รู้จักสายน้ำเพชร...รู้จัก ‘บ้านโป่งลึก-บางกลอย’
เข้าป่าลึก รู้จัก "บ้านโป่งลึก-บางกลอย" ผ่านร่องรอยของสายน้ำเพชรบุรี สายนทีแห่ง "แก่งกระจาน"
แม่น้ำเพชรบุรี ถูกรับเลือกให้เป็น “แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์” อีกหนึ่งสายในประเทศไทย น้ำจากแม่น้ำเพชร เคยเป็นน้ำทรงเสวย และเป็นน้ำที่ใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกมาหลายยุคหลายสมัย นั่นเป็นเพราะแม่น้ำเพชรบุรี เกิดจาก ป่าแก่งกระจาน ไหลผ่านพื้นที่ชุมชน แล้วลงทะเลในเขตจังหวัดเพชรบุรีนั่นเอง ไม่ผ่านหลายพื้นที่ดั่งหลายแม่น้ำ จึงคงความเป็นน้ำจากป่าเขาไว้ได้มากที่สุด
อันที่จริง “ป่าแก่งกระจาน” นี้ คนเที่ยวป่าทั่วไปเขาจะเรียกกันว่า “ป่าต้นน้ำเพชร” นั้นจริงๆ แล้วป่าต้นน้ำเพชรนี้ไม่ได้ให้กำเนิดแม่น้ำแค่แม่น้ำเพชรสายเดียว หากแต่ให้กำเนิดแม่น้ำปราณบุรีด้วย โดยอีกด้านจะเป็นลำธารสายเล็ก ไหลลงทางใต้เรียกว่าคลองปราณ ไหลลงเขียนปราณบุรี ลำห้วยสายนี้มีน้ำตกที่ ตกลงมาชั้นเดียว สูงราว 20 เมตร ก็เรียกกันว่าน้ำตกคลองปราณ แต่ก็จะมีห้วยเล็กห้วยน้อยอีกหลายห้วยที่ไม่ได้ไหลลงแม่น้ำเพชร
แต่หลักๆ ก็คือแม่น้ำเพชร ใครที่เคยไปดูทะเลหมอกพะเนินทุ่ง ถ้าหันหน้าไปดูแอ่งทะเลหมอก ตัวแม่น้ำเพชรจะอยู่ทางขวามือในหุบเขาเบื้องล่าง ถ้าใครเคยเดินไปน้ำตกทอทิพย์ ช่วงที่เป็นสันเขา หุบทางขวามือนั่นแหละคือแม่น้ำเพชร แล้วน้ำตกทอทิพย์ ที่มีต้นกำเนิดมาจากเขาพะเนินทุ่ง ก็จะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำเพชรบุรี
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกจัดตั้งขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จจากพระราชวังไกลกังวลไปยังเขื่อนแก่งกระจาน พระองค์ทรงรับสั่งแก่ท่านอาจารย์ถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 แล้วมีกระแสรับสั่งให้รักษาป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะมีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น จากพระกระแสรับสั่งครั้งนี้ มาประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้นพอดี กรมป่าไม้จึงส่งคนก็คือหัวหน้าสามารถ ม่วงไหมทองนี่แหละมาสำรวจ จนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ12 มิ.ย. 2524 เป็นอันดับที่ 28 ของประเทศ
สมัยผมเที่ยวป่าต้นแม่น้ำเพชรบ่อยๆ เป็นช่วงที่เขากำลังเริ่มตัดถนนขึ้นพะเนินทุ่งพอดี ผมเดินป่าแม่น้ำเพชรหลายเส้นทาง ทั้งเดินเกาะสายน้ำเพชรบุรี ทั้งขึ้นพะเนินทุ่ง มีทางขึ้นได้กี่ทาง ผมลองเดินขึ้นหมด ข้ามพะเนินทุ่ง แล้วมักไปสิ้นสุดแค่ปากห้วยทอทิพย์ ซึ่งเป็นลานทรายกว้างหลายไร่ แม่น้ำเพชรนั้น ใสสะอาดตั้งแต่ต้นน้ำเลย ปลาชุกชุมมาก ป่าต้นแม่น้ำเพชรช่วงนี้ จะเป็นป่าดงดิบ ต้นไม้ใบหนา ต้นสูงแย่งแดดกันเลยทีเดียว ในหน้าฝน แม่น้ำเพชรจะมีปริมาณมากตั้งแต่ต้นน้ำเลยทีเดียว แต่ถ้าหน้าแล้ง ปริมาณจะลดลงแต่ไม่เคยแห้ง ตามลำน้ำเพชร จะมีวังน้ำใหญ่ๆ อยู่หลายวัง
แล้วแม่น้ำเพชรก็จะไหลวนขึ้นไปทางเหนือแล้ว วกลงทางใต้อีกที ทางเหนือนั้นจะมีแม่น้ำบางกลอย มาจากทางใจแผ่นดิน มาสมทบกัน ไหลลงมาเป็นบางกลอยบน และบางกลอยกลาง พอลงมาตามลำน้ำเรื่อยๆ ก็จะผ่านเวิ้งน้ำใหญ่เรียกกันว่า วังข่า ซึ่งตรงนี้เองที่มีการตั้งกล้องดักถ่ายจระเข้น้ำจืดได้ซึ่งแสดงให้เห็นความสมบูรณ์และความเป็นธรรมชาติของแม่น้ำเพชรบุรีอย่างมาก จากวังข่าลงมาราว 4 กิโลเมตร จะมาถึง "บ้านโป่งลึก-บางกลอย"
"บ้านโป่งลึก-บางกลอย" นี้ ผมเขาเล่าที่มาที่ไปสักหน่อย คือ ในอดีตก่อนปี 2500 นั้นในแผนที่ทหารมีปรากฏเป็นเพิงพัก เป็นกระท่อม ทำไร่ กระจายกันอยู่ตรงบริเวณที่เรียกว่าใจแผ่นดิน ซึ่งตรงนี้จะเป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาตามฤดูกาลและตามสถานการณ์จากฝั่งพม่าบ้าง ไปจากทางสวนผึ้ง ราชบุรีบ้าง ซึ่งต่อมาเป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องความมั่นคงจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ปี 2539 ด้วยเหตุผลทางความมั่นคง ทางหน่วยทหารจึงอพยพชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้จากใจแผ่นดินลงมา ให้มาอยู่ที่บ้านโป่งลึกซึ่งมีมาก่อนแล้ว ซึ่งบ้านโป่งลึกก็อยู่ในป่า ไม่ได้อยู่ข้างนอก คือไม่ได้ถูกอพยพออกมาข้างนอก อยู่ในป่าเหมือนเดิม แต่แทนที่จะอยู่กระจายกันจนดูแลลำบาก เขาให้มาอยู่รวมกันเสีย โดยหมู่บ้านใหม่นี้มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านพื้นที่ คดโค้งไปมาสวยเชียวละ มีภูเขาล้อมรอบ แล้วตั้งหมู่บ้าน โดยตั้งอยู่กันคนละฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตอนนั้นก็มีทั้งกะเหรี่ยงที่ยินยอมลงมา บางส่วนขอกลับไปพม่า บางส่วนขอไปอยู่ที่บ้านป่าเด็ง อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยนี้จะมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.10 (ห้วยแม่สะเรียง) อยู่ด้วย
ทีนี้ตรงที่อพยพลงมาก็เลยเป็น "บ้านโป่งลึก-บางกลอย" โดยบ้านบางกลอยที่อพยพลงมา ทางการก็จัดสรรที่ดินให้ทำกินครอบครัวละ 7-9 ไร่ เอาลงมาเขาก็ไม่ได้ทิ้งขว้าง แต่มีโครงการพัฒนามาช่วยหลายอย่าง โครงการปิดทองหลังพระ มูลนิธิศิลปาชีพ โครงการของสมเด็จพระเทพฯ และอีกหลายหน่วยงาน ใน หมู่บ้านมีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์กระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต (บางค่าย) มีโรงเรียน ตชด. ชาวบ้านติดต่อกับโลกภายนอกด้วยทางลำลองระยะทางราว 54 กิโลเมตร ถึงอำเภอแก่งกระจาน มีการท่องเที่ยวแบบนวัติวิถี มีพื้นที่ทำ CSR มีการล่องแพ ดูวัฒนธรรม ฯลฯ
ชาวบ้านก็ทำการเกษตร บางครอบครัวที่ขยัน พื้นที่ก็ดินดำน้ำชุ่ม มีพืชผักผลไม้ ขุดบ่อเลี้ยงปลา บางบ้านที่อาจจะไม่ค่อยมีทักษะที่ดินก็จะเหมือนไม่ได้ทำอะไร คือทุกอย่างกำลังพอไปได้
เรื่องมันมาเกิดเพราะมีชาวบ้านบางส่วนแอบขึ้นไปบริเวณที่เรียกว่าบางกลอยกลางและบางกลอยบน ริมแม่น้ำบางกลอย อยู่ด้านล่างของบริเวณใจกลางแผ่นดิน ห่างจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยด้วยการเดินเท้าราว 19 กิโลเมตร (ไม่มีถนนเข้าไปถึง) ชาวบ้านกลุ่มนั้นถางและเผาป่าเพื่อเอาพื้นที่ทำไร่ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เคยมีปัญหามาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2554 ก็แบบนี้ ตอนนั้นทางอุทยานฯก็ต้องเอาลงมาที่เดิมจนเกิดปัญหาบิลลี่นั่นแหละ จนกระทั่งในการเสนอผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ถูกตีตกไปเพราะยังติดขัดเรื่องสิทธิชุมชนนี่เอง มาปี 2564 นี่ก็เข้าอีหรอบเดิม ชาวบ้านแอบขึ้นไปถางป่าในพื้นที่บางกลอยกลาง ที่เดียวกับในปี 2554 นั่นเอง
เหตุผลชาวบ้านคือที่ดินที่รัฐจัดให้นั้น ไม่สมบูรณ์ ไม่เพียงพอกับการทำกิน ไม่เพียงพอกับครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งคราวนี้กรมอุทยานฯกลายเป็นคนที่ต้องมาช่วยเหลือ เป็นคณะทำงานแก้ปัญหา ซึ่งกรมอุทยานฯเขาแก้ให้หมด จะเอาอะไรเรื่องน้ำ เรื่องที่ดิน ขออย่างเดียว ชาวบ้านอย่าไปถางป่าอุทยานฯเพราะมันผิดกฎหมาย
แม่น้ำเพชรบุรีช่วงปลายน้ำก่อนจะไหลลงเขื่อนแก่งกระจานนี้จะคดเคี้ยววกวนไปมา ในหน้าแล้ง มีชาวบ้านขึ้นมาปลูกพืชไร่กันตามริมน้ำมากมาย แล้วจึงไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง
อันที่จริง "บ้านโป่งลึก-บางกลอย" นั้น นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้ แม้จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการขับรถก็ตาม แล้วไปกางเต็นท์ที่หน่วยฯห้วยแม่สะเลียง แต่ช่วงนี้ติดสถานการณ์โควิด จึงงดการท่องเที่ยว
ชาวบ้านอยู่ในป่าได้ แต่ต้องไม่ทำลายป่า อยู่ร่วมกันในประเทศต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ธรรมชาติพอมีแบ่งปันทุกคน แต่สำหรับคนโลภเพียงคนเดียว...แค่ไหนก็ไม่พอ