'วันปีใหม่' กับความทรงจำของ 'เค้กโบราณ'
ย้อนความทรงจำ "วันปีใหม่" ทำไมต้อง "เค้กโบราณ" ที่ได้รับเลือกให้อยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ สำหรับมอบเป็นของขวัญ หรือปาร์ตี้ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขเสมอมา
ช่วงสิ้นปี – ปีใหม่ เค้กจะเป็นขนมหวาน ที่ได้รับเลือกให้อยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ สำหรับมอบเป็นของขวัญ หรือปาร์ตี้ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขเสมอมา
เค้กโบราณหน้าแยมส้ม บีบครีมเล็กๆ ด้านบน เพียงแค่นี้ก็สร้างเอกลักษณ์ให้คนจดจำมาเป็นสิบๆ ปี ดีไซน์ง่ายๆ แบบนี้แหละ คลาสสิกสุดๆ
เชื่อว่าหนึ่งในขนมสุดฮิตที่ยังอยู่ในความทรงจำวัยเด็กของคน Gen X – Gen Y เมื่อกว่า 20 – 30 ปีที่แล้ว คือ “ขนมเค้กหน้าแยมส้ม” หรือที่บางคนเรียกว่า “เค้กน้ำเชื่อม” ซึ่งหาซื้อได้ในร้านขนมที่โรงเรียน หรือร้านโชห่วยใกล้บ้าน ใกล้โรงเรียน ราคา ณ เวลานั้นตกชิ้นละประมาณ 1 – 2 บาท จริงๆ ซื้อยกกล่องก็ได้ กล่องหนึ่งบรรจุ 12 ชิ้น จัดว่าเป็นขนมที่ต้องมีให้เห็นในช่วงปีใหม่ในตอนนั้นเลยก็ว่าได้ ว่ากันว่าเวลากินแต่ละทีถ้าจะให้ฟินนั้น ทางที่ดีห้ามกินเกินสองคำด้วยนะ!
ถ้าลองถามคน Gen X ดู บางคนบอกว่าสมัยโน้น ใช่ว่าจะมีขนมเค้กหน้าครีมกินกันเกร่ออย่างทุกวันนี้หรอกนะ ร้านเบเกอรี่ตามห้องแถวอะไรนี่ หายาก แทบไม่มี สมัยโน้นได้กินเค้กหน้าครีมในเทศกาลปีใหม่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่วิเศษมาก! และเค้กนอกจากจะเป็นขนมประจำวันเกิดของใครหลายคนตามธรรมเนียมฝรั่งอย่างที่รู้ๆ กันแล้ว ยังถือว่าเป็นขนมประจำเทศกาลปีใหม่ด้วย ซึ่งนอกจากคำว่า “เค้กวันเกิด” เรายังมีคำว่า “เค้กปีใหม่” ด้วย แต่ในยุคดิจิทัลนี้ก็กินกันเกร่อเลยแหละ
อย่างที่คน Gen X บอกว่าในวัยเด็กได้กินเค้กเป็นเรื่องวิเศษ
ถ้าเช็คดูตามประวัติแล้ว พบว่า เค้กเป็นขนมที่เพิ่งมีในศตวรรษที่ 19 นี่เอง ขนมเค้ก มีรากศัพท์มาจากภาษาของชาวไวกิ้ง มาจากคำว่า “kaka” เมื่อ ค.ศ. 1843 นักเคมีชาวอังกฤษชื่อ อัลเฟรด เบิร์ด (Alfred Bird) ได้ค้นพบ “ผงฟู” (baking power) ขึ้น ทำให้เขาสามารถทำขนมปังชนิดที่ไม่มียีสต์เป็นส่วนผสมได้เป็นครั้งแรก เรื่องของเรื่องนั้นมาจากเอลิซาเบท (Elizabeth ) ภรรยาของเขา เป็นโรคภูมิแพ้อาหารที่มีส่วนผสมของไข่และยีสต์
และถ้าย้อนกลับมาดูประวัติขนมเค้กในไทย พบว่า อย่างน้อยที่สุด ถึง ค.ศ.1937 (หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ขนมเค้กยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากนัก ยกเว้นในหมู่คนที่ใกล้ชิดกับฝรั่งที่เข้ามาทำธุรกิจ ตอนนั้นร้านเบเกอรี่ในกรุงเทพฯ มีอยู่ไม่มากนัก ต่อมาปี 1947 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยติดต่อค้าขายทำธุรกิจกับต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในช่วงนั้น ทำให้มีความต้องการขนมเค้ก ขนมปัง เพสตรี้ เพื่อบริการแก่ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจเบเกอรี่หรือขนมเค้ก ขนมปัง คุกกี้ ขยายตัวตามและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
เอาเข้าจริงแล้ว คนกรุงเทพฯ เริ่มรู้จักขนมอบกันมากขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงนี่เอง อย่างที่ ทองแถม นาถจำนง เขียนไว้ในคอลัมน์ “ตามรอยคึกฤทธิ์” ใน สยามรัฐออนไลน์ เรื่องเค้กปีใหม่เมื่อปี 1954 ความว่า
“ปีใหม่นี้ผู้เขียนสังเกตเห็นอะไรหนาตากว่าแต่ก่อนอยู่อย่างหนึ่ง สิ่งนั้นคือการให้ของขวัญปีใหม่ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนมีแต่คนเดินถนนหรือขึ้นรถไปในทิศทางต่างๆ ในมือถือห่อกระดาษหรือหีบกระดาษมีริบบิ้นสีต่างๆ ผูกไว้อย่างสวยงาม หรือมิฉะนั้นก็มีกระเช้าดอกไม้กระเช้าโตๆ ทั้งหมดนี้แสดงว่าต่างคนต่างก็ออกให้ของขวัญปีใหม่กัน ของขวัญปีใหม่ที่ให้กันมากที่สุด นอกจากระเช้าดอกไม้ก็เห็นจะได้แก่ขนมของฝรั่งที่เรียกว่า “ขนมเค้ก” ... กล้ายืนยันได้ว่าตามบ้านผู้มีบุญวาสนาทุกบ้านในปีใหม่คราวนี้ จะต้องมีขนมเค้กตกค้างบ้านหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 30 หรือ 40 ดูออกจะเหลือกิน เหลือทำบุญทำทาน ขนมเค้กเหล่านี้ราคาตั้งแต่ 40 บาท ไปจนถึง 100 หรือ 200 คิดดูที่ให้ปันกันทั้งหมดในระยะ 2-3 วันนี้ ก็เห็นจะเป็นเงินร่วมล้านกระมัง คนที่ได้รับผลประโยชน์ร่ำรวยที่สุดก็คงจะได้แก่ผู้ทำขนมเค้กนั้นเอง ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า เห็นรายใหญ่ๆ มีชื่อก็แต่ร้านกวนเซี่ยงเฮียงกับร้านท่านหญิงเปา แต่ใครก็ไม่รู้ดอดเข้าไปยิงนายห้างกวนเซี่ยงเฮียงตายเมื่อก่อนปีใหม่ไม่กี่วัน เห็นจะไม่ใช่ท่านหญิงเปาเป็นแน่ ...”
ราคาของขนมเค้กตามเรื่องเล่านั้น ถือว่าไม่ใช่ถูกๆ ในสมัยนั้น ถือว่ามีราคาแพงมาก ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปก็ใช่ว่าจะซื้อหามากินกันได้อยู่บ่อยๆ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้คนในยุคนี้หลาย ๆ คนรู้สึกว่าโลกหมุนไปอย่างรวดเร็วเกินไป สิ่งที่เคยมีมาในอดีตนั้นไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และที่ปรับตัวไม่ทันก็ต้องหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง เทปคลาสเซ็ต นิตยสารต่างๆ เมื่อมีสิ่งที่หายไปก็มีสิ่งที่มาใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด การ Streaming รถยนต์ขับเคลื่อนได้เอง หรือในตอนนี้ซุปเปอร์มาเก็ตที่ไม่ต้องมีพนักงานแคชเชียร์
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ผู้คนนั้นกลับไปโหยหาในอดีตที่เกิดขึ้นมา และอยากได้อะไรในอดีต ๆ กลับมาเพราะรู้สึกว่าโลกนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากเกินไป ทำให้บางโมเม้นท์ก็อยากทำตัวให้ช้าและหาอะไรที่ Analog กลับมา ตัวอย่างเช่นกาแฟดริป แผ่นเสียง ที่กลับมาฮิตในยุคนี้อีกครั้ง หรือในไทยเองก็กลับมาฮิตเรื่อง วัยรุ่นยุค 90 ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ คนก็เกิดไม่ทัน แต่โหยหาในอดีตที่เกิดขึ้นมา
นักจิตวิทยากล่าวว่าความทรงจำในวัยเด็กนั้นพร่าเลือนมาก เราไม่สามารถจดจำเรื่องราวได้ทั้งหมด เนื่องจากมันเป็นชิ้นส่วนเล็กน้อย ที่ถูกซอยยิบย่อย แยกกระจัดกระจายเต็มไปหมด แต่ถึงอย่างนั้น ความทรงจำเหล่านี้ก็มักจะติดตรึงไว้กับอารมณ์ (emotion) ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น
ใครหลายคนอาจจะยังตราตรึงในผัสสะรสชาติอาหารบางรส บางอย่าง ที่ติดค้างอยู่ในปากได้เป็นอย่างดี แต่ต่อให้พยายามนึกถึงความทรงจำในวัยเด็กแค่ไหนก็ตาม กลับไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวทุกอย่างเข้าด้วยกันได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล มีเพียงการรับรู้ถึงสิ่งเร้าที่รุนแรงต่อความรู้สึกที่ตกทอดอยู่ในความทรงจำแทน
Morris B. Holbrook เขียนบทความเรื่อง “Nostalgic Bonding: Exploring the Role of Nostalgia in the Consumption Experience” (2003) ใน Journal of Consumer Behaviour เขาชี้ให้เห็นว่ามันมีหลายปัจจัยทีเดียวที่ทำให้คนรู้สึกถึงอดีตที่ประทับใจ หนึ่งในนั้น เขาบอกว่า มันเป็นประสบการณ์จากผัสสะที่หลงเหลือในเศษเสี้ยวส่วนทรงจำ อย่างสัมผัสจากกลิ่น จากอาหาร ซึ่งทำให้หวนกลับคิดถึงประสบการณ์และภาพวัยเด็ก แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบเดียวและผ่านเลยไปอย่างรวดเร็ว
แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะก้าวไปไกลอย่างไร แต่ในใจลึกๆ โดยเฉพาะคนกลุ่ม Gen X และ Y ซึ่งเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากโลก Analog ไปสู่โลก Digital มีบ้างบางทีที่รู้สึกโหยหา หรือคิดถึงความสุข – ความสนุกในวัยเยาว์เสมอ ในขณะที่ความทรงจำเกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีตมากมายดูเหมือนว่าจะผ่านมาและผ่านไป ถึงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตวัยผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถจดจำได้ หากไม่มีสิ่งใดเลยเป็นสื่อกลาง นั่นอาจทำให้ เค้กโบราณ เป็นหนึ่งสิ่งเร้าความรู้สึกที่ยังตกทอดในความทรงจำวัยเด็ก ทุกวันนี้เค้กแยมส้ม หรือ เค้กโบราณ ยังคงผลิตและจำหน่ายอยู่ แสดงให้เห็นว่ายังมี Deman ในตลาด
เมื่อคุยกับเพื่อน Gen เดียวกัน บางคนบอกว่า เค้กโบราณที่ว่านี่นะ ที่จริงมันก็ไม่ได้อร่อยเว่อร์วัง ละมุนลิ้นอย่างพวกชิฟฟ่อนเค้กหรอก แต่ว่ามันมีคุณค่าทางจิตใจ เหมือนมันดึงอดีตกลับมา แม้เพียงบางส่วน เข้ามาอยู่กับบริบทปัจจุบัน วัยเด็กที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ยังคงเป็นความทรงจำ ที่เราจะจดจำได้และประทับใจ
ทุกวันนี้เรามักพบเห็นเค้กในโอกาสและเทศกาลต่างๆ ประดับประดาเป็นไฮไลต์อยู่ในงาน จนกลายเป็นสื่อกลางในการอธิบายถึงวาระและโอกาสพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเค้กแต่งงาน เค้กสละโสด เค้กวาเลนไทน์ เค้กวันฮัลโลวีน เค้กวันเกิด เค้กคริสต์มาส และปีใหม่
เค้กจึงไม่ใช่แค่ขนมหวาน แต่มันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง การรำลึกถึงความสุข การเติบโต การก้าวเดินไปข้างหน้า ความสำเร็จ ตลอดจนเป็นศูนย์รวมความทรงจำในชีวิตของคนคนหนึ่งที่จะมีได้