พรชัย ว่องศรีอุดมพร – ‘โควิด’ สอนให้รู้ว่า ‘หนังไทย’ ต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง

พรชัย ว่องศรีอุดมพร – ‘โควิด’ สอนให้รู้ว่า ‘หนังไทย’ ต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง

‘หว่อง-พรชัย ว่องศรีอุดมพร’ ผู้บริหารระดับสูงของ ‘เอ็ม พิคเจอร์ส’ ชวนคนในวงการหนังไทยมาช่วยกันสร้าง local content ที่แข็งแรง ยกระดับ ‘หนังไทย’ ให้ก้าวขึ้นมาแทนที่หนังฮอลลีวู้ด หลัง ‘อีเรียมซิ่ง’ จุดกองไฟแห่งความหวังติดท่ามกลางความมืดมิดของโควิด-19

‘จุดประกาย’ Exclusive Talk กับ พรชัย ว่องศรีอุดมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ตัวจริงเสียงจริงผู้รู้รอบทุกมิติของอุตสาหกรรมหนังไทยว่าวันนี้เราเป็นอย่างไรกันบ้างในยุคโควิดป่วนเมือง จนต้องปิดให้บริการโรงหนังไปนานถึง 3 เดือนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม

แถมพอกลับมาเปิดฉายตามปรกติก็ขาดหนังดีๆ โดนๆ ที่จะมาเรียกคนที่เคยชินกับการอยู่บ้านไปแล้วให้ออกมาตีตั๋วเข้าโรงภาพยนตร์กันอีกครั้ง

  • Content is king แม้แต่ในยุคโควิดก็เช่นกัน

ก่อนอื่น คุณหว่อง - พรชัย ว่องศรีอุดมพร ได้พูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ‘โควิด-19’ ที่ทำให้โรงภาพยนตร์ในประเทศไทยต้องหยุดให้บริการไปนานถึง 3 เดือนเต็มว่า ทำให้คนมีนิสัยอยู่ติดบ้าน ไม่ค่อยอยากจะออกไปไหน

ช่วงนี้กินเวลาประมาณ 2-3 เดือน พอผ่านไปได้ซักราวๆ 6 เดือน ในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลาย คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนคนตีตั๋วเข้ามาดูหนังเรื่อง Tenet และ มู่หลาน ในโรงภาพยนตร์กันอย่างคึกคัก

“ผมว่ามันเป็นการสะท้อนว่าคนรอคอนเทนต์ คนอยากดู แต่มันไม่มีคอนเทนต์ให้ดู” พรชัย ว่องศรีอุดมพร กล่าว

“แล้วบังเอิญไทยเราไปพึ่งคอนเทนต์ของฮอลลีวู้ดค่อนข้างเยอะ ช่วงที่ผ่านมาส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) ของหนังไทยเองน้อยมาก ประมาณ 10-20% เท่านั้นเอง ทั้งที่ในอดีตประมาณ 10-15 ปีที่แล้ว มาร์เก็ตแชร์เราเคยขึ้นถึง 40% ด้วยซ้ำไป แต่วันนี้ทำไมมันถึงดาวน์ลงมาล่ะ มันก็ตอบโจทย์ได้ว่าเพราะมันไม่มีคอนเทนต์ที่มันใหญ่พอ หรือน่าสนใจพอที่จะดึงให้คนออกจากบ้านมา ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ”

คุณหว่อง – พรชัย กล่าวว่าทาง ‘เอ็ม พิคเจอร์ส’ ได้แก้ปัญหาด้วยการพยายามนำหนังเข้ามาฉายเรื่อยๆ โดยเรื่องแรกคือ ‘พจมานสว่างคาตา’ ของ ‘พชร์ อานนท์’ ซึ่งทำรายได้ไม่เลว แต่ก็ไม่ดีเท่าที่หนังของ ‘พชร์ อานนท์’ เคยทำได้ในยุคก่อนโควิด

“จริงๆ แล้วผมคิดว่ามันมีกลุ่มคนดู (ภาพยนตร์) อยู่นะ เพียงแต่ช่วงนั้นคนยังปรับตัวกันไม่ทัน”

160766714662

  • ‘อีเรียมซิ่ง’ ผู้กอบกู้หนังไทยยุคโควิด

แต่แล้วในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีหนังไทยเรื่องหนึ่งเข้ามาทำให้ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ และคนทำหนังไทยพอจะยิ้มออกมาได้ นั่นคือ ภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ’ ผลงานการกำกับของ เอกชัย ศรีวิชัย นำแสดงโดยนักร้องลูกทุ่งขวัญใจคนรุ่นใหม่ เจนนี่ ได้หมดถ้าสดชื่น, ลิลลี่ เลิกคุยทั้งอำเภอ, ครูเต้ย อภิวัฒน์ ฯลฯ

‘มนต์รักดอกผักบุ้งฯ’ กวาดรายได้ไปถึง 43 ล้านบาท ในช่วงโควิด ซึ่งสำหรับปรากฎการณ์นี้ พรชัย ว่องศรีอุดมพร กล่าวว่าเป็นเพราะหนังเรื่องนี้ตอบโจทย์ของคนดูทางภาคทางใต้ โดยรายได้ประมาณ 70-80% มาจากภูมิภาคนี้ ส่วนอีก 20-30% มาจากภูมิภาคอื่น แล้วพอในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนก็มีภาพยนตร์เรื่อง ‘อีเรียมซิ่ง’ ที่ตอบโจทย์คนทั้งประเทศออกมา

160766797619

'อีเรียมซิ่ง' เฉลิมฉลองรายได้มุ่งหน้าสู่ 200 ล้าน

“มันเป็นการบอกว่า หนังไทย ถ้าคุณทำถูกกลุ่มคนก็ออกมาดู มนต์รักดอกผักบุ้งฯ ทำรายได้ไปกว่า 40 ล้านบาททั้งประเทศ โดยหนักที่ใต้ สำหรับ ‘อีเรียมซิ่ง’ ตอนนี้ทำไปได้ 190 ล้านทั่วประเทศแล้ว (นับถึงวันที่ 10 ธันวาคม) ซึ่งเราคิดว่า 200 ล้านก็น่าจะเป็นไปได้ ถ้าเราโชคดีก็จะได้ถึง 220 ล้าน เพราะว่าช่วงนี้มีวันหยุดต่อเนื่องถึง 2 ช่วง คือ วันพ่อกับวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมแล้ว 7-8 วัน ถ้าเรามองวันละ 10 ล้าน ก็คิดว่าน่าจะทำได้”

160766730431

นอกจากหนังไทยแล้ว ภาพยนตร์การ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่นที่คนไทยคุ้นเคย และรักมาตั้งแต่เวอร์ชั่นหนังสือการ์ตูน และแอนิเมชั่นก็ทำรายได้เป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘โดราเอมอน ตอนไดโนเสาร์ตัวใหม่ของโนบิตะ’ ที่เข้าฉายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นับถึงตอนนี้กวาดรายได้ไป 15.89 ล้านบาทแล้ว

ส่วนเรื่องล่าสุดที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากคือ ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่ ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ ที่ทำรายได้ในการฉายรอบพิเศษ เฉพาะที่เปิดตัวในโรงภาพยนตร์ไอแม็กซ์ และโรงเมก้าสกรีนจำนวน 14 จอ ก็สามารถเก็บเกี่ยวรายได้ไปถึง 2 ล้านบาทแล้ว

“เรื่องนี้ตอบโจทย์ว่าเราต้องการคอนเทนต์ เรื่องไหนที่มันอิมแพ็ค คนดูก็โอเค รายได้ในไตรมาส 4 ก็โตขึ้นมาจากไตรมาส 3 มันกลับไปใกล้เคียงกับตัวเลขที่ควรจะเป็นในสถานการณ์ปรกติแล้ว ซึ่งนี่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ในเรื่องของที่นั่งนะ อันนี้ที่นั่งได้ซัก 70% เท่านั้นเอง ซึ่งถ้ามันเปิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ตัวเลขน่าจะดีกว่านี้ด้วยซ้ำ” พรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ กล่าว

160766740669

  • ผนึกกำลังทำ ‘หนังไทย’ ให้แข็งแรง

ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเปรียบเสมือนช่วงเวลาของการวัดใจคนดูว่าต้องการอะไรในยุคโควิด-19 เช่นนี้ แล้วทางค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เอ็ม พิคเจอร์ส’ บริหารจัดการคอนเทนต์อย่างไรในสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่า หนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ดจะยังหายไปจากตลาดอีกระยะหนึ่ง

เรื่องนี้ พรชัย ว่องศรีอุดมพร กล่าวว่า (market) segmentation มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

“อย่างเรื่อง ‘ดาบพิฆาตอสูร’ เราเริ่มต้นจากการเลือกคอนเทนต์ที่มีตลาดคนดู 2. เราจะขยายอย่างไรให้คนที่ไม่ใช่แฟนหลักสนใจคอนเทนต์ที่มันสนุก ซึ่งบังเอิญว่าเราโชคดีมากที่ช่วงปิดโควิด อะนิเมะซีรีส์เรื่องนี้ถูกปล่อยออกมาทาง Netflix ในภาคภาษาอังกฤษ แล้วหลังจากนั้นก็ถูกปล่อยออกมาทางไลน์ทีวีในภาคภาษาไทย

ผมเองยอมรับเลยว่ายังไม่เคยอ่านการ์ตูน หรือดูอะนิเมะมาก่อน แต่พอได้มาดูเวอร์ชั่นภาพยนตร์แล้วมันสนุกมาก นั่นทำให้ผมมั่นใจกับการทำตลาดเรื่องนี้อย่างเต็มที่”

พรชัย ว่องศรีอุดมพร ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ประเทศที่คลายล็อกดาวน์ เปิดระบบเศรษฐกิจแล้ว ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น โรงหนังของที่นั่นไม่มีปัญหาเลยเพราะคอนเทนต์โลคอลของทั้ง 3 ประเทศนี้แข็งแรงมากจนสามารถทดแทนหนังฮอลลีวู้ดได้เลย ซึ่งวันนี้ ‘เอ็ม พิคเจอร์ส’ ก็พยายามที่จะทำภาพนั้นให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และขอเชิญชวนทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาทำภาพนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้

“ผมว่าวันนี้เราเอาศักยภาพของเราที่มี จุดแข็งของแต่ละคนมารวมกันแล้วทำให้มันแข็งแรงเพิ่มขึ้นไปอีก ใครมีเรื่องมีเดีย ใครมีเรื่องของ creative, distribution channel, marketing หรือ international market ผมว่าเรามาจอยกันได้หมด หรือถ้ามีทรัพย์สินเป็นคอนเทนต์ก็มาจอยกันได้ ตรงนี้มันก็จะทำให้อุตสาหกรรมเรามีความหลากหลาย”

  • ทุกอย่างมี 2 ด้าน….โควิดก็เช่นกัน

พรชัย ว่องศรีอุดมพร ผู้บริหารเอ็ม พิคเจอร์ส มองว่าการระบาดของไวรัสร้ายอย่าง ‘โควิด-19’ ก็ยังมีแง่มุมที่ดีอยู่เช่นกัน นั่นคือ

สะท้อนให้เห็นว่าการพึ่งพาคนอื่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด ความไม่ประมาทก็คือการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุดก่อน เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะไม่เดือดร้อนมาก

ทำให้เห็นว่าสินค้าที่คนต้องการกับสินค้าที่เราต้องการมันคนละอย่างกัน ถ้าเราจะทำสินค้าที่คนต้องการเราก็ต้องแคร์ในเรื่องของคนดู ตลาด มองให้ออก ให้ขาด ให้ชัดเจน

distribution period และการทำมาร์เก็ตติ้งเป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากโควิดทำให้หนังบางส่วนถูกเลื่อนฉาย แล้วพอนำกลับมาฉายก็ต้องมีการ repackaging กันใหม่ว่าจะโปรโมทอย่างไรให้ใหม่กว่าเดิม และยังมีความน่าสนใจอยู่ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดี

ข้อสุดท้ายที่เขามองว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้คนไม่สิ้นหวัง

“ผมว่าเรื่องนี้ (การระบาดของโควิด) ทำให้คนไม่สิ้นหวังเพราะเห็นว่ามีไฟกองหนึ่งถูกจุดในความมืดขึ้นมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่มีคนบอกว่ามันจุดไม่ติดหรอก แต่มันจุดติดขึ้นมาแล้ว แล้วมันจุดติดด้วยกองไฟของหนังไทยด้วย ไม่ใช่หนังฮอลลีวูด นี่คือสิ่งที่สำคัญ”

160766758347

2564 ปูพรมสร้างหนังไทยกว่า 20 เรื่อง

ในเมื่อหนังไทยแสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่าสามารถเป็น ‘พระเอก’ ที่เข้ามาจุดกองไฟแห่งความหวังของคนในวงการให้ติดขึ้นมาได้แล้ว ทางเอ็ม พิคเจอร์สวางแผนการอะไรเอาไว้สำหรับปี 2564 ที่กำลังจะมาถึง?

พรชัย ว่องศรีอุดมพร เปิดเผยกับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่าทางเอ็ม พิคเจอร์สได้วางแผนเอาไว้ว่าจะทำหนังไทยออกสู่ตลาดอย่างน้อย 20 เรื่อง (ในจำนวนนี้ร่วมถึงหนังที่สร้างร่วมกับพาร์ทเนอร์ด้วย) ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซนต์ในเรื่องของปริมาณ

ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องของจำนวนเท่านั้น แต่หนังไทยที่ทางค่ายจะนำออกฉายในปีหน้ายังมีความหลากหลาย เช่น ‘ส้มป่อย’ หนังภาษาเหนือเรื่องแรกของเอ็ม พิคเจอร์ส ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มทำหนังภูมิภาคจากเรื่อง ‘ส่ม ภัค เสี่ยน’ หนังภาษาอีสานเรื่องแรกที่ทำรายได้ไป 200 กว่าล้าน ก่อนจะมาทำเรื่อง ‘โนราห์’ เป็นหนังภาษาใต้ ตามด้วย ‘ส้มป่อย’ ซึ่งถือเป็นหนังเรื่องที่ 3 ของค่ายที่ไม่ใช่ภาษากลาง

นอกจากนี้ยังมี ‘ดีพ’ จาก ‘ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม’ ที่จะเข้าช่วงต้นเดือนมกราคม, ‘แดงพระโขนง’ จากที่ทุกคนเคยดูเคยเห็นหนังของแม่ และหนังของพ่อแล้ว คราวนี้จะชวนมาดูหนังของลูกแม่นากกันดูบ้าง, Cracked หนังจาก CJ MAJOR Entertainment ที่ได้ศิลปินไทยที่ไปดังในเกาหลีอย่าง นิชคุณ หรเวชกุล มานำแสดง

ค่ายหนังในเครืออย่าง M39 มีหนังเตรียมเอาไว้ 3 เรื่องคือ เรื่อง ผี เล่า, รักนี้วัวชน และ ส้มปลาน้อย ในขณะที่ผู้กำกับหนังแนวคอมเมดี้คนดัง ‘ยอร์ช - ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์’ ก็จะมีหนังเรื่อง ‘อาตมาฟ้าผ่า’ ออกมาให้ดูกัน รวมไปถึงหนังผีเรื่อง SLR, จ๊วด กะเทยบั้งไฟ ของทางเอ็ม พิคเจอร์ส เอง

นอกจากนี้ยังมี 'บอสฉัน...ขยันเชือด' หรือ MY BOSS IS A SERIAL KILLER หนังเรื่องแรกของบริษัท ไท เมเจอร์ จำกัด ที่เกิดจากการจับมือกันของ 2 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการหนังไทย วิสูตร พูลวรลักษณ์ แห่งไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กับ วิชา พูลวรลักษณ์ แห่งเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ นำแสดงโดย ‘ก้อง’ สหรัถ สังคปรีชา, ‘ไอซ์’ ปรีชญา และนางเอกสาวที่กำลังฮอตจากช่อง 7HD อย่าง ‘มุก’ มุกดา นรินทร์รักษ์

160766766829

160766767922

ในส่วนของหนังต่างประเทศก็คึกคัก และดูมีความหวังไม่แพ้กัน เพราะนอกจากหนังฮอลลีวู้ดแล้วก็ยังมีหนังจากพาร์ทเนอร์ฝั่งญี่ปุ่น เช่น โคนัน ที่ทางเอ็ม พิคเจอร์สจะเข้ามาจัดจำหน่ายเป็นปีแรก, Stand by Me Doraemon 2 ที่คาดว่าจะทำให้คนไทยหัวเราะทั้งน้ำตาได้อีกครั้งนึง

Hitman’s Bodyguard 2 ภาคต่อหนังสายลับของ ไรอัน เรย์โนลด์ และ ซามูเอล แอล แจ็คสัน ถูกวางเอาไว้เป็นหนังฟอร์มใหญ่ของทางค่ายในปีหน้า แล้วยังมี Shadow in the Cloud, Jiu Jitsu ที่จา พนม เล่นประกบคู่กับ นิโคลาส เคจ

ส่วนหนังจีนนั้น เอ็ม พิคเจอร์ส กำลังคุยกับพาร์ทเนอร์อยู่คือเรื่อง Detective China Town 3 ที่มี จา พนม เล่น

  • ‘หนังไทย’ ส่งออกแทนที่ ‘หนังฮอลลีวูด’

สำหรับผลประกอบการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปี 2563 นี้ ถึงแม้ว่าภาพรวมของตลาดหนังจะตกลงมากถึง 80-90% แต่ว่าในส่วนของหนังไทยซึ่งนอกจาก ‘อีเรียมซิ่ง’ ของเอ็ม พิคเจอร์สที่กวาดรายได้ไป 190 ล้านบาทแล้วก็ยังมีภาพยนตร์เรื่อง ‘อ้าย...คนหล่อลวง’ ของค่าย ‘จีดีเอช’ กำลังกวาดรายได้ไปกว่า 28 ล้านบาทเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ พรชัย ว่องศรีอุดมพร คาดการณ์ว่ารายได้ของหนังไทยจะตกลงแค่ 40% สวนทางกับตลาดที่ตกลงไปเยอะกว่ามาก

“เฉพาะของเอ็ม พิคเจอร์สเองทั้งกลุ่ม ปีนี้เราตกแค่ 27% ซึ่งมันก็โอเคในช่วง 3 เดือนที่หายไปเพราะโควิด ผมว่าเป็นปีที่เราทำได้ไม่เลวเลย ถ้าเราโชคดีกว่านั้นอีก ‘อีเรียมซิ่ง’ ทำได้เกินเป้า ปีนี้เราอาจจะตีคู่กับปีที่แล้วเลย ซึ่งปีนี้ยังไม่หมดปีเลยผมว่าเรายังมีโอกาสอยู่ ถ้าดูจากตัวเลขปัจจุบันมันบอกแบบนั้น

สำหรับในปี 2564 ผมเชื่อว่าเรารอดแน่นอน ปีหน้า ‘จีดีเอช’ ก็จะผลิตหนังมากขึ้น ของเราก็มากขึ้น มันไม่มีใครทำน้อยลงเลยครับ มันไม่มีธุรกิจไหนที่คนทำมากขึ้นเพราะมันขาดทุน แต่ทำเพราะคิดว่ามันจะกำไรแน่นอนผมค่อนข้างมั่นใจ

แล้วมันมีความโชคดีอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยได้ คือ บังเอิญคอนเทนต์ฮอลลีวู้ดมันมีน้อย หนังไทยเราเลยส่งออกได้มากขึ้นในประเทศที่โรงหนังเปิดให้บริการแล้ว อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนมอง สล็อตหนังมันเข้าปุ๊บฉาย เข้าปุ๊บฉาย ปรกติกว่าหนังไทยจะไปฉายที่เวียดนามต้องรอเดือนสองเดือน แต่ตอนนี้อาจจะ 2 อาทิตย์ก็ได้ฉายเลย แล้วในส่วนของ non theatrical อย่างสตรีมมิง ก็เติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในยุคโควิดนี้”

160766774532

ติเพื่อก่อ...ไม่ใช่เพื่อทำลาย ‘หนังไทย’

ในฐานะที่เป็นผู้สร้างหนังไทย อยากฝากอะไรถึงคนดูหนังไทยบ้าง?

“คอนเทนต์ไทยมันเป็นการส่งออกวัฒนธรรมอันหนึ่งที่เราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ด้วยการทำคอนเทนต์เหมือนทางเกาหลี ญี่ปุ่นที่เค้ามีภาพลักษณ์ที่ดีผ่านตัว Soft Power ตรงนี้แหละถ้าเราสามารถที่จะส่งเสริมให้มันแข็งแรง เป็นปากเสียงของไทยที่ส่งออกไปข้างนอกได้ ผมว่ามันไม่มีสินค้าไหนที่จะเป็นแบบนี้ได้อีกแล้ว

หนังเป็นอีเวนต์ที่สามารถดึงคนออกมาได้เป็นล้าน ๆ คนได้ภายในวันสองวัน มันไม่มีอีเวนต์ไหนที่ทำได้แบบนี้ ก็อยากฝากให้ภาครัฐช่วยดูตรงนี้ด้วยว่าเราจะนำซอฟท์พาวเวอร์มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร อยากให้ทำจริงๆ จัง ๆ เพราะมันมีตัวอย่างระดับโลกที่มันสำเร็จแล้ว ส่วนของไทยเรามันเริ่มไม่สำเร็จซักครั้ง ก็อยากให้สำเร็จจริงๆ จังๆ ซักที

ส่วนคนดูหนัง ขอบคุณสำหรับคนที่ยังรักและยังเชียร์หนังไทยอยู่ มีอะไรก็เขียนคอมเมนต์เข้ามาได้ เรายินดีที่จะรับฟัง เราอยากได้ความเห็น และแรงเชียร์จากคนดู เราติกันเพื่อก่อ ไม่ใช่ติเพื่อทำลาย ผมว่าตรงนี้มันจะสร้างให้สังคมมันดีขึ้น คนไทยเป็นคนเอื้อเฟื้อเมตตาอยู่แล้ว อยากให้ทุกคนเอาตรงนี้มาเอื้อประโยชน์ให้ต่อการสร้างงานที่ดีต่อไป”

คำถามสุดท้ายที่เรามีต่อบุคคลที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังไทยและธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่าง ‘พรชัย ว่องศรีอุดมพร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก็คือคำถามที่ว่า เสน่ห์ของ ‘หนังโรง’ ในมุมมองของเขาคืออะไร แล้วการดูหนังในโรงภาพยนตร์จะยั่งยืนต่อไปแค่ไหนในยุคโซเชียลมีเดียเบ่งบานเช่นนี้

“ผมว่ามันมั่นคง ตราบใดที่โลกนี้ยังมีความรัก ผมว่ายังไงคนก็ยังอยากอยู่กับคนรัก 2-3 ชั่วโมงในโรงภาพยนตร์ รวมถึงความรักของคนในครอบครัวด้วย

มันอาจจะเป็นประสบการณ์แรก อย่างผมก็มีความทรงจำที่คุณย่าพาผมเข้าโรงครั้งแรก ตอนนั้นผมตื่นเต้นจังเลย ได้ดูหนังเรื่องซูเปอร์แมนครั้งแรกในโรง นี่คือความทรงจำของผม

ผมว่ามันจะเป็นความทรงจำของหลาย ๆ คนในการเข้าโรงหนังครั้งแรกแล้วมีความสุข แล้วยังเป็นความสุขที่ส่งต่อได้ ไม่จำเป็นต้องสนุกกันเอง มันมีเพื่อน ๆ เต็มไปหมดเลย เวลาที่เราดูหนังแล้วเรากลัวไปด้วยกัน หัวเราะไปด้วยกัน ร้องไห้ไปด้วยกัน นี่คือความสนุกของบรรยากาศการดูหนังในโรงภาพยนตร์ครับ”