‘มาชิมกัญ’ เพิ่มเมนู เปิดบริการอีกครั้งเดือนเมษายน 64
เป็นร้านแรกๆ ที่เปิดเมนู “มาชิมกัญ" อาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา เพื่อให้คนไทยรู้ว่า กัญชาทำอาหารและเครื่องดื่มอะไรได้บ้าง และได้รวมสูตรไว้ในตำรับยิ้ม (ดาวน์โหลดได้จากคิวอาร์โค้ดท้ายเรื่อง)
หลังจากอภัยภูเบศร เดย์ สปา เปิดเมนู “มาชิมกัญ” อาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว (อีกแล้ว) จนต้องปิดบริการ เพื่อเตรียมอบรมให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจ หากใครยังไม่เคยแวะเวียนไป ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จะกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง
และไม่ใช่แค่นั้น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หน่วยงานที่ทำเรื่องส่งเสริมการใช้สมุนไพร และการแพทย์แผนไทย ยังได้เพิ่มเมนู และใครที่สนใจเรื่องอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา สามารถดาวน์โหลด ตำรับยิ้ม รวมสูตรอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์จากกัญชา
การพัฒนาเมนูจากกัญชา ทำบนพื้นฐานความปลอดภัยตามหลักฐานเชิงประจักษ์ เนื่องจากกัญชาส่วนใบ ราก ลำต้น กิ่งก้าน ที่นำมาพัฒนาไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ และที่ผ่านมา ใบกัญชาสดหรือแห้ง นิยมนำมาใส่แกง ก๋วยเตี๋ยว หรือผัด
องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่าในใบสด ของกัญชา จะพบสาร cannabidiolic acid (CBDA) และ Tetrahydrocannabinolic acid (THCA) ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ไม่เมา) แต่เมื่อถูกแสงและความร้อน ทั้งจากการปรุงและเก็บรักษาจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง สาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร THC
จากข้อมูลเชิงประจักษ์ การทำอาหารจากกัญชาพบว่า การผัดในตำรับอาหารที่มีน้ำมัน จะใช้ใบกัญชาปริมาณเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสอุมามิ และการทอด ทำให้สารเมาละลายไปกับน้ำมันทอด จึงมีปริมาณสารเมาน้อยมากที่หลงเหลืออยู่ในใบ
ส่วนการต้มและตุ๋น จะใช้กัญชาเพียงเล็กน้อย เพื่อช่วยเพิ่มรสอุมามิ สารเมาอาจจะถูกสกัดออกมาได้เล็กน้อย
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า การทำร้านอาหารและเครื่องดื่มกัญชาเราค้นข้อมูลย้อนไปในปีพ.ศ. 2451-2452 และเขียนสูตรอาหารเผยแพร่ในตำรับยิ้ม เราพบว่า ถ้าเป็นจำพวกซุป หรือผัดกระเพรา ต้องผัดไม่นานแป๊ปเดียว สารเมาจะยังไม่ละลายน้ำ
“เราทดลองรสชาติอาหารจากกัญชาหลายอย่าง และไปดูหลายร้าน พอได้องค์ความรู้เราก็เผยแพร่ และเราให้น้องคนหนึ่งทำเรื่องคราฟต์โซดา เพราะสารเมาไม่ละลายน้ำ กินแล้วสดชื่น อารมณ์ดี ตรวจแล้วมีสาร THC นิดเดียว
จริงๆ แล้วอภัยภูเบศรไม่ได้มีหน้าที่หลักทำอาหารขาย แต่เราเป็นโรงพยาบาล เราทำเพื่อเผยแพร่ความรู้ หลังเดือนเมษายน เราจะมีเมนูอาหารใหม่ๆ บริการ เพื่อต่อไปจะอบรม ถ่ายทอดความรู้”
ในเรื่องกัญชากัญชง ที่ทางอภัยภูเบศร ริเริ่มมาก่อนหลายหน่วยงาน เธอบอกว่า ทางเราเป็นแค่ตัวกระตุ้นให้สังคมเคลื่อน เร่งปฎิกิริยาสังคมให้เร็วขึ้น เราทำหน้าที่เป็นต้นแบบให้ความรู้กับสังคม นี่คือบทบาทของเรา
“เราไม่คิดว่าจะทำธุรกิจแข่งกับสังคม เรามีธุรกิจเพื่อสังคม เอาทุนทางสังคมไปทำธุรกิจ แล้วเอาธุรกิจนั้นไปเพิ่มทุนทางสังคมอย่างต่อเนื่อง นี่คือการดำเนินการอภัยภูเบศร เราวางแผนอบรมร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้เห็นว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ คนต่างชาติยังงง ว่าคนไทยกินใบกัญชาด้วยหรือ
เราไปค้นข้อมูลพบว่า ใบกัญชา มีแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลากหลาย และอะมิโนแอซิดที่จำเป็นต่อร่างกาย อาทิ ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี ป้องกันโรคโลหิตจาง ลดความเสี่ยงจากข้อต่ออักเสบ"
..................