ขนมเข่ง - เหนียนเกา...เพื่อชีวิตยืนยาว

ขนมเข่ง - เหนียนเกา...เพื่อชีวิตยืนยาว

ทุก ‘เทศกาลตรุษจีน’ ต้องมีอาหารเซ่นไหว้ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ ของหวานและผลไม้สด และของหวานยอดนิยมคือ ‘ขนมเข่ง’ หรือ ‘เหนียนเกา’ ขนมที่เทพเจ้าโปรดปราน

ขนมไหว้เจ้าตรุษจีนที่ขาดไม่ได้คือ ขนมเข่ง หรือ เหนียนเกา (年糕) คำว่า “เหนียน” แปลว่า “ปี” ส่วน “เกา” หมายถึง ขนมทำจากแป้งข้าว คำว่า “เกา” พ้องเสียงกับ 高 (อ่านว่าเกา หรือ gao) แปลว่า “สูง” กลายเป็นความหมายที่ดี ต้อนรับปีใหม่คือ ปีใหม่มาถึงแล้วจะมีโชคดี มียศตำแหน่งสูงขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น เด็ก ๆ เติบโตแข็งแรงขึ้น เป็นสัญลักษณ์การมาถึงของปีใหม่และการเริ่มต้นสิ่งดี ๆ

161295137358

    (ภาพ : holidays.75tamtrinh.net)

ปีใหม่จึงต้องไหว้เทพเจ้าด้วย เหนียนเกา เป็น ขนมมงคล เพิ่มพูนโชคลาภ เมื่อเหนียนเกามาถึงเมืองไทย เรามีใบตองเยอะก็เลยนึ่งเหนียนเกาในใบตองพับเป็นเข่ง เรียกว่า ขนมเข่ง ซึ่งอร่อยไม่แพ้ฉบับออริจินัลจากเมืองจีน เพราะคนไทยทำอาหารเก่งและเป็นนักดัดแปลง เหนียนเกาไทยแลนด์จึงมีหลากหลาย ใส่สารพัดไส้ และมีสารพัดสี เช่น ขนมเข่งสีม่วงจากดอกอัญชัน ใส่ใบเตยเป็นสีเขียวสวย หรือขนมเข่งใส่มะพร้าวอ่อน บางสูตรผสมน้ำมะพร้าวลงไปด้วย ใส่มะพร้าวขูด ใส่ถั่ว แปะก้วย ฟักทอง ข้าวโพด ฯลฯ สร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ...

161295143896

    (ภาพ : tashcakes.com)

ขนมเข่ง หรือ เหนียนเกา ทำจากแป้งข้าวเหนียว ผสมน้ำ เกลือ น้ำตาล แล้วนึ่ง ทอดก็มี เติมโน่นใส่นี่สูตรใครก็สูตรมัน ได้เป็นขนมแป้งข้าวเหนียวหนุบ เคี้ยวเพลิน ที่จริงในทุกวัฒนธรรมอาหารล้วนมีขนมทำจากแป้งทั้งนั้น ตั้งแต่แป้งข้าว แป้งสาลี กับส่วนผสมประดามี อย่างขนมไทย ๆ ก็ทำจากแป้งข้าว เนื่องจากเรามีกะทิก็เติมลงไป ขนมไทยจึงอร่อย หอมหวาน และมีสีสวย

161295148882

   (ภาพ : tashcakes.com)

เมื่อถึงปีใหม่ ชาวจีนจะทำ เหนียนเกา เป็นหนึ่งในของเซ่นไหว้เทพเจ้าด้วย บางตำนานเล่าว่าที่ต้องกินเหนียนเกา ก็เพราะเมื่อถึงปีใหม่จะมีปีศาจ “เหนียน” ออกอาละวาดจับเด็กกิน ชาวจีนจึงต้องทำขนมไปเซ่นไหว้ นิทานเรื่องปีศาจเหนียนเสมือนเป็นปรัชญาของคนจีนที่ว่า ปีใหม่มาถึงก็เหมือนคนเราแก่ไปหนึ่งปี เมื่อความแก่ชรามาเยือนก็หมายถึงสุขภาพที่จะถดถอยลง และอายุขัยก็จะลดลงไปหนึ่งปี

161295195449

   (ภาพ : holidays.75tamtrinh.net)

คนจีนกินเหนียนเกาตั้งแต่เมื่อไหร่ บางข้อมูลบอกว่า เมื่อราว 1,000 ปี หรือก่อนหน้านั้นอีก เมื่อยุคต้นราชวงศ์เหลียว (ค.ศ.907-1125) ชาวปักกิ่งกินเหนียนเกา ในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อถึงยุคราชวงศ์หมิง (1368-1644) ต่อด้วยราชวงศ์ชิง เหนียนเกาที่เคยกินกันวันตรุษจีนก็กลายเป็นของว่าง และเป็นของไหว้เจ้าในแทบทุกเทศกาล

161295171057

   (ภาพ : http://favpng.com)

แต่นักประวัติศาสตร์ระบุว่า เหนียนเกา เก่าแก่กว่านั้นคือ กินกันมานานราว 2,500 ปีมาแล้ว สมัยอาณาจักรอู๋ในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิและวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง กินกันมาตั้งแต่ 722 ปีก่อน ค.ศ. ช่วงนั้นแผ่นดินจีนแตกแยกออกเป็นแคว้นต่าง ๆ ยุคนั้นเมืองซูโจว เป็นเมืองหลวง ฮ่องเต้ผู้ปกครองจัดงานฉลองปีใหม่ แต่ชาวบ้านชาวเมืองก็ยังกลัวภัยสงครามไม่กล้ากินอาหารอย่างฮ่องเต้ ดังนั้นผู้ปกครองเมือง อู๋จื่อซวี (Wu Zixu) ออกมาบอกชาวเมืองว่า สงครามสงบลงแล้ว ตอนนี้ต้องหาทางป้องกันอาณาจักรด้วยการช่วยกันสร้างกำแพงเมืองป้องกันข้าศึก แล้วอย่าลืมขุดหลุมใต้กำแพงฝังอาหารเอาไว้ เมื่อยามมีภัยก็ขุดอาหารนั้นขึ้นมาประทังชีวิต ชาวเมืองเมื่อเกิดเภทภัยจึงนึกคำของแม่ทัพขึ้นมาได้ และตรงไปที่หลุมใต้กำแพงเมืองพบอาหารที่ชาวเมืองบางคนซ่อนไว้ และพบว่าในดินและอิฐใต้กำแพงนั้นผสมแป้งข้าวเหนียวเอาไว้ ทำให้ดินใต้กำแพงเมืองแข็งแกร่ง ซึ่งกลายที่มาของขนมเหนียนเกาที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว และฉลองกินเหนียนเกาในวันปีใหม่และเพื่อรำลึกถึงท่านอู๋

161295178234

ในประเทศจีน เหนียนเกามีหลายสูตรตามสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ เช่น เหนียนเกาของภาคเหนือมีสีขาว ภาคใต้ออกสีเหลืองนวล ทางใต้ออกสีน้ำตาลและสีแดง ชาวไต้หวันก็ชอบทำเหนียนเกาสีแดง แต่หลัก ๆ คือแป้งข้าวเหนียวกับน้ำตาล ถ้าเคี่ยวน้ำตาลทราย (ขาว) นานหน่อยก็จะเป็นสีคาราเมล แต่บางสูตรก็เลือกใช้น้ำตาลทรายแดงก็จะได้เหนียนเกาสีน้ำตาลเข้ม บ้างทำเป็นรูปปลาสำหรับไหว้เจ้า ปลาสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ บ้างก็ทำเป็นรูปนักษัตรตามปีนั้น ๆ

161295180133

เหนียนเกา แปลงโฉมเป็นของคาวได้ด้วย เมื่อไหว้เจ้าแล้วกินไม่หมดก็จะนำเหนียนเกาไปแปรรูป เช่น หั่นเป็นเส้น ๆ ผัดกับผักนานาชนิด เห็ด หมู หรือไก่ หั่นเป็นเส้น ๆ เหมือนกัน ปรุงรสตามชอบ จะผัดซีอิ๊ว ผัดพริก ผัดเปรี้ยวหวาน หรือหั่นเป็นแว่น ๆ (เหมือนกุนเชียง) สไตล์เซี่ยงไฮ้ ผัดกับหอยเชลล์หรือเนื้อสัตว์ตามชอบ หรือทำเป็นซุปก็ได้ ในเกาหลีมี “ต๊อก” ที่ทำจากแป้งข้าวที่เหนียวหนึบน่ากินเหมือนกัน ต๊อกปรุงได้ทั้งของคาวและของหวาน เหนียนเกาสูตรภาคเหนือของจีนเช่นในปักกิ่ง ใส่เมล็ด jujube หรือพุทราจีน บ้างสอดไส้ถั่วแดงกวน ในบางชุมชนผสมแป้งเหนียนเกาด้วยแป้งข้าวเหนียวกับแป้งข้าวเจ้า แล้วใช้เท้าเหยียบ (โดยมีผ้ารอง) แบบเดียวกับที่ชาวญี่ปุ่นทำเส้นอูด้ง เพื่อทำให้แป้งเหนียวนุ่มสุดขีด

161295185277

เช่นเดียวกับ ขนมโมจิ ในญี่ปุ่น ซึ่งที่จริงก็คือเหนียนเกาอีกรูปแบบหนึ่ง คนไทยก็มีวิธีกินเหนียนเกาหรือขนมเข่งหลากหลาย (ถ้ากินไม่หมด) อย่างง่าย ๆ คือหั่นเป็นแผ่นหนากำลังพอดีแล้วชุบไข่ทอด หรือชุบแป้งบาง ๆ ทอดร้อน ๆ บางคนก็ทำไส้เผือกกวน ฟักทองเชื่อม ประกบเหนียนเกาแล้วเอาไปนึ่งหรือทอดอีกที

ขอให้สนุกกับเหนียนเกา... ขนมมงคล รับ ตรุษจีน