CONSCIOUS Exclusive แคมเปญแฟชั่นรักษ์โลกของ ‘H&M’
เปิดคอลเลคชั่นพิเศษ CONSCIOUS Exclusive Autumn/Winter 2020 ของ “H&M” แฟชั่นที่ออกแบบและตัดเย็บด้วย “เนื้อผ้า” ที่ทอจากการนำ “ของเหลือใช้และเหลือทิ้ง” มาแปรรูปเป็นเส้นใย สนับสนุนโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ “องค์การสหประชาชาติ”
หนึ่งในแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ที่ออกคอลเลคชั่นใหม่ได้เร็วแทบทุกเดือน (Fast Fashion Retailer) อย่าง H&M (เอช แอนด์ เอ็ม) ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้เกิด การผลิตแบบยั่งยืน (sustainable production) หมายถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกระบวนการผลิตงานแฟชั่น หลังจากก่อตั้ง ‘มูลนิธิเอ็ชแอนด์เอ็ม’ เพื่อเร่งให้เกิดผลดังกล่าว
ตั้งแต่ปีค.ศ.2013 คนในตระกูลของมร.สเตฟาน แพร์สัน (Stefan Persson) ประธานและเจ้าของกลุ่มบริษัทเอชแอนด์เอ็ม ก็ได้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิฯ เรื่อยมา เพื่อให้แน่ใจว่ามูลนิธิฯ จะทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพทันเส้นตายแผนพัฒนา Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติ ในปีค.ศ.2030
ผลงานที่ ‘เอชแอนด์เอ็ม’ กำลังรณรงค์อยู่ล่าสุดในขณะนี้ คือการทำแคมเปญ CONSCIOUS Exclusive ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความงามจากวัสดุเหลือใช้ด้วยแนวคิด Beauty from Waste เปลี่ยน วัสดุเหลือใช้-ของเหลือทิ้ง ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ ให้กลายเป็น ‘เส้นใยผ้า’ สำหรับสร้างสรรค์เสื้อผ้าแฟชั่น
เอชแอนด์เอ็ม มองว่าของเหลือใช้ที่ถูกทิ้งทุกวัน คือ ‘วัตถุดิบหลัก’ ของแบรนด์ ซึ่งเอชแอนด์เอ็มจะสรรหาจากของเหลือทิ้งทั้งก่อนและหลังการถูกบริโภค เช่น ผ้าคอตตอน เศษอาหาร และผลิตภัณฑ์ข้างเคียงหรือเหลือทิ้งที่ได้จากการผลิตไวน์ แล้วนำกระบวนการผลิตใหม่ๆ มาใช้ เพื่อเปลี่ยน ‘เศษผักผลไม้’ ให้กลายเป็น ผ้าใยธรรมชาติ หรือนำ ‘เศษไม้จากแหล่งยั่งยืน’ มาผลิตเป็น ผ้า รวมทั้งใช้กระบวนการพิเศษในการนำ ‘ผ้าเก่า’ มาชุบชีวิตเป็น ผ้าใหม่
แล้วนำ ผ้าที่ทอขึ้นจากของเหลือทิ้งเหล่านั้น มาตัดเย็บเป็นแฟชั่นในแคมเปญ CONSCIOUS Exclusive
แคมเปญ CONSCIOUS Exclusive ล่าสุดขณะนี้ คือคอลเลคชั่น CONSCIOUS Exclusive Autumn/Winter 2020 เสื้อผ้าสำหรับ ผู้หญิง ซึ่งมีตั้งแต่ชุดราตรีแสนหรูหราเนื้อผ้าแจ๊คการ์ดทาเฟ็ตต้าสีดำและเขียว ผ้าแจ๊คการ์ดสีเหลืองตกแต่งด้วยดอกไม้สีเขียวนวล (Jacquard-patterned) หรือเสื้อและชุดสูทดีไซน์สวย
คอลเลคชั่นนี้โดดเด่นด้วยวอลุ่มที่สะดุดตา รูปร่างมีโครงสร้างชัดเจนแต่อ่อนหวาน ประดับด้วยระบายสุดหรู ผสมผสานกับความเปรี้ยวเก๋ สร้างลุคเซ็กซี่และน่าค้นหา
สำหรับ เสื้อผ้าผู้ชาย ที่หวนคืนกลับมาในคอลเลคชั่นนี้อีกครั้ง มีทั้งทักซิโด้สไตล์คลาสสิก สูทเนี้ยบสุดหรู เสื้อเชิ้ต และแจ๊คเก็ตผ้าแจ๊คการ์ดสีเหลือง
“ในคอลเลกชั่น A/W20 เราอยากจะเป็นผู้นำการก้าวข้ามขีดจำกัดด้านความคิดสร้างสรรค์และแฟชั่นที่ยั่งยืน โดยเน้นเรื่องวัสดุเหลือใช้ ผลที่ได้คือเสื้อผ้าในคอลเลคชั่นนี้ผลิตโดยใช้วัสดุสุดพิเศษที่มาจากของเหลือใช้ การแปรรูปวัสดุในลักษณะเช่นนี้จะสื่อไปยังผู้บริโภคของเราผ่านความสวยงาม เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นได้” แอน-โซฟี โจฮานสัน (Ann-Sofie Johansson) ที่ปรึกษาด้านความคิดสร้างสรรค์ของ H&M กล่าว
ต่างหูเล่นระดับ (Multifunctional Earrings) ทำจากโลหะรีไซเคิล ใส่ได้ 2 แบบ
ส่วนเครื่องประดับในคอลเลคชั่นนี้ ได้แก่ สร้อยคอโชคเกอร์ ต่างหู และ คลิปรองเท้า ที่ดูโดดเด่นสะดุดตา ผลิตจากโลหะรีไซเคิล รวมถึง แว่นกันแดด ที่ทำจากวัสดุชื่อ Made of Air® ซึ่งส่วนหนึ่งผลิตมาจากชีวมวลเหลือทิ้ง
ในส่วนของ รองเท้า สามารถใช้เป็นแบบรองเท้าเปิดส้นหรือรองเท้าบู๊ตก็ได้ เพราะสามารถถอดถุงเท้าด้านในที่ทำมาจาก ‘หนังวีแกน’ ที่เรียกว่า Vegea™ ทำมาจากวัสดุเหลือใช้จากการทำไวน์
ลวดลายในคอลเลคชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากวอลเปเปอร์ลายดอกไม้ที่ลอกออกจากกำแพง หรือผ้าม่านเก่าๆ นอกจากนี้ยังมีการประดับดอกไม้และลวดลายผีเสื้อกลางคืน (moth) ที่สื่อถึงวัฏจักรชีวิตและความเสื่อมตามกาลเวลา
เปลี่ยนรองเท้าบู๊ตเป็นรองเท้าเปิดส้นได้ด้วยการถอดถุงเท้าด้านในออก (credit photo : https://www2.hm.com)
นอกจากนี้ ร้าน H&M สองแห่งในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ยังมีบริการให้เช่าสินค้าจากคอลเลคชั่น A/W20 ทั้งหมด 6 ชิ้น ซึ่งบางชิ้นมีเฉพาะให้เช่าเท่านั้น หรือบางชิ้นจะเป็นสีพิเศษ
สำหรับในเมืองไทย คอลเลคชั่น Conscious Exclusive A/W 2020 มีจำหน่ายเฉพาะออนไลน์ที่ TH.HM.COM ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2020 เป็นต้นไป
แคมเปญของ Conscious Exclusive A/W 2020 ยังขอเชิญชวนให้ทุกคน “นำของเหลือใช้มาใส่” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และแคมเปญนี้ยังได้สาวสวยเชื้อสายออสเตรเลียจากประเทศอังกฤษ ซินเนียร์ คูมาร์ (Zinnia Kumar) ที่เป็นทั้งนักนิเวศวิทยา นักเคลื่อนไหว และนางแบบ มาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ
“ฉันตื่นเต้นมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ เพราะ H&M กำลังก้าวไปสู่คอลเลคชั่นที่มีความยั่งยืนเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรม ในฐานะผู้บริโภค เราไม่ต้องเลือกระหว่างแฟชั่นกับความยั่งยืน เพราะทั้งสองอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ควบคู่กัน ในฐานะนักนิเวศวิทยาที่ทำงานเกี่ยวกับแฟชั่น ฉันรู้สึกว่าแคมเปญนี้ทำให้เปี่ยมไปด้วยความหวัง” ซินเนียร์ คูมาร์ กล่าว
เมื่อปีค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) มร.เออร์ลิง เพียรส์สัน (Erling Persson) เปิดร้านขายเสื้อผ้าสตรีในสวีเดน ตั้งชื่อร้านว่า Hennes ในภาษาสวีดิช ตรงกับภาษาอังกฤษว่า her สองปีต่อมาเขาก็ซื้อกิจการร้านเสื้อผ้าสำหรับกีฬาล่าสัตว์และตกปลาชื่อ Mauritz Widforss เมื่อเขารวมสองร้านเข้าด้วยกันเพื่อขายเสื้อผ้าสำหรับสตรีและบุรุษ จึงเรียกชื่อร้านใหม่นี้ว่า Hennes and Mauritz
หรือที่รู้จักในชื่อ H&M จนถึงทุกวันนี้
* * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- Lacoste X National Geographic สดุดีมหัศจรรย์ความงามสัตว์โลก
- วรรณประภา ตุงคะสมิต เบื้องหลัง Papercutting
- 'Maison Kitsuné' เปิดบ้านหมาจิ้งจอกหลังแรกในกรุงเทพฯ