ขับรถชิดซ้าย หรือขวา
เหตุใดประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงมีการตั้งกฎเกณฑ์ "ขับรถชิดซ้าย หรือขวา" ไม่เหมือนกัน? และจริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีกฎออกมาบังคับให้ขับรถทางใดทางหนึ่งนั้น บนท้องถนนจะสัญจรบนถนนอย่างไร?
เมื่อมีเวลาว่างในช่วงเวลาล็อกดาวน์ปราบโควิดบางพื้นที่ ผู้เขียนจึงพยายามไขข้องใจในบางเรื่องที่มีมานานแล้ว เช่น ทำไมคนส่วนใหญ่ในโลกจึงมีกติกาขับรถชิดขวามากกว่าชิดซ้าย เมื่อค้นดูก็พบคำตอบที่เกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ประเพณีอย่างน่าสนใจ
ปัญหาที่ประเทศหนึ่งขับชิดซ้ายและเพื่อนบ้านขับชิดขวาจึงเป็นเรื่องปวดหัว บ้านเราขับรถชิดซ้ายในขณะที่เพื่อนบ้านเราคือลาว เมียนมา กัมพูชา ขับชิดขวา ดังนั้น สะพานมิตรภาพไทย-ลาวทุกแห่งจึงต้องมีวงเวียนที่ปลายสะพานทั้งสอง เพื่อให้ผู้ขับรถจากแต่ละประเทศได้ปรับการขับรถชิดฝั่งที่ตนเองขับมาให้เข้าระบบของประเทศนั้นๆ
บางประเทศมีรถยนต์จำนวนมากที่มีพวงมาลัยอยู่ตรงข้ามด้านที่ควรจะเป็น เมียนมาแต่ดั้งเดิมขับรถชิดซ้ายและรถมีพวงมาลัยด้านขวา ต่อมาในปี 2513 ก็ประกาศทันใดให้ขับรถชิดขวาแต่รถยนต์ทั้งหมดมีพวงมาลัยอยู่ด้านขวา การเดินทางในเมียนมาปัจจุบันจึงอันตราย
บ้างก็ให้เหตุผลในการเปลี่ยนครั้งนั้นว่า ต้องการแสดงสัญลักษณ์ว่าพ้นจากการเป็นอาณานิคมอังกฤษซึ่งขับรถชิดซ้าย บ้างก็ว่านายพลเนวินสั่งให้เปลี่ยนตามคำแนะนำของหมอดู สิ่งที่น่าหวาดเสียวที่สุดก็คือ การขึ้นลงรถโดยสารในย่างกุ้ง รถยนต์เหล่านี้ซื้อมือสองจากญี่ปุ่นที่มีพวงมาลัยอยู่ด้านขวาและขับชิดซ้ายเหมือนบ้านเรา ดังนั้นประตูขึ้นลงจึงอยู่ด้านซ้าย เมื่อเอามาใช้ในเมียนมา เวลาจอดก็ชิดขวา ดังนั้น ผู้คนที่ขึ้นลงจึงต้องขึ้นลงด้านซ้ายของรถบนถนนกัน
เมื่อดูภาพรวมในโลก ประเทศส่วนใหญ่ขับรถชิดขวาทั้งทวีปอเมริกา (ยกเว้น Guyana และ Suriname) ทุกประเทศในยุโรป (ยกเว้น United Kingdom/Cyprus/Ireland และ Malta) ทวีปแอฟริกาทั้งหมดยกเว้นประมาณ 10 ประเทศ อีกทั้งจีน รัสเซีย สหรัฐ ฟิลิปปินส์ เกาหลี ฯลฯ ส่วนที่ขับรถชิดซ้ายก็ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (และบางประเทศเล็กที่เป็นเกาะใกล้นิวซีแลนด์) อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ไทย ฯลฯ ถ้าเป็นตัวเลข ประเทศที่ขับรถชิดขวามี 163 ประเทศ และขับรถชิดซ้ายมี 76 ประเทศ
คำถามก็คืออะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้แต่ละประเทศเลือกขับรถด้านใดด้านหนึ่ง ปัจจัยสำคัญก็คืออิทธิพลจากการเคยเป็นอาณานิคม เช่น อังกฤษ ซึ่งขับชิดซ้ายเป็นต้นแบบของอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย สิงคโปร์ บางประเทศในแอฟริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หลายหมู่เกาะใกล้กับนิวซีแลนด์ ฯลฯ สำหรับไทยนั้นเข้าใจว่าการซื้อรถจากอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 และอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอังกฤษทำให้เลือกขับรถชิดซ้าย
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน 3 ใน 4 ของประเทศในโลกขับรถชิดขวา แต่แท้จริงแล้วมิได้เป็นมาตั้งแต่แรก มนุษย์โดยธรรมชาติก่อนที่จะมีกฎออกมาบังคับใช้มักสัญจรด้านซ้ายของถนน ไม่ว่าจะเป็นการเดินถนน ขี่ม้า หรือขับเกวียน ทหารโรมันเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนมาร์ชบนถนนโดยชิดซ้าย นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการที่คนส่วนใหญ่ถนัดขวา ทำให้เมื่อเดินมักชิดซ้ายและหากมีศัตรูเดินทางสวนมาก็สามารถดึงดาบจากฝักมาฟาดฟันได้อย่างสะดวก
เมื่อทวีปอเมริกาเหนือคือ สหรัฐและแคนาดาตั้งรกรากในปลายศตวรรษที่ 18 จึงมีการใช้รถม้าลากแบบเกวียน (wagon) ชนิดใหญ่โดยใช้ม้าเทียมชนิดคู่หลายคู่เพื่อการเดินทางและขนส่ง รถเหล่านี้ไม่มีที่นั่งให้คนบังคับม้า ดังนั้น จึงต้องขี่ม้าตัวที่อยู่ซ้ายสุดชิดถนนเพื่อให้สามารถใช้แส้ตีบังคับม้าทุกตัวได้อย่างถนัดมือ เมื่อเป็นเช่นนี้นานเข้าก็รู้ว่าหากสัญจรโดยชิดซ้ายก็จะทำให้เดินทางได้ลำบากและช้าเพราะมองไม่เห็นการจราจรที่สวนมาอย่างสะดวก ดังนั้น จึงหันมาขับชิดขวากันซึ่งสามารถลงแส้ม้าได้เหมือนเดิมและเห็นการจราจรได้ชัดเจนกว่า
ในซีกยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันของศตวรรษที่ 18 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศสำคัญหนึ่งของยุโรป ตามประเพณีการเดินทางบนถนน คนยากจน ชาวนา ฯลฯ เดินทางโดยชิดขวาเพื่อหลีกทางให้ชนชั้นสูงและขุนนางเดินทางได้สะดวก เมื่อเกิดปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสในปี 2332 โค่นล้มระบบกษัตริย์และขุนนาง คนในชนชั้นเหล่านั้นจึงพากันเดินทางชิดขวาเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของความสนใจ และต่อมามีการออกกฎให้การสัญจรทั้งหมดในปารีสชิดขวา และเมื่อนโปเลียนครองอำนาจในฝรั่งเศสและยึดครองยุโรป กฎชิดขวาจึงกระจายออกไปทั่วยุโรปตั้งแต่นั้นมา
ในปี 2463 กฎกติกาชิดขวาก็เป็นที่นิยมยิ่งขึ้นเมื่อรถยนต์ ซึ่งสหรัฐเป็นผู้บุกเบิกแพร่หลายไปทั่ว ประเทศทั้งหลายจึงใช้การชิดขวาเพื่อให้สอดคล้องกับพวงมาลัยรถยนต์ด้านซ้ายซึ่งมาจากสหรัฐ เมื่อเพื่อนบ้านซึ่งมีทั้งอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองใช้การชิดขวากัน ประเทศใกล้เคียงก็เลียนแบบ (แคนาดากับสหรัฐ) ดังนั้น การชิดขวาจึงแพร่สะพัดไปทั่ว โดยเฉพาะเมื่อเกิดกระแสการแสดงว่าตนหลุดพ้นจากอาณานิคม หลายประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมและเกิดใหม่จึงเปลี่ยนไปอย่างตรงข้ามกับอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ (กลุ่มประเทศอาหรับ) และอีกหลายประเทศเลียนแบบเจ้าอาณานิคมเก่า (อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์)
ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการจราจรชิดถนนข้างใดปลอดภัยกว่ากัน มีแต่หลักฐานว่าการชิดซ้ายและใช้พวงมาลัยด้านขวาและการชิดขวาและใช้พวงมาลัยซ้ายที่จะช่วยให้ปลอดภัย การเปลี่ยนระบบการจราจรจากด้านหนึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของประเทศใหญ่น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะสิ้นเปลืองมากมายในการเปลี่ยนด้านของพวงมาลัย ตำแหน่งป้ายจราจรต่างๆ งานวิศวะจราจร การฝึกให้คนขับคุ้นเคยกับระบบใหม่ และคนข้ามถนนคุ้นเคยกับระบบใหม่ที่ต้องมองรถในด้านตรงข้ามจากที่เคยคุ้นเคย
ไม่ว่าจะอยู่ในระบบชิดถนนด้านใดและมีภูมิทัศน์การจราจรที่ดีเลิศเพียงใดก็ตาม หากผู้ใช้ถนนขาดสติแล้ว อันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ