริการแก่สื่อและผู้ซื้อจากประเทศต่าง ๆ สามารถเลือกชมโดยไม่มีการกำหนดตารางเวลา โดยภาพยนตร์ทั้งหมดจำนวนร้อยกว่าเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นงานอิสระจากหลากหลายประเทศที่ถ่ายทำเสร็จก่อนช่วงโควิดแพร่ระบาด พร้อมจำหน่ายสิทธิ์ให้ชาติต่าง ๆ ที่พร้อมเปิดโรงหนังอีกครั้งได้ซื้อไปฉาย ซึ่งก็มีภาพยนตร์ไทยอิสระหนึ่งเรื่องร่วมฉายใน On Demand Theatre ของ AFM 2020 ปีนี้ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือเรื่อง ‘พันธนาการ’ หรือ Soul Prison จากค่าย Nipan Studio โดยผู้กำกับ นิพันธ์ จ้าวเจริญพร
‘พันธนาการ’ เล่าเรื่องราวของ พงษ์ เด็กหนุ่มที่เติบโตมาในครอบครัวจากหัวเมืองที่มีปัญหา บิดาขี้เหล้าเมายา และชอบทำร้ายร่างกายและจิตใจแม่ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต พงษ์ เริ่มคบเพื่อนที่ชักนำเขาเข้าสู่ยาเสพติด เริ่มจากการลองเสพ และสุดท้ายก็รับงานไปพัวพันกับการซื้อขาย กระทั่งถูกจับดำเนินคดี ต้องระเห็จไปใช้ชีวิตในคุกอยู่หลายปี
จากการช่วยเหลือของพี่สาวทำให้เขาได้ย้ายมายังสถานบำบัดใกล้บ้าน ณ ที่นี้เองที่เขาเริ่มได้ค้นพบสิ่งดี ๆ ในชีวิต ตั้งแต่การใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ทำมาหากินอย่างสมถะ พบเจอหญิงสาวที่เขาถูกใจ และที่สำคัญคือได้ค้นพบความสงบภายในจากการได้รู้จัก ‘พระเจ้า’ แห่งคริสต์ศาสนา ซึ่งจะมาเยียวยาบาดแผลในครอบครัวของเขาที่ฝังรอยลึกจนยากจะลบเลือน
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับบุคคลจริง ๆ โดยใช้นักแสดงมือสมัครเล่นมารับบทบาท ซึ่งก็โดดเด่นในด้านการถ่ายภาพจากสถานที่จริงด้วยบรรยากาศอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเก่าที่ถูกทิ้งร้าง โลกอดีตของชีวิตในชนบท ภาพการถูกปลุกปล้ำรังแกในคุก ไปจนถึงบรรยากาศการทำการเกษตรที่ช่วยเหลือพึ่งพากัน สลับกับฉากนิมิตฝันแฟนตาซีของพระเอกที่อาศัยเทคโนโลยี CG มาช่วยสร้างความพิศวง
หนังฉบับที่ฉายใน AFM 2020 เป็นฉบับความยาว 152 นาที และมีกำหนดออกฉายในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564
ส่วนหนังเด่นเรื่องอื่น ๆ ที่ฉายใน On Demand Theatre ของ AFM 2020 ก็ประกอบด้วยหนังเยอรมันเล่าประวัติชีวิตส่วนตัวและการทำงานของผู้กำกับดัง Rainer Werner Fassbinder เรื่อง Enfant Terrible ของผู้กำกับ Oskar Roehler ที่อาศัยเทคนิคการจัดฉากแบบละครเวทีมาสร้างบรรยากาศแตกต่างได้อย่างน่าสนใจ
หนังฝรั่งเศสชื่อ The Big Hit ของผู้กำกับ Emmanuel Courcol สร้างจากเรื่องจริงของการฝึกหัดนักโทษชายให้เล่นละครเวทีเรื่อง ‘คอยโกโดท์’ ของ Samuel Beckett ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้คุณค่าแห่งศิลปะและชีวิต แถมยังนำไปสู่การตีความบทละครแบบใหม่ ๆ ที่ปลอดจากความเป็นปัญญาชน
หนังเล่าความสัมพันธ์อันอ่อนโยนระหว่างคุณพ่อกับบุตรชายวัยผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับอาการออทิสติกเรื่อง Here We Are ของผู้กำกับ Nir Bergman จากอิสราเอล
และหนังที่คล้ายเป็นจดหมายจากบุตรชายนักทำหนังถึงบิดาที่เสียชีวิตด้วยโรคร้ายโดยอาศัยภาพ footage หนังบ้านที่เขาเคยถ่ายไว้ โดยมีพ่อเป็นนักแสดงนำ เรื่อง The Death of Cinema and My Father Too ของผู้กำกับ Dani Rosenberg จากประเทศอิสราเอล เช่นกัน