"อาชีพอย่างผมไม่มีก็ได้ คนอื่นไม่เดือดร้อน แต่ผมน่ะเดือดร้อน" คุยกับศิลปิน - สมยศ หาญอนันทสุข
เยี่ยมสตูดิโอใหม่ของสมยศ หาญอนันทสุข ศิลปินแนวนามธรรม รู้จักโลกการทำงาน พร้อมเข้าใจวิธีสัมพันธ์กับงานศิลปะนามธรรม
มาพูดคุยและชมสตูดิโอแห่งใหม่ของสมยศ หาญอนันทสุข ศิลปินไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนีมาหลายสิบปี สตูดิโอแห่งนี้มีเนื้อที่กว่า 300 ตารางเมตร กับพื้นที่ทำงานกว้างขวาง พื้นที่ต้อนรับแขก และห้องเก็บงานศิลปะซึ่งควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม
ในวัยใกล้ 70 ปี เขาบอกว่าเพิ่งอยู่ได้ด้วยงานศิลปะอย่างเดียว 10 กว่าปีเท่านั้น ศิลปินไทยผู้ประสบความสำเร็จทั้งในเยอรมนี ยุโรป และไทย บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทำงานศิลปะจะสามารถยึดเป็นอาชีพเต็มตัว ไม่เพียงแค่งานที่ดีเท่านั้น จังหวะชีวิต หรือโชคชะตาก็ไม่อาจทราบ ที่จะทำให้ยืนหยัดอยู่ได้
คนทำงานศิลปะส่วนใหญ่จึงต้องมีงานอื่นๆ เลี้ยงชีพ อย่างสมยศก็เคยรับงานทาสีและทำบ้านมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาในมิวนิค กว่าจะมีวันนี้ก็ไม่ใช่ง่าย นอกจากต้องต่อสู้กับการใช้ชีวิตแล้ว เส้นทางการทำงานศิลปะ ซึ่งเหมือนกับการเดินทาง ก็ต้องมีจุดเปลี่ยนเช่นกัน
การ ‘ทิ้งภาพ’ ทำให้เกิดแนวทางในการทำงานใหม่
งานยุคแรกของสมัยที่เขายังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีอยู่นั้น เป็นงานที่มีฝีมือการวาดสมจริงระดับสูง ผสมผสานพื้นผิวประหลาดละเอียดยิบเพื่อสาดความเครียดขึ้งออกมาในงาน จึงดูโหด ดุดัน และน่าทึ่ง แต่เขาละงานแนวนั้นมาเนิ่นนานแล้ว งานในวันนี้ของสมยศ หาญอนันทสุข เปรียบเหมือนการเดินทางไปในโลกภายในไม่รู้จบ
- จุดเปลี่ยนสู่งานแนวนามธรรม
“เกิดขึ้นตอนไปเรียนที่เยอรมนี งานชุดโหดๆ เกิดจากตัวเราสมัยก่อน ผมเป็นเด็กที่มีปัญหามาก ตอนวัยรุ่นก็มีปัญหา เป็นสภาพกดดันข้างในที่แสดงออกในงาน ผมไม่ได้คิดว่ามันโหดนะ แต่รู้สึกว่ามันสะใจ
“การทำงานบางครั้งเหมือนการรักษาตัว ตอนไปอยู่เยอรมนี ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับปัญหาทางจิต ก็เคลียร์ปัญหาเราเอง พอปัญหาหายไป ผมก็ทำงานแบบเดิมไม่ได้ แต่มีเรื่องเข้าใจผิดสำหรับผมเอง ซึ่งนึกว่าเราเจอทางในการสร้างงานแล้ว ซึ่งสไตล์นั้นแรงมาก และเชื่อว่าต้องครองสไตล์นี้ไปตลอด เป็นความเชื่อที่ผิดมาก ก็ทำให้ขัดกันเอง ผมไม่มีอะไรภายในที่จะแสดงออกแบบนั้น แต่ก็ดันทุรังทำ เพราะเราไม่รู้ พยายามทำไป งานก็เริ่มไม่เกิดผล ออกมาครึ่งๆ กลางๆ ทำแล้วก็ทิ้งเยอะมาก ตอนนั้นผมหยุดแสดงงานไปเลย”
“ตอนนั้นผมอายุ 30 กลางๆ คือปัญหาเริ่มมาก่อนหน้านั้น แต่เราไม่ค่อยรู้สึกกับมัน จนร่างกายติดขัด ก็เริ่มไปทำเธอราพี ฝึกลมปราณ ศึกษาธรรมะ แล้วก็ตัดสินใจเลิกทำงาน ผมเป็นคนที่ทำงานทุกวัน พอหยุดได้ 2-3 อาทิตย์ ก็นอนไม่หลับ ร้อนไปหมด เลยคิดว่า โอเค ชีวิตเรามีหน้าที่นี้มั้ง ก็ทำแล้วกัน คือตอนที่ผมตัดสินใจเลิก ผมคิดว่าผมไปละของเดิม”
“คือการ ‘ทิ้งภาพ’ ทำให้เกิดแนวทางในการทำงานใหม่ แต่ยังคงมีรายละเอียด แล้วจึงเริ่มใช้สีต่างๆ จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อยๆ เราก็เริ่มเห็นผล พองานมีผลเราก็เริ่มเห็นทาง มีกำลังใจทำต่อไป”
- จุดตั้งต้นของแต่ละชิ้นงานเริ่มจากอะไร
“ปัจจุบันนี้ผมเริ่มจากเขียนเลย หรือบางครั้งมันมีที่มาเหมือนกัน อย่างงานชุดหนึ่งที่เป็นสีขาว สีเทา และเส้น ใครต่อใครเรียกว่าชุด “รูแมว” คือที่แกเลอรี่ Artist+Run ของอังกฤษ (อังกฤษ อัจฉริยโสภณ) เคยมีแมวตัวหนึ่งไปออกลูกในผนัง ที่ด้านในมีโพรง แล้วแม่แมวถูกงูกัดตาย ลูกแมวก็หิวเลยร้องเสียงดัง พวกอังกฤษก็ไปหากันว่าอยู่ไหน แล้วก็ตัดผนังเอาลูกแมวออกมา พอเอาผนังที่ตัดออกแปะกลับเข้าไป ก็มีเส้นรอยตัดเหลืออยู่ พอดีเป็นช่วงที่ผมแสดงงานปีที่แล้ว ผมเห็นเส้นนี้ผมว่าเป็นดรออิ้งที่สวยมาก ก็เลยถ่ายเก็บไว้ จะเอาไปทำงาน ก็ได้งานออกมาชุดหนึ่ง
งานหนึ่งในชุดที่พัฒนาต่อมาจากลายเส้น "รูแมว
“บางทีผมไม่มีไอเดีย ผมก็เอาสีที่เป็นเศษสีติดพู่กันเอามาป้ายให้แคนวาสมันเลอะๆ คือผมหาจุดเริ่มงาน ถ้าเรายังไม่มีอะไร แต่มีจุดเริ่ม สมองก็เริ่มทำงาน แล้วเราก็สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นบนผ้าใบ เดี๋ยวก็เจอทางไปต่อ ผมจึงเปรียบการทำงานเหมือนการเดินทาง ไปยังที่ที่เราไม่รู้จัก
“ทุกคนเติบโตขึ้นมา เราเดินทางตลอด เรามีประสบการณ์ เรามีสัญชาตญาณ และอะไรต่างๆ ซึ่งมาช่วยตัวเราเองได้ ผมนำมาใช้ในการทำงานทั้งหมด”
เป็นเพราะเรามัวแต่ไปหาอย่างอื่น ไปมองหาภาพที่เรารู้จัก แต่ผมไม่ได้เขียนภาพที่เรารู้จัก ผมเขียนแพทเทิร์น เขียนความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ น้ำหนัก หรือฟอร์ม ถ้าเราหาสิ่งเหล่านี้ เราสัมพันธ์กับทุกอย่างได้
- คุณเคยบอกว่าการทำงานคือขุดค้นไปในโลกตัวตน
“เป็นแบบนั้นมาโดยตลอด โลกของเราทุกคนกว้างใหญ่มาก ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราสังเกตและขุดค้นมัน จะทำงานได้ตลอดชีวิต จริงๆ ด้านอื่นก็เหมือนกัน ดนตรี หรืออะไรก็แล้วแต่ คำว่าสร้างสรรค์ที่เราใช้กัน จริงๆ ก็คือไปเอาสิ่งที่เราเองยังไม่เคยเห็นเช่นกัน เอาออกมานำเสนอให้ตาเห็นได้ เมื่อเราเอาสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเราออกมาใช้ ก็ไม่เหมือนคนอื่น อาจคล้าย แต่ไม่เหมือน
- งานนามธรรมสะท้อนข้างในมากกว่างานแนวรูปธรรมหรือเปล่า
“ต่อให้คนเขียนวิวทิวทัศน์ มันเป็นแค่ภาพเพื่อผ่านไปเพื่อแสดงอะไรบางอย่าง งานวิวทิวทัศน์ที่ดีก็มีนามธรรม ถ้าไม่มีก็คืองานตาย ไม่ทราบว่าคุณเคยเห็นคนตายไหม เวลาที่เราไปงานศพ ก่อนจะเผาเขาจะเปิดให้เราดู คนละเรื่องเลยนะกับตอนที่เขามีชีวิตอยู่ เหมือนท่อนไม้หรืออะไรสักอย่างที่ไม่ใช่เขาแล้ว ไม่มีจิตวิญญาณ ฉะนั้น การทำงานศิลปะต้องมีจิตวิญญาณ ไม่งั้นก็เป็นภาพตายๆ ไม่สื่ออะไร สิ่งที่สื่อกันได้ก็คือจิตวิญญาณในนั้น งานศิลปะก็คืออย่างเดียวกัน ถ้ามันยังไม่ลงตัว ไม่สมบูรณ์ ก็สื่อไม่ได้”
- ศิลปินจึงต้องค้นให้พบว่าจิตวิญญาณของตัวเองคืออะไร
“อันนี้คือปัญหาที่ยาก คนทำงานจำนวนมากในโลกนี้ ทั้งทำจริงจัง ทำฮอบบี้ ฮอบบี้จริงจัง ผมสอนด้วย ผมจะรู้ มีคนเยอะมากเป็นล้าน แต่ถ้าเราไปค้นดู คนทำงานที่มีเอกลักษณ์เป็นงานของตัวเองมีน้อย ไม่งั้นผมก็คงอยู่ไม่ได้ (หัวเราะ) คือคนทำงานส่วนใหญ่ไม่เข้าใจจุดนี้”
- การทำงานศิลปะ นอกจากงานต้องดี เหมือนกับว่าต้องมีจังหวะชีวิตด้วย?
“ไม่มีกฎเกณฑ์นะครับ ตอบไม่ได้ บางคนสู้ทั้งชีวิตก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ชัดเจนก็คือแวนก๊อกห์ ซึ่งจริงๆ มีอีกเยอะ อย่างที่เยอรมนีมีอยู่คนหนึ่งเขียนงานแบบเรียลลิสติก ต้องไปเปิดร้านขายเหล้า เพราะไม่มีเงิน จนท้อแท้ ก็เลิกไปพักหนึ่ง ก็กลับมาทำอีกทีตอนอายุมากแล้ว จนคนเริ่มรู้จักเขา ชีวิตก็เริ่มดีขึ้น เรื่องแบบนี้มีเยอะมากในยุโรป บางครั้งผมก็ต้องการจะรู้เรื่องพวกนี้ เพราะมันให้กำลังใจเรา คนอื่นทำงานดีๆ เขาต้องต่อสู้กันแค่ไหน เรายังโชคดีที่ในช่วงที่เรามีชีวิต เรายังมีผลตอบแทนกลับมาจากสิ่งที่เราทำ
“นอกจากบริหารเวลาทำงาน การใช้ชีวิตแล้ว ยังต้องมีเรื่องสังคมด้วย เพราะถ้าเราไม่แสดงตัวเลย คนก็ไม่รู้จักเรา คนทำงานที่เอาแค่มิวนิคเยอะมาก ถึงจะมีแกเลอรี่เยอะ แต่ก็รองรับไม่พอ ทุกคนจึงต้องต่อสู้กันมาก”
- คนเสพงานมักสัมผัสงานที่ดีได้ เมื่องานนั้นส่งแรงสั่นสะเทือนข้างใน แล้วแรงสั่นสะเทือนของคุณคือ?
“แรงสั่นสะเทือนคือ ถ้างานนั้นเกิด มีชีวิต คำว่ามีชีวิตทำให้คนงง คือเพราะนี่ก็มีแค่สีกับแคนวาส คือถ้ามี Harmony เกิดในงาน ทุกอย่างสัมพันธ์ ลงตัวกัน งานก็จะเกิดความงามของตัวเอง ตรงนี้ก็สามารถสื่อ คนที่ชมก็สามารถรับตรงนี้ได้ สั่นสะเทือนของผมก็คือจิตเกิด งานเกิด
ในห้องเก็บงานที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น มีโต๊ะสำหรับเข้ากรอบชิ้นงานด้วยตัวเอง
“จากประสบการณ์ที่ผมสอนมา จริงๆ ทุกคนทำงานได้ แต่มีหลายอย่าง เช่น ไม่มั่นใจในตัวเอง ติดในทฤษฎีต่างๆ ถ้าเราย้อนไปดูงานเด็ก งานเด็กทุกชิ้นเขาสื่อได้ มีอะไรบางอย่าง เพราะเขาเขียนจากความรู้สึกเขา เขาไม่ได้แคร์ว่าจะขายงานได้ไหม แต่เรากลัวนู่นกลัวนี่ ใช้สีนี้ได้หรือเปล่า สิ่งที่ผมต่อต้านมากก็คือระบบการศึกษาที่มีทฤษฎีเยอะๆ ทำให้คนกลัว ถ้าความกลัวเกิด เราทำงานไม่ได้ มัวแต่ไม่คิดติดตรงนั้นนี้ ไม่มีอิสระ เวลาทำงานผมพยายามทำลายทุกอย่างที่เรียกว่ากฎเกณฑ์ เวลาใครมาบอกว่าสีนี้ใช้กับสีนี้ไม่ได้นะ ผมใช้เลย อยากรู้ มันเป็นไปไม่ได้ว่าไม่ดี ใครเป็นคนกำหนด ผมลองใช้ดูจนรู้สึกว่ามันได้”
“การทำงานแต่ละชิ้น เส้นทางที่ไม่เหมือนกัน จุดหมายปลายทางคืองานที่เสร็จ เหมือนการผจญภัยในแต่ละครั้ง ไม่เหมือนกัน คนละเส้นทางกัน”
- เวลาเขียนภาพนามธรรม รู้ได้อย่างไรว่างานจะจบตรงไหน
“เราไม่รู้ว่าจบตอนไหน ไม่รู้ แต่เหมือนเวลาเรากินข้าว ก็กินไป แต่ตัวเราเองจะบอก คนอื่นมาบอกเราไม่ได้ว่าคุณอิ่มแล้ว เรารู้เอง ถ้าไม่อิ่มก็ไม่จบ หรือกินมากเกินไปก็ท้องอืด ทุกอย่างมีจุดของมัน”
- คนมักบอกว่าศิลปะนามธรรมดูไม่รู้เรื่อง
“งานที่ดีคนจะสัมผัสได้ ไม่มากก็น้อย บางทีงานแอ็บสแทรค คนมักสัมพันธ์กับมันผิดทาง บางคนบอกดูไม่รู้เรื่อง ผมก็บอกว่าผมไม่มีเรื่องให้ดูนะ งานผมอยู่ที่ความรู้สึก คุณรู้สึกอย่างไรกับมันล่ะ
“เคยมีเหตุการณ์หนึ่งที่มิวนิค เพื่อนผู้หญิงพาพ่อมาที่สตูดิโอผม ผมก็รู้จักพ่อเขา เขาไม่ได้เป็นคนที่สนใจงานศิลปะ แต่เพราะเรารู้จักกันเขาก็อยากมาดู เข้ามาก็บอกว่าดูไม่รู้เรื่อง แต่ชิ้นนี้ก็ยังชอบกว่า ผมเลยถามชอบมากกว่าเพราะอะไร เขาก็เริ่มอธิบาย เพราะสีนี้ คอมโพสิชั่นอย่างนี้ ผมก็ปล่อยให้เขาพูดไป แล้วบอกว่า อ้าว ก็รู้เรื่องนี่
“เป็นเพราะเรามัวแต่ไปหาอย่างอื่น ไปมองหาภาพที่เรารู้จัก แต่ผมไม่ได้เขียนภาพที่เรารู้จัก ผมเขียนแพทเทิร์น เขียนความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ น้ำหนัก หรือฟอร์ม ถ้าเราหาสิ่งเหล่านี้ เราสัมพันธ์กับทุกอย่างได้ เขาก็อ๋อ อย่างนี้นี่เอง เลยซื้องานชิ้นนั้นไปด้วย เพราะเขาอธิบายให้ตัวเองฟัง จริงๆ เขารู้ เพียงแต่เขาไปโฟกัสที่อื่น ทุกคนก็เหมือนกัน ทุกคนมีเซนส์ส่วนตัวเกี่ยวกับความงาม
“ผู้หญิงจะรู้สึกมากกว่าผู้ชาย เวลาไปซื้อเสื้อผ้า ลายบางอย่างก็เป็น figurative แต่ส่วนใหญ่เป็นแอ็บสแทรค คนเราสัมพันธ์กับแต่ละลายไม่เหมือนกัน บางอย่างผมไม่ซื้อ เพราะผมสัมพันธ์กับมันไม่ได้ เป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว ไปถามเขาซิทำไมชอบเสื้อผ้าตัวนี้ เขาอธิบายได้ กับงานศิลปะก็เหมือนกัน บางทีก็ต้องให้เวลากับมัน ถ้าเราไปดูไปเห็นบ่อยๆ ก็เป็นการฝึกฝนความรู้สึกของเรา ความละเอียดของเรา เราก็สามารถสัมพันธ์กับมันได้ แค่นี้นั่นแหละ”
- ทราบว่าการปฏิบัติธรรมมีผลกับงานของคุณมาก
“มีมาก ผมไปเข้าปฏิบัติกับ อ.โกเอ็นก้าด้วย ครั้งแรกที่ผมไป ผมฟังแล้วรู้สึกว่านี่คืออย่างเดียวกับงานศิลปะเลย คือสอนให้รู้จักตัวเอง เพราะส่วนใหญ่เราจะถูกสอนให้ไปดูคนนั้น ฟังคนนี้ ให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่จริงๆ แล้วต้องรู้จักตัวเอง การทำงานต้องทำมาจากตัวเอง ผมประทับใจ ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไป แต่ละครั้งไป ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกันเลย”
- การทำบำบัดก็เช่นกัน?
“Therapy กับ Meditation ไม่ต่างกัน เธอราพีก็สอนให้คนกลับมาสู่ตัวเองเหมือนกัน ปัญหาของคนที่เป็นโรคต่างๆ เพราะเราไปยุ่งกับโลกภายนอกจนเรากลับไม่ถูก หลงทาง บางคนหลงจนประสาทเสียไปเลย ผมยังโชคดีที่ผมเจอทาง เพราะตอนนั้นผมเครียดมาก เครียดขนาดนอนยังเหนื่อย ลมหายใจติดขัด เป็นโชคดีของเรา ตั้งแต่นั้นมาทำให้ทุกอย่างผมเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยนหมด”
- การทำงานเลยไม่ต้องต่อสู้กับงานมาก หรือเปล่า?
“แต่ละชิ้นบางครั้งก็ราบรื่น บางครั้งก็ต้องต่อสู้ ไม่ออกสักที มีอยู่ชิ้นหนึ่ง ผมทำจนดึก หมดแรงแล้ว อารมณ์เสีย ผมก็เลยเอาเกรียงป้ายสีที่เราคิดว่าไม่ใช้ออก ป้ายๆ ออก แล้วก็ไปนอน พรุ่งนี้เช้าค่อยมาเติมใหม่ พอตื่นมาดูอีกที โอ้โห นี่เป็นงานสวยมาก (หัวเราะ) เป็นงานที่ผมชอบมาก ก็ขายไปแล้ว
"ตอนที่เราทำไม่ได้ เราอาจไปติดหรือกลัวอะไรบางอย่าง บางครั้งเราโกรธ แต่ยังมีสติ เราก็ทิ้งความกลัว เราจึงเป็นอิสระ งานแต่ละชิ้นมาต่างกัน มีชีวิต มีที่มาของมัน จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก”
- การเดินทางของการทำงานและชีวิต
“แต่ละก้าวทำให้เราเปลี่ยนเสมอ เรากำหนดไม่ได้ คนที่เขาปิดตัวเอง ก้าวแต่ละก้าวของเขาจะไม่ได้เจออะไร หรือเจอน้อยมาก แต่ถ้าเราเปิด เราจะได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้เยอะมาก เราจะต้องสังเกตด้วย ไม่เฉพาะแต่กับคน ประสบการณ์ทั้งหมดที่เราไปเจอมา บางคนเจอบางประสบการณ์แล้วท้อแท้ไปเลย บางคนเจอแล้วเอามาเป็นแรงผลักดัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของคนด้วย บางคนเขาแข็งแรงพอที่จะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาทำประโยชน์ต่อ
“การมีชีวิตไม่มีกฎเกณฑ์ สำหรับผม ถ้าเรามีชีวิตแล้วมีความสุข สุขกับปัจจุบัน ก็พอ ยังไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้เราจะอยู่ไหม ไม่รู้เลยว่าอนาคต ที่ว่าอนาคตมันยาวแค่ไหน ไม่ใช่ว่าเราแข็งแรง มีเงิน มีพร้อมทุกอย่างแล้วจะอยู่ได้นาน ผมคิดว่าเราสร้างความสุขให้ตัวเอง ไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น แค่นั้น หน้าที่การงานต้องมี เพราะเราต้องดูแลตัวเอง
“แต่หน้าที่การงานอย่างผม มันต่างจากคนอื่น คือไม่มีก็ได้ คนอื่นไม่เดือดร้อน แต่ผมน่ะเดือดร้อน ถ้าผมไม่มีตรงนี้ มันเป็นอาหารอย่างหนึ่ง และคนที่ชอบสิ่งที่ผมทำ เขาเสพแล้วเขามีความสุข มากน้อยก็แล้วแต่ มันต้องมีสาเหตุที่ทำไมใครๆ ก็อยากจะมาในทางนี้เยอะมาก มันเกี่ยวกับความสุข ใครจะทำอะไรก็ตาม หรือดั้นด้นไปไหนก็ตาม
“ถ้าไม่ใช่เพราะความสุข เขาไม่ทำหรอก”