‘ฟีโน่ ระนาดเอก’ เพลงแดนซ์ สำเนียงดนตรีไทย
ถ้าเคยได้ยิน เพลง จีนี่ จ๋า(2021 ราตรี) หรือเพลง Canon Rock เวอร์ชั่นดนตรีไทย และอีกหลายเพลง ในเวอร์ชั่นสนุก ๆ นี่คืออีกความสามารถของอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ ที่นำเพลงคนอื่นมาคัฟเวอร์ใหม่ได้อย่างน่าฟัง
“เพลงจีนี่ จ๋า (2021 ราตรี) ที่ผมเอามาคัฟเวอร์ (นำเพลงคนอื่นมาทำใหม่) สิ่งที่ผมชอบคือ สำเนียง เวลาผมเลือกเพลง ผมจะดูสำเนียงก่อน แล้วเพลงนี้ไม่ได้มีความเป็นสากลจ๋า แต่มีความเป็นอาหรับ แล้วดนตรีไทย มีข้อเด่นตรงที่ชอบเลียนสำเนียงของเพื่อนบ้าน เช่น เพลงแขกต่อยหม้อ เป็นสำเนียงแขกหรือเพลงลาวดวงเดือน ก็เป็นสำเนียงลาว เป็นอะไรที่ดนตรีไทยถนัดอยู่แล้ว ที่จะเอาสำเนียงแบบนี้มาทำเพลง
พอเอามาลองเล่นดู มันก็เข้ากัน จะมีช่วงหนึ่งที่มีแต่ดนตรีไทยเลยครับ เอาเพลงออกแขกของลิเกมาเลย เพราะว่าสำเนียงมันลง แล้วคอร์ดมันได้พอดี อีกอย่างบางท่อนก็ไม่ได้เล่นตามเมโลดี้จ๋า มีอะไรไทย ๆ ก็เอาใส่เพิ่มเข้าไป ทำให้มันสนุก แล้วก็เอนเตอร์เทนได้มากขึ้น"
ฟีโน่ ระนาดเอก หรือ ปาเจร พัฒนศิริ อาจารย์ หัวหน้าหลักสูตรนิเทศศาสตร์ สาขากลยุทธ์การสื่อสารและการคิดค้นสิ่งใหม่ (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ใช้ความสามารถด้านดนตรีไทย นำเครื่องดนตรีไทย เช่น ระนาด และ ขลุ่ย มาสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ ๆ ในสไตล์ตัวเอง ด้วยการคัฟเวอร์เพลงต่าง ๆ เล่าถึงที่มาของเพลง จีนี่ จ๋า (2021 ราตรี) เวอร์ชั่นดนตรีไทย ที่กำลังดังอยู่ในขณะนี้ให้ฟัง
เริ่มมาคัฟเวอร์เพลงต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อไร
"เกือบ 10 ปีแล้วครับ ในช่วงปี 2011 ช่วงนั้นจะเล่นเพลงไทยเดิม แล้วก็มีเพลงหนึ่งดังขึ้นมาคือ เพลง Canon Rock ผมก็เลยลองเอามาทำเป็นเพลงด้วยดนตรีไทย แล้วได้รับเสียงตอบรับดี ก็เลยทำต่อมาครับ"
เพลง Canon Rock เป็นเพลงที่ถูกเรียบเรียงใหม่ในฉบับของ Jerry Chang นักกีตาร์ชาวไต้หวัน ต้นฉบับคือเพลงคลาสสิค Canon in D Major ประพันธ์โดย Johann Pachelbel ในยุค Baroque ศตวรรษที่ 17 คำว่า Canon ในทางดนตรีหมายถึงการเล่นวนซ้ำ คือนำทำนองเพลงของไวโอลินตัวที่ 1 มาเล่นซ้ำด้วยไวโอลินตัวที่ 2 และ 3
"ที่ชอบเพลงนี้ เพราะเป็นเพลงที่เปิด ทำอะไรได้เยอะครับ มีความคล้ายกับดนตรีไทยที่มีเพลงเดี่ยว เพลงโซโล่ ทำนองเปิดให้ใส่ลูกเล่นได้เยอะ เพลง Canon Rock ก็มีลักษณะนั้นเหมือนกัน คือมีโน้ตกลาง ๆ เราสามารถใส่ลูกเล่นอะไรเพิ่มเติมได้เยอะ เป็นเพลงสากลที่สามารถเอาเทคนิคดนตรีไทย ระนาด มาทำอะไรได้เยอะครับ พอดีช่วงนั้นเล่นดนตรีวงสากลกับเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยด้วย ก็ทำออกมาเล่นด้วยกันสนุก ๆ ครับ"
จำนวนเพลงที่คัฟเวอร์ไปทั้งหมด ชอบเพลงไหนที่สุด
"เพลงที่คัฟเวอร์ไปแล้ว ถ้าฟีดแบคคนดูที่มียอดวิวโอเคอยู่ในยูทูบ ก็จะมี Canon Rock ตอนนี้สี่แสนวิว แต่เวอร์ชั่นแรกจะเล่นเพี้ยน ๆ หน่อยนะครับ ยังไม่ได้จูนเสียงดนตรีไทยเข้ากับสากล จะมีความผิดเพี้ยนนิดหน่อย หลัง ๆ ก็ปรับปรุงจังหวะขึ้นมาให้ไปด้วยกันได้ แล้วก็เพลงขอใจเธอแลกเบอร์โทร, เพลงแว้นฟ้อหล่อเฟี้ยว เพลงพวกนี้จะมีความเป็นไทย ๆ ก็เลยเอาไปทำได้เยอะครับ
ถ้าเป็นปัจจุบันแสนวิวก็จะมี เพลงออเจ้าเอย, เพลงบุพเพสันนิวาส จะทำอีกรูปแบบหนึ่งคือทำดนตรีไทยล้วน ใช้ระนาดมาทำคอร์ด แทนที่จะใช้กลอง ก็ใช้ โทน, รำมะนา แทน แล้วก็มีเพลง สัญญากาสะลอง"
มีการเร่งดนตรีให้เร็วขึ้นไหม เพราะเพลงไทยมักเป็นเพลงช้า ๆ
"จริงๆ แล้วดนตรีไทย มีหลายจังหวะ จั งหวะเร็วเรียกว่าจังหวะชั้นเดียว บางเพลงก็เอามาทำเป็นชั้นเดียวเช่น เพลงเมาคลีล่าสัตว์ ทำเป็นไทย ๆ แล้วเร่งให้เหมือนสามช่า หรืออย่างเพลงบุพเพสันนิวาส เป็นเพลงช้า ก็เอามาทำจังหวะเร็ว ช่วงหลัง ๆ จะใส่พวกเครื่องประกอบจังหวะไทยเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้มีกลิ่นอายความเป็นไทยมากขึ้น เช่น เพลงบุพเพสันนิวาส ก็จะมี โทน, รำมะนา มาแทนกลอง มีฉิ่ง, กรับพวง ที่แปลกคือเอาระนาดมาทำเป็นคอร์ด เพราะปกติเราจะใช้คอร์ดจากดนตรีสากล ดังนั้นบางเพลงก็เป็นดนตรีไทยล้วนอย่างเดียวเลยครับ"
ดนตรีไทยกับดนตรีสากล โน้ตเหมือนกันไหม
"ความเป็นดนตรีไทยกับสากล ต้องเจอกันครึ่งทาง เราอาจจะต้องดูเรื่องคอร์ดเพิ่มเติม หรือปรับเสียงดนตรีไทย เพราะดนตรีไทยที่มาเล่นกับดนตรีสากล ความห่างของเสียง มันไม่เท่ากันครับ ตัวโด เร มี ฟา ซอล จะไม่เท่ากัน ต้องมีการปรับจูนกันครับ ก็พยายามมาเจอกันครึ่งทาง"
มีความถนัดเครื่องดนตรีไทยประเภทไหนบ้าง
"ดนตรีไทยได้เกือบหมด เพราะเราเริ่มจากวงปี่พาทย์ พวกฆ้อง ระนาด แล้วก็เล่นไปเรื่อย ๆ ครับ"
ถ้าจะปลูกฝังให้เด็กสนใจดนตรีไทยต้องทำอย่างไร
"ความชอบในดนตรีไทยของผม มาจากตอนเด็ก ๆ ที่บ้าน ให้ลองเรียนขิม ซึ่งก่อนหน้าเราได้ลองเรียนดนตรีสากลมาก่อนแล้ว ก็คือ อิเล็คโทน แต่ไม่อิน พอมาจับพวกดนตรีไทยแล้ว เป็นเร็วกว่าครับ มันทำอะไรได้เร็ว เครื่องแรกเป็น ขลุ่ย พอลองเล่นขลุ่ย แล้วมันเข้ามือ ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าหาครูอะไรมาก ก็ต้องค้นคว้าด้วยตัวเองเยอะขึ้น
พอได้พยายามศึกษาเอง ก็รู้สึกอินกับมัน ก็เลยชอบ จนมาเล่นระนาดเอก ก็ช่วงที่หนังเรื่องโหมโรงกำลังดัง ความจริงพื้นฐานเราชอบดนตรีไทยจากพวกขลุ่ย ที่เคยเล่นมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่พอมีโหมโรงเข้ามา ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เปลี่ยนมาเล่นระนาด
ผมเรียนดนตรีที่บ้านบางลำพู มูลนิธิดุริยประณีต แล้วก็ยืมระนาดมาทำชมรมที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เชิญครูจากบางลำพู บ้านดุริยประณีต มาช่วยสอน เพราะผมเรียนจบปริญญาตรี ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วก็ปริญญาโทที่อังกฤษ ด้านสื่อสาร มีเดีย ไม่เกี่ยวกับดนตรีเลย มีอาชีพสอนหนังสือ เป็นอาจารย์ หัวหน้าหลักสูตร ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ"
การนำดนตรีไทยกับดนตรีสากล มาสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ๆ ทำอย่างไร
"ดนตรีเหมือนกับภาษา ภาษาในแต่ละท้องถิ่นอาจจะพูดสำเนียงไม่เหมือนกัน หรือภาษาอังกฤษแต่ละที่ ก็พูดสำเนียงไม่เหมือนกัน ความแตกต่างของดนตรีไทย ก็เป็นเหมือนสำเนียงที่แตกต่างกัน ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมอาจจะแตกต่าง แต่สุดท้ายแล้ว สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน มาจูนกัน ทำให้เราเข้าใจภาษาซึ่งกันและกัน สามารถพูดคุยกันรู้เรื่องครับ
อย่างล่าสุด เพลงจีนี่ ที่ผมเอาไปเล่น คือจีนี่รุ่นแรก เวอร์ชั่นเก่า เอาไปทำ เพราะมันทำได้ง่ายกว่า สำหรับเวอร์ชั่นใหม่ในความคิดผมมันไม่ได้แย่นะ แต่คนจะติดกับเวอร์ชั่นเก่า ที่เป็นเพลงเต้น แต่พอเวอร์ชั่นใหม่มา ดนตรีมันจะเนือยหน่อย ไม่มีดนตรีช่วงให้เต้น แต่ตัวเพลงใหม่ ถ้าฟังดี ๆ ก็มีจุดที่น่าสนใจเหมือนกันคือ มีความเป็นแขก เป็นอาหรับชัดขึ้น ก็แล้วแต่ว่าจะมองมุมไหน"
.................
สำหรับคนที่สนใจเพลงไทยแนวใหม่ที่สร้างสรรค์ด้วยดนตรีไทย สามารถเข้าชมและฟังเพลงแนวนี้ได้ที่ Facebook และ YouTube: Fino the Ranad ในนั้นจะมีเพลงต่าง ๆ อาทิ เพลง How You Like That วง BLACKPINK, เพลง คุกกี้เสี่ยงทาย Koisuru Fortune Cookie วง BNK48, เพลง GAME OF THRONES theme, เพลง Canon Rock, เพลง กอดในใจ ของ Billkin, ขอใจเธอแลกเบอร์โทร, แว้นฟ้อหล่อเฟี้ยว, เพลงหลวงพี่ 4G ฯลฯ