ค่าบริการมือถือ ‘นอกโปรโมชั่น’
ในสภาวะการแข่งขันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปัจจุบัน ทำให้แต่ละค่ายผู้ให้บริการต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดฐานลูกค้ามาใช้บริการให้มากที่สุด ในแง่ของผู้ใช้งาน เมื่อใช้บริการไปจนครบโปรโมชั่น หากไม่สังเกตให้ดี อาจจะเจอปัญหา Bill Shock หรือการคิดค่าบริการนอกโปร
สภาวะตลาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมีการขยายตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง กอรปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสาร และด้วยต้นทุนที่ต่ำลงของอัตราค่าบริการ ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างแพร่หลาย จนทำให้การสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่กลายมาเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน
ประเทศไทยมีผู้ให้บริการหลัก 3 ราย ได้แก่ ทรูมูฟ เอไอเอส และดีแทค ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละค่ายก็ล้วนครองส่วนแบ่งทางตลาดแตกต่างกันออกไป แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันในปัจจุบันแต่ละค่ายก็ต้องการที่จะขยายการให้บริการที่ครอบคลุมมากที่สุด อีกทั้งการพัฒนาแผนกลยุทธ์เพื่อใช้ในการแข่งขันก็ล้วนทวีความสำคัญตามมาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ความพึงพอใจในการใช้บริการมากที่สุดนั่นเอง
จะเห็นได้ว่านอกจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยด้านการให้บริการอันเป็นรายการส่งเสริมการขายหลัก หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นหูว่า “โปรโมชั่น” ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่เลือกใช้บริการค่ายใดค่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้พูดถึงโปรโมชั่นการให้บริการที่น่าสนใจนั้น ผู้บริโภคก็มักจะชื่นชอบแบบที่ค่าบริการถูก ไม่แพงจนเกินไปและสามารถใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์ที่ดีคุ้มค่ากับราคาที่สุด เหมาะสมกับการใช้งานที่สุด
เมื่อผู้บริโภคเลือกโปรโมชั่น เลือกค่ายโทรศัพท์มือถือได้ถูกใจแล้ว ปัญหาที่ตามมาหลังจากใช้โปรนั้นๆ ไปจนหมดโปรแล้วก็คือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะเจอ Bill Shock ถ้าไม่ระวัง ซึ่งประเด็นการคิดค่าบริการนอกโปรเป็นเรื่องที่เกิดกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือน ซึ่งผู้บริโภคดังกล่าวจะอยู่ในโปรอันใดอันหนึ่งที่มีอัตราค่าบริการคงที่และมีการจำกัดปริมาณของบริการในแต่ละเดือนว่าจะโทรได้ไม่เกินกี่นาที หรือใช้บริการอินเทอร์เน็ต หรือบริการข้อมูลได้ไม่เกินกี่ GB
ถ้าเกิดการใช้บริการเกินกำหนดก็จะถูกคิดค่าบริการต่อหน่วยในอัตราที่แพงกว่าค่าเฉลี่ยในโปร อันส่งผลให้ผู้ใช้บริการเจอสภาวะ Bill Shock เนื่องจากถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงกว่าปกติอย่างมากในเดือนนั้นๆ
สำหรับกรณีดังกล่าวได้มีผู้บริโภคประสบปัญหาและทำการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำนวนมาก ซึ่งทาง กสทช.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ล่าสุดได้เปิดฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก
สาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าวอยู่ที่การกำกับอัตราค่าบริการนอกรายการส่งเสริมการขาย หรือที่เรียกกันว่าโปรโมชั่น โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดค่าบริการนอกโปรได้ไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงของค่าบริการ ดังนี้ บริการเสียงไม่เกิน 1.60 บาทต่อนาที บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 2.50 บาทต่อข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ไม่เกิน 4.50 บาทต่อข้อความ และบริการอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.90 บาทต่อเมกะไบต์
หมายความว่า รายการส่งเสริมการขายที่กำหนดขึ้นใหม่หลังวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้นั้น ค่าบริการนอกโปรจะต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงดังกล่าว ขณะที่รายการส่งเสริมการขายใดที่มีอัตรากำหนดราคานอกโปรเกินกว่าวันก่อนที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ให้สามารถเรียกเก็บค่าบริการต่อไปได้ จนกว่าระยะเวลาของรายการส่งเสริมการขายนั้นสิ้นสุด ส่วนรายการส่งเสริมการขายที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการให้บริการไว้ ก็สามารถเรียกเก็บได้ไม่เกิน 270 วันนับแต่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้
ในร่างประกาศฉบับดังกล่าว ผู้เขียนเห็นด้วยในหลักการเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับประโยชน์ของผู้บริโภคโดยตรง เพียงแต่สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวนั้นคิดว่าค่าบริการที่กำหนดนั้นสูงเกินไปหรือไม่ และผู้ให้บริการอาจผลักภาระดังกล่าวมาที่ผู้บริโภค โดยการทำให้ค่าบริการในโปรแพงขึ้นได้หรือไม่
ประเด็นเรื่องการพิจารณาเรื่องการคิดค่าบริการดังกล่าวต้องเป็นการสร้างสมดุล ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ประกอบการและฝั่งผู้ใช้บริการให้เหมาะสม เพื่อให้การดำเนินธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างสมเหตุสมผลที่สุด