โควิดระลอกใหม่ กับการทำงานที่บ้าน (Work From Home)
ภายใต้สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ทำให้เกิดรูปแบบ Work From Home มากขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้คนแล้ว เนื่องจากมีประสบการณ์จากการล็อกดาวน์ในครั้งก่อน ที่จะทำให้มีปรับตัวกับครั้งใหม่ได้ดีขึ้น
[บทความนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เขียนโดย พสุ เดชะรินทร์ คอลัมน์ มองมุมใหม่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]
ไทยต้อนรับการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2564 ด้วยสถานการณ์การระบาดใหม่ของโควิด-19 และพอจะคาดเดากันได้เลยว่าการระบาดของโควิดครั้งนี้ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายได้ง่ายๆ หลายองค์กรได้เริ่มประกาศให้พนักงานกลับไปสู่การทำงานจากที่บ้านกันอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับสถานศึกษาจำนวนมากก็ประกาศปรับการเรียนการสอนไปสู่ระบบออนไลน์อีกครั้ง
ความแตกต่างของการ Work from home (WFH) ในครั้งนี้ คือทุกๆ คน (และทุกองค์กร) มีบทเรียนมาจากการ WFH ในครั้งแรกไปเมื่อปีที่แล้ว แถมก็เริ่มมีผลการศึกษาทางด้านวิชาการที่ออกมาเกี่ยวกับ WFH ออกมาให้ได้เข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมในการ WFH กันมากขึ้น
สิ่งที่พบตรงกันทั้งในและต่างประเทศก็คือ การ WFH จะทำให้มีการประชุมบ่อยขึ้น แต่ระยะเวลาของการประชุมแต่ละครั้งจะสั้นลง การประชุมที่บ่อยขึ้นเกิดจากความสะดวกในการประชุมออนไลน์ ที่ผู้เข้าร่วมประชุมก็ไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทาง ทำให้การนัดหมายประชุมต่างๆ สามารถจัดได้อย่างต่อเนื่อง การออกจากที่ประชุม (ออนไลน์) ที่หนึ่ง และเข้าร่วมประชุม (ออนไลน์) อีกที่หนึ่งทันที กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับหลายๆ คน
ส่วนระยะเวลาของการประชุมที่สั้นลงนั้น ก็มาจากการประชุมออนไลน์นั้นไม่ได้มีบรรยากาศที่จะเอื้อต่อบทสนทนาทั่วไปเสมือนการมาประชุมด้วยตนเอง ทำให้การประชุมออนไลน์ส่วนใหญ่ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ในต่างประเทศยังพบว่าระยะเวลาการทำงานของพนักงานที่ WFH นั้นก็ยาวนานกว่าเดิม ซึ่งอาจจะเนื่องจากเมื่อทำงานอยู่บ้านแล้ว ก็มีโอกาสในการทำงานที่นอกเวลาปกติได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหรือส่งอีเมลในช่วงเย็นๆ หลังเวลาทำงานปกติ
ผลประการหนึ่งของการ WFH นานๆ คือเมื่อคลายการล็อกดาวน์แล้ว บริการหนึ่งที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ คือธุรกิจเสริมความงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการผ่าตัดศัลยกรรมต่างๆ ในต่างประเทศนั้นเรียกภาวะในลักษณะนี้ว่า Zoom Boom และพบว่ามีการนัดหมายแพทย์ในด้านเสริมความงามเพิ่มมากขึ้นหลังการคลายล็อกดาวน์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากในช่วง WFH จะมีการประชุมออนไลน์และใช้จอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น ทำให้ได้เห็นใบหน้าของตนเองอยู่ตลอดเวลา และบ่อยกว่าปกติ ทำให้พบถึงความผิดปกติ หรือสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุงในใบหน้าหลังจากที่ได้จ้องไปนานๆ
อีกหนึ่งประเด็นที่พบจากการอยู่ในบ้านมากขึ้นและไม่ค่อยกล้าที่จะออกไปข้างนอก ก็คืออาจจะนำไปสู่ความรู้สึกที่เศร้าหมอง และหดหู่ จากประสบการณ์ล็อกดาวน์ในครั้งที่ผ่านมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างแนะนำว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เพื่อลดอาการไม่สบายทางจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การออกกำลังกายจะช่วยหลั่งสารสร้างความสุข และทำให้การทำงานของสมองดียิ่งขึ้น ถึงแม้ตอนนี้บรรดายิมหรือฟิตเนสต่างๆ ก็ต้องปิดตัวลงไปแล้ว แต่คลิปการออกกำลังกายเองที่บ้านก็มีอยู่เต็มไปหมด ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้อง WFH หรือเรียนหนังสือที่บ้านกันแล้ว การออกกำลังกายในช่วงที่ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้นั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ยิ่งประจวบกับช่วงต้นปี หลายๆ คนก็มักจะตั้งเป้าหมายของปีใหม่ไว้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป้าหมายที่มากที่สุดเรื่องหนึ่งที่คนไทยชอบตั้งไว้ว่าจะทำในปีใหม่คือการสร้างสุขนิสัยใหม่ โดยการรับประทานให้น้อยลงและออกกำลังกายให้มากขึ้น แต่พบว่าการที่พฤติกรรมใหม่นี้จะอยู่ติดตัวเราตลอดไปนั้น จะต้องใช้เวลาในการทำต่อเนื่องถึง 66 วัน (ซึ่งถ้านับจากวันที่ 1 ม.ค.ก็คือวันที่ 7 มี.ค.) ซึ่งร้อยละ 80 ของคนทั่วๆ ไปนั้น จะล้มเลิกเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.แล้ว
ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ของโควิด และเราอาจจะต้องทำงานอยู่ที่บ้านกันมากขึ้น ก็จะเป็นโอกาสอันดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวและออกกำลังกายกันมากขึ้น ทั้งเพื่อให้ไม่ให้เกิดปัญหาทางจิตใจในช่วงที่ต้องทำงานอยู่กับบ้าน และเพื่อทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ได้บรรลุอย่างแท้จริง