รู้จักแอพฯ 'หมอชนะ' เปิดวิธีใช้งาน พร้อมตอบชัด! ทำไมต้องติดตั้งบนโทรศัพท์ สู้ 'โควิด-19'
เปิดวิธีใช้งานแอพฯ "หมอชนะ" เพื่อป้องกันตัวเองจาก "โควิด-19" รับข้อมูลแจ้งเตือนเมื่อพบผู้ติดเชื้อได้รวดเร็ว และแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง
ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาด "โควิด-19" ระลอกใหม่ นอกจากการใส่ใจดูแลตัวเองตามมาตรการสาธารณสุขอย่าง 'สวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ เช็คชื่อด้วยไทยชนะ' แล้ว อีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยแจ้งเตือนความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่างๆ ได้ เพื่อให้คุณปลอดภัยมากขึ้น นั่นคือการใช้แอพฯ "หมอชนะ"
โดยเฉพาะข้อกำหนดล่าสุด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) เอ่ยระหว่างแถลงข่าวประจำวัน วันนี้ (7 ม.ค.) ว่า "..ต่อไปนี้ ใครที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วพบว่าไม่มีแอพฯ หมอชนะ จะถือว่า ท่านละเมิดข้อกฎหมาย"
"..ต่อไปนี้ ใครที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วพบว่าไม่มีแอพฯ หมอชนะ จะถือว่า ท่านละเมิดข้อกฎหมาย"
สำหรับการยกระดับบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค นำเอาหลักการของการอยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์ หมั่นล้างมือ ตรวจเช็อุณหภูมิ ครั้งนี้เน้นย้ำว่าจะต้องมีแอพพลเคชั่นอยู่ในโทรศัพท์มือถือเพื่อการติดตามตัว ซึ่งเดิมใช้ “ไทยชนะ” แต่ต่อไปคือการมี “หมอชนะ” จะต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเช้านี้มีการพูดคุยในที่ประชุมของ ศบค.ชุดเล็ก บอกว่าต่อไปนี้ ใครที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แล้วพบว่าไม่มีการติดตั้งแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ก็จะถือว่าท่านละเมิดข้อหมายฉบับที่ 17 นี้
"นี่คือสิ่งที่เราจะค่อยๆ เข้มข้นขึ้น เพราะว่ามีหลายครั้ง เราไม่สามารถที่จะติดตามไทม์ไลน์ออกมาได้ เพราะฉะนั้น “หมอชนะ” จะเป็นคำตอบในการระบาดระลอกนี้" (อัพเดท : จบดราม่า 'หมอชนะ' ทวีศิลป์ แจงเอง ไม่โหลดไม่ผิดกฎหมาย)
- เปิดขั้นตอนใช้งาน 'ไทยชนะ' 'หมอชนะ' 'Away Covid-19' 3 อาวุธกันภัยไวรัส
- รู้จัก 'Away Covid-19' แอพพลิเคชั่นเตือนก่อนเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง 'โควิด-19'
- รู้ยัง ‘หมอชนะ/MorChana’ ชนะเลิศ! เรื่องเข้าถึง ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’
- 'เยียวยาโควิด' เปิดมาตรการรอบใหม่ ล่าสุด! รายละเอียดอย่างไร? ใครได้สิทธิบ้าง?
..มาถึงตรงนี้ เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า ทุกๆ คนต้องรีบติดตั้งแอพพลิเคชั่น "หมอชนะ" กันได้แล้ว! ว่าแต่ หมอชนะ มีประโยชน์อย่างไร ใช้งานยากไหมนั้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ "หมอชนะ" และวิธีใช้งานแอพฯ นี้มาฝากกัน
- แอพพลิเคชั่น "หมอชนะ" คืออะไร?
แอพฯ “หมอชนะ” คือระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ให้มีประสิทธิภาพและวัดผลได้
“หมอชนะ” ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย และมุ่งประสิทธิผลในการคัดกรองความเสี่ยง โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น การลงทะเบียนใช้แอพฯ จึงเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) ยิ่งกว่านั้น คณะรวมอาสาสมัครยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูล ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
- แอพฯ “หมอชนะ” ไม่ละเมิดข้อมูลส่วนตัว
เมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที อีกทั้งการโค้ดแอปยังมีลักษณะเป็น ‘โอเพ่นซอร์ส (Open Source)’ เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่นๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย
เมื่อลองดาวน์โหลด "หมอชนะ" มาใช้งาน พบว่ามีขั้นตอนที่ให้ผู้ใช้ถ่ายภาพโปรไฟล์ตัวเองก่อน เพื่อยืนยันตัวตนในการใช้งานแอพฯ "หมอชนะ" และระบบจะขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลตำแหน่ง (location - GPS), การเคลื่อนที่ (motion), Bluetooth โดยประกาศไว้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเข้าแอพฯ ทั้งนี้แอพฯ "หมอชนะ" ไม่ขอข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อหรือเลขบัตรประชาชน
- วิธีใช้งานแอพฯ หมอชนะ
รูปแบบการใช้งาน "หมอชนะ" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้ผู้ใช้รายงานความเสี่ยงของตัวเอง และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ที่มีผู้ติด COVID-19 โดยวิธีใช้งาน เริ่มจาก.. ให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพ "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน แล้วเข้าไปตอบคำถามประเมินอาการของตัวเองในแอพฯ โดยจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ
- สีเขียว : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
- สีเหลือง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
- สีส้ม : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
- สีแดง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
เมื่อตอบคำถามครบถ้วนแล้ว แอพฯ จะรายงานพิกัดของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบ แต่ผู้ใช้จะไม่สามารถดูได้ว่าผู้ใช้คนอื่นอยู่ตรงไหนบ้าง ทำได้แค่เพียงอนุญาตให้แอพแจ้งเตือนผ่าน notification หากเราเข้าไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะเช็คข้อมูลด้วย GPS และ Bluetooth ของตัวโทรศัพท์มือถือ
เมื่อมีฐานข้อมูลเพียงพอ ค่าสีในพื้นที่ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง "อัพเดตแบบเรียลไทม์" ตามข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้ทุกครั้งที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และระบบพบว่าผู้ใช้งานมีประวัติการเดินทางเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นในช่วงที่ผ่านมา แอพฯ ก็จะแจ้งเตือนผู้ใช้งาน ให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยค่าสีใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความระมัดระวังและการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ได้อย่างดีขึ้น
- ส่องข้อดีของแอพฯ "หมอชนะ"
1. แอพฯ "หมอชนะ" เป็นเครื่องมือให้ภาคธุรกิจเอกชนตลอดจนสถานที่ต่างๆ ใช้ในการสแกนเช็คอินสำหรับผู้มาใช้บริการ เพื่อให้ข้อมูลการเดินทาง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการแพร่ระบาดในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับทั้ง ผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่ และประชาชนผู้มาใช้บริการ ทำให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อย่างปลอดภัย ควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังอื่นๆ ที่ทางการกำหนดไว้
2. ใช้แอพฯ นี้แล้วจะง่ายต่อการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น โดยหากพบว่าผู้ใช้แอพฯ เดินทางไปขอรับบริการทางการแพทย์มีความเสี่ยงสูง แพทย์ก็จะทราบและใช้เครื่องมือป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง
3. แอพฯ นี้ ช่วยจัดลำดับความเร่งด่วนและวางมาตรการในการรักษาหรือส่งตรวจบุคคลผู้นั้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. แอพฯ นี้ จะมีประสิทธิภาพขนาดไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีผู้ใช้มากเท่าใดด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศให้ช่วยกันใช้งาน เพื่อครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้จัดแบ่งโซนพื้นที่ความเสี่ยงได้ละเอียดมากขึ้น
5. ระบบ "หมอชนะ" ถูกออกแบบมาสมบูรณ์แต่แรก ให้ใช้ได้ทั้งฝั่งประชาชน และฝั่งผู้ประกอบการร้านค้า แตกต่างกับ "ไทยชนะ" ที่มีให้ใช้งานเพียงฝั่งผู้ประกอบการร้านค้าอย่างเดียว และหมอชนะยังถูกออกแบบแต่แรกให้เป็น app ทำให้สามารถส่งข้อความแจ้งความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ได้ทันที เพื่อเตือนให้บุคคลเพิ่มความระมัดระวัง
6. ระบบหมอชนะ ออกแบบให้มีฟังก์ชันการทำงานของ กรมควบคุมโรค ที่จะปรับสีระดับความเสี่ยง เพื่อบริหารจัดการประชาชนในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ และ มีการปรับสี และคำถาม questionnaires เพื่อติดตามอาการ ที่อาจเกิดขึ้นหลังผู้ที่อาจได้รับเชื้อถูกปรับระดับความเสี่ยงเปลี่ยนไป
7. ระบบหมอชนะ มีทีมอาสาช่วยแปลเป็นหลายภาษา เพื่อเตรียมรองรับกับ คนต่างชาติที่ต้องเข้ามาประเทศ หรือ ที่ทำงาน/อาศัยในประเทศ
8. ระบบหมอชนะ ออกแบบไว้เผื่อ กรณีที่ผู้ใช้ไม่มีมือถือ ก็สามารถออกเป็นบัตรให้ถือได้
9. ระบบหมอชนะ ไม่ใช่เป็นแค่ contact tracing แต่ยังเป็น health passport ชนิดหนึ่ง สามารถใช้ร่วมกับการให้วัคซีนและการตรวจผลเชื้อจาก lab โดยการปรับค่าสีของพื้นที่เสี่ยงได้ และยังสามารถออก special badge เพื่อให้บุคคลากรทางการแพทย์ หรือพนักงานขนเงิน ที่ยังต้องทำงานและต้องเดินทางผ่านด่านตรวจ สามารถใช้แสดงเพื่อผ่านด่านตรวจได้ ในกรณีที่ต้อง lock down
10. สำหรับประชาชนผู้ใช้สมาร์ทโฟน ให้ดาวน์โหลดและเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน หมอชนะ เพื่อให้เกิดข้อมูลติดตามได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนทางฝั่งผู้ประกอบการร้านค้า ให้สนับสนุนติดตั้งคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อให้มีจุดเช็คอินสำหรับผู้ใช้งาน เข้าไปสแกนเช็คอินและยืนยันการเข้ามาใช้บริการยังสถานที่ให้บริการนั้นๆ ดาวน์โหลดคลิก https://bit.ly/2JZjEJM