รู้จัก 'ใบกำกับภาษี' แบบเต็มรูปแบบ ใช้ลดหย่อนภาษี 'ช้อปดีมีคืน'
![รู้จัก 'ใบกำกับภาษี' แบบเต็มรูปแบบ ใช้ลดหย่อนภาษี 'ช้อปดีมีคืน'](https://image.bangkokbiznews.com/image/kt/media/image/news/2020/11/28/910089/750x422_910089_1606543125.jpg?x-image-process=style/LG)
ทำความรู้จัก "ใบกำกับภาษี" แบบเต็มรูปแบบ สำหรับลดหย่อนภาษีในมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" มีลักษณะอย่างไร?
เกาะติดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "ช้อปดีมีคืน" มาตรการที่ให้ประชาชนใช้สิทธิซื้อสินค้าเพื่อ "ลดหย่อนภาษี" เงินได้บุคคลธรรมดา และช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึงร้านค้าที่ไม่ได้จด VAT เช่น สินค้า OTOP หนังสือประเภทรูปเล่มและ e-book ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยมาตรการช้อปดีมีคืนเริ่มตั้งแต่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงสิ้นปี หรือวันที่ 31 ธันวาคม 2563
โดยการ "ลดหย่อนภาษี" นั้นจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2563 ที่จะต้องยื่นราวเดือนมีนาคม 2564 เป็นไปตามจำนวนจ่ายจริง รวมกันไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ในการซื้อสินค้าหรือบริการแต่ละครั้งจะต้องขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ เพื่อนำมายื่นภาษีในปีหน้านั่นเอง หรือบางร้านใช้ใบเสร็จรับเงินได้ แต่ต้องมีรายละเอียดที่จะสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย
สำหรับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ มีลักษณะสำคัญที่สังเกตได้ดังนี้
1.ต้องมีคำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน เด่นชัด
2.ต้องมี ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรการ 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
3.ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4.หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเชขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
5.ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
6.จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า และหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
7.วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
8.ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
ทั้งนี้ใน กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ใบเสร็จรับเงิน ต้องมีข้อมูลครบถ้วนดังต่อไปนี้
- เลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลําดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จํานวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จํานวนเงิน
ที่มา : กรมสรรพากร