เจาะลึกผลรางวัล ‘เทศกาลหนังเบอร์ลิน’ 2021
เจาะลึกรายละเอียดหนังที่ได้รางวัล “เทศกาลหนังเบอร์ลิน” 2021 ในแต่ละสาขา โดยเฉพาะหนังตลกจากโรมาเนียเจ้าของ “รางวัลหมีทองคำ” เรื่อง “Bad Luck Banging or Loony Porn” ที่หยิบยกเอาประเด็น “คลิปหลุด” มาวิพากษณ์ได้น่าสนใจ
หลังจากเทศกาลหนังเบอร์ลินปี ค.ศ. 2020 ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปีกลาย เชื้อ COVID-19 ก็เริ่มแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลกทันที จนหลาย ๆ ที่ไม่สามารถจัดฉายเทศกาลภาพยนตร์ในโรงกันอีกได้ เทศกาลหนังเบอร์ลินปี ค.ศ. 2020 จึงเรียกได้ว่ารอดพ้นจาก COVID-19 มาได้อย่างหวุดหวิด แต่เมื่อสถานการณ์ยังยืดเยื้อยาวนานแบบข้ามปี เทศกาลหนังเบอร์ลินครั้งที่ 71 ประจำ ค.ศ. 2021 นี้ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องแบ่งการจัดงานเป็นสองช่วง
ช่วงแรกระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม เป็นการจัดฉายหนังสายต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์สำหรับตลาด European Film Market และ Berlinale Media Service ให้สื่อและคนในแวดวงอุตสาหกรรมได้ชมกันก่อน พร้อม ๆ กับเหล่าคณะกรรมการตัดสินรางวัล จากนั้นจึงจะนำหนังที่คัดเลือกทั้งหมดมาฉายในโรงภาพยนตร์ให้ผู้ชมทั่วไปได้ชมกันอีกครั้ง ณ กรุงเบอร์ลินในช่วงวันที่ 9-20 มิถุนายน ซึ่งกำลังเข้าช่วงฤดูร้อนพอดี
และการจัดฉายแบบออนไลน์ในช่วงวันที่ 1-5 มีนาคม นี้ ทางเทศกาลเบอร์ลินก็ได้เชิญคณะกรรมการมาร่วมชมผลงานและตัดสินรางวัลกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของสายประกวดหลักก็มีหนังนานาชาติเข้าร่วมชิงรางวัลต่าง ๆ รวมจำนวน 15 เรื่อง และที่เก๋ไก๋ก็คือ ปีนี้ทางเทศกาลถือเป็นจังหวะพิเศษที่ไม่เหมือนการประกวดในปีที่ผ่าน ๆ มา จึงได้เทียบเชิญผู้กำกับศิษย์เก่าที่เพิ่งจะคว้ารางวัลใหญ่อย่างหมีทองคำไป จำนวน 6 รายมาร่วมตัดสิน ในขณะที่แต่เดิมมักจะเชิญกรรมการจากหลากหลายส่วนอาชีพมาพิจารณารางวัล
ซึ่งกรรมการผู้กำกับทั้ง 6 ท่านในปีนี้ก็ประกอบไปด้วย Jasmila Zbanic, Gianfranco Rosi, Ildiko Enyedi, Adina Pintilie, Nadav Lapid และ Mohammad Rasoulof เจ้าของรางวัลหมีทองคำจากเรื่อง Grbavica (2006), Fire at Sea (2016), On Body and Soul (2017), Touch Me Not (2018), Synonyms (2019) และ There Is No Evil (2020) ตามลำดับ
เนื่องจากงานในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ไม่ได้มีการจัดงานกาล่าในโรงภาพยนตร์ใด ๆ การประกาศผลจึงดำเนินไปอย่างเรียบง่ายผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา เวลาประเทศไทย โดยมีผลรางวัลสำหรับหนังในสายประกวดดังต่อไปนี้
เริ่มที่รางวัลทางด้านเทคนิคยอดเยี่ยม ซึ่งได้แก่การตัดต่ออันเฉียบคมของ Yibran Asuad จากภาพยนตร์เรื่อง A Cop Movie กำกับโดย Alonso Ruizpalacios จากเม็กซิโก ซึ่งเป็นหนังซ้อนสารคดี หรือสารคดีซ้อนหนังที่ผู้กำกับใช้แนวทาง docudrama เพื่อเล่าว่าตำรวจชายหญิง ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ จะต้องเจอเหตุการณ์ใดบ้างในแต่ละวัน โดยสลับการถ่ายทอดเหตุการณ์กับการให้นักแสดงพูดกับกล้องโดยตรง จากนั้นจึงตัดมาให้เห็นเบื้องหลังการทำงานของนักแสดงที่มารับบท ว่าพวกเขาจะต้องศึกษาหาประสบการณ์ในการฝึกฝนเพื่อรับบทเป็นตำรวจกันอย่างหนักหน่วงทุ่มเทขนาดไหน ก่อนที่จะกลับไปเล่าภาพชีวิตการทำงานหลังการสวมบทบาทของพวกเขาอีกครั้งในช่วงท้าย
ถือเป็นหนังที่เล่นล้อมิติจริงลวงของการถ่ายงานสารคดี การสะท้อนภาพชีวิตจริงผ่านการแสดงในแบบสมจริง รวมถึงการปรุงแต่งสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ผลงานยังออกมาในรูปฟอร์มของการเป็นภาพยนตร์ จนกลายเป็นภาระหนักให้ผู้ตัดต่อ ซึ่ง Yibran Asuad ก็แสดงฝีมือควบคุมเส้นเรื่องหลายมิติทั้งหมดไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมสมควรกับการได้รับรางวัล
ต่อด้วยรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็ตกเป็นของเรื่อง Introduction ผลงานใหม่ของผู้กำกับจากเกาหลีใต้ Hong Sang-soo ที่เพิ่งจะได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลนี้จากเรื่อง The Woman Who Ran (2020) ไปเมื่อปีกลาย เขาจึงมีผลงานเข้าร่วมประกวดติดต่อกันสองปีซ้อน แถมยังคว้ารางวัลไปได้ทั้งคู่
Introduction เป็นหนังขาวดำความยาวเพียง 66 นาทีที่เล่าเรื่องราวประสบการณ์ทางการแสดงของ Youngho นักแสดงหนุ่มหล่อหุ่นสูงยาวเข่าดี คล้าย ๆ กับใน A Cop Movie โดยคราวนี้หนังแสดงให้เห็นว่า Youngho ผู้มีรูปร่างหน้าตาเหมาะนักหนากับการเป็นพระเอก ต้องเผชิญกับภาวะอึดอัดขัดใจเพียงใดในวันเขาต้องเข้าฉากเลิฟซีนกับหญิงอื่น ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีแฟนเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าประเด็นหลักของเรื่องที่ Hong Sang-soo ต้องการเล่าจะมีจุดขัดแย้งภายในวางเอาไว้อย่างชัดเจน
แต่ความโดดเด่นในบทภาพยนตร์ของ Hong Sang-soo คือ รายละเอียดรายล้อมที่แสดงบุคลิกความคิดอ่านของตัวละครหลักผ่านปฏิสัมพันธ์ที่เขามีกับตัวละครรายอื่น ๆ อย่างแนบเนียนและเป็นธรรมชาติ หลาย ๆ ฉากหลาย ๆ บทสนทนาแลดูคล้ายจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาหลัก หากกลับส่องสะท้อนตัวตนของตัวละครได้อย่างชาญฉลาด เผยให้เห็นสัญชาตญาณแปลกประหลาดของตัวละครที่บางครั้งก็ยังไม่มีถ้อยคำมาอธิบายว่าสุดท้ายแล้วเขาเป็นคนอย่างไรกันแน่
ส่วนผู้กำกับที่รังสรรค์งานออกมาด้วยฝีไม้ลายมือเชิงเทคนิคได้อย่างแม่นยำจนทำให้กรรมการต้องมอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ ก็คือผู้กำกับจากฮังการี Denes Nagy กับหนังที่ดัดแปลงจากนิยายของ Pal Zavada ชื่อ Natural Light ซึ่งเป็นหนังสงครามย้อนยุคไปยังช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ. 1943 เมื่อกองกำลังของฮังการีได้ออกเดินทางตามหาหน่วยทหารเข้ากลุ่มพวก ณ หมู่บ้านต่าง ๆ ในช่วงการยึดครองของสหภาพโซเวียต จนถูกซุ่มโจมตี
เมื่อผู้บังคับบัญชาใหญ่ของกองกำลังเสียชีวิตลง Semetka นายทหารยศสูงสุดจึงต้องขึ้นมาควบคุมกำลังพลแทน โดยเขาจะต้องยืนอยู่ตำแหน่งตรงกลางระหว่างคำสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับสูง และการพิทักษ์รักษาชีวิตลูกน้องไม่ให้เกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่ง่ายเลยสำหรับ Semetka ผู้มีธรรมชาติเป็นคนรักความสงบและสันติ
หนังเดินเรื่องอย่างเชื่องช้าทว่าสง่างามตามขนบของหนังย้อนยุคจากยุโรป ซึ่งก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแม่นยำจัดเจนในด้านการกำกับและคุมองค์ประกอบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบทัศนียภาพ การแสดง รายละเอียดย้อนยุค การลำดับเล่าเรื่องราว รวมถึงเสียงและดนตรีประกอบ ที่นำพาผู้ชมเข้าถึงหัวใจของเรื่องราวจนสามารถร่วมรู้สึกสะเทือนใจ
มาที่รางวัลด้านการแสดง ปีนี้เป็นปีแรกที่ทางเทศกาลเบอร์ลินประกาศว่าจะยกเลิกการแบ่งแยกรางวัลเป็นนักแสดงชายยอดเยี่ยม และนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม โดยจะขอปรับเป็นรางวัลการแสดงในบทนำยอดเยี่ยม และการแสดงในบทสมทบยอดเยี่ยมแทน เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายกรณีที่หนังสายประกวดใช้นักแสดงข้ามเพศแสดงจนกรรมการไม่สามารถตัดสินได้ว่าควรเลือกให้รางวัลในกลุ่มเพศไหน
ซึ่งผู้ที่ประเดิมคว้ารางวัลนักแสดงในบทสมทบยอดเยี่ยมจากเทศกาลเบอร์ลินในปีนี้ ก็ได้แก่สาวน้อย Lilla Kizlinger จากหนังทดลองเรื่อง Forest-I See You Everywhere ของผู้กำกับ Bence Fliegauf จากฮังการี ซึ่งเป็นภาคต่อของเรื่อง Forest (2003) ของผู้กำกับ Bence Fliegauf เช่นกัน โดยเป็นหนังที่ใช้การถ่ายทำด้วยกล้องวีดิโอภาพ close-up ของนักแสดงที่ทะเลาะทุ่มเถียงกันด้วยปัญหาส่วนตัวโดยแบ่งเป็นตอน ๆ ตามคู่หรือชุดตัวละคร
Lilla Kizlinger รับบทเป็นสาววัยรุ่นมีปัญหากับทางบ้าน และต้องจำบทพูดแบบต่อเนื่องยาวนานไม่ได้พักหายใจนานนับสิบนาที โดยที่สำคัญคือต้องแสดงอารมณ์ความรู้สึกจริง ๆ ใส่ลงไปในคำพูดเหล่านั้น กลายเป็นการแสดงที่สะกดสายตาและความสนใจ แม้ว่าโดยเนื้อหาแล้วอาจไม่ได้มีอะไรใหม่มากนัก
ในขณะที่รางวัลการแสดงในบทนำยอดเยี่ยมก็ตกเป็นของนักแสดงหญิงเช่นกัน นั่นคือ Maren Eggert จากบท Alma นักวิทยาศาสตร์สาวผู้นิ่งเย็น ที่กำลังถูกท้าทายจากการทดลองใช้ชีวิตร่วมกับ Tom หุ่นมนุษย์ humanoid หนุ่มหล่อระดับชายในฝันที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อหลอมละลายกำแพงหัวใจของเธอเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อดูว่าเธอจะใจอ่อนยอมรับความรักความห่วงใยอันประดิษฐ์จอมปลอมจาก Tom หรือไม่ ในหนังตลกไซไฟ hi-concept เรื่อง I’m Your Man ของผู้กำกับหญิง Maria Schrader จากเยอรมนี ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ Emma Braslavsky อีกต่อหนึ่ง
หนังตลกแนวทางนี้ก็ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยครั้งนักจากฝั่งประเทศนี้ โดย Maren Eggert ก็สามารถผสานการแสดงแบบหนักลึกและจริงจังในแบบเยอรมัน ให้เข้ากับความแหววหวานเบาสมองของตัวบทได้อย่างลงตัว ทั้งยังต้องแบกรับเนื้อหาและอารมณ์ของหนังเอาไว้ทั้งเรื่อง สุดท้ายเธอจึงสามารถคว้ารางวัลการแสดงยอดเยี่ยมสำหรับบทนำในเทศกาลนี้ไปได้เป็นคนแรก
สำหรับรางวัลที่ให้กับหนังทั้งเรื่องในสายประกวดหลักของเทศกาลเบอร์ลินปีนี้ ก็มีอยู่สามรางวัลด้วยกัน รางวัลแรกคือรางวัลหมีเงินขวัญใจคณะกรรมการ หรือ Silver Bear Jury Prize ซึ่งเทียบได้กับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่สารคดีความยาว 217 นาทีจากเยอรมนีเรื่อง Mr Bachmann and His Class ของผู้กำกับหญิง Maria Speth ที่ชวนให้นึกถึงหนังรางวัลปาล์มทองคำเรื่อง The Class (2008) ของ Laurent Cantet อย่างอดเทียบไม่ได้ เพราะเป็นหนังสารคดีที่นำพาเราไปติดตามดูเทคนิควิธีการสอนแบบนอกกรอบของคุณครู Bachmann ณ โรงเรียนมัธยมเล็ก ๆ ในเมืองชตัดทัลเลนดอร์ฟ ของเยอรมนี ที่ต้องดูแลลูกศิษย์หญิงชายหลากหลายเชื้อชาติวัย 12-14 ปี โดยที่บางคนก็ยังพูดภาษาเยอรมันไม่คล่องเสียด้วยซ้ำ
หนังพาเราไปติดตามภาพระบบการศึกษาของประเทศเยอรมนีทั้งที่เกิดขึ้นในและนอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบให้อิสระของครู Bachmann และครูท่านอื่น ๆ ซึ่งดูแล้วจะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงได้เคารพรักคุณครูของพวกเขาอย่างมากมาย และที่สำคัญคือกล้าแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยว่าพวกเขาพอใจหรือไม่พอใจสิ่งใด โดยเฉพาะในขณะที่พวกเขาต้องตัดสินพิเคราะห์เงื่อนไขเหตุการณ์ด้วย ‘ความยุติธรรม’
ตลอดความยาว 217 นาที หนังมีรายละเอียดด้านเทคนิควิธีการสอน การตั้งและตอบคำถามของครูและศิษย์ในชั้นเรียนนี้ที่แหลมคมน่าติดตามชมอย่างมากมาย จนเวลา 217 นาทีอาจผ่านไปโดยไม่รู้สึกว่ายาวนานเลย
รางวัลหมีเงิน Silver Bear Grand Jury Prize ซึ่งถือเป็นรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ หนังญี่ปุ่นเรื่อง Wheel of Fortune and Fantasy ของผู้กำกับ Ryusuke Hamaguchi ที่คล้ายเป็นชุดเรื่องสั้น 3 ตอน ซึ่งเล่าถึงมุมมองด้านความรักและกามารมณ์ของสตรีญี่ปุ่นหัวใจเสรีในทั้งสามเรื่อง
เรื่องแรก Magic (or Something Less Assuring) นางแบบสาว Meiko นั่งรถแท็กซีกลับบ้านกับเพื่อนร่วมงานสาว หลังเสร็จงาน โดยเพื่อนร่วมงานของเธอก็เม้าท์มอยถึงหนุ่มคนใหม่ที่เพิ่งเลิกกับแฟนและกำลังคบหาดูใจเธอ แต่สิ่งที่เพื่อนร่วมงานคนนั้นเล่า ก็ทำให้ Meiko รู้ทันทีว่า ชายผู้นั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นแฟนหนุ่มคนเก่าของเธอนั่นเอง ส่งเพื่อนเสร็จ Meiko ก็บอกแท็กซีให้ไปส่งเธอที่สำนักงานของแฟนเก่าทันที เพื่อสะสางบางอารมณ์ความรู้สึกที่ยังติดค้าง
เรื่องที่สอง Door Wide Open เล่าเรื่องราวของ Nao หญิงสาวที่มีครอบครัวแล้วแต่แอบคบกิ๊กหนุ่มมหาวิทยาลัยที่โดนอาจารย์ตำหนิจนหมดอนาคตทางการเรียน กิ๊กหนุ่มเลยขอให้ Nao ไปล่อลวงอาจารย์ท่านนี้ด้วยการอ่านงานเขียนติดเรทของเขาเพื่อยั่วยวนแล้วอัดคลิปเสียงไว้ แต่เมื่อหัวใจของ Nao เริ่มหวั่นไหว เหตุการณ์จึงมิได้ดำเนินไปตามแผน
และเรื่องสุดท้าย Once Again ก็เป็นเรื่องราวของ Moka วิศวกรสาวมาดทอมบอยที่เดินทางข้ามเมืองมาร่วมงานเลี้ยงรุ่นของโรงเรียนหวังพบคนรักเก่า แต่ก็ผิดหวัง กระทั่งเธอเดินลงบันไดเลื่อนของสถานีรถไฟ และพบกับคนที่เธอต้องการเจออย่างสุดหัวใจ โดยหารู้ไม่ว่าอีกฝ่ายต้องตกกระไดพลอยโจนด้วยความมึนงง เพราะจำไม่ได้เหมือนกันว่าเคยรู้จักกับ Moka มาก่อนจริงหรือไม่
หนังแปลกใหม่ในการตีแผ่ภาวะอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงต่อความรักความสัมพันธ์ทั้งทางใจและทางกาย ทว่าผ่านมุมมองการบอกเล่าของผู้ชาย ซึ่งย่อมให้แง่มุมที่แตกต่างจากการถ่ายทอดของผู้กำกับหญิงด้วยกันเองอย่างชัดเจน ซึ่ง Ryusuke Hamaguchi ก็พยายามเล่าออกมาอย่างละเอียดอ่อนละเมียดละไม แม้ว่าจะไม่ประนีประนอมในการตีแผ่ความต้องการเบื้องลึกของตัวละครเหล่านี้เอาเลย
มาถึงรางวัลใหญ่ที่สุดของเทศกาล นั่นก็คือรางวัลหมีทองคำ หรือ Golden Bear ก็ตกเป็นของหนังตลกวายป่วงร่วมสมัยจากโรมาเนียเรื่อง Bad Luck Banging or Loony Porn ของผู้กำกับ Radu Jude ซึ่งก็เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตด้านกามารมณ์ของสตรีเช่นกัน โดยคราวนี้เป็นการตีแผ่พิเคราะห์ถึงความเหมาะสมทางจริยธรรมของคุณครูสาว ที่ประสบกับความซวยเมื่อคลิปลับที่เธอถ่ายเล่นกับสามีขณะกำลังเล่นจ้ำจี้อย่างถึงพริกถึงขิงในห้องนอนส่วนตัว เกิดหลุดไปยังเว็บไซต์ดังสำหรับผู้ใหญ่หลังจากที่สามีของเธอเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปซ่อม
กลายเป็นคำถามทางจริยธรรมว่าคุณครูสอนประวัติศาสตร์ผู้มีความประพฤติและผลงานดีอย่างเธอจะถือว่าเป็นผู้ประพฤติมิชอบหรือไม่ เมื่อสิ่งที่ปรากฏในคลิปเป็นเหตุการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นครัวเรือน และเธอเองก็ไม่ได้มีเจตนาจะเผยแพร่กิจกรรมเหล่านี้ให้ประชาชีได้ดูกันตั้งแต่แรก
ผู้กำกับ Radu Jude เล่าเหตุการณ์เคยผ่านคุ้นอันนี้ด้วยโครงสร้างที่ทดลองเล่นล้อกับเทคนิคการเล่าอันไม่ธรรมดา หนังแบ่งออกเป็นสามภาคด้วยกัน ภาคแรกแสดงภาพชีวิตประจำวันหลังเลิกงานของคุณครูสาวดวงซวยรายนี้ ระหว่างที่กำลังเดินตระเวนเมืองและตลาดห้างร้าน และต้องจัดการลบคลิปฉาวที่เพิ่งหลุดออกไปจากทุก ๆ เว็บไซต์ไม่ให้เหลือรอดผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์
ภาคที่สองเป็นการให้นิยามตีความถ้อยคำภาษาโรมาเนียต่าง ๆ ตามลำดับตัวอักษรแบบพจนานุกรม โดยการใช้ภาพนิ่งและคลิปต่าง ๆ จากอินเตอร์เน็ต เพื่อสื่อสารว่าผู้กำกับมีทรรศนะอย่างไรในแต่ละถ้อยคำที่ใช้กันตามบริบทปัจจุบันทุกวันนี้ และตอนสุดท้ายก็กลับมาเป็นฉากการพิพากษาตัดสินชะตากรรมของคุณครูสาว ผ่านการประชุมผู้ปกครองกลางสวนที่หลาย ๆ คนก็ไม่พอใจจะให้เธอมาสอนลูกหลานอีกต่อไป ในขณะที่อีกหลายคนก็เข้าใจว่าไม่ได้เป็นความผิดของเธอ ก่อนจะยกมือโหวตเพื่อหาข้อสรุป
ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้ นอกเหนือจากความแปลกเปรี้ยวแพรวพราวในเชิงการกำกับแล้ว มันยังเป็นหนังเรื่องเดียวในสายประกวดที่เล่าเหตุการณ์ร่วมสมัยในภาวะแพร่ระบาดของ COVID-19 จริง ๆ นักแสดงและตัวละครทุกรายต่างสวมหน้ากากอนามัยขณะถ่ายทำ ฉากท้องถนนสถานที่จริง ๆ ก็ถ่ายในช่วงที่ผู้คนต่างเฝ้าระวังด้วยการสวมหน้ากาก แม้แต่ฉากการประชุมผู้ปกครองก็ต้องมีการเว้นระยะ และก่อนจะเข้าพื้นที่โรงเรียนก็ต้องสแกนอุณหภูมิและล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ จน Bad Luck Banging or Loony Porn มีคุณสมบัติของการเป็นหนังแห่งยุคสมัย อธิบายสถานการณ์ในปี ค.ศ. 2021 ได้อย่างเป็นปัจจุบันไม่แพ้ความทันสมัยของเนื้อหาเรื่องราวเลย
และอาจจะด้วยคุณสมบัติอันนี้เองที่ทำให้หนังคว้ารางวัลใหญ่ไป ในขณะที่หลาย ๆ คนก็อาจมองว่ามันเป็นเพียงหนังโป๊หื่นห่ามที่อุดมไปด้วยความตลกโปกฮาและฉากโป๊เปลือยที่ไม่เกรงใจคณะกรรมการเซ็นเซอร์จากประเทศไหน ๆ กันเลยทีเดียว!