อรสม-เอนก-สุดา คว้าศิลปินแห่งชาติ
เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะมีการคัดเลือกและประกาศผลศิลปินแห่งชาติ ซึ่งผลของผลศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2563 ก็ได้ประกาศออกมาแล้ว เมื่อบ่ายวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน ประกอบด้วย
1.สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่
1.ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี (จิตรกรรม)
2.นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ (จิตรกรรม-สื่อผสม)
3.นายประภากร วทานยกุล (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย)
4.นายสำเริง แดงแนวน้อย (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้)
2.สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่
1.นายเอนก นาวิกมูล
2.นางสาวอรสม สุทธิสาคร
3.สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน ได้แก่
1.นายประทีป สุขโสภา (เพลงพื้นบ้าน)
2.นายประเมษฐ์ บุณยะชัย (นาฏศิลป์ - โขน)
3.นายปี๊บ คงลายทอง (ดนตรีไทย)
4.นางสุดา ชื่นบาน (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง)
5.นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง)
6.นายปง อัศวินิกุล (ผู้กำกับระบบเสียง – สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์)
นางสาวอรสม สุทธิสาคร
มีผลงานเขียนประเภทสารคดีมากว่า 30 ปี 54 เล่ม นำเสนอข้อมูลหนักแน่น ลุ่มลึก ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากบุคคลจริงวิเคราะห์ปมปัญหาซับซ้อนในสังคมด้วยมุมมองหลากหลาย จากผู้ประสบปัญหา ผู้แก้ไขปัญหา ให้สาระความรู้ตีแผ่ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน เปิดพื้นที่ให้เสียงคนชายขอบและคนในมุมมืดสื่อไปถึงคนส่วนใหญ่ได้มีที่ยืนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ผู้อ่านเข้าใจรากเหง้าที่มาของปัญหาสังคมอย่างแท้จริง นำไปสู่การตระหนักรู้ เป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์วรรณศิลป์เป็นอาจารย์พิเศษสอนการเขียนสารคดี
ร่วมอภิปรายประเด็นปัญหาสังคมสู่สื่อสาธารณะ ริเริ่มก่อตั้งโครงการฝึกอบรมเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก สอนการเขียนเรื่องเล่าจากเรือนจำ เป็นประธานกองทุนปั้นดินให้เป็นบุญ สร้างงานพุทธศิลป์ในเรือนจำ ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพุทธศาสนานานาชาติ พ.ศ. 2550 รางวัลกำลังใจเพื่อผู้หญิง (ด้านสื่อมวลชน) จากโครงการกำลังใจ ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา พ.ศ. 2551 รางวัลศิลปินศิลปาธร (สาขาวรรณศิลป์) พ.ศ. 2552 รางวัลสตรีดีเด่นด้านสื่อมวลชน (สื่อสิ่งพิมพ์) พ.ศ. 2559 รางวัลประชาบดี พ.ศ. 2561
นายเอนก นาวิกมูล
นักเขียนสารคดีอาชีพ นักวิชาการอิสระ บรรณาธิการเฉพาะกิจด้านศิลปวัฒนธรรม วิทยากรให้ความรู้ด้านสารคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย สนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เริ่มออกสืบค้นข้อมูลด้วยตนเอง นำมาเขียนงานสารคดีได้ 8 กลุ่ม คือ เพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้าน, ประวัติบุคคล, เกร็ดประวัติศาสตร์, การถ่ายภาพและภาพถ่าย, จิตรกรรมไทย, ภาษาและประเพณี, การเก็บของสะสม, การเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สังเกต ตั้งข้อสงสัย หาคำตอบ จากเอกสารเก่า ภาพเก่า สัมภาษณ์ เป็น ‘คนปะชุนประวัติศาสตร์’ โดยตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า นำเสนอข้อมูลใหม่ ให้ความรู้ที่ถูกต้องชัดเจนที่สุด
จัดระบบภาพประกอบและคำบรรยายภาพที่สะดวกแก่การอ้างอิง ผลงานได้รับตีพิมพ์เผยแพร่รวม 201 เล่ม ผลงานเด่น ชีวิตวัยเรียนของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ (ประดิษฐ สุขุม) ยอดนักกีฬาไทยในอเมริกา, การเผชิญโชคของนายทองคำ, เพลงนอกศตวรรษ, ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย, สิ่งพิมพ์คลาสสิค เป็นต้น เปิด ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนชาวไทยในอดีต ทุ่มเททำงานด้านสารคดีมากว่า 45 ปี ได้รับรางวัลสารคดีเกียรติยศ จากสำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ. 2553 รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2554 รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ จากบริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (จำกัด) มหาชน พ.ศ. 2557
นางสุดา ชื่นบาน
เริ่มต้นจากการเป็นศิลปินไทยในการแสดงและรำละครตั้ังแต่อายุ 7 ปี ได้ร่วมแสดงละครรำในสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม มีความสามารถด้านนาฏศิลป์ไทย เข้าประกวดร้องเพลงได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้วหลายเวที อาทิ รางวัลแหวนเพชร ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมชาติ ในเพลงมารีโกกำพร้า เป็นผู้ที่ร้องเพลงสากลเป็นหลัก ได้ฝึกฝนอักขระภาษาการแปลคำศัพท์ ประกอบกับขับร้องให้ถูกต้องตามต้นแบบสากล
ได้รับการถ่ายทอดจากครูหลายท่าน อาทิ ครูสง่า อารัมภีร์ ได้รับการชักชวนให้ร้องเพลงไทยอัดแผ่นเสียงคู่กับสวลี ผกาพันธ์ และร้องเพลงประกอบภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยกัน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบันคือ เรื่องเพลงสุดท้าย จนได้รับสมญานามว่าเป็นเพลงของสาวประเภทสองจนถึงทุกวันนี้ และได้ร้องเพลงมาตลอดหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน ยังคงร้องเพลงในโอกาสต่างๆ และเผยแพร่องค์ความรู้ เป็นครูผู้สอนด้านการร้องเพลงให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในเพลงไทยสากล
ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ และรับค่าตอบแทน เดือนละ 25,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และจะจัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ งานนิทรรศการและสื่อเผยแพร่ชีวประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผ่านสื่อต่างๆ ต่อไป
สำหรับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ line@วัฒนธรรม