การเดินทางของผืนผ้า...จากไร่ฝ้ายสู่ ‘เส้นด้ายรีไซเคิล’
แบรนด์เสื้อรีไซเคิล 100% ‘Circular by SC Grand’ โดยผู้ก่อตั้ง คุณวัธ – จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ชวนชมนิทรรศการ ‘Journey of Textile Recycling’ การเดินทางของ ‘เส้นด้ายรีไซเคิล’ จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต ที่สยามดิสคัฟเวอรี่
ทำไมต้องเป็น เส้นด้ายรีไซเคิล ผู้บริหารแบรนด์น้องใหม่จากเส้นด้ายรีไซเคิล จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า
“เดิมที่บ้านทำธุรกิจนำของเสียหรือของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ทอผ้า และตัดเย็บ ในลักษณะซื้อมาขายไป จนมาถึงรุ่นสองคือคุณแม่กับคุณน้า ที่นำของเสีย หรือขยะเหล่านี้มาแปรสภาพเป็นเส้นด้ายสำหรับผลิตแมสโปรดัค เช่น ทำม็อบถูพื้น พอมาถึงผมเป็นรุ่นที่สาม เราก็มาเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ โดยผลิตเป็นผ้ายี่ห้อ SC Grand ขายให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ต่อมาผลิตเป็นเสื้อผ้าแบรนด์ Circular จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ Circular by SC Grand โดยนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ รวมถึงเสื้อผ้าเก่า นำมาคัดแยกเฉดสีและรีไซเคิลเพื่อแปรสภาพเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าใหม่
เราต้องการบอกกับลูกค้าว่า ผ้าที่เราผลิตจากของเสียในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอนั้น สามารถออกแบบเป็นเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ เรามีทีมดีไซเนอร์ และที่สำคัญเราใช้วัตถุดิบรีไซเคิล 100% ไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อม และมีคุณภาพไม่ต่างจากเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัตถุดิบใหม่ โดยคอลเลคชั่นแรกเปิดตัวที่ Ecotopia สยามดิสคัฟเวอรี่
ความสำคัญของการผลิตเสื้อผ้าจาก วัตถุดิบรีไซเคิล 100% คือวิธีการผลิตเสื้อสักตัวหนึ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น น้ำสะอาด ปลูกฝ้ายก็ใช้น้ำมาก และน้ำในกระบวนการฟอกย้อม รวมถึงการใช้พลังงานต่าง ๆ ที่เราใช้ผ้า SC Grand หมายถึงไม่ใช่ฝ้ายที่ปลูกใหม่ ไม่ใช้วัตถุดิบผลิตใหม่ ไม่ใช้น้ำในการผลิตใหม่ เป็นเสื้อผ้าที่เกิดจากของเสียจากการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ดังนั้นเมื่อขยะสิ่งทอ หรือของเหลือใช้เหล่านั้นเป็นสีอะไรเราก็แปรสภาพตามสีนั้นและนี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ยกตัวอย่าง เสื้อผ้าที่ไม่ผ่านคิวซี หรือเสื้อผ้าตัวอย่างจากโรงงานตัดเย็บ ซึ่งจะมีเสื้อผ้าเหล่านี้หรือเศษผ้าเหลือทิ้งมาก เป็นของเสียหรือ waste เช่นถ้าเป็นสีแดง เราก็จะนำ waste เหล่านั้นมาแปรสภาพใหม่เป็นผ้าสีแดง เราจะได้เสื้อผ้าสีแดงตัวใหม่ ดังนั้นบางทีจะเห็นสีที่ไม่ค่อยสม่ำเสมอเพราะเราไม่ได้นำไปฟอกย้อมสีใหม่ รวมทั้งเป็น Texture หรือเสน่ห์ของผ้า SC GRAND ที่เราตั้งใจทำขึ้น”
จึงเป็นเสื้อผ้าถนอมโลก เป็น Sustainable Fashion ที่นับเป็นแบรนด์แรกของเมืองไทย
“สิ่งที่แบรนด์อยากสื่อคือให้เกิด Awareness and Inspiration in Fashion Industry สร้างความตระหนักรู้ว่า ถึงเวลาแล้วนะที่คนรุ่นใหม่เราต้องเข้ามารับรู้ และเข้าใจบางอย่างในอุตสาหกรรมแฟชั่นรวมทั้งอยากสร้างแรงบันดาลใจว่า ทุกคนที่อยู่ในแวลูเชน (Value chain) หรือซัพพลายเชน (Supply chain) ของอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ก็สามารถปรับเปลี่ยน หรือสร้างอะไรบางอย่างในสิ่งที่เขาถนัดได้เช่นกัน หมายความว่าถ้าทำสินค้าแฟชั่นคุณก็ยังสามารถสร้างแฟชั่นที่เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ใครก็ตามที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็สามารถปรับเปลี่ยน หรือสร้างอะไรบางอย่างได้เช่นกัน เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
ทางเราเป็นเพียงหนึ่งตัวเลือกเท่านั้น ในด้าน Sustainable Textile แต่สำหรับในยุคนี้แบรนด์ต่างประเทศทั้งฟาสต์แฟชั่น และโกลบอลแบรนด์ เริ่มออกแบบเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลายแบรนด์มีเป้าหมายร่วมกันกับทาง UN, SDGs (Sustainable Development Goals) เช่นภายในปี 2030 จะใช้วัตถุดิบที่ผลิตอย่างยั่งยืน (sustainable) หรือออร์แกนิค หรือเลือกใช้เส้นใยรีไซเคิล เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์, ลดสภาวะโลกร้อน”
ข้อมูลที่คนทั่วไปอาจไม่รู้แต่อาจกระทบใจ เช่น ปลูกฝ้าย 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 10,000 ลิตร ผลิตกางเกงยีนส์แบบทั่วไป 1 ตัว ใช้น้ำประมาณ 7,500 ลิตร หรือ 2,000 แกลลอน ผลิตเสื้อยืด 1 ตัว ใช้น้ำ 2,700 ลิตร เทียบเท่าคนทั่วไปดื่มน้ำ 3 ปี และน้ำเสียที่ปล่อยทิ้งจากกระบวนฟอกย้อมอีก ดังนั้นถ้ามีเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายโลก ผู้สวมใส่คงรู้สึกดีไม่น้อย...ผู้บริหารแบรนด์เสื้อผ้าที่ไม่ทำร้ายโลก แนะนำว่า
“อยากชวนชมนิทรรศการ ผมตั้งชื่อว่า Journey of Textile Recycling ให้คนเข้าใจว่าเสื้อตัวหนึ่งต้องใช้ทรัพยากรเท่าไหร่ ต้องใช้น้ำสะอาดจำนวนมากในการปลูกฝ้าย ในการฟอกย้อม ฯลฯ และผลิตแล้วก็ปล่อยน้ำเสียออกมา น้ำทุกอย่างที่อยู่บนบกก็จะลงทะเลหรือแม่น้ำ เราต้องการให้คนรู้ว่า เสื้อผ้าเก่าหรือของเสียจากอุตสาหกรรมแฟชั่น มีการเดินทางอย่างไร
อีกทั้งนำเสนอเสื้อผ้าที่เราออกแบบร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ เช่น ทำเสื้อยืดร่วมกับนิตยสาร “โว้ค” ทำกระเป๋าร่วมกับนิตยสาร “GQ” ทำเสื้อผ้ากับสตรีทแวร์แบรนด์ Carnival และแบรนด์กางเกงยีนส์ต่าง ๆ ทำกระเป๋าผ้า เสื้อคาร์ดิแกน ฯลฯ ที่ไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อม ยังมีถุงเท้าที่ไม่ฟอกย้อม สีที่อาจดูไม่ค่อยเท่ากัน เพราะเราไม่สามารถเจาะจงได้ว่าออกคอลเลคชั่นไปแล้วต้องได้เฉดสีนี้ สีอาจจะมีทั้งแดงเข้ม แดงอ่อนสีเลือดหมู หากนี่คือเสน่ห์ของเสื้อผ้ารีไซเคิล”
ทุกวันนี้เรามีของเสียจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ปีหนึ่งหลายล้านตัน มีผู้วิจัยได้ตัวเลขว่า ทุกวันนี้คนทั่วไปเฉลี่ยซื้อเสื้อผ้าใส่แค่ 7 ครั้ง ข้อมูลยังระบุอีกว่า ในทุก 1 วินาทีจะมีขยะเกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทอ เสื้อผ้าเก่าขนใส่รถบรรทุกไปทิ้งในพื้นที่ฝังกลบหรือนำไปเผา ซึ่งมีไม่ถึง 10-15% ที่นำกลับมารีไซเคิล
“เรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญมากนะครับ อยากให้ทุกคนตระหนักมากขึ้น เช่นไม่เพียงสภาวะโลกร้อน แต่น้ำแข็งที่กำลังละลายนั้น พอละลายจะมีเชื้อแบคทีเรียบางอย่างที่ถูกแช่แข็งหลายหมื่นปีละลายออกมา เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ในอนาคตรวมทั้งผู้คนทั่วไปอาจจะเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มาก
แม้เสื้อผ้ารีไซเคิลเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย แต่เมื่อคิดว่าจะซื้อคาร์ดิแกนบาง ๆ สักตัว หรือเสื้อยืดผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิล เราก็ถือเป็นหนึ่งในส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ในนิทรรศการยังนำเสนอข้อความที่บุคคลสำคัญ คนดัง ออกมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น บิล เกตส์, บารัค โอบาม่า ฯลฯ หลายคนพูดไว้หลายปีแล้ว เช่น บิล เกตส์ พูดไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่า...สิ่งที่น่ากลัวกว่าโควิดคือภาวะโลกร้อน เพราะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าโควิด 3-5 เท่า และคนรุ่นเรามีโอกาสจะปรับเปลี่ยนและแก้ไขได้
ทุกวันนี้ที่ผมทำเพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และรู้สึกสนุก อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน”
หมายเหตุ : นิทรรศการ Journey of Textile Recycling จัดแสดง ณ Ecotopia ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ วันนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564