ซึม ‘SUP’ วิถีคนวิถีคลอง ‘หนองบัว’

ซึม ‘SUP’ วิถีคนวิถีคลอง ‘หนองบัว’

พากระดาน ‘SUP Board’ คู่ใจออกไปสู่เวิ้งน้ำอันไกลโพ้น แล้ววนกลับมาขึ้นฝั่งเที่ยวชุมชน ‘หนองบัว’ ที่มีของกินชื่อประหลาด ในนาม ‘ชุมชนขนมแปลก’

ไม่ใช่กีฬาใหม่แต่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเราอย่างมาก สำหรับ “Stand Up Paddle Board” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “SUP Board” กระดานยืนพายที่มีต้นกำเนิดจากกีฬากระดานโต้คลื่น (Surf Board) แล้วนำไม้พายมาพายโดยยืนบนกระดาน เป็นกีฬาทางน้ำที่ทั้งชิลและเท่ไปพร้อมกัน

ด้วยความที่ “SUP Board” พาคนพายไปยังแม่น้ำ ลำคลอง หรือแม้กระทั่งทะเลได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ จึงนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อ “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ได้อย่างลงตัว ขอเพียงที่นั่นมีน้ำและจะให้ดีต้องมีท่าน้ำให้ขึ้น-ลง

“จันทบุรี” เป็นจังหวัดที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แต่เพียบพร้อมด้วยทรัพยากรที่แปลงเป็นการท่องเที่ยวได้ไม่ยาก ตั้งแต่น้ำตก ป่าเขา ทะเล ชุมชน ผู้คน วิถีชีวิต ไปจนถึงอาหารการกิน และพอพูดถึงชุมชนที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวของเมืองจันท์ในช่วง 2-3 ปีมานี้ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “ชุมชนขนมแปลก” หรือ “ชุมชนริมคลองหนองบัว” หรือไม่คุ้นๆ ก็อาจเคยได้ยินชื่อขนมสุดแปลกอย่าง “ขนมควยลิง”

แต่ก่อนจะไปเจอขนมแปลกที่มีมากกว่าแค่ “ขนมควยลิง” ให้ “SUP Board” พาล่องไปตามคลองซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีของ “คนหนองบัว” มาช้านาน โดยมีกล้อง GoPro Hero 9 Black ติดบนบอร์ดไปด้วย เพื่อเก็บบรรยากาศที่สวยงามและไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาจากน้ำ เพราะกล้องรุ่นนี้เป็น Action Camera ที่มีคุณสมบัติกันน้ำ

“คลองหนองบัว” เป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ของคนที่ “ชุมชนหนองบัว” เพราะชุมชนแห่งนี้ตั้งหลักปักฐานกันมานานกว่า 100 ปีแล้ว โดยชาวบ้านยึดอาชีพประมงเป็นหลัก ส่วนคนที่อยู่บนบกโดยเฉพาะใกล้ตลาดก็ประกอบอาชีพค้าขาย เรียกได้ว่าที่นี่คือชุมชนการค้าเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจันทบุรี

“คลองหนองบัว” ทอดยาวผ่านชุมชนแล้วไหลออกสู่ทะเล ตามบ้านเรือนและที่สาธารณะต่างๆ จึงมีท่าน้ำสำหรับลงเรือ จึงมีท่าน้ำสาธารณะหลายจุดที่นำ “SUP Board” ลงได้ หากเริ่มต้นจากภายในชุมชน ในยามปกติไม่มีน้ำทะเลหนุน สายน้ำจะไหลออกสู่ทะเล ทำให้ขาล่องพายง่าย ช่วงปลายๆ ก่อนออกสู่ทะเล สองข้างทางคือ “ป่าโกงกาง” ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ จึงยังเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านละแวกนี้ ยิ่งในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมี “ปูแป้น” มาก ช่วงค่ำของฤดูกาลนี้จึงมีชาวบ้านมา “ตักปูแป้น” กัน

160662407949

160662408087

160662407920

ขณะกำลังพายอยู่ใกล้ป่าโกงกาง เหนือศีรษะขึ้นไปคือ “เหยี่ยวแดง” หลายตัวบินวนไปวนมา บางช่วงมองด้วยตาก็เห็นความสวยงามของนกนักล่านี้ได้ชัดเจน การที่ “ชุมชนริมคลองหนองบัว” มีเหยี่ยวแดงอาศัยอยู่ เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนได้อย่างดี สำหรับคนที่ไม่สะดวกพาย SUP Board แต่อยากล่องเรือชมเหยี่ยวแดงและธรรมชาติ ที่ชุมชนมีบริการเรือนำเที่ยวชมเหยี่ยวแดงและธรรมชาติ ติดต่อได้ที่ 0 9690 20175

อย่างที่บอกว่าการพาย “SUP Board” หากเป็นช่วงน้ำลง น้ำจะพาลงทะเล และที่นี่มีภูมิประเทศเป็นปากแม่น้ำ จึงมีลมพัดค่อนข้างแรงถึงแรงมาก หากปล่อยให้ไหลออกทะเลโดยไม่ระวังอาจเกิดอันตรายได้ จึงต้องคอยประคองให้ไม่ไหลเร็วเกินไป แล้วการพายย้อนกลับขึ้นมาที่ชุมชนต้องใช้แรงค่อนข้างมากเพื่อสวนกระแสน้ำและลม

แต่เมื่อสู้คลื่นลมที่โหมกระหน่ำเพราะเผลอไผลปล่อยให้ไปถึงน่านน้ำทะเล แล้วกลับมาถึงท่าน้ำได้ หากไม่ตกน้ำจนตัวเปียก ก็ลุยต่อเที่ยวตลาดได้เลย

160662394225

160662394357

ถ่ายด้วย GoPro Hero 9 Black

160662408188

ถ่ายด้วย GoPro Hero 9 Black

แม้จะยังไม่ถึงตัวตลาด ก็จะได้เห็นสีสันของชุมชนที่มีมากกว่าแต่ก่อน เช่น “ภาพสตรีทอาร์ต” กระจายอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ของ “ชุมชนริมคองหนองบัว” ภาพศิลปะบนกำแพงเหล่านี้สร้างสรรค์โดยศิลปินท้องถิ่นและคนรุ่นใหม่ ที่เนรมิตความสวยงามในฉากหลังและฉากร่วมที่เห็นถึงความคลาสสิกของบ้านเรือนเก่า กำแพงเก่า แต่ละภาพสอดคล้องกับพื้นที่บริเวณนั้น

พาย “SUP Board” กันมาเหนื่อยๆ ก่อนจะเดินชมตลาดแบบเต็มที่ ความกระหายก็เรียกร้องให้หาเครื่องดื่มเย็นๆ อร่อยๆ จิบแก้กระหายสักแก้ว แต่จะเป็นเครื่องดื่มอื่นใดไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ “น้ำมะปี๊ด” ที่หากินได้ที่จันทบุรี

“มะปี๊ด” หรือ “ส้มจี๊ด” เป็นพืชประจำถิ่นเมืองจันทบุรี คนจันท์ใช้มะปี๊ดแทนมะนาวเพราะมีมากและให้รสเปรี้ยวเหมือนกัน แตกต่างกันที่ “มะปี๊ด” มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์มาก แถมยังอุดมด้วยวิตามินซี ในแง่ของคุณค่า การดื่มน้ำมะปี๊ดที่มีวิตามินซีสูงหลังจากออกกำลังกายกลางแดด นอกจากสดชื่นแล้วยังได้ฟื้นบำรุงผิวให้แข็งแรงและต้านอนุมูลอิสระได้อย่างดี

160662437931

ถ่ายด้วย GoPro Hero 9 Black

160662437914

160662438186

ถ่ายด้วย GoPro Hero 9 Black

160662438057

สดชื่นแล้ว ลุยต่อให้สมกับชื่อ “ชุมชนขนมแปลก” เริ่มกันแบบจัดหนักด้วยไฮไลท์ที่สุดในแง่ชื่อ ต้องยกให้ “ขนมควยลิง” ที่หน้าตาก็ตามชื่อ เป็นขนมโบราณที่ชุมชนทำกันมาแต่ครั้งโบราณ ทำจากจากแป้งข้าวเหนียว ปั้นเป็นแท่งเล็กๆ ต้มในน้ำเดือด นำมาคลุกกับมะพร้าวขูดและน้ำตาลทราย

นอกจากหน้าตาจะละม้ายคล้ายปิกาจู้ของลิง ยังมีความเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่ด้วย คือ อดีตที่ชุมชนหนองบัวมีลิงแสมอยู่มาก เวลาชาวบ้านทำขนมก็จะมีเจ้าลิงพวกี้มานั่งดู แน่นอนว่าเมื่อชาวบ้านเห็นลิงและปิกาจู้ของพวกมันบ่อยๆ ก็ได้ไอเดียนำมาตั้งชื่อขนมให้ติดหู แต่ไม่รู้ว่าน่ากินขึ้นไหม (ฮา)

ในตลาดมี “ขนมควยลิง” ขายอยู่หลายเจ้า แต่ที่เรียกว่าเป็นเซเลบริตี้แห่งวงการ คือ “ยายลิและป้าตุ่ม” ในวันที่เราไป ยายลิก็ยังออกมาปั้นแป้งต้มแป้งโชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและถ่ายรูปได้

160662437898

ขนมควยลิง ต้มสุกใหม่ๆ

160662437926

ยายลิ คนดังของตลาดกำลังต้มขนมควยลิง

160662438088

ขนมควยลิงที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมรับประทาน

ใกล้ๆ กัน มีขนมชื่อแปลกอีกหลายอย่าง เช่น “ขนมพระพาย” หรือ “ขนมพระพายทายรัก” เป็นขนมไทยดั้งเดิมที่หากินยากแต่ที่นี่มีให้กิน ดั้งเดิมนิยมใช้ในพิธีแต่งงานมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรักที่เหนียวแน่นของคู่บ่าวสาว

ส่วนผสมทำจากแป้งข้าวเหนียวนุ่มๆ เป็นตัวห่อหุ้มไส้ขนมที่ทำจากถั่วกวนหวานๆ ราดหน้าด้วยน้ำกะทิ โรยหน้าด้วยงาคั่วเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น ด้วยสีสันของ “ขนมพระพาย”ที่แม้จะเป็นขนมโบราณ แต่ก็ดูเก๋ไก๋ ทันสมัยอยู่ในที

ร้านเดียวกันมี “ขนมเกสรลำเจียก” ที่ต้องยอมรับว่าตอนแรกที่เห็นไม่ได้ดึงดูดเท่าขนมพระพายมากนัก แต่เมื่อได้ลองชิม ก็ต้องซื้อเพิ่มทันที เพราะรสชาติของแป้งภายนอกที่หวานกำลังดี และเมื่อกัดเข้าไปคือไส้มะพร้าวที่เย็นนิดหน่อย หวานน้อยๆ อุณหภูมิแป้งข้างนอกกับไส้ข้างในที่แตกต่างกัน สร้างมิติรสชาติแปลกใหม่

“ขนมเกสรลำเจียก” เป็นขนมไทยโบราณ มีลักษณะคล้ายดอกลำเจียกที่สุกงอมเต็มที่ กลีบเกสรจะแตกกออก ละอองเกสรจะส่งกลิ่นหอมตลบอบอวน ไส้ทำจากมะพร้าวทึนทึกที่ยังอ่อนอยู่ นำมากวนกับน้ำตาลทราย ห่อด้วยแป้งข้าวเหนียวที่ผ่านการอบควันเทียน แล้วร่อนบนกระทะ

160662437899

ขนมพระพาย สีสันสวยงามหากินยาก

160662438041

160662437856

ขนมเกสรลำเจียก อร่อยเกินคาด

ร้านต่อมาไม่ไกลจากร้านขนมพระพาย คืออยู่เยื้องกัน ตรงหน้าศาลเจ้าคือร้าน “ขนมมันทิพย์” เมนูขนมโบราณที่ไม่ถึงกับหายาก แต่หาอร่อยไม่ง่าย ที่ร้านนี้ใช้มันหลากหลายชนิด ทำให้ขนมมีทั้งสีม่วง สีส้ม สีเหลือง สีขาว เป็นสีสันจากมันธรรมชาติ นำมาบด ยี กวน แล้วคัดส่วนที่เป็นเสี้ยนออก

หลังจากได้มันที่ผ่านการปรุงกับส่วนผสมต่างๆ เสร็จสรรพ ก็นำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ ย่างไฟบนเตาถ่าน กลิ่นหอมจากเตาถ่านและรสหวานละมุนพอเหมาะ ทำให้หลายคนแวะเวียนมากินขนมที่เหมือนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาของร้านนี้

160662437736

ขนมมันทิพย์ สีสวย อร่อย เนื้อละมุน

160662437789

นอกจากนี้ยังมีขนมแปลกอีกมากมายหลายชนิด แต่จะชิมหมดก็คงน้ำตาลในเลือดสูง ใครมาเที่ยว “ชุมชนริมคลองหนองบัว” ไม่ว่าจะพาย SUP พายเรือ หรือขับรถมา ก็อย่าลืมลิ้มลองรสชาติและเรียนรู้ประวัติที่มาของขนมแต่ละชนิด เช่น “ขนมอี๋เยี่ยววัว” ขั้นตอนในการทำคล้ายกับบัวลอยแต่มีความพิเศษคือจะใช้หัวน้ำตาลอ้อยเคี่ยวทำให้สีของน้ำขนมค่อนข้างเข้มเป็นสีน้ำตาล

หรือ “น้ำอ้อย” หรือ “น้ำตาลอ้อย” ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของขนมหลายๆ อย่างที่ทำขึ้นที่นี่ เพราะว่าในย่านนี้มีโรงงานที่ทำน้ำอ้อยด้วยวิธีแบบดั้งเดิมกว่า 30 ปี

กระบวนการทำน้ำอ้อยที่นี่เริ่มตั้งแต่นำอ้อยมาหีบจนได้น้ำอ้อยไหลออกมาตามรางไปพักไว้ในบ่อเพื่อให้ตกตะกอน แล้วจึงนำน้ำอ้อยมาต้มที่เตา ซึ่งเป็นเตาใหญ่มี 5 เตา (หลุม) การต้มก็จะต้มเรียงกันไป ตั้งแต่เตาที่ 1 เรียกว่า “น้ำอ้อยเตาแรก” เมื่อเดือดแล้วจึงตักไปใส่เตาที่ 2 เรียกว่า “น้ำเยี่ยววัว” ซึ่งจะมีความข้นขึ้นมาอีกนิด จากนั้นเมื่อเตาที่สองเดือดจะตักใส่เตาที่ 3 4 และ 5 ต่อ ซึ่งจะเรียกว่า “ตังเม” เป็นน้ำตาลที่ข้นเหนียวมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นเมื่อตังเมในเตาที่ 5 ข้นได้ที่แล้วคนงานจะตักเทไปตามรางลงไปยังถาดด้านล่าง

นอกจากขนมแปลกที่ห้ามพลาด เดินออกมาจากตลาดก็ยังมีวิถีชีวิตของชาวหนองบัว และบ้านเรือนที่สวยงามท้าทายกาลเวลา ถึงขนาดภาพยนตร์และละครหลายเรื่องมาใช้ที่นี่เป็นโลเคชั่นภายทำเลยทีเดียว บ้านบางหลังสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2447 และเป็นการก่อสร้างเป็นแบบโบราณคือไม่ใช้ตะปูแต่จะใช้วิธีการเอาไม้มาขัดกัน ส่วนที่เป็นเสาจะเจาะให้ทะลุและสอดไม้คานเข้าไปใช้ลิ่มตอกให้แน่น

...

จากวิถีคนกับคลอง สู่การล่องลำน้ำเพื่อขึ้นมาสัมผัสวิถีคน การท่องเที่ยวด้วย SUP Board เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่โลว์คาร์บอน แต่แก่นแท้ของการเดินทางคือเรียนรู้ชุมชนผ่านสิ่งที่ชุมชนภาคภูมิใจ