‘น้ำประปาเค็ม’ กินแล้ว จะตายหรือไม่?
ไขข้อข้องใจ "น้ำประปาเค็ม" ที่ชาวกรุงเทพมหานครต้องเผชิญตั้งแต่ต้นเป็นต้นมานั้น เกิดจากสาเหตุใด? ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง? หากกินเข้าไปแล้ว อันตรายมากน้อยแค่ไหน?
ในช่วงเดือน ม.ค.และตอนต้นของเดือน ก.พ. ชาวกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จะรู้สึกว่าน้ำประปามีรสเค็มหรือกร่อย ดิฉันได้เข้าร่วมเสวนาวิชาการกับคุณสมศักดิ์ ปัสนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม การประปานครหลวง (กปน.) และ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อสรุปเป็นประเด็นคำถามแล้วเห็นว่ามีประโยชน์จึงขอเผยแพร่ผ่านคอลัมน์ทัศนะจากผู้อ่านค่ะ
- ทำไมน้ำประปาช่วงที่ผ่านมาถึงกร่อย?
ตอบ เพราะน้ำด้านบนของแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาน้อย (ส่วนนี้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำคอยดูแลอยู่ซึ่งต้องแบ่งน้ำกันหลายฝ่าย ทั้งเกษตรกร อุตสาหกรรม ฯลฯ มีเท่าไรการประปานครหลวงก็ใช้ได้แค่นั้น) เมื่อน้ำลงมาน้อยน้ำทะเลก็จะหนุนขึ้นมาถึงจุดที่สูบมาทำประปา (สำแล) ด้วยระบบการผลิตประปาปัจจุบันไม่สามารถเอาเกลือ Na+ Cl- และอื่นๆ ออก (การบำบัดน้ำในปัจจุบันใช้วิธีตกตะกอนเคมี กรองแบบปกติ และเติมคลอรีนเกินเอาไว้เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนอุปโภคบริโภค)
ป.ล. กปน.ผลิตประปาวันละประมาณมากกว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยผลิตจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา 4.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และน้ำฝั่งตะวันตกปล่อยจากเขื่อนแม่กลอง 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำฝั่งตะวันตกไม่มีปัญหาน้ำกร่อย
- น้ำกร่อยกินแล้วอันตรายหรือไม่?
ตอบ สำหรับคนปกติ องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่มีมาตรฐานความเป็นอันตรายในน้ำดื่ม คนทั่วไปเริ่มรับรสความเค็มเมื่อค่าความเค็ม (salinity) มากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่มีข้อแนะนำว่าแต่ละวันคนที่ต้องระวังเรื่องเกลือไม่ควรกินเกลือมากกว่าวันละ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อน้ำประปาเค็มค่าสูงๆ มีค่าประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวัน แปลว่าหากกินน้ำวันละ 2 ลิตร จะได้เกลือ 1,000 มิลลิกรัม ก็ยังไม่อันตราย ถ้าเปรียบเทียบกับการกินขนมกรุบกรอบเพียง 1 ถุง รับเกลือไป 2,000 มิลลิกรัม รัฐบาลจึงมีแนวคิดการเก็บภาษีความเค็มกับขนมถุงนั่นเอง
สำหรับคนที่ไม่ควรได้รับเกลือ เช่น ความดันสูง เป็นโรคไต ควรเว้นการกินน้ำกร่อย
- น้ำกร่อยกินไม่ได้ (เช่น ไม่ชอบรสชาติหรือเป็นผู้มีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพเมื่อรับเกลือสูง) ไม่อยากเพิ่มต้นทุนให้ชีวิตต้องไปซื้อน้ำกิน จะทำอย่างไร?
ตอบ สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น
1.ติดตามข่าวของการประปานครหลวง ที่ประกาศในข่าวทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และโซเชียลมีเดีย ข่าวประกาศล่วงหน้า เราจะได้สำรองน้ำ ก่อนน้ำจะกร่อย
2.กปน.มีระบบ reverse osmosis ที่สามารถเอาเกลือออกได้ และติดตั้งที่สำนักงานการประปาเขต เปิดบริการให้ประชาชนไปกรอกน้ำได้ฟรี ใช้บริการได้
3.สนับสนุนให้ กปน.มี CSR บริการน้ำที่มีเกลือต่ำให้กับผู้ที่สุขภาพมีความเสี่ยงสูง
- ทำไมต้องทนกับน้ำกร่อยทุกปี ไม่แก้ไข?
ตอบ กปน.รับรู้ปัญหาและมีโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การนำน้ำจากฝั่งตะวันตกมาใช้มากขึ้น หรือการขยับแหล่งน้ำดิบบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างขึ้นเหนือไปมากกว่าสำแล เพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลรุก หรือการย้ายการผลิตน้ำประปาไปยังแหล่งที่เหมาะสมแล้วต่อท่อลงมาให้บริการยังกรุงเทพฯ และปริมณฑล เหล่านี้ล้วนแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ยักษ์ ตามมาด้วยคำถามว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ผู้ใช้น้ำหรือไม่
- ค่าใช้จ่ายมหาศาลหากมีการปรับปรุงการผลิตประปา จะส่งผลให้น้ำประปาแพงขึ้นหรือไม่? (ปัจจุบันเริ่มต้น 10 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านสิงคโปร์เริ่มต้นที่ 60 บาทต่อลูกบาศก์เมตร)
ตอบ กปน.ยืนยันยังไม่ขึ้นค่าน้ำประปา