งาน ‘วันจุลจักรพงษ์’ ร่วมรำลึกพระประวัติ ‘พระองค์ชายจุล’ และพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาติ
รอบพิเศษ “ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์” นำชมตำหนักใหญ่ภายใน ‘บ้านจักรพงษ์’ เนื่องในโอกาสจัดงาน “วันจุลจักรพงษ์” ยอมรับหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ทำให้รู้สึกใกล้ชิดท่านพ่อมากยิ่งขึ้น เชิญเช็คลิสต์อีกหลายกิจกรรมน่าสนใจภายในงาน
ปีนี้ ม.ร.ว.นริศรา(นะ-ริด-สา) จักรพงษ์ มีดำริจัดงาน วันจุลจักรพงษ์ เพื่อรำลึกถึง ‘ท่านพ่อ’ หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ณ จักรพงษ์วิลล่า ถนนมหาราช ท่าเตียน ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2564
“จริงๆ แล้วก็สอดคล้องกับวันเกิดของพ่อ คือวันที่ 28 มีนาคม (พ.ศ.2451) พอดีมีหนังสือของท่านออกมา คือหนังสือชื่อ เกิดวังปารุสก์ ที่พูดถึงสมัยเด็ก กระทั่งวัยกลางคน ก็จะพิมพ์ออกมาอีกครั้ง เพราะหมดแล้ว ก็เป็นครั้งที่ 18 และเปลี่ยนภาพปกใหม่ พอดูแล้วก็ปรากฎว่า 70 ปีหลังจากพิมพ์ครั้งแรก (พ.ศ.2493) ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จมาก สองเหตุผลนี้ก็เลยคิดว่าน่าจะทำให้พ่อ” ม.ร.ว.นริศรา ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ถึงความตั้งใจจัดงาน ‘วันจุลจักรพงษ์’ ครั้งนี้
หม่อมราชวงศ์นริศราเป็นพระธิดาคนเดียวใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับ หม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงมีพระนามลำลองว่า พระองค์ชายจุล (28 มีนาคม พ.ศ. 2451 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506) เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2451 ที่ห้องแดง ภายในวังปารุสกวัน ถือเป็นบุคคลเดียวที่ถือกำเนิดบนตำหนักวังปารุสกวัน
พระองค์ชายจุล ทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือไว้หลายเล่ม ซึ่ง เกิดวังปารุสก์ คือหนึ่งในหนังสือ 13 เล่มที่ ‘พระองค์ชายจุล’ ทรงพระนิพนธ์ไว้ร่วมกับ เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ เป็นอาทิ
“อ่านหลายครั้ง เป็นเล่มที่ฝึกภาษาไทย” ม.ร.ว.นริศรา กล่าวถึงหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ ก่อนจะเผยความรู้สึกถึงหนังสือเล่มนี้ต่อไปว่า
“สมัยเด็กๆ ก็โชคดีมากที่ได้ไปโรงเรียนจิตรลดา ก็เรียนภาษาไทยพื้นฐาน คือตอนนั้นใช้ชีวิตที่ค่อนข้างประหลาด เรียนหนึ่งเทอมที่เมืองไทยเป็นภาษาไทย สองเทอมที่อังกฤษเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย ตอนนั้นคล้ายๆ เรียนสองเท่าของคนอื่น ก่อนขึ้นมัธยมก็โอเค แต่พอจบป.6 ไม่ไหว ตามไม่ทัน ก็เลยต้องไปอยู่อังกฤษตลอดเวลาที่เรียนหนังสือ ทำให้ขาดช่วงในการเขียนอ่านภาษาไทย พอเรียนจบแล้วก็เริ่มอ่านหนังสือภาษาไทยมากขึ้น ก็อ่านสี่แผ่นดิน เกิดวังปารุสก์ ก็ทำให้เข้าใจ เพราะว่าท่านพ่อท่านแม่ตายก่อนที่เรายังเล็ก ก็ไม่สามารถจะรู้ถึงชีวิตของท่านพ่ออย่างลึกซึ้ง พออ่านเกิดวังปารุสก์ ก็รู้อะไรมากมาย รู้เกี่ยวกับเจ้านายไทย รู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมไทยทุกอย่าง เป็นประโยชน์มาก ก็เลยเป็นหนังสือที่รัก เป็นหนังสือที่ดี ท่านพ่อเขียนภาษาง่ายๆ เขียนตรงไปตรงมา เล่าอย่างที่เป็นจริง พูดถึงความรู้สึกของท่านในหลายๆ เรื่อง”
ม.ร.ว.นริศราให้สัมภาษณ์และกล่าวถึงเรื่องราวสะเทือนใจในหนังสือที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิด ‘ท่านพ่อ’ มากขึ้นไว้ว่า
“มีเรื่องเศร้า พอพูดถึงเจ้าฟ้าจักรพงษ์(ทูลกระหม่อมปู่) ก็น่าสงสาร พอเลิกกับหม่อมย่า(หม่อมคัทริน) ไม่ได้สมรสเป็นทางการ แต่อยู่กับท่านหญิงชวลิต(หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์) ไม่ได้ถูกลืมไป แต่ว่าทูลกระหม่อมปู่ไม่ค่อยเอ่ยถึง เพราะดิฉันได้แปลสมุดรายวันของทูลกระหม่อมปู่ ซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนกำลังจะจัดพิมพ์ แต่ว่าไม่ค่อยได้พูดถึงพ่อ ก็เลยสงสารตรงนี้ และก็ช่วงที่เดินทางไปสิงคโปร์ ทูลกระหม่อมปู่ทิวงคต พ่อก็เขียนถึงตรงนี้ ก็เศร้ามาก สะเทือนใจมาก หลายคนที่อ่านถึงตรงนี้ก็จะร้องไห้กัน คือเมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทิวงคต แล้วรู้สึกยังไง ต้องพาพระศพกลับมากรุงเทพฯ พิธีต่างๆ จากนั้นไปคล้ายๆ ท่านพ่อก็กำพร้าพ่อกำพร้าแม่ เพราะแม่หลังจากที่เลิกแล้วก็ไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ท่านพ่อก็ถูกส่งไปอังกฤษในขณะที่เด็กมาก ก็เป็นเรื่องที่เศร้า ตอนนั้นคือคล้ายๆ สะท้อนถึงชีวิตของเราด้วย ที่เสียพ่อตอนอายุเด็กๆ ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับท่านพ่อมากขึ้น”
งานวันจุลจักรพงษ์ กำหนดจัดขึ้น ณ จักรพงษ์วิลล่า หรือเดิมคือวังจักรพงษ์ สถาปัตยกรรมสำคัญคือ ตำหนักใหญ่ เป็นศิลปะแบบ Classic Revival (ฟื้นฟูความงามยุคคลาสสิก) ออกแบบโดยนายช่างชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามานโญ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสถาปนิกที่เข้ามารับราชการในปลายสมัยรัชกาลที่ห้า และเป็นผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม
ผลงานเดี่ยวของ มาริโอ ตามานโญ มีหลายแห่ง อาทิ ตำหนักใหญ่ที่วังสระปทุม กระทรวงพาณิชย์(มิวเซียมสยามในปัจจุบัน) ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ที่ถนนสุรวงศ์ เป็นผลงานสุดท้ายก่อนตามานโญเดินทางกลับประเทศอิตาลี
ม.ร.ว.นริศรามีความกรุณาที่จะให้ผู้เข้าร่วมงาน ‘วันจุลจักรพงษ์’ มีโอกาสขึ้นชม ตำหนักใหญ่ ซึ่งคุณหญิงนริศรามีความรักผูกพันและใช้ชีวิตส่วนหนึ่ง ณ ที่แห่งนี้
“จากทุกคนที่ใช้ชีวิตที่ตำหนักนี้ เริ่มด้วยทูลกระหม่อมปู่ (เจ้าฟ้าจักรพงษ์) บ้านนี้สร้างปี 1908 (พ.ศ.2451) ท่านก็ได้มาใช้บ้าง เพราะท่านก็ชอบลงเรือ อยากมีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ และพอจะเปลี่ยนฉลองพระองค์เพื่อเข้าวัง ก็จะใช้ที่นี่ แต่ไม่เคยประทับที่นี่
ต่อมาบ้านก็ตกทอดเป็นของพ่อ (พระองค์ชายจุล) แต่ที่ตกทอดได้ ไม่ถูกยึดโดยคณะราษฎร ก็เพราะตอนนั้นมีโฉนดเรียบร้อย ก็เลยเป็นของอยู่ในตระกูลของเรา พ่อก็จะมาอยู่บ้าง คือไม่ได้มาทุกปี เพราะสมัยนั้นก็ยังเรียนที่เคมบริดจ์ เสร็จแล้วก็ทำเรื่องแข่งรถกับพระองค์ชายพีระ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช) เขียนหนังสือก็ใช้ชีวิตที่ลอนดอน
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองก็มาครั้งหนึ่ง เพราะตอนนั้นก็แต่งงานใหม่ ก็มาพร้อมกับพระองค์ชายพีระ ก็มาอยู่ที่นี่กัน หลังจากนั้นก็มีสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เลยไม่ได้กลับมาอีก
หลังจากที่ดิฉันเกิดแล้ว คือพ.ศ.2499 ก็จะมาเกือบทุกปี นั่งเรือกันมา ดิฉันก็เริ่มจำได้ ที่นี่สมัยฝนตกหนักๆ มีฟ้าผ่าฟ้าร้อง ก็จะรู้สึกตื่นเต้น ห้องนอนก็อยู่ริมถนน จำได้ว่ามีเสียงรถราง
หลังจากนั้นท่านพ่อก็ตายตอนที่ดิฉันอายุ 7 ขวบ และแม่...ตอนที่ดิฉันอายุ 15 บ้านก็ตกทอดเป็นของเราคนเดียว ตอนนั้นก็เรียนหนังสือ ไม่ค่อยได้มาเท่าใด แต่หลังจากนั้น พอเริ่มกลับมาบ่อยๆ ช่วงอายุ 28 ก็มาอยู่นี่หลายปี ก็เลยบูรณะบ้านทั้งหมด ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นบ้านของเรามากกว่าคนอื่นๆ ที่มาก่อน เพราะใช้เวลาอยู่ที่นี่มากที่สุด เช่นตอนนี้ที่มีโควิด ก่อนจะกลับเมืองไทยได้ก็ทำเรื่องกักตัว เที่ยวบินก็ไม่มี ก็มาตั้งแต่ปลายกันยายน(2563) ก็อยู่นี่นานไปเลย อยู่ที่นี่มีความสุขที่สุด นี่คือถือว่าเป็นบ้านของเรา บ้านที่อังกฤษแม้ว่าจะชอบ แต่ที่นี่คือบ้านที่เรารัก”
คุณหญิงนริศรามีความรักความผูกพันกับ ‘บ้านจักรพงษ์’ หลังสำเร็จการศึกษาที่ประเทศอังกฤษและกลับมาเมืองไทยในปีพ.ศ.2527 จึงลงมือสำรวจและซ่อมแซม ‘ตำหนักใหญ่’ ซึ่งในเวลานั้นมีอายุมากกว่า 75 ปีแล้ว
“ห้องที่เรานั่งอยู่ตอนนี้ เราจะเรียกกันว่าห้องเขียว ตอนเป็นเด็กๆ แทบจะไม่มีอะไรเลย ตรงนี้ก็โล่งหมดเลย และก็โทรม ทุกคนก็ทราบ อากาศเมืองไทย อาคารที่โดนน้ำโดนฝน ก็จะโทรมมาก เคยตัดสินใจว่าจะปิดตรงนี้ ทำเป็นคล้ายๆ สวนอยู่ภายใน ความแตกต่างระหว่างสวนข้างนอกกับข้างใน ใช้กระจกเยอะ เพื่อให้ตรงนี้สว่าง และเป็นที่ที่พวกเราจะนั่งเล่นกันภายในครอบครัวหรือเพื่อนมาทานข้าวก็จะนั่งคุยกันตรงนี้ บางทีก็เข้าไปนั่งทานข้าวข้างใน แต่หลายครั้งก็นั่งทานอยู่ที่โต๊ะกระจก ก็เลยเป็นห้องที่ใช้ชีวิตในห้องนี้น่าจะมากที่สุด เพราะสบาย ทำงานที่โต๊ะกระจก ถ้าเหนื่อยก็นอนอ่านหนังสือที่โซฟา ห้องนี้น่าจะเป็นห้องที่ชอบที่สุดในชีวิต”
สำหรับการขึ้นชม ‘ตำหนัก’ ในงานวันจุลจักรพงษ์ คุณหญิงนริศรากล่าวเชิญชวนและเล่าให้ฟังเป็นเบื้องต้นว่า
“จะได้ชมหลายห้อง คือจะขึ้นมาจากด้านหน้า(บันไดขึ้นตำหนักด้านถนนมหาราช) ก็จะเห็นห้องโถง เห็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ห้า รัชกาลที่หก สมเด็จพระพันปีหลวง(สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) แล้วจะเข้ามาที่ห้องแดงที่เป็นห้องรับแขก จะมีเรื่องเล่าถึงประวัติของบ้าน สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับคนที่เคยอยู่ในบ้านนี้
พอเข้าไปที่ห้องเสวย ก็จะมีเครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องเงิน นอกจากนั้นก็จะมีรูปภาพของพระองค์พีระสมัยแข่งรถ และเราก็จะเข้าไปยังห้องทรงพระอักษร ห้องที่ท่านพ่อเขียนหนังสือต่างๆ คือ เกิดวังปารุสก์ และหนังสืออีกมากมายที่ท่านเขียน จะเห็นถ้วยเงินที่พระองค์พีระได้ตอนแข่งรถ และของต่างๆ บางอย่างก็มีค่าบางอย่างก็ไม่มีค่า ก็จะมีม้าตัวเล็กๆ สมัยดิฉันเด็กๆ เป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งที่มีค่าและของที่มีความสำคัญกับตระกูล มีฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์สมัยทรงพระเยาว์ รูปจำลองม้าของท่านที่เคยขี่ที่รัสเซีย รามุชก้า (Ramushka) มีเรื่องที่จะเล่า ของที่จะได้ดูมากมาย”
ภายในงาน วันจุลจักรพงษ์ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ ชิมเครื่องดื่ม เรียนร้อยพวงมาลัย เรียนวาดภาพ รับบริการนวดเท้า ลงทะเบียนเดินชมวัดย่านท่าเตียน (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร มีบริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ารับกลับ) เดินในสวนสราญรมย์ จำหน่ายอาหารอร่อยให้นั่งรับประทานริมแม่น้ำเจ้าพระยา การออกร้านจำหน่ายเครื่องเงินเก่า หนังสือเก่า ผ้าเก่า โดยเพื่อนคุณหญิงนริศรา
บัตรเข้างานราคา 200 บาท(รับเครื่องดื่มฟรี) และบัตร 1,500 บาท สำหรับเข้าชมภายในตำหนักพร้อมรับหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ ภาพปกตีพิมพ์เวอร์ชั่นล่าสุดท่านละ 1 เล่ม สำรองบัตรเข้าชมตำหนัก โทร.0 2222 1290 และโทร.08 6987 0493
“ทุกคนที่เข้าชมตำหนัก จะได้รับหนังสือ ถ้ามากันสองคน ไม่อยากได้หนังสือสองเล่ม ก็สามารถแลกหนังสือเกิดวังปารุสก์กับอีกเล่มของริเวอร์บุ๊คส์ก็ได้ เพราะเราก็มีหนังสือให้เลือกมากมายในราคาใกล้เคียงกัน ใครอยากฟังภาษาอังกฤษ ดิฉันจะนำชมเอง เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ คงจะนำ 2-3 รอบ เพราะเพิ่งผ่าสะโพก เดี๋ยวคุณหมอเห็นจะโกรธมากถ้ายืนทั้งวัน” ม.ร.ว.นริศรา กล่าวด้วยความเกรงใจคุณหมอที่ให้การรักษา