‘Ploy’ หนังไทยในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน 2021
‘กัลปพฤกษ์’ คอลัมนิสต์สายเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ประจำเซคชั่น ‘จุดประกาย’ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ชวนคุณไปสัมผัสลีลาแปลกใหม่จากหนังไทย และหนังเทศในเทศกาล BERLIN FILM FESTIVAL 2021
ไม่น่าเชื่อว่าช่วงปีแห่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่โรงหนังหลาย ๆ แห่งต้องปิดบริการกันไปยาวนานหลายเดือน จนแทบไม่มีโปรแกรมหนังใหม่ ๆ ออกฉาย เมื่อทางเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินตัดสินใจจัดงานฉายหนังช่วงแรกในรูปแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม ที่ผ่านมา เคียงขนานไปกับกิจกรรมส่วนตลาดของ European Film Market จะยังมีหนังสดใหม่ที่เพิ่งทำเสร็จสด ๆ ร้อน ๆ ในรอบปีเข้าร่วมฉายในสายต่าง ๆ เป็นจำนวนมากถึง 143 เรื่อง เกินกว่าจะดูได้ถ้วนครบในเวลาเพียง 5 วัน
แต่จากที่ได้ลองสำรวจดูหนังจากสายต่าง ๆ ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินปีนี้ ก็พบว่าไม่ได้มีดีแค่ในเชิงปริมาณ ทว่าในด้านคุณภาพหนังแต่ละเรื่องก็มาพร้อมการทดลองหรือมุมมองการเล่าแปลก ๆ ใหม่ ๆ สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย มิสามารถยับยั้งพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนทำหนังกันได้เลย
เริ่มกันที่หนังจากประเทศไทยที่ได้เข้าฉายในสาย Forum Expanded สำหรับกลุ่มหนังทดลองหรืองาน video art ที่มุ่งนำเสนอวิสัยทัศน์เชิงศิลปะแห่งภาพเคลื่อนไหว เรื่อง Ploy กำกับโดย ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ศิลปินชาวไทย และอำนวยการสร้างโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร นักวิชาการภาพยนตร์ผู้สนใจศึกษางานภาพยนตร์ในเชิงศิลปะ ซึ่งเป็นหนังสารคดีกึ่งความเรียงหรือ essay film ความยาวเพียง 51 นาที ที่เล่าเรื่องราวชีวิตอันแสนอัดอั้นรันทดของ ‘พลอย’ หญิงไทยที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลหวังจะไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ แต่สุดท้ายก็ถูกหลอกให้ต้องขายบริการทางเพศคอยให้บริการลูกค้าชาวมาเลย์เป็นส่วนใหญ่ โดยอาศัยมุมมืดตามชายป่ายามค่ำคืนของ Woodlands Waterfront Park เป็นสถานที่ทำงาน ก่อนจะถูกกลั่นแกล้งรังควานรวมทั้งขืนใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจของสิงคโปร์เอง
ซึ่งแม้ว่าเนื้อหาเล่าชะตากรรมของ ‘พลอย’ ในสารคดีกึ่งทดลองเรื่องนี้จะมีน้ำเสียงที่หดหู่ชวนสิ้นหวัง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการค้าประเวณีในต่างประเทศของหญิงไทยอย่างจริงจังกันเพียงไร แต่ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ก็ไม่ได้ใช้วิธีการปกติธรรมดาเลยในการนำเสนอเนื้อหาชีวิตอันน่าเศร้าของ ‘พลอย’
ตลอดความยาว 51 นาที เราจะไม่ได้เห็นหน้าหรือพบปะพูดคุยกับเธอแต่อย่างใด แต่ผู้กำกับได้เลือกใช้เสียงบรรยายของทั้งนักพากย์ชายและหญิง ผู้มีน้ำเสียงนิ่งเย็นเป็นทางการปลอดจากการเร่งเร้าอารมณ์มาถ่ายทอดบรรยายแทนปากคำของ ‘พลอย’ ประกอบกับการเดินทางไปถ่ายภาพบรรยากาศ ณ สถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวป่าของประเทศสิงคโปร์ที่ ‘พลอย’ เคยทำงาน หรือแม้แต่สภาพบ้านเกิดในชนบทของ 'พลอย' ที่ประเทศไทย ซึ่งมักจะใช้ภาพที่ร้างไร้ผู้คน หรือถ้ามีก็เห็นแต่เพียงไกล ๆ ไม่ได้มีบุคคลหลักรายใดเป็นจุดสนใจสำคัญ มีการอ้างอิงถึงงานจิตรกรรมเกี่ยวกับตำนานแห่งดงป่าและพืชพันธุ์ การใช้ภาพเนกาทีฟ และการวาดระบายทับบนแผ่นฟิล์ม
หนังโอบอุ้มประสบการณ์หนหลังของ ‘พลอย’ ด้วยเทคนิค ถ้อยคำ และภาพบรรยากาศ เหมือนจงใจตัดขาดไม่ให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก แล้วปล่อยให้สถานการณ์ที่ได้ยินได้ฟังมันสร้างความน่าตกใจด้วยความหนักหนาสาหัสของตัวมันเอง นับเป็นเทคนิคประดิดประดอยที่ทำให้วิธีการเล่าของ ‘พลอย’ อุดมไปด้วยมุมมองแปลกใหม่ สร้างความสะเทือนใจได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีองค์ประกอบมาช่วยเร่งเร้าเลย
เนื้อหาของหนังได้รับแรงบันดาลใจจากตอนหนึ่งของหนังสืออนุทิน คนไกลบ้าน : คำให้การของคนไทยในสิงคโปร์ (2553) บรรณาธิการโดย พัฒนา กิติอาษา
นอกจากหนังไทยเรื่อง Ploy แล้ว หนังสายประกวดจากจอร์เจียเรื่อง What Do We See When We Look at the Sky? ของผู้กำกับ Alexandre Koberidze ก็เป็นหนังรักมนตร์มหัศจรรย์ที่มีลีลาการเล่าแปลกใหม่ไม่แพ้กัน เกี่ยวกับความรักแบบ love-at-first-sight ของ Lisa เภสัชกรสาว และ Giorgi นักฟุตบอลหนุ่ม ที่เดินสวนชนกันหน้าโรงเรียนจนหนังสือของฝ่ายหญิงตกหล่น ฝ่ายชายจึงก้มลงหยิบให้
เมื่อทั้งคู่รู้สึกว่าคนนี้แหละคือคนที่ ‘ใช่’ พวกเขาก็นัดพบกันในวันถัดไปทันที แต่ด้วยเวทมนตร์กลใดอีท่าไหนก็มิอาจทราบ วันรุ่งขึ้นตื่นขึ้นมาพวกเขาก็จำไม่ได้แล้วว่าได้นัดกับใครไว้ที่ไหน รู้แต่ว่าได้พบคนที่ถูกชะตาและต้องออกมาหาโอกาสได้เจออีกฝ่ายอีกครั้ง ด้วยการสมัครทำงานในละแวกนั้น
หนังใช้เหตุการณ์เหนือจริงที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้มาสร้างอารมณ์อ่อนไหวโรแมนติกให้กับเรื่องราวรักแท้ที่ต้องผ่านการพิสูจน์ได้อย่างน่ารักน่าชัง มีฉากที่บอกให้ผู้ชมหลับตาขณะที่ได้ยินเสียงสัญญาณไปพร้อม ๆ กับ Lisa เวลาที่เธอกำลังจะหลับ แล้วลืมตาขึ้นอีกครั้งเพื่อตื่นไปพร้อมกันกับเธอ ไปจนถึงการสร้างบรรยากาศอันคึกคักชื่นมื่นเมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลฟุตบอลโลกที่ผู้คนพร้อมใจกันออกมาชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันด้วยกัน ณ คาเฟ่ต่าง ๆ นับเป็นหนังรักที่สร้างทำออกมาได้อย่างไม่น่าเบื่อกับวิธีการเล่าที่อ่อนโยนในแบบที่ไม่เหมือนใคร
หนังรักในสายประกวดอีกเรื่องคือ Memory Box โดยผู้กำกับ Joana Hadjithomas และ Khalil Joreige จากเลบานอน ก็มีความแปลกใหม่ในการใช้เทคนิคภาพยนตร์อันฉูดฉาดร่วมสมัยย้อนเวลาไปเล่าเรื่องราวชีวิตผ่านกล่องภาพถ่าย เทป สิ่งของ และบันทึกความทรงจำของ Maia คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวชาวเลบานอนที่ย้ายมาอยู่กับบุตรสาว Alex ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ผู้ไม่กล้าเปิดกล่องแห่งความหลังใบนี้เสียทีหลังจากที่เพื่อนของเธอส่งมาให้จากเลบานอน ในขณะที่ฝ่าย Alex กลับอยากรู้อดีตและความเป็นมาเป็นไปของมารดาและตัวเธอเอง เธอจึงเริ่มเปิดกล่องปริศนา แล้วศึกษาข้าวของแต่ละชิ้นที่อยู่ภายในกล่องนั้น รวมถึง 'ผู้ชาย' ในอดีตของมารดาของเธอเอง
หนังรู้จักใช้เทคนิคแบบดิจิทัลร่วมสมัยมาสร้างโลกแห่งความทรงจำช่วงยุค 1980s ได้อย่างโดดเด่นและน่าประทับใจ สะท้อนให้เห็นว่าสไตล์หรือลีลาทั้งหลายที่เหมือนจะเชยไปแล้วในยุคสมัยนี้ มันกลับมีความก้าวล้ำนำสมัยเพียงไหนในช่วงเวลานั้น นับเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกอนาล็อกกับโลกดิจิทัลในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าพินิจ
ส่วนหนังอิหร่านหนึ่งเดียวในสายประกวดหลักเรื่อง Ballad of a White Cow ของผู้กำกับ Behtash Sanaeeha และ Maryam Maghaddam ก็ยังสามารถหาเรื่องราวใหม่ ๆ ในบริบทแบบอิหร่านมาเล่าได้อย่างเข้มข้นมีพลังไม่แพ้ผลงานเรื่องอื่น ๆ โดยคราวนี้หนังได้เล่าถึงชะตากรรมของ Mina ภรรยาชาวอิหร่านที่ต้องเสียสามีสุดที่รักของเธอด้วยโทษประหารจากการตัดสินคดีที่ผิดพลาดของผู้พิพากษา เมื่อภายหลังต่อมาความจริงจะปรากฏว่าผู้ลงมือตัวจริงเป็นใคร ทางรัฐบาลจึงต้องจ่ายค่าชดใช้ให้ Mina ทว่ากฎระเบียบอันหยุมหยิมมากมายก็ทำให้ Mina ไม่ได้รับการชดเชยเต็มที่อย่างที่เธอควรจะได้รับ
วันหนึ่งสุภาพบุรุษแปลกหน้าก็มาหาเธออ้างว่าเป็นสหายเก่าของสามีของเธอและต้องการนำหนี้สินคั่งค้างเป็นเงินก้อนโตมาชำระ โดยที่ Mina ไม่รู้มาก่อนเลยว่า สามีเธอเคยมีลูกหนี้รายใหญ่ขนาดนี้ และเธอก็ไม่รู้เลยว่าชายผู้นี้กำลังใช้เงินเพื่อชดเชยความผิดที่เขาเคยกระทำ แม้ว่าความเป็นจริงเบื้องหลังจะชวนเจ็บปวดหัวใจขนาดไหนก็ตาม
หนังวิพากษ์ประเด็นเชิงศีลธรรมและจริยธรรมโดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างหนักหน่วง ผ่านบทที่วางโครงเรื่องได้อย่างแข็งแรง พร้อมด้วยการแสดงที่ดูแล้วต้องหดหู่ไปกับความสมจริง จนออกจะน่าประหลาดใจไม่น้อยที่สุดท้ายหนังจะต้องชวดไปทุกรางวัลในการประกวด
หนังในสาย Panorama ที่แม้ว่าจะไม่ได้ประกวด และเน้นหนังกลุ่ม genre เป็นส่วนใหญ่ ก็ยังมีเนื้อหาแปลก ๆ ใหม่ ๆ ให้ได้ดูชมอยู่เช่นกัน อย่างหนังอียิปต์เรื่อง Souad ของผู้กำกับ Ayten Amin ที่เล่าเรื่องราวชีวิตภายใต้แรงกดดันของ Souad สาววัยรุ่นวัย 19 ปีในอียิปต์ ผู้มีหัวใจอิสระเสรี และการใช้ชีวิตในโลกเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนทำให้เธอปรารถนาจะแต่งหน้าแต่งตา สามารถพูดคุยเข้าหาผู้ชายที่เธอถูกใจผ่านระบบเครือข่าย ซึ่งถือเป็นสิ่งแสลงใจของเหล่าผู้ใหญ่ที่ยังคงเคร่งครัดกับการแต่งกายห่มคลุมด้วยฮิญาบ
ซึ่งแรงกดดันอันนี้ก็ยิ่งทำให้ Souad มีอาการทดท้อซึมเศร้า ยิ่งเมื่อต้องผิดหวังกับความรักอีกครั้งก็ยิ่งทำให้ Souad ยิ่งรู้สึกหมดอาลัย เคราะห์ดีที่เธอยังมีน้องสาวตัวน้อยข้างกาย ผู้ที่จะคอยเป็นคนช่วยสะสางเรื่องราวทั้งหลาย ในเวลาที่ Souad ไม่สามารถจัดการอะไรได้อีกแล้ว
หนังเล่าภาพชีวิตที่ร่วมสมัยและสมจริงเอามาก ๆ โดยเฉพาะภาพของสตรีมุสลิมในดินแดนอาหรับที่กระแสทุนนิยมเริ่มรุกคืบไม่ต่างจากพื้นที่ประเทศอื่น ๆ นับเป็นมิติใหม่ของหนังจากประเทศอียิปต์ที่ปกติถ้าไม่ใช่หนังเพลงก็มักจะเป็นหนังตำนานย้อนยุคได้อย่างมีสีสัน
ปิดท้ายด้วยหนังจากสาย Encounters ซึ่งเป็นการประกวดสายรองสำหรับหนังสเกลเล็ก ๆ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง โดยเรื่องที่โดดเด่นเตะตามากที่สุดในสายก็เห็นจะเป็นเรื่อง Taste ผลงานการกำกับหนังยาวเรื่องแรกของผู้กำกับเวียดนาม Le Bao โดยมีคุณชยัมพร เตรัตนชัย จากประเทศไทยเป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารให้ด้วย
Taste เป็นหนังทดลองที่เรียกได้ว่าประหลาดโลก เล่าเรื่องราวฟุ้ง ๆ ลอย ๆ ของนักฟุตบอลผิวสีจากไนจีเรียที่ถูกว่าจ้างให้มาทำงานที่ไซ่ง่อน เมื่อหมดสัญญาเขาจึงต้องตระเวนหางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำ และได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับโสเภณีวัยปลดระวางสี่นางที่อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านเช่า ณ สลัมกลางเมือง แต่เกือบตลอดทั้งเรื่องหนังแทบไม่ได้มีบทสนทนา ทั้งยังไม่ได้มีการเฉลยแจกแจงเลยว่าตัวละครทั้งหลายที่เราได้เห็นมีปฏิสัมพันธ์กันประการใด
ผู้กำกับ Le Bao เหมือนจะใช้เค้าโครงเหตุการณ์เพียงคร่าว ๆ นี้มาเป็นแก่นแกนเพื่อนำเสนอจินตนาการด้านงานภาพที่กำกับองค์ประกอบต่าง ๆ ออกมาได้หมดจดงดงามในทุก ๆ ฉากทุก ๆ ช็อตเลยทีเดียว ชนิดที่ไม่ว่าจะสุ่มเวลา ณ วินาทีใด ก็สามารถดึงมาใช้เป็นภาพประชาสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องเลือกอีก
แม้ว่าฉากหลังส่วนใหญ่จะเป็นภาพอันไม่น่าพิสมัยของชีวิตในสลัม แต่ Le Bao ก็รู้จักหาองค์ประกอบแปลกตามาจัดวางให้ภาพแลดูมีมิติตื้นลึกที่ชวนตะลึง ไม่ว่าจะเป็นฉากการเย็บผ้าเป็นบอลลูนยักษ์ ฉากการยืดเส้นยืดสายของเหล่านักฟุตบอล หรือฉากการปลดเปลื้องเสื้อผ้าหุงหาอาหารแล้วนั่งล้อมวงกินกัน ที่ช่างแปลกประหลาดหลุดโลกและน่าดูชมเสียเหลือเกิน
ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ของหนังจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผู้กำกับดูจะมีอิสระในการสร้างผลงานอย่างเต็มที่ จนได้เป็นผลงานศิลปะที่เข้มคมสมกับเป็นงานสร้างสรรค์ของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศิลปิน’ อย่างแท้จริง