'อภัยภูเบศร' งดบริการเมนูอาหารจากกัญชา 'มาชิมกัญ' เพื่อพัฒนาหลักสูตร

'อภัยภูเบศร' งดบริการเมนูอาหารจากกัญชา 'มาชิมกัญ' เพื่อพัฒนาหลักสูตร

"อภัยภูเบศร" เป็นรายแรกที่ทำเมนูอาหารจาก"กัญชา" เปิดให้บริการไม่นาน ปรากฎว่า คนให้สนใจมาก จึงต้องงดบริการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรอบรมให้ประชาชน เข้าถึงข้อมูลและวิธีการทำอาหารจากกัญชาให้ถูกวิธี

หลังจากอภัยภูเบศร เดย์ สปา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดบริการอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา เมนู มาชิมกัญ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2564 ก็ได้รับการตอบอย่างดี และเป็นที่สนใจอย่างมาก เพราะใครๆ ก็อยากชิมข้าวกระเพราสุขใจ,รื่นเริงบันเทิงยำ,เล้งแซ่บซดเพลิน และชาใส่น้ำกัญชาคั้นสด ฯลฯ

การพัฒนาเมนูจากกัญชา ทำบนพื้นฐานความปลอดภัยตามหลักฐานเชิงประจักษ์ เนื่องจากกัญชาส่วนใบ ลำต้น กิ่งก้าน ราก ที่นำมาพัฒนาไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ

ที่ผ่านมาใบกัญชาสดหรือแห้ง นิยมนำมาใส่แกง ก๋วยเตี๋ยว หรือผัด โดยปริมาณที่ใช้ต่อหนึ่งหม้อมื้ออาหารรับประทานกันในครอบครัว จะอยู่ประมาณ 3 ยอด หรือ 5-8 ใบ 

ไม่ว่ากัญชาหรือกัญชง จะมีสาร cannabidiol (CBD)ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในต่างประเทศนิยมใช้กัญชงทำอาหารและขนม อาทิ คุ๊กกี้,ลูกอม,ช็อคโกเล็ต ส่วนกัญชาไทยจะมี THC (Tetrahydrocannabinol) มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือเรียกว่า “สารเมา”มากกว่า CBD

องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่าในใบสด ของกัญชา จะพบสาร cannabidiolic acid (CBDAและ Tetrahydrocannabinolic acid (THCA) ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ไม่เมา) แต่เมื่อถูกแสงและความร้อน ทั้งจากการปรุงและเก็บรักษาจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง สาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร THC

นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของการใช้กัญชาในอาหาร ซึ่งมีรายละเอียดอีกเยอะ

การนำกัญชามาใช้ทำอาหาร ยังไม่มีข้อมูลเชิงวิจัยในการใช้อย่างชัดเจน แ่ต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการใช้ เช่น ปริมาณที่ใช้ สารออกฤทธิ์จากวัตถุดิบ ความร้อนที่ใช้ในการประกอบอาหาร ส่วนประกอบอื่น ๆในเมนู วิธีการใช้ การบดให้ละเอียดก่อนนำมาผ่านความร้อน จะทำให้สารออกฤทธิ์มากขึ้น ความร้อนที่สูง ระยะเวลาในการปรุงที่นานขึ้น การปรุงร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง อาจทำให้สาร THC เพิ่มปริมาณมากขึ้น

ดังนั้นการพัฒนาอาหารจากกัญชา จึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ และทางอภัยภูเบศรเห็นว่า ประชาชนควรรู้อย่างยิ่ง จึงต้องพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการและประชาชน 

จึงของดบริการเมนู มาชิมกัญ ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป และ ผู้สนใจร่วมกิจกรรม ติดตามได้ที่ 037 211289 และ 037 217127

"""""""""""""""""""""""

ข้อมูลบางส่วนจาก : ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร