ปริญญากร วรวรรณ เมื่ออยู่ในป่า เราเป็นแค่คนแปลกหน้า
เพราะชีวิตรายล้อมด้วยป่าเขา ธรรมชาติ และสัตว์ป่า ทำให้รู้ว่าเมื่ออยู่ท่ามกลางอันตราย การนิ่ง การฟัง และการสยบยอมเป็นเช่นไร ป่าสอนให้รู้ว่า ความไม่แน่นอนของชีวิตเป็นอย่างไร นี่คือ เรื่องราวธรรมะกับธรรมชาติในแบบ “ปริญญากร วรวรรณ” ที่พลาดอ่านไม่ได้เลย
"ผมไม่มีพื้นฐานเรื่องธรรมะเลย ผมเป็นแคทอลิก ตอนเด็กๆ เขาโบสถ์ไปล้างบาป ผมกราบพระยังไม่เป็นเลยฮะ แต่บังเอิญสิ่งที่ผมเลือกทำคือการเข้าป่า ทำให้ผมเจอสัตว์ป่า ซึ่งต้องนิ่งที่สุด เงียบที่สุด ต้องซ่อนตัวไม่ให้สัตว์ป่าเห็น เวลาผมนิ่ง ผมก็เลยได้ยิน แล้วก็ได้เห็น
สิ่งที่ผมเห็นมากที่สุดคือ การอยู่กับปัจจุบัน ณ เวลานั้น" หม่อมเชน-ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ กล่าวในงานเสวนา ธรรมะกับธรรมชาติ ในโอกาสที่ครบรอบ 10 ปี สวนโมกข์กรุงเทพฯ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
"ผมไม่ได้คิดว่าการรอสัตว์ป่ามันเสียเวลา ผมคิดว่า ผมอยู่ตรงนั้นดีกว่า คอยดูว่าเดี๋ยวมีตัวอะไรมา ผมเริ่มต้นแบบนี้ ไม่รู้ว่ามันคือธรรมะหรืออะไร ผมไม่เข้าใจเรื่องธรรมะด้วยซ้ำไป
สิ่งที่สัตว์มันสอน เรียนรู้กับมันไปเรื่อยๆ เช่น การไม่ยึดติดกับอะไร นกยูงในฤดูหนาวมันจะหางยาว กวางก็เหมือนกัน มันจะมีเขาใหญ่ๆ แล้วสุดท้ายมันก็จะทิ้่งไป อย่างนกยูงพอหมดฤดูการผสมพันธุ์ มันก็จะทิ้งหางยาว ๆ สวยงามไป มันเป็นสิ่งที่เกะกะกับการดำเนินชีวิตของมันด้วยซ้ำไป
มันทำให้ผมเริ่มมาค้นคว้า เริ่มมาอ่าน ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งบอกไว้ว่า หนึ่ง.การไม่ยึดติด การอยู่กับปัจจุบัน สุดท้ายผมก็ไม่ใช่คนศาสนาคริสต์อีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่แคทอลิก ผมก็บอกใครเท่ๆ ว่า ธรรมชาติคือศาสนาของผม
พอมาศึกษาเรื่องธรรมะจริงๆ ผมก็บอกกับทุกคนได้ว่าตอนนี้ผมเป็นศาสนาพุทธ มันเริ่มมาจากไม่รู้อะไรเลย ในธรรมชาติจริงๆ ก็ได้บอกผม ผมได้อ่านงานของท่านพุทธทาสเยอะ ท่านได้เอาธรรมชาติมาบอกเรา ด้วยความเฉลียวฉลาด ด้วยความแยบยลของท่าน ซึ่งตอนแรกผมก็มองเห็นแค่พื้นๆ เท่านั้นเอง"
- ธรรมะในธรรมชาติสอนให้ไม่ยึดติดในตัวตน
"การทำงานในป่า เราสละสังคมที่เคยมี สละความอบอุ่นที่อยู่ที่บ้าน เลือกเส้นทางที่ตัวเองต้องการ คือ ถ้าผมตั้งเป้าว่าอยากกินข้าวหมกไก่ แต่ผมก็ตั้งเป้าว่าต้องอยู่ในป่า 20 วัน มันก็เป็นเรื่องง่ายๆ อีก 20 วันค่อยไปกินก็ได้ ไม่ใช่คิดอยากกิน ก็ออกจากป่าไปกินเลย คิดว่าเป็นการบังคับตัวเองแบบหนึ่ง เหมือนหลายอย่าง เราจะต้องแลกกับสิ่งที่เราจะทำ
หลายอย่างก็มากับอาชีพของเรา เช่น เราต้องเหนื่อย เราต้องไม่สบายเวลาอยู่ในป่า เราก็ต้องรักษาตัวเอง เราคิดถึงบ้าน เราก็มองแค่พระจันทร์ แล้วฝากความคิดถึงไว้บนนั้น และหวังว่าคนที่เราคิดถึงเขาจะมองมา แต่ในความเป็นจริงเขาไม่ได้มอง แล้วเราก็ต้องยอมรับว่า เขาอาจจะไม่เคยมองด้วยซ้ำไป" หม่อมเชน เล่า
- ชีวิตไม่ต้องปรับตัวมากจะทำงานนอกเมืองหรือในป่าก็ได้
"ตั้งแต่เด็ก ผมไม่ค่อยมีเพื่อนอยู่แล้ว ชอบอยู่คนเดียว มันก็เลยตรงกับนิสัยที่อยู่ในป่า อาจจะไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย แต่สิ่งที่ผมรู้สึกมากคือ การเข้าไปอยู่ในป่า ทุกอย่างมันสอนเราหมดเลย เช่น ลม เราไม่เคยมองเห็น แต่เราก็เห็นมันผ่านใบไม้ที่ไหว อันนี้ได้จากการมาอ่านเพิ่มเติมทีหลังนะฮะ จริงๆ ไม่ได้เห็นใบไม้ไหวแล้วก็รู้ว่านั่นคือลม
หรือ นกที่ต้องสูญเสียลูกไป เพราะไฟไหม้ หรือเหยี่ยวมากิน มันจะเริ่มต้นสร้างใหม่เลย ไม่ฟูมฟายกับการเสียลูกไป สิ่งที่มันทำคือ สร้างรังใหม่ สัตว์เข้าใจเรื่องราวแบบนี้มากกว่าเราเยอะมาก"
- นอกจากเรื่องธรรมชาติและสัตว์ป่า เราต้องสอนตัวเองว่า มีหน้าที่อะไร
"การที่เราอยู่กับสัตว์ สัตว์ทุกตัว มันมีหน้าที่ชัดเจนมาก หน้าที่แต่ละอย่างของแต่ละตัวก็ประกอบกันเป็นสังคมสัตว์ คือสัตว์ไม่ได้อยู่ลำพัง มันอยู่กันอย่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
เช่น ต้นไทรมีผลสุกต้นหนึ่ง จะมีนกมีสัตว์ทุกอย่างมากิน นกตัวใหญ่ก็อยู่ตรงโคนกิ่ง นกตัวเล็กก็อยู่ปลายกิ่ง สัตว์ที่บินไม่สูง ขึ้นต้นไม้ไม่ได้ก็อยู่ข้างล่าง ตัวที่อยู่ข้างบนก็ทำเมล็ดตกลงมา ลิงก็เขย่ากิ่งไทรให้หล่น ลิงบางตัวที่โลภก็เก็บเมล็ดไว้ในกระพุงแก้ม
เหล่านี้คือการนำพาเอาเมล็ดพืชไปขยายพันธุ์ทุกทิศทาง ทั้งทางอากาศ ภาคพื้นดิน การกินเป็นแค่ผลพลอยได้ของมันเท่านั้น ทุกตัวถูกกำหนดมาให้ทำหน้าที่ อันนี้สอนผมตั้งแต่แรก ผมเลยชัดเจนว่าผมจะทำหน้าที่นี้ บอกเล่าเรื่องราวพวกนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผ่านทางภาพ ผ่านทางการเขียน ผมเข้าใจว่าหน้าที่เราถูกกำหนดให้มาเป็นแบบนี้"
- สำหรับคนที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ หรือต้องปรับใจในขณะที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ ธรรมะก็มีแนวทางให้
“ผมไม่แน่ใจว่าจะหาตัวเองให้พบแบบไหน แต่ผมมีวิธีที่บรรเทาโดยใช้ประสบการณ์ตัวเอง อยู่ในป่าเวลาไม่สบาย เรามักพูดว่า ตัวกับกายต้องอยู่ด้วยกัน แต่ผมเลือกให้กายมันป่วยอยู่ในเปลข้างกองไฟ แต่ผมเอาใจกลับมาบ้าน ไม่เอาใจอยู่ตรงนั้นหรอก
ทำไมต้องให้ใจมันทุกข์ทรมานไปด้วยกันกับกายด้วย เราเอาใจไปอยู่ที่บ้าน กินอาหารอร่อย อยู่กับภรรยาอย่างอบอุ่น แล้วกายมันก็ดีขึ้น บางทีเราอาจจะต้องเอาใจไปอยู่ที่เบสแคมป์เอเวอรเรสท์ อยู่บนดอยอินทนนท์บ้างในบ้างครั้ง เป็นการบรรเทา”
- สำหรับคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่พบว่าอยากทำอาชีพอะไร เราต้องตื่นจากฝันก่อน
“ในระหว่างที่เรายังหาตัวเอง ผมไม่แน่ใจว่าอับราฮัม ลินคอล์น หรือใครที่พูดว่า "ถ้าอยากให้ฝันเป็นจริงมันต้องตื่นก่อน" คือถ้ายังฝันอยู่ ก็ยังหลับอยู่ ยังไม่ได้ตื่นขึ้นมาทำอะไร ผมคิดว่าบางครั้งเราต้องเอาใจไปอยู่ในบ้านในที่ๆ มีความสุขก่อน มันอาจจะช่วยได้ในระหว่างที่เรายังหาอะไรที่เราจะชอบมากที่สุดครับ”
- เมื่อตื่นจากฝันแล้ว ต้องหัดคิดนอกกรอบ
"ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในป่าคือ การถูกงูจงอางกัด ถ้าผมถูกงูจงอางกัด ผมจะไปหาต้นไม้ใหญ่ๆ สักต้นหนึ่ง แล้วก็นั่งรอจนกระทั่งสิ้นใจ เพราะยังไงมันก็ต้องตายอยู่แล้ว
แต่พอผ่านมาสักระยะหนึ่ง ผมก็คิดได้ว่าทำไมยอมจำนนง่ายจัง ก็พยายามเรียนรู้ว่า ถ้ามันเข้าเส้นเลือด หรือเข้าเส้นประสาท เราควรจะต้องแก้ไขมัน พยายามศึกษาว่าจะอยู่กับมันยังไง
เราอาจจะเดินมาที่หน่วยฯสองวัน ไม่ใช่ยอมจำนนรีบตาย อย่างน้อยมันอาจจะมีชีวิตอยู่ก็ได้ เราอาจจะหาเชือกรัด แล้วผ่อน ตามความรู้การถูกงูพิษกัด
เคยมีเพื่อนร่วมทาง เขาเอามือล้วงเข้าไปในรังนกเงือกแล้วถูกกัด เขาเข้าใจว่าเป็นงู ก็สั่งเสียทุกคน รีบไปหาหมอที่ปราจีนฯ เขาต้องตายแน่เลย พอไปถึงหมอ เห็นแล้วบอกว่า แมงมุมกัด ก็หายทันทีเลยฮะ จากที่ว่าจะตาย"
- ธรรมะในธรรมชาติ สอนให้อ่อนน้อมและรับมือกับความไม่แน่นอน
"ในป่า สภาพอากาศในวันพระจันทร์เต็มดวง จะมีเมฆฝนบังอยู่ตลอดเวลา เรานอนอยู่บนเปล แหงนหน้าขึ้นไปมองเห็นแต่เมฆดำ เราต้องเชื่อว่ามีพระจันทร์เต็มดวงอยู่หลังเมฆนั้น
จะไปพะวงกับเมฆดำทำไม เดี๋ยวมันก็เคลื่อนไปแล้ว อันนี้ช่วยได้มากในเวลาที่เราทำงานกับธรรมชาติ ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้
อีกอย่างหนึ่ง เราเป็นคนแปลกหน้าเสมอ เมื่อเราอยู่ในป่า ไม่มีสัตว์ตัวไหนอยากอยู่ใกล้เรา แม้เราจะอยากเป็นเพื่อนมันก็ตาม มันทำให้เราต้องอ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่รู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่อะไร เพราะเราอยากให้เขารับเราเป็นเพื่อน เราต้องอ่อนน้อมกับทุกสิ่งบนโลกใบนี้
แค่แมงมุมชักใยในป่าสักอันหนึ่ง มันใช้เวลาทั้งวัน แต่เราเดินผ่านไป โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เราได้ทำลายสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาทั้งวันแล้ว เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจว่าเราต้องเคารพและอ่อนน้อมต่อสิ่งเหล่านี้ การนั่งนิ่งๆ เฝ้ารอสัตว์ป่า ไม่ได้ไปไหนเลย แต่ข้างในของผมต่างหาก มันเดินทางไปได้ไกลมากกว่า"
- ที่สำคัญที่สุดไม่ควรตัดสินคนอื่นด้วยความคิดของตัวเอง
"การอยู่กับธรรมชาติคือ การทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เคยมีคนด่าเชอปาที่ไม่ยอมช่วยนักปีนเขาเอเวอเรสท์คณะหนึ่งที่มีปัญหา เขาก็เดินผ่านไปเฉย ๆ ก็คุณเสียเงินสองล้านมาเพื่อพิชิต เราจะไปช่วยทำไมกับคนที่ยอมรับสภาพแล้วว่าจะมาเจออะไร เพราะโอกาสที่คุณจะโดนพิชิต มันก็เยอะเหมือนกัน
คุณมาปีนเขา คุณไม่ได้ปีนด้วยความเข้าใจอย่างเขา สิ่งที่เขาเมินเฉยต่อนักปีนเขา เป็นสิ่งที่เขาเข้าใจมากๆ เขาไม่สมควรที่จะถูกต่อว่าเลย เขาทำหน้าที่ของเขา ความเป็นคนภูเขา ทำให้เขาคิดแบบนั้น"