8 มีนาคม 'วันสตรีสากล' รู้จักที่มาและความสำคัญของแรงงานสตรี

8 มีนาคม 'วันสตรีสากล' รู้จักที่มาและความสำคัญของแรงงานสตรี

เปิดประวัติ "วันสตรีสากล" ที่ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ชวนส่องความสำคัญของแรงงานหญิงที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จนเกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อสิทธิและค่าแรงที่เป็นธรรม ก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดตามมา

ชวนคนไทยรู้จัก "วันสตรีสากล" ที่ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี โดยวันสตรีสากล (International Women's Day) แต่เดิมเรียกว่า วันสตรีแรงงานสากล (International Working Women's Day) มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ในแต่ละภูมิภาคความสนใจของการเฉลิมฉลองมีตั้งแต่การเฉลิมฉลองความนับถือ ความซาบซึ้งและความรักต่อหญิงสำหรับความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของหญิงทั่วไป

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมารู้จักวันสำคัญของกลุ่มแรงงานหญิง พลังและบทบาทของผู้หญิงในสังคมกันให้มากขึ้น

1. สัญลักษณ์ "วันสตรีสากล" คือ ริบบิ้นสีม่วง

เริ่มแรก "วันสตรีสากล" เป็นวันสำคัญด้านการเมืองแบบสังคมนิยมของหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มตะวันออก แต่ในบางภูมิภาควันสตรีสากลกลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ แต่เป็นเพียงโอกาสในการแสดงความรักแก่ผู้หญิง ในรูปแบบต่างๆ คล้ายกับกิจกรรมวันแม่และวันวาเลนไทน์ ในขณะที่อีกบางภูมิภาค วันสตรีสากลกลายเป็นแก่นหลักทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง มีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงการต่อสู้ของหญิงทั่วโลก มีการเผยแพร่และพิจารณาด้วยความหวัง บางคนเฉลิมฉลองวันดังกล่าวโดยการสวมริบบิ้นสีม่วง

2. "วันสตรีสากล" เกิดจากการเสียชีวิตของหญิง 119 คน

ประวัติความเป็นมา ของ "วันสตรีสากล" เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

3. เกิดนักเคลื่อนไหวหญิง “คลารา เซทคิน”

จากนั้นในปี ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันชีวิตหรือสวัสดิการการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้  “คลารา เซทคิน”  นักการเมืองสตรีสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ “คลารา เซทคิน” และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

4. "วันสตรีสากล" มีคำขวัญว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ"

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบ 3/8 คือ

- ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง

- ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง

- ให้มีเวลาพักผ่อนอีก 8 ชั่วโมง

5. เรียกร้องปรับ "ค่าแรง" แรงงานหญิง = แรงงานชาย

นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องขอปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย อีกทั้งยังได้รับรองข้อเสนอของ “คลารา เซทคิน” ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันสตรีสากล

---------------------------

ที่มา : th.wikipedia.org/wiki/วันสตรีสากล