ข้อดีของความ ‘ขี้เกียจ’
มองอีกมุม เมื่อความ "ขี้เกียจ" อาจไม่ได้เป็นข้อเสียเสมอไป ซึ่งเคยมีการสรุปข้อดีไว้ว่า คนขี้เกียจจะพยายามสุดชีวิตเพื่อหาวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุดในการทำงานให้สำเร็จ โดยมีความขี้เกียจเป็นตัวขับเคลื่อน และจะสามารถคิดค้นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อออกมาได้
เมื่อนึกถึงคำว่า “ขี้เกียจ” หรือถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้เกียจแล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีนัยในด้านลบ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งนั้นความขี้เกียจหรือคนที่ขี้เกียจนั้นกลับมีคุณประโยชน์มากกว่าที่คิด คนขี้เกียจนั้นกลับเป็นผู้ที่สามารถคิดหาหนทางหรือทางเลือกในการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ จนกระทั่งมีความเชื่อกันว่าจริงๆ แล้ว ความขี้เกียจนั้นคือ “บ่อเกิดแห่งนวัตกรรม”
ลองนึกภาพคนขี้เกียจที่ไม่อยากจะขยับตัว ไม่อยากจะลุกจากเก้าอี้หรือที่นอน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ คนประเภทนี้แทนที่จะต้องเปลืองพลังงานในร่างกายเพื่อเอื้อมมือปิดไฟที่หัวเตียงก่อนนอนทุกคืน ก็พยายามหาทางแก้ปัญหาโดยหาไม้ยาวๆ เพื่อใช้ปิดไฟหัวเตียงโดยที่ไม่ต้องเอื้อมหรือขยับร่างกายให้เสียพลังงาน ถ้ามองในมุมหนึ่ง คนโบราณก็จะเรียกคนพวกนี้ว่าขี้เกียจจนตัวเป็นขน แต่ในอีกมุมมองหนึ่งคนขี้เกียจเหล่านี้ก็จะเป็นพวกที่พยายามคิดหาวิธีทางใหม่ๆ ในการทำงานให้สำเร็จ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
มีตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความขี้เกียจอยู่มากมาย โดยเฉพาะบรรดาสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ตัวอย่างเช่น บันไดเลื่อนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1896 โดยผู้คิดค้น (ชื่อ Jesse Reno) คิดขึ้นมาเนื่องจากสมัยเรียนมหาวิทยาลัย Jesse ต้องปีนบันไดถึง 300 ชั้นเพื่อกลับไปยังหอพัก หรือเก้าอี้ที่สามารถปรับเอนได้ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1928 โดยญาติสองคนเนื่องจากทั้งคู่มองว่าการต้องนั่งตรงๆ นั้นใช้พลังงานและความพยายามมากเป็นพิเศษ เลยพัฒนาและจดลิขสิทธิ์ของเก้าอี้ที่สามารถปรับเอนได้ และภายหลังมีการประกวดเพื่อหาชื่อสำหรับเก้าอี้ชนิดนี้และสุดท้ายก็ได้ชื่อ La-Z-Boy
อีกตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความขี้เกียจ คือ “รีโมทโทรทัศน์” ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีรีโมทและการเปลี่ยนช่องโทรทัศน์หรือการเปิดปิดแอร์ จะต้องลุกขึ้นและเดินไปกดปุ่มที่เครื่องเอง (หลายท่านน่าจะยังทันช่วงสมัยดังกล่าว) ในช่วงปี 1950 ทางบริษัท Zenith ของอเมริกันก็ได้พัฒนาและจดทะเบียนรีโมทโทรทัศน์รุ่นแรกของโลก (มีสายเชื่อมต่อไปยังโทรทัศน์) และเรียกเครื่องมือนี้ว่า Lazy Bones
เคยมีการสรุปคุณสมบัติ (ในด้านดี) ของคนขี้เกียจไว้ว่า คนเหล่านี้จะพยายามสุดชีวิตเพื่อหาวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุดในการทำงานให้สำเร็จ โดยมีความขี้เกียจที่เป็นตัวขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง คนขี้เกียจจะสามารถคิดค้นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อออกมาได้ แถมสิ่งที่คนเหล่านี้คิดขึ้นมายังเน้นในเรื่องของความมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้งานสำเร็จ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ชีวิตตนเองสะดวกสบาย สิ้นเปลืองพลังงานและขยับตัวน้อยที่สุด
แนวคิดที่ว่าความขี้เกียจจะนำไปสู่การคิดสิ่งใหม่ หรือหาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดนั้น ก็ได้รับการสนับสนุนทั้งจากงานวิจัยและผู้มีชื่อเสียง โดยมีงานวิจัยที่พบว่าผู้ที่ไม่ชอบเคลื่อนไหว ไม่ชอบขยับตัว (หรืออีกนัยหนึ่งคือคนขี้เกียจ) โดยเฉลี่ยแล้วจะเป็นผู้ที่ใช้สมองในการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ มากกว่าผู้ที่ชอบเคลื่อนไหว หรือแม้นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่าง Bill Gates ยังเคยกล่าวไว้เลยว่า “I choose a lazy person to do a hard job because a lazy person will find an easy way to do it.”
ต่อไปเมื่อต้องการคิดค้นหรือแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ก็อาจจะนำความขี้เกียจที่อยู่ในตัวคนเป็นจุดตั้งต้นได้ และอาจจะนำไปสู่นวัตกรรมในรูปแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน อย่างเช่น DryBath ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการทำความสะอาดร่างกาย และเหมาะสำหรับถิ่นธุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำ หรือต้องการประหยัดน้ำ ก็เกิดขึ้นมาจากผู้ที่คิดค้นขึ้นมามีความขี้เกียจอาบน้ำ
ถึงแม้ความขี้เกียจจะมีข้อดี แต่ก็ใช่ว่าจะสนับสนุนให้นอนหรือนั่งนิ่งๆ โดยไม่ขยับตัวทั้งวัน วิถีทางที่ดีสุดคือการมีความสมดุลระหว่างช่วงเวลาที่ขี้เกียจอยากอยู่เฉยๆ (แต่ขณะเดียวกันสมองก็ต้องคิดหาสิ่งใหม่ๆ ไปด้วย) กับการเคลื่อนไหวและทำสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา