ระบบ 'การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ' เพื่อสังคม
เจาะลึกข้อเสนอ "ระบบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐระดับมาตรฐานทองคำ" ของมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล และ 6 องค์กร ที่จะช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับภาครัฐ เสริมสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในสังคม
[บทความนี้เขียนโดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร คอลัมน์เศรษฐศาสตร์บัณฑิต ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2564 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]
อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) ให้ร่วมเป็นวิทยากรในงานประชุมภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Forum) เรื่องสมรรถภาพภาครัฐ (State Capacity) ในการแก้ไขวิกฤติชาติ (Covid-19) ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปภาครัฐเพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการพัฒนาประเทศ
ซึ่งผมได้เสนอเรื่อง ระบบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐระดับมาตรฐานทองคำ (A Gold Standard for Public Sector Data Disclosure System) ซึ่งเป็นงานที่มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ร่วมกับอีก 6 องค์กรในประเทศทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมกำลังผลักดันอยู่ เพื่อให้ระบบการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยราชการไทยมีมาตรฐานในระดับสากล ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม
วันนี้จึงอยากแชร์เรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” และผู้สนับสนุนงานของมูลนิธิฯ ทราบ ซึ่งผมมั่นใจว่างานที่ทำจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างความโปร่งใสให้กับภาครัฐ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในสังคม โดยเฉพาะในยุคที่ดิจิทัลเทคโนโลยีกำลังก้าวกระโดดมากอย่างในปัจจุบัน
ข้อมูลหรือ Data คือ อำนาจที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับความเป็นอยู่ของคนในสังคม เห็นได้ชัดจากวิกฤติ Covid-19 ที่ข้อมูล เมื่อจัดอยู่ในรูปแบบของ Big Data และ นำมาผสมผสานกับศาสตร์ของการวิเคราะห์ (Data Analytics) และปัญญาประดิษฐ์ สามารถช่วยภาครัฐหาคำตอบในเรื่องที่ยากเพื่อวางนโยบายและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุขในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 และวิธีการแพร่ระบาด การพัฒนายาและวัคซีนป้องกัน การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานว่า ประชาชนกลุ่มไหนถูกกระทบมากสุด นำไปสู่การออกแบบมาตรการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและตรงจุด ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าประเทศไม่มีฐานข้อมูลที่ดีและเป็นระบบ ที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา
แต่นอกจากเป็นอำนาจแล้ว ข้อมูลยังเป็นสินทรัพย์สาธารณะ (Public Asset) ที่สำคัญ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างให้สังคมดีขึ้น กรณีภาคธุรกิจ การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้อย่างเป็นระบบและทันเวลาจะช่วยภาคธุรกิจอย่างมากในการวางแผนและการตัดสินใจ ผลคือ ทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประเทศจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับภาคประชาสังคม ระบบข้อมูลภาครัฐที่ดีและเข้าถึงได้ง่าย จะทำให้สังคมมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับงานของภาครัฐ สามารถสนับสนุนมาตรการภาครัฐ รวมถึงช่วยติดตามและตรวจสอบ ที่สำคัญ ความโปร่งใสที่มาจากระบบการเปิดเผยข้อมูล จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ นำไปสู่การตัดสินใจนโยบายสาธารณะที่ดี ขณะที่การทุจริตคอรัปชันจะทำได้ยากขึ้น นี่คือประโยชน์ที่สังคมจะได้จากความโปร่งใสในข้อมูลภาครัฐ ซึ่งต้องมาจากระบบระบบการเปิดเผยข้อมูลที่ดีและเป็นมาตรฐาน
มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ตระหนักเป็นอย่างดีถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศ จากระบบการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐที่โปร่งใส โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะมีต่อเศรษฐกิจและความไว้วางใจที่ประชาชนจะมีต่อรัฐบาล จึงได้ร่วมทำงานกับอีก 6 องค์กร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย ผลักดันระบบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ได้มาตรฐานสากลให้เกิดขึ้น เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยราชการโปร่งใส เป็นมาตรฐาน และ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
โครงการการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐมุ่งส่งเสริมรัฐบาลแบบเปิด (Open Government) โดยสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐระดับกรม นำแนวปฏิบัติที่ดีในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่มูลนิธิฯ และองค์กรร่วมได้จัดทำขึ้นไปปฏิบัติใช้โดยสมัครใจ แนวปฏิบัติดังกล่าวได้พิจารณาจากหลักปฏิบัติที่ดีในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่เป็นสากล เช่น แนวปฏิบัติของ OECD, ธนาคารโลก, องค์การสหประชาชาติ และสอดคล้องกับสิ่งที่ระบุในกฎหมายสำคัญของประเทศ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2547 พ.ศ.2540 พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 นโยบายยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการพัฒนาระบบการบริหาร จัดการภาครัฐ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ข้อที่ 16
แนวปฏิบัติที่ดีที่ได้จัดทำขึ้นประกอบด้วยแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ 6 ด้าน ได้แก่ 1. ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล 2. ระบบการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐ 3. กระบวนการด้านนโยบาย 4. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 5. การให้บริการข้อมูลข่าวสารของภาครัฐและ 6. ข้อมูลที่ควรเปิดเผย ทั้งหมดมีหลักปฏิบัติ 27 ข้อและแนวปฏิบัติ 70 ข้อ
หน่วยงานภาครัฐที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการจะนำแนวปฏิบัติที่ดีในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไปปฏิบัติใช้ หมายถึงปรับระบบการเปิดเผยข้อมูลที่มีอยู่ให้เข้ากับแนวปฏิบัติที่ดีทั้ง 70 ข้อ เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานราชการตามแนวปฏิบัติที่เป็นสากลและสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายของประเทศ หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการประเมินตามแนวปฏิบัติข้างต้น ซึ่งมูลนิธิฯจะจัดการอบรมส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าว ผลการประเมินของหน่วยงานภาครัฐจะได้รับการยกย่องชมเชยในทางสาธารณะ เพื่อส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานราชการที่เป็นระบบและมีมาตรฐาน
ในการสัมมนา ผมได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2021 นี้จะเป็นปีแรกของการเริ่มประเมินหน่วยงานรัฐตามแนวปฏิบัติข้างต้น โดยในครึ่งแรกของปีนี้จะเป็นช่วงของการทดสอบระบบประเมิน โดยทดลองทำประเมินกับหน่วยงานนำร่อง เพื่อทดสอบระบบการประเมินทั้งระบบ จากนั้นช่วงครึ่งหลังของปี จะเชิญชวนหน่วยงานสำคัญที่การให้บริการของหน่วยงานมีผลโดยตรงต่อประชาชนเข้ารับการประเมิน ซึ่งอาจเป็น 2-3 หน่วยงานในช่วงครึ่งปีหลัง และจำนวนก็จะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป และเมื่อจำนวนหน่วยราชการเข้าร่วมโครงการและได้รับการประเมินมีมาก ขณะที่ภาคธุรกิจและสังคมได้ประโยชน์จากการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ของข้อมูลภาครัฐ แนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวก็จะกลายเป็น Gold Standard หรือมาตรฐานทองคำ ของการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่สังคมมองหา เรียกร้องและสนับสนุน นี่คืองานที่ทำอยู่
ผู้ที่สนใจหรือต้องการสนับสนุนโครงการสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หวังว่าคงจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อสังคม