"AeroPress" งานดีไซน์ใต้แนวคิดพลิกแพลง
ด้วยลูกเล่นที่ชงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิมหรือแบบกลับด้าน ก็ทำให้ “AeroPress” ซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิดที่พลิกแพลงจากสิ่งที่เห็นจนหลุดออกจากกรอบเดิมๆ มีความแตกต่างไปจากเครื่องชงกาแฟชนิดอื่นๆ
ยอมรับสารภาพตามตรงเลยครับว่าเมื่อเห็นเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ไม่คาดคิดเลยว่า นี่คืออุปกรณ์ที่ชงกาแฟได้ ทว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เจ้า "แอโร่เพรส" (AeroPress) ก็พลันกลายเป็นหนึ่งใน อุปกรณ์ชงกาแฟ ที่โด่งดังและโดดเด่นที่สุดในโลกยุคมิลเลนเนียลไปเสียแล้ว... ช่างน่าทึ่งจริงๆ
หลังจากเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 15-16 ปีก่อน กระแสความนิยมก็แรงขึ้นทุกทีโดยเฉพาะจากนักดื่มรุ่นใหม่ ร้านกาแฟ ทั่วโลกจำนวนมากถึงกับต้องหยิบเอา "AeroPress" มาบรรจุเป็นเครื่องชงประจำร้านไว้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า กระทั่งนำไปสู่การจัดการแข่งขันชิงแชมป์ในระดับประเทศและในระดับสากลเป็นประจำทุกปี เพิ่งมาหยุดเอาเมื่อปีที่แล้วนี้เอง เพราะสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ด้วยกระแสความแรงต่อเนื่อง ถึงกับมีการเปิดเว็บไซต์ "AeroPress Movie" นำเสนอผ่านคลิปวิดีโอ บอกเล่าเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่ต้นกำเนิดจากห้องทำงานของผู้คิดค้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา, บรรยากาศการแข่งขันรายการชิงแชมป์โลก ไปจนถึงวิธีการชงอันหลากหลายโดยบรรดานักดื่มสาย “AeroPress” ทั้งหลายด้วย
แต่ใช่ว่าเปิดจำหน่ายแล้วจะได้รับความนิยมล้นหลามในทันที คนในแวดวงกาแฟโดยเฉพาะในเซกเม้นท์ กาแฟพิเศษ (specialty coffee) ของสหรัฐอเมริกา มองเจ้า “AeroPress” ด้วยสายตาที่สงสัยพร้อมตั้งคำถามว่า "ใช่เครื่องชงกาแฟไหมเนี่ย?" เพราะเท่าที่เห็นรูปลักษณ์ออกไปในแนวอุปกรณ์ไลฟ์สไตล์ที่ขายกันเกร่อตามเว็บไซต์ค้าปลีกประเภทใดประเภทหนึ่ง มากกว่าจะเป็นอุปกรณ์ชงกาแฟ เมื่อกาลเวลาผ่านไป มุมมองก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด เมื่อเห็นการใช้งานที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและน่าท้าทาย ภายใต้แนวคิดสร้างวิธีชงกาแฟในรูปแบบที่พลิกแพลงและต่างไปจากเดิมๆ
ด้วยรูปลักษณ์ “AeroPress” ที่ดูเหมือนอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ แตกต่างไปจาก “อุปกรณ์ชงกาแฟ” รุ่นพี่ที่เคยเห็นกันก่อนหน้านี้ เป็นงานดีไซน์ที่พลิกแพลงจากสิ่งเดิมมาเป็นไอเดียใหม่ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง
เจ้าของแนวคิดต้องการดีไซน์ให้มีรูปแบบการชงที่ผสมผสานระหว่างการแช่สกัด กับการใช้แรงดันกดผ่านตัวกรอง โดยแช่กาแฟบดในน้ำร้อนตามเวลาที่กำหนดไว้ แล้วใช้มือกดสร้างแรงดันเพื่อรีดน้ำกาแฟออกมา สร้างเอกลักษณ์ในการชงกาแฟที่ไม่ซ้ำแบบใคร บางคนถึงกับยกย่องว่า นี่เป็น..."นวัตกรรม" ในการชงกาแฟรูปแบบใหม่ในยุคมิลเลนเนียลเอาเลยทีเดียว
จากความโดดเด่นในการออกแบบอุปกรณ์ ช่วยให้พลิกแพลงชงกาแฟได้ 2 รูปแบบหลักๆ คือ แบบดั้งเดิม (Original) และ แบบกลับด้าน (Inverted) แล้วแต่ว่าใครจะชอบและถนัดแบบไหนมากกว่ากัน ขณะที่กูรูสาย “AeroPress” บางคนมองว่า เป็นการชงกาแฟที่ใช้หลักการของกาแฟฟิลเตอร์ในรูปแบบ "เฟรนช์เพรส" (French press) กับการชง "เอสเพรสโซ" (Espresso) มาประยุกต์เข้าด้วยกันเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียว
...รสชาติของกาแฟที่ได้ จะเข้มข้นใกล้เคียงกับเอสเพรสโซ แน่นอนว่า บอดี้จะหนักว่าแบบเฟรนช์เพรส
จัดว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ชงกาแฟได้อย่างง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว นำอุปกรณ์ไปพลิกแพลงและปรับเปลี่ยนได้หลากหลายสไตล์กว่า เปิดทางไปสู่การคิดค้นและสร้างสรรค์เทคนิคการชงให้เป็นของตนเอง ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่แสวงหากลิ่นและรสชาติกาแฟเฉพาะตัว ทำให้ดูสนุกน่าตื่นเต้นเร้าใจ กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจบรรดานักชงมืออาชีพอย่างบาริสต้าและมือสมัครเล่นในหลากหลายประเทศ
ชุดทำกาแฟแบบ “AeroPress” ก็ออกแบบมาเพื่อให้ชงกาแฟได้ง่าย แข็งแรง ไม่ยุ่งยากในการทำความสะอาด ขณะที่สนนราคาก็ไม่สูงเกินไป จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเครื่องชงประจำครัวเรือนและออฟฟิศ ขณะเดียวกัน ด้วยคุณสมบัติที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาสะดวก จึงเหมาะสำหรับคอกาแฟ “สายเดินทางท่องเที่ยว" หรือ "สายแคมปิ้ง" เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ที่ชงกาแฟดื่มได้ทุกเวลาและทุกสถานที่
ประวัติความเป็นมาของ “AeroPress” น่าทึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะไม่ได้ถูกสร้างจากบริษัทในธุรกิจกาแฟเหมือนเครื่องชงอื่นๆ แต่กลับถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยผู้บริหารในธุรกิจผลิตอุปกรณ์กีฬา สะท้อนให้เห็นว่าความรอบรู้และความคิดสร้างสรรค์ในศาสตร์แห่งเครื่องดื่มยอดนิยมของโลกชนิดนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนในแวดวงหนึ่งแวดวงใดเท่านั้น กาแฟจึงจัดเป็นเครื่องดื่มสากลของคนทั้งโลกจริงๆ
"อลัน แอดเลอร์" (Alan Adler) นักฟิสิกส์และประธานบริษัทแอโรบี (Aerobie) เป็นผู้คิดค้นเครื่อง AeroPress ขึ้นในปีค.ศ. 2005 ประมาณ 15-16 ปีที่ผ่านมานี้เอง แนวคิดคือ อยากได้เครื่องชงที่ทำกาแฟได้อร่อย, ไม่ใช้ไฟฟ้า และมีราคาไม่แพง จึงนำวิธีการชงกาแฟ 2 แบบมาผนวกเข้าด้วยกันระหว่างการชงเอสเพรสโซกับการชงกาแฟฟิลเตอร์ที่มีตัวกรองหรือแผ่นกรอง ออกแบบให้มีลักษณะเป็นท่อพลาสติกทนความร้อน 2 ชิ้น นำประกบกัน...ว่ากันว่าเหมือน "กระบอกเข็มฉีดยา"
แอดเลอร์นั้นเป็นอาจารย์คณะวิศกรรมเครื่องกลของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้เคยบรรยายให้กับองค์การนาซามาแล้ว เคยให้สัมภาษณ์ว่า กาแฟคือปรากฎการณ์ของโลก ทั่วโลกเองก็มีวิธีชงกาแฟอยู่มากมายหลากหลาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยช่วยเสริมสร้างให้ “AeroPress” ชงกาแฟรสชาติดี ได้ภายในเวลา 1 นาที ทั้งยังทำความสะอาดง่าย พกพาสะดวก ราคาไม่แพง และชงได้ในหลายๆ วิธี ด้วยกัน
ชิ้นส่วนหลักของอุปกรณ์ชงนั้น หลักๆ ประกอบไปด้วยกระบอกพลาสติกทนความร้อน 2 ชิ้น เรียกกว่าก้านสูบกับกระสอบกับกระสอบสูบ และฟิลเตอร์ พร้อมอุปกรณ์เสริมอย่างช้อนตักผงกาแฟ, พายสำหรับคนน้ำกาแฟ และกระดาษกรองทรงกลม
จุดเด่นที่มองข้ามไปได้เลยก็คือ "ตัวฟิลเตอร์" ที่ติดมาในอุปกรณ์ มีความละเอียดมาก มั่นใจได้ว่าน้ำกาแฟจะไม่มีผงปะปนออกมาด้วย อำนวยประโยชน์ให้ใช้ได้ทั้งกาแฟบดละเอียดและบดหยาบ ปรับรสชาติและบอดี้ได้ความต้องการ ขึ้นอยู่กับความชอบเป็นสำคัญ
ในวิกิพีเดีย ให้ข้อมูลว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น AeroPress โมเดลแรกผลิตจากโพลีคาร์บอเนตซึ่งเป็นพลาสติกใส ต่อมาในปีค.ศ. 2009 จึงเปลี่ยนไปใช้เป็นแบบโคโพลีเอสเตอร์ซึ่งมีความใสและเหนียวกว่าแบบเดิม เนื่องจากโพลีเอสเตอร์มีสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า บิสฟีนอล (Bisphenol) ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันกับลูกค้าที่ใช้โมเดลรุ่นแรกนั้น ทางผู้ผลิต “AeroPress” บอกว่า จากผลการทดลองของบริษัท ไม่ปรากฎว่ามีสารบิสฟีนอลเจือปนในกาแฟแต่ประการใด
เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง บริษัทแอโรบี ก็ได้มีการปรับโฉมผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อว่า "AeroPress Go" โดยอัพเกรดจาก “AeroPress” รุ่นเดิม เป้าหมายคือ ออกแบบให้อุปกรณ์การชงกาแฟมีความเหมาะกับการพกพามากยิ่งขึ้น เรียกว่าเป็น "ไมเนอร์เชนจ์" เล็กๆ มากกว่าเป็นสินค้าตัวใหม่
เรามาดูวิธีการใช้ AeroPress ใน 2 แบบหลักๆ กัน คือ แบบดั้งเดิม (Original) และแบบกลับด้าน (Inverted) ทั้ง 2 วิธี ใช้อัตราส่วนกาแฟต่อน้ำ 7 : 100 ตามสูตรนี้จะใช้กาแฟ 14 กรัม ต่อน้ำ 200 กรัม แต่สัดส่วนดังกล่าวปรับเปลี่ยนได้ ใช้กาแฟบดขนาดใกล้เคียงกับน้ำตาลทราย ละเอียดกว่าแบบดริปแต่ไม่ถึงขั้นเอสเพรสโซ อุณหภูมิน้้ำที่ใช้ระหว่าง 90-95 องศาเซลเซียส เวลาในการชงประมาณ 1.50 นาที
ขอแนะนำว่าก่อนอื่นควรใช้น้ำร้อนลวกอุปกรณ์ทุกชิ้น รวมทั้งกระดาษกรอง เพื่อล้างกลิ่น ทำความสะอาด และวอร์มให้อุ่นพร้อมสำหรับชงกาแฟ แล้วก็ใช้ตราชั่งดิจิทัลเพื่อความแม่นยำของสัดส่วนและระยะเวลาชง แก้วกาแฟควรเลือกที่หนาและแข็งแรง รองรับแรงกดได้ ส่วนเมล็ดกาแฟก็เลือกโปรไฟล์กันได้ตามใจชอบเลยครับ
#แบบดั้งเดิม (Original)
- นำกระดาษกรองใส่ในฟิลเตอร์ แล้วล็อกเข้ากับด้านฐานของกระบอกสูบให้แน่น
- วางแก้วที่ใช้ดื่มลงบนตาชั่งดิจิทัล ใส่กาแฟบดลงไปในกระบอกสูบ 14 กรัม
- กดตราชั่งให้น้ำหนักเป็นศูนย์ เทน้ำร้อนตามลงไป 200 กรัม
- คนกาแฟและน้ำให้เข้ากันเบาๆ 7-10 รอบ ทิ้งไว้ 1-2 นาที
- นำก้านสูบมาประกอบเข้าด้านบนกระสอบสูบ วางเฉยๆ ยังไม่กด แล้วยกแก้วกับ Aeropress ลงจากตาชั่ง
- ใช้มือดันหรือกดลูกสูบช้าๆ ด้วยความเร็วคงที่ราว 20-30 วินาที น้ำกาแฟจะค่อยๆ ไหลผ่านฟิลเตอร์ลงสู่แก้วด้านล่าง
#แบบกลับด้าน (Inverted)
- ใส่กระดาษกรองในฟิลเตอร์ แล้วล็อกเข้ากับด้านฐานของกระบอกสูบให้แน่น
- ประกอบก้านสูบเข้ากับกระบอกสูบ วางอุปกรณ์ลงบนตราชั่งในลักษณะกลับด้าน ให้ก้านสูบอยู่ด้านล่าง
- ใส่ผงกาแฟลงไป 14 กรัม กดให้น้ำหนักเป็นศูนย์ ตามด้วยน้ำร้อน 200 กรัม
- คนเบาๆ 7-10 รอบแล้วปิดฝากระบอกสูบให้แน่นด้วยฟิลเตอร์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 นาที
- นำแก้วครอบด้านบนกระบอกสูบ แล้วใช้สองมือยก Aeropress พร้อมแก้วออกจากตาชั่ง พลิกวางลงในลักษณะกลับด้านให้แก้วอยู่ด้านล่าง
- ค่อยๆ ใช้มือกดลูกสูบลงช้าๆ ราว 20-30 วินาที จนน้ำกาแฟหยดลงไปในแก้วจนหมด
ในขั้นตอนการชงนั้น อาจวนน้ำร้อนลงบนกาแฟบดเล็กน้อยเป็นการ “บลูมกาแฟ” ช่วยให้กาแฟคายก๊าซ CO2 ออกมา ก่อนที่จะดำเนินการชงในขั้นตอนต่อไป เพื่อให้น้ำเข้าไปสกัดกาแฟได้เต็มที่
อย่างที่เรียนให้ทราบว่า รูปแบบของการชงกาแฟในไสตล์ “AeroPress” ที่มีทั้งการแช่สกัด, การคน และการกดเพื่อให้เกิดแรงดัน ทำให้ดึงเอาความเข้มข้นของกาแฟออกมาได้ ยิ่งใช้กาแฟบดละเอียดและปริมาณน้ำน้อยลง รสชาติกาแฟก็ยิ่งจะเข้มขึ้นตามไปด้วย แต่ก็เป็นความเข้มที่ชัดเจนแบบคลีนๆ จากอิทธิพลของกระดาษกรองผงกาแฟนั่นเอง
"European Coffee Trip" ช่องยูทูบยอดนิยม เสนอวิธีชงกาแฟถึง 9 สไตล์ด้วยกันจากอุปกรณ์ “AeroPress” ตั้งแต่เอสเพรสโซ อเมริกาโน่ ยันกาแฟโคลด์บรูว์ ที่โดนใจผู้เขียนมากที่สุดเห็นจะเป็นการทำกาแฟ "โคลด์ ดริป" ที่ใช้อุปกรณ์เสริมอย่างโถขนาดเล็กพร้อมเกลียวหมุน ที่เรียกว่า "PUCK PUCK" ช่วยแปลง “AeroPress” ให้เป็นเครื่องทำกาแฟดริปเย็นได้โดยไม่ยากนัก
หรืออย่างเบน โจนส์ แชมเปี้ยน AeroPress ของสหรัฐประจำปี 2016 ก็เป็นยูทูบเบอร์อีกคนที่นำเสนอคลิปวิดีโอทำกาแฟที่เขาถนัดไว้ 3 สไตล์จากอุปกรณ์ชนิดนี้ คือในแบบของเฟรนช์เพรส, ดริป ฟิลเตอร์ และแบบเอสเพรสโซ
ข้อดีของการแข่งขันชงกาแฟแบบ “AeroPress” เน้นไปที่การแสวงหารูปแบบการชงใหม่ๆ และเทคนิคการสกัดน้ำกาแฟออกมาให้มีรสชาติดีที่สุด แต่กระนั้นในปีค.ศ. 2008 ซึ่งเป็นปีแรกของการชิงแชมป์โลกที่ออสโล ประเทศนอร์เวย์ ก็มีผู้เข้าร่วมชิงชัยเพียง 3 คนเท่านั้น แต่ต่อมาก็กลายเป็นรายการที่ได้รับความนิยมสูง จนถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งในปฏิทินการแข่งขันชิงแชมป์การชงกาแฟนานาชาติ อีก 10 ปีต่อมา ก็มีนักชงกาแฟสาย “AeroPress” เข้าร่วมรายการถึง 3,157 คน จาก 61 ประเทศ
ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกประจำปี 2019 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตัวแทนจากประเทศไทย คุณเบญจ เขมาชีวะ แห่งร้าน BrewLab ก็ไปคว้ารองแชมป์โลกรายการนี้มาไว้ในครอบครอง
แม้เทคนิคการชงจะให้ความสำคัญกับระยะเวลาในการชง, ระดับการบด, อุณหภูมิน้ำ และสัดส่วนกาแฟต่อน้ำ เช่นเดียวกับวิธีชงกาแฟแบบอื่นๆ แต่ด้วยลูกเล่นที่ชงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิมหรือแบบกลับด้าน ก็ทำให้ “AeroPress” ซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิดที่พลิกแพลงจากสิ่งที่เห็นจน หลุดออกจากกรอบเดิมๆ มีความแตกต่างไปจากเครื่องชงกาแฟชนิดอื่นๆ ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ทว่าไม่มีบริษัทไหน "ยึดติด" กับผลิตภัณฑ์ตัวเดียวตลอดไป ขณะที่สินค้ากำลังได้รับความนิยมสูง
"อลัน แอดเลอร์" ผู้คิดค้นเครื่องชง “AeroPress” เคยให้สัมภาษณ์ perfectdailygrind.com เว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลธุรกิจกาแฟระหว่างประเทศเอาไว้เมื่อปีค.ศ. 2019 ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ อาจมี “อุปกรณ์ชงกาแฟ” เวอร์ชั่นใหม่ออกมาสู่ตลาดอีก...เขาบอกใบ้แต่เพียงเท่านี้โดยไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม
ไม่แน่นัก...หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไปแบบสะเด็ดน้ำ วงจรธุรกิจกลับมาทำงานตามปกติอีกครั้ง เราอาจได้เห็น “อุปกรณ์กาแฟ” แนวใหม่ที่ต้องทึ่งและสะเทือนวงการอีกคำรบหนึ่งก็เป็นได้