แบบไหนเรียก 'ที่ดินสาธารณประโยชน์' ครอบครองเกิน 10 ปี จะมีสิทธิในที่ดินหรือไม่?

แบบไหนเรียก 'ที่ดินสาธารณประโยชน์' ครอบครองเกิน 10 ปี จะมีสิทธิในที่ดินหรือไม่?

ทำความรู้จัก ที่ดินแบบไหนเรียก 'ที่ดินสาธารณประโยชน์' มีทั้งหมดกี่ประเภท และหากผู้ใดที่ครอบครองเกิน 10 ปี จะมีสิทธิในที่ดินเหมือนที่ดินทั่วๆ ไปหรือไม่?

หากพูดกันถึงเรื่องของ "ที่ดิน" ซึ่งมีมากมายหลายประเภท หนึ่งในประเภทที่ดินที่หลายคนอาจยังไม่ค่อยสนใจมากนัก นั่นคือ "ที่ดินสาธารณประโยชน์" ว่าครอบคลุมที่ดินลักษณะไหนบ้าง และที่ดินที่บางคนเข้าไปใช้ประโยชน์อยู่ในขณะนี้ ถือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่ อย่างไร 

ในประเด็นนี้ "กรมที่ดิน" กระทรวงมหาดไทย ได้อธิบายไว้ว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ คือ ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งหมายถึงที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามสภาพธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นโดยการใช้ร่วมกันของประชาชน โดยทางนิติกรรม หรือโดยผลของกฎหมาย เช่น ที่ชายตลิ่ง ที่ป่าช้า ทางบก ทางน้ำ สวนสาธารณะ ที่เลี้ยงสัตว์ ที่สาธารณประโยชน์ประจำตำบลหรือหมู่บ้าน เป็นต้น 

   

 "ที่ดินสาธารณะประโยชน์" จะเกิดขึ้นได้ใน 4 กรณี

1. เกิดขึ้นโดยการสงวนหวงห้ามตามกฎหมาย จะแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ 

  • ช่วงแรก ก่อนปี ..2478 ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีบทกฎหมายกำหนดวิธีการสงวนหวงห้ามไว้ แต่จะทำการสงวนหวงห้าม โดยพระบรมราชโองการ ประกาศของสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าการมณฑล กรมการอำเภอ หรือกำนัน ซึ่งจะประมาณเนื้อที่สาธารณประโยชน์ไว้คร่าวๆ โดยไม่มีการรังวัดทำแผนที่ และนำขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ 

  • ช่วงที่ 2 ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ..2478 กำหนดว่า การสงวนหวงห้ามจะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และกรณีนี้จะมีรูปแผนที่แนบท้ายประกาศ 

  • ช่วงที่ 3 เมื่อประมวลกฎหมายที่ดิน บังคับใช้ในปี ..2497 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า ..2478 แต่ที่ดินที่สงวนหวงห้ามไว้ ยังมีผลบังคับใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์อยู่ และกำหนดวิธีการสงวนหวงห้าม โดยจะเป็นการประกาศของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันได้แก้ไขเป็นคณะกรรมการจัดที่ดิน 

2. เกิดขึ้นโดยการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ถึงแม้ว่าจะไม่มีการสงวนหวงห้ามตามกฎหมาย แต่ที่ดินนั้นใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์ได้ ในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น มีที่ว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดมีสิทธิครอบครอง ปรากฏว่ามีประชาชนเอาสัตว์เลี้ยง วัว ควาย เข้าไปเลี้ยง จนเป็นที่รู้กันของทุกคนว่า เป็นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ของหมู่บ้าน ที่ดินนั้นจะกลายเป็นที่เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ โดยสภาพของการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน เป็นต้น 

3. เกิดขึ้นเองโดยสภาพธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง บาง พรุ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะเรียกแตกต่างกันไป

4. เกิดขึ้นโดยการยกให้ มี 2 กรณี 

  • เป็นการอุทิศให้โดยตรง เช่น ทำหนังสือยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ กรณีนี้ปม้ไม่มีการจดทะเบียนให้ปรากฏในโฉนดที่ดิน ก็ถือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ตั้งแต่มีการแสดงเจตนาอุทิศให้ 
  • เป็นการอุทิศให้โดยปริยาย การที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเอง เป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยไม่มีการแสดงเจตนาหวงกัน ก็ถือเป็นการอุทิศให้โดยปริยาย 

   

เมื่อเป็นที่สาธารณประโยชน์จะมีผลดังนี้

1. ห้ามโอน ที่สาธารณประโยชน์จะโอนให้แก่กันไม่ได้ เว้นแต่จะออกเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น 

2. ห้ามยกอายุความขึ้นต่อสู้กับรัฐ ผู้ที่เข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินสาธารณประโยชน์ จะอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเกิน 10 ปี เหมือนอย่างที่ดินทั่วๆ ไป ไม่ได้ 

3. ไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ที่ดินสาธารณประโยชน์จะยึดเพื่อขายทอดตลาดตลาดไม่ได้ 

4. เมื่อเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แล้ว จะเป็นตลอดไป จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ เช่น ที่ดินลำรางสาธารณประโยชน์ ต่อมาปรากฏว่าลำรางตื้นเขิน ไม่มีสภาพเป็นลำราง ที่ดินบริเวณลำรางนั้น ก็ยังคงถือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ผู้ใดจะเข้าไปครอบครองไม่ได้ 

   

ใครมีอำนาจหน้าที่ดูแล "ที่ดินสาธารณประโยชน์"

อำนาจหน้าที่ดูแลรักษาคือ นายอำเภอท้องที่ ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธาณประโยชน์

ดังนั้น หากที่ดินของท่านติดที่ดินสาธารณประโยชน์ การรับรองแนวเขตด้านที่ติดกับที่ดินสาธารณประโยชน์ นายอำเภอตเองร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงนามรับรองแนวเขต ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีการมอบอำนาจให้ผู้แทนไปร่วมระวางชี้แนวเขตให้

อย่างไรก็ตามที่ดินสาธารณประโยชน์ก็สามารถถอดสภาพที่ดินได้เช่นกัน แต่ต้องผ่านการยื่นคำรอง ตรวจสอบประวัติความเป็นมา รับฟังความเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องมีการส่งเรื่องให้กรมที่ดิน จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา เสนอเข้ากระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมกฤษฎีกาต่อไป เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แต่หากตราบใดยังเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ตามกฎหมายถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ใดจะเข้ายึดถือครอบครองเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะตนนั้นไม่ได้ 

   

ที่มา : กรมที่ดิน