จากเคส 'หัวใจวาย' ที่ภูกระดึง สู่ 5 วิธีป้องกันก่อนไปขึ้นเขา

จากเคส 'หัวใจวาย' ที่ภูกระดึง สู่ 5 วิธีป้องกันก่อนไปขึ้นเขา

จากกรณีชายวัย 62 ปี เสียชีวิตจากภาวะ "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน" หลังเดินขึ้น "ภูกระดึง" เคสนี้สร้างความสลดใจให้คนไทยไม่น้อย น่าจะดีกว่า.. ถ้าเรารู้วิธีเช็คร่างกายตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ "หัวใจวาย" ก่อนไปเดินป่าขึ้นเขาสูง

จากประเด็นข่าวสุดเศร้าที่มีชายวัย 62 ปี ชาวสมุทรสาคร ไปเที่ยว "ภูกระดึง" ขณะเดินขึ้นเขาในช่วงเวลาประมาณ 10.30 น. เกิดเป็นลมหมดสติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ภายหลังแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากภาวะ "หัวใจวายเฉียบพลัน" เคสนี้ทำให้นักท่องเที่ยวผู้ร่วมทางต่างสลดใจไปตามๆ กัน แต่รู้หรือไม่? เราสามารถป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดซ้ำได้

ใครที่อยากไปเดินป่าหรือขึ้นเขาสูงแบบนี้ จึงควรเช็คร่างกายตนเองก่อนไปเที่ยว รวมถึงต้องรู้วิธีลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อควรรู้และข้อปฏิบัติตัวก่อนตัดสินใจไป Trekking หรือไปเดินป่า-ขึ้นเขา มาฝากกัน

  • นักเดินป่ามักเสี่ยงต่อภาวะ "หัวใจวาย"

ผศ.ดร.เจมส์ เอห์ลิช (Dr.James Ehrlich) อาจารย์แพทย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด ระบุว่า หากคุณคิดว่านักเดินป่าหรือคนที่ชอบไปเที่ยว "ขึ้นยอดเขา" จะมีภูมิคุ้มกันโรค "หัวใจวาย" ล่ะก็.. คุณอาจคิดผิด! เนื่องจากภาวะ "หัวใจวายเฉียบพลัน" ถือเป็นเป็นฆาตกรอันดับ 3 ที่คร่าชีวิตผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้ง และครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตมักมาจากกิจกรรมการ "เดินป่าขึ้นเขา" นี่เอง

ยิ่งไปกว่านั้น บางรายก็ไม่ได้ทำประกันชีวิตขณะเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะนี้เสียด้วย ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นนักเดินป่าช่วงวัยใดก็ตาม ควรใส่ใจสุขภาพ "หัวใจ" ของคุณอย่างใกล้ชิด ก่อนจะตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวที่ใช้กำลังร่างกายและจิตใจหนักหน่วงอย่างการเดินป่า

160638873251

โดยเฉพาะการออกแรงอย่างหนักในสภาพอากาศหนาวเย็น บวกกับระดับความสูงของพื้นที่ยอดภูเขา สภาพแวดล้อมเหล่านี้จะไปเพิ่มความเครียดให้กับหัวใจ ยิ่งใครที่มีปัจจัยความเสี่ยง เช่น มีประวัติคนครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โรคอ้วน หรือพฤติกรรมสูบบุหรี่หนัก ก็ยิ่งทำให้การทำงานของหัวใจแย่ลงไปอีก

ทั้งนี้ มีการศึกษาวิจัยออกมาว่า "การเดินป่า" เป็นประจำ จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจวายในผู้ชายได้อย่างมาก ดังนั้นกิจกรรมเดินป่าขึ้นเขาอาจไม่ใช่ผู้ร้ายเสียทีเดียว แต่ร่างกายของนักเดินป่าเองต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ ว่ามันจะส่งผลดีในแง่การเพิ่มความแข็งแรง หรือจะกลายเป็นความเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจวายและเสียชีวิต

จะดีกว่าไหม? ถ้าคุณรู้วิธีลดปัจจัยเสี่ยง "ก่อน" และ "ระหว่าง" การท่องเที่ยวเดินป่าหรือเดินขึ้นยอดเขาสูง

  • วิธีลดปัจจัยเสี่ยงก่อนไป 'เดินป่า' ขึ้นเขา

Dr.James Ehrlich ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ก่อนจะตัดสินใจไปร่วมทริปเดินป่าขึ้นยอดเขาต่างๆ ต้องเช็คร่างกายและประวัติสุขภาพของตนเอง ดังนี้ 

1. ตรวจสอบประวัติสุขภาพในครอบครัวของคุณ : ประวัติสุขภาพของบรรพบุรุษเป็นสิ่งที่ใช้ทำนายสุขภาพของคุณได้ผลแม่นยำเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะกับโรค "หัวใจวาย" ซึ่งหมายความว่าแม้แต่ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อ "หัวใจวาย" ได้ หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

2. ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล : หากคุณมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดัน และ "โรคหัวใจ" ในผู้ชายถึง 3 เท่า ดังนั้นจึงควรไปตรวจวัดความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลก่อนจะไปเดินทางขึ้นเขา (ค่าความดันโลหิตในระดับที่ปกติ ควรอยู่ที่ 120/80 mm/Hg และคอเลสเตอรอลรวมควรต่ำกว่า 200 mg/dL)

3. บุคคลกลุ่มเสี่ยงต้องระวัง : ใครที่มีคนในบ้านเป็นโรคหัวใจ หรือเป็นโรคอ้วน โรคความดัน ติดบุหรี่จัด ควรเข้ารับการ "สแกนสภาพหัวใจ" หรือ ออกกำลังกายเพื่อ "ทดสอบความเครียด" ก่อนที่จะไปร่วมทริปเดินป่าอย่างหนักหน่วง

160638873246

  • วิธีป้องกันภาวะ "หัวใจวาย" ก่อนไปเดินป่า

1. เตรียมร่างกายให้พร้อม : ก่อนจะไปเดินป่า (2-4 สัปดาห์) ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอและควบคุมอาหาร งดอาหารที่มีไขมันชนิดเลว แทนที่ด้วยอาหารไขมันต่ำ โปรตีนสูง และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยา หากควบคุมอาหารและออกกำลังกายไม่เพียงพอ

2. ปรับเป้าหมายระยะทางให้เข้ากับอายุและความฟิตของตัวเอง : มีผลการศึกษาพบว่า นักเดินป่าที่ร่างกายไม่ฟิตมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันมากขึ้น 27% 

3. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ : อาการหัวใจวายเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในตอนเช้า ดังนั้นคืนก่อนวันที่จะไปเดินป่าหรือขึ้นเขาสูง ต้องพักผ่อนและผ่อนคลายร่างกายให้มาก นอนหลับให้เพียงพอ 

4. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาขยายหลอดเลือด : นักเดินทางไกลที่ร่างกายอ่อนแอ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยา เช่น ไนโตรกลีเซอรีน เพื่อขยายหลอดเลือด ในกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิด “หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”

160639202582

  • ต้องรู้อาการ หากเกิด "หัวใจวาย" ขณะเดินป่า

นักเดินป่าต้องรู้จักสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการหายใจถี่และเจ็บกลางอกเป็นพักๆ (เจ็บแบบกดทับหรือเหมือนมีอะไรบีบตรงกลางหน้าอก) และมีอาการเจ็บร้าวไปยังร่างกายส่วนบน ทั้งแขน ไหล่ หลังคอ ขากรรไกร และท้อง (อาจมีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย และหายใจลำบากร่วมด้วย) แบบนี้ต้องหยุดพักทันที หากไม่ระวังอาจอันตรายถึงตายได้

ในบางรายของผู้ที่มีอาการโรคหัวใจ อาจจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น เนื่องจากอาการแรกเริ่มมักจะมีลักษณะคล้ายกับอาการเสียดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือปวดเมื่อย แต่หากอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรหยุดพักเช่นกัน อย่าฝืนไปต่อ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก นพ.ดีพัค แอล บาร์ตต์ (Deepak L. Bhatt, MD, MPH) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์หัวใจและและหลอดเลือด โรงพยาบาลบริกแฮมและสตรี และเป็นอาจารย์แพทย์ที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ก็ให้คำแนะนำไปในทิศทางเดียวกันว่า หากต้องการไปเที่ยวเดินป่าหรือปีนเขา นักท่องเที่ยวควรตรวจสุขภาพกับแพทย์โรคหัวใจก่อน บางคนแม้จะเป็นเพียงความดันโลหิตสูง (แต่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ) ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เนื่องจากเวลาที่ร่างกายอยู่ในที่สูงมักจะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น

160638873267

"ยิ่งคุณอยู่ในระดับความสูงมากเท่าไหร่ คุณก็จะรับออกซิเจนน้อยลงในการหายใจแต่ละครั้ง ร่างกายของคุณจะตอบสนองโดยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มการสูบฉีดเลือดในแต่ละจังหวะ สิ่งนี้จะไปเพิ่มความดันโลหิตจนกว่าร่างกายของคุณจะปรับตัวได้ แต่บางคนร่างกายปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดอันตรายตามมา" 

อย่างไรก็ตา การฝึกซ้อมการเดินขึ้นที่สูง เช่น การเดินขึ้นบันไดตึกสูง 3-5 ชั้นบ่อยๆ ก่อนการไปเดินป่าขึ้นเขา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายปรับตัวเมื่อต้องขึ้นที่สูงได้ง่ายขึ้น

-------------------

อ้างอิง :

health.harvard.edu/heart-health

backpacker.com

healthhub.sg