‘ข้าวแช่’ วังสระปทุม สืบทอดตำรับข้าวแช่ในพระวิมาดาเธอฯ และวังสวนจิตรลดา

‘ข้าวแช่’ วังสระปทุม สืบทอดตำรับข้าวแช่ในพระวิมาดาเธอฯ และวังสวนจิตรลดา

ร้านปทุมสรัส มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เปิดรับจอง “ข้าวแช่” ตำรับพระวิมาดาเธอฯ เพิ่มเครื่องแนมพิเศษตำรับสวนจิตรลดา และอาหารว่างโบราณอีกหลายเมนูเด็ด อาทิ ไข่พะโล้สูตรโบราณ หมี่กะทิ ปั้นสิบไส้ปลา เมี่ยงกระท้อน ส้มฉุน ที่บูธสยามเซ็นเตอร์

มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยร้าน ปทุมสรัส และ สยามเซ็นเตอร์ ร่วมกันอนุรักษ์และเผยแพร่ อาหารไทยตำรับชาววัง ผ่านการจัด เทศกาลข้าวแช่ 2564  พร้อมอีกหลากหลายตำรับเด็ดที่เหล่าแฟนพันธุ์แท้ร้านปทุมสรัสตั้งตารอคอยที่จะอุดหนุนเพื่อการลองลิ้มชิมรส เนื่องจากที่ผ่านมาทางร้านจำเป็นต้องงดให้บริการเพราะสถานการณ์โรคโควิด-19

“ชื่อร้านปทุมสรัส (ปะ-ทุม-สะ-รัด)  เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความหมายว่า ‘สระบัว หรือสระปทุม ตามชื่อวังนั่นเองค่ะ เป็นร้านอาหารที่อนุรักษ์ตำราโบราณ และฝึกให้คนในวังได้หัดทำงาน หัดเผยแพร่วิชาความรู้ บุคคลทั่วไปก็ได้ชิมรส ได้รู้จักอาหารไทยตำรับเก่าแก่ ขณะเดียวกันมูลนิธิฯ ก็พอมีรายได้บ้าง” พาสินี ลิ่มอติบูลย์ กรรมการ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ถึงการทำงานของร้าน ปทุมสรัส

161674782897

พาสินี ลิ่มอติบูลย์ กรรมการ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนแบบนี้ ข้าวแช่ เป็นหนึ่งในตำรับอาหารโบราณที่ ‘ชาววังนิยมทำรับประทาน

แม้หนังสือ ‘สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม 2  ของมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุประวัติข้าวแช่ ว่าเป็นอาหารที่มีถิ่นกำเนิดจากชาวมอญในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้บวงสรวงในเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญ ในขณะที่ข้าวแช่ของไทย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด

แต่เมื่อกล่าวถึงข้าวแช่ มักนึกถึงอาหารของ ‘ชาววัง ก็เพราะในตอนแรก ข้าวแช่ มีอยู่แค่ในรั้วในวังเท่านั้น โดยมีจุดเริ่มต้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งโปรดเสวยข้าวแช่ฝีมือ เจ้าจอมมารดากลิ่น ซึ่งมีโอกาสปรุงถวายทั้งในพระบรมมหาราชวัง รวมถึงเมื่อคราวแปรพระราชฐานยังพระนครคีรี (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี กระทั่งเป็นสูตรข้าวแช่แพร่หลายในจังหวัดเพชรบุรีมาจนทุกวันนี้

161675005583

ข้าวแช่ไทย มีการใช้ "น้ำแข็ง" เป็นส่วนประกอบ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ข้าวแช่ไทยต่างจากข้าวแช่ชาวมอญ ก็ตรงข้าวแช่ไทยมีการใส่ น้ำแข็ง เพื่อให้เย็นชื่นใจเหมาะกับหน้าร้อน และด้วยการใส่ ‘น้ำแข็ง นี่เอง ที่ทำให้ข้าวแช่ไทยเชื่อมโยงกับในรั้วในวัง

จากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ‘น้ำแข็งเริ่มเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกในสมัย รัชกาลที่ 4ผ่านเรือกลไฟที่แล่นมาจากสิงคโปร์ ด้วยความแปลกพิเศษ น้ำแข็งส่วนหนึ่งจึงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเข้าวัง ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่สี่ก็ได้พระราชทานต่อให้เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่อีกทอด น้ำแข็งจึงมีการใช้ในวัง โดยเฉพาะเกี่ยวกับอาหารการกิน หนึ่งในนั้นคือการปรุงข้าวแช่ที่ต้องการความเย็นชื่นใจนั่นเอง

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ‘ข้าวแช่ กลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ชาววัง แต่ละตำหนักจะมีตำรับข้าวแช่แตกต่างกันออกไป

ตำหนักที่ขึ้นชื่อที่สุดในเรื่องการทำข้าวแช่ คือตำหนัก พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีย์ภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงเป็นอรรคชายาซึ่งมีฝีพระหัตถ์ในการประกอบเครื่องเสวย เป็นที่โปรดปรานใน ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงรับหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล ห้องพระเครื่องต้นของเสวยคาวหวานในรัชกาลที่ 5 ทั้งในพระบรมมหาราชวังและพระราชวังสวนดุสิต

ต่อมา ‘ข้าวแช่ชาววัง ได้แพร่หลายไปสู่ขุนนางในสกุลต่างๆ ซึ่งได้ขยับสูตรข้าวแช่จนเป็นตำรับเฉพาะสกุลของตนเอง

161674796549

ข้าวแช่ร้านปทุมสรัส ราคาชุดละ 400 บาท (ภาพ : มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)

สำหรับ ข้าวแช่ร้านปทุมสรัส เป็นตำรับข้าวแช่จาก 2 ตระกูลใหญ่คือ ตระกูลอมาตยกุล และ ตระกูลโชติกเสถียร ซึ่งต่างก็เคยเป็นข้าหลวงในพระวิมาดาเธอฯ

ข้าวแช่ร้านปทุมสรัส ประกอบด้วย กับข้าวแช่ จำนวน 7 รายการ ได้แก่ ลูกกะปิทอด พริกหยวกสอดไส้หมูสับ หัวหอมทอด หมูหวานฝอย ไชโป๊วผัด ปลายี่สนหวาน และที่เพิ่มมาอีก 1 รายการพิเศษคือ ปลาฉาบ ซึ่งเป็นกับข้าวแช่ตำรับห้องเครื่อง ‘สวนจิตรลดา

  • ลูกกะปิทอด ตำรับนี้คัดสรรกะปิจากฝั่งทะเลอันดามัน โขลกรวมกับปลาย่างแกะเอาแต่เนื้อและเครื่องต่างๆ อาทิ กระชาย เพื่อดับกลิ่นและเพิ่มรสชาติ เครื่องทุกอย่างโขลกรวมกันอย่างเนียนละเอียด เคี้ยวแล้วไม่ระคายเส้นใยสมุนไพรใดๆ
  • หัวหอมทอด เลือกหอมแดงโทนมาคว้านเนื้อออก แล้วจึงนำไส้ที่ผัดไว้แล้ว ซึ่งก็คือเนื้อปลาผัดปรุงรส มายัดเป็นไส้ในหอมแดง จากนั้นนำไปชุบแป้งแล้วทอด
  • พริกหยวกสอดไส้หมูสับ นำพริกหยวกมาคว้านเมล็ดออก ยัดไส้ด้วยหมูสับปรุงรส จากนั้นนำพริกหยวกที่ยัดไส้แล้วไปนึ่ง ที่สำคัญคือการทำ ‘ร่างแห’ หรือการนำไข่มาโรยเป็นตาราง แต่สำหรับตำรับร้านปทุมสรัสประดิดประดอยเป็น ‘ร่างแหไข่ฟู’ เพื่อห่อพริกหยวก ราวพริกหยวกทั้งเม็ดคลุมด้วยเครื่องประดับทองคำ
  • ปลาฉาบ คือการนำเนื้อปลาช่อนไปตากแดด จากนั้นนำมาฉาบกับน้ำตาลทรายในกระทะ จนเนื้อปลาขึ้นเกล็ดน้ำตาลสีขาวบางๆ สวยงาม เคี้ยวแล้วได้ความกรอบออกรสหวานนิดๆ

  161674819360

เครื่องเคียง 7 รายการ, ข้าวหอมมะลิสองสี และน้ำลอยดอกมะลิ ในชุดข้าวแช่ร้านปทุมสรัส

ข้าวแช่ตำรับร้านปทุมสรัส เสิร์ฟกับ ข้าวหอมมะลิสองสี สีขาวและสีฟ้าที่ได้จากการหุงด้วยน้ำดอกอัญชัน และผ่านการขัดข้าวแช่ตามตำรับโบราณ คือครั้งแรกนึ่งข้าวยังไม่สุกมาก พักให้เย็น ห่อไว้ในผ้าขาวบาง แล้วนำไปล้างน้ำ โดยใช้มือค่อยๆ ขัดข้าวให้ยางข้าวหลุดออกไป จนได้เมล็ดข้าวลักษณะใสอย่างที่เรียกว่า “ตากบ” จากนั้นนำข้าวที่ขัดแล้วไปนึ่งอีกครั้ง เมื่อรินน้ำสะอาดลอยดอกมะลิหรือลอยดอกชมนาด(แล้วแต่จะหาได้เวลานั้น) น้ำในถ้วยข้าวแช่จึงยังคงดูใสกระจ่างชวนรับประทาน แนมด้วยแตงกวา กระชาย และมะม่วงดิบ จำหน่ายราคาชุดละ 400 บาท

“เหตุผลที่ร้านปทุมสรัสทำอาหารเหล่านี้ เพราะกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ต้องพระประสงค์อยากจะให้อนุรักษ์ตำราเก่าๆ เกี่ยวกับอาหารของไทย และอยากให้คนรู้จักอาหารดั้งเดิมของไทยต่อไป ไม่เฉพาะข้าวแช่ จะเห็นได้ว่ายังมี ส้มฉุน ของว่างรับประทานหน้าร้อนอีกเหมือนกัน ดูเครื่องที่ผสมกันเข้ามาแล้วเหมือนแปลกนะคะ คือมีขิงซอย ลิ้นจี่ มะยงชิด และหอมเจียว แต่รับประทานแล้วอร่อยมาก ซึ่งวังสระปทุมเลือกวัตถุดิบอย่างดีที่สุด ทุกอย่างที่เราเลือกเป็นส่วนผสมที่ดีที่สุด ไร้สารเคมี มีทั้งผลผลิตจากเกษตรกร ชาวไร่ชาวสวนโดยตรง ผลผลิตของโครงการหลวง และบางส่วนจากศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ตามพระราชดำริกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ” คุณพาสินี กล่าว

161674849084

ส้มฉุน ราคาชุดละ 120 บาท

ส้มฉุน เป็นของว่างแห่งราชสำนักไทย ปรากฏหลักฐานใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นคำเรียกลิ้นจี่ปอกเปลือกคว้านเม็ดตามตำรับโบราณ ปรุงด้วย ‘น้ำลอยแก้วซึ่งมีส่วนผสมของสมุนไพรและเครื่องเทศต่างๆ เวลาจะรับประทานให้วางเรียงผลไม้ซึ่งผ่านการแช่น้ำเชื่อม 1 คืนลงไปก่อน แล้วราดด้วย น้ำส้มซ่าโรยถั่วลิสงคั่วซอย มะพร้าวคั่วและหอมเจียว

การปรุง ‘ส้มฉุน แตกต่างกันไปตามตำรับแต่ละสายสกุล สำหรับตำรับร้านปทุมสรัสได้นำ กลีบส้ม มะม่วงหั่นชิ้น และมะยงชิดฝานเฉพาะเนื้อ ซึ่งเป็นผลไม้ตามฤดูกาล มาปรุงร่วมกับลิ้นจี่คว้านเม็ด ใช้น้ำใบเตย ผิวส้มซ่า ขิงอ่อนซอย และน้ำส้มซ่า ผสมกันเป็น น้ำลอยแก้ว ให้กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ รสชาติหวานอมเปรี้ยว เติมเกล็ดน้ำแข็งละเอียด รับประทานแล้วสดชื่น ดับกระหาย คลายร้อนได้อย่างดี ถ้วยเดียวไม่น่าจะพอ

161675050522

ขนมกล้วย ขนมฟักทอง ราคาชุดละ 30 บาท, สาคู ชุดละ 40 บาท

นอกจากข้าวแช่และส้มฉุน ร้านปทุมสรัสยังจัดทำ อาหารและอาหารว่างโบราณ ให้นักชิมเลือกเปิดประสบการณ์อีกหลายรายการ

อาหารว่าง คือ อาหารที่ใช้รองท้องก่อนรับประทานอาหารมื้อหลัก ในสมัยก่อน วังเจ้านาย บ้านขุนนาง เวลามีแขกไปเยือน จะจัดสำรับมาเลี้ยงรับรอง ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีฝีมือในการทำอาหารแตกต่างกันออกไป สำรับของว่าง จะประดิดประดอยให้น่ารับประทาน

อาหารว่างจากตำรับโบราณทั้งหลาย จึงมีที่มาจากหลายตำราและหลายตระกูล ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง เพื่ออนุรักษ์อาหารโบราณ รวมไปถึงงานฝีมือของไทย ให้คงอยู่ไม่สูญหาย รวมทั้งสืบทอดผ่านร้านปทุมสรัส มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

161674860518

ข้าวตังเมี่ยงกระท้อน ราคาชุดละ 80 บาท

สำรับอาหารว่างโบราณที่ร้านปทุมสรัสจัดทำไว้ใน เทศกาลข้าวแช่ 2564 ครั้งนี้มีให้เลือกชิม อาทิ ข้าวตังเมี่ยงกระท้อน คนสมัยก่อนสามารถนำส่วนต่างๆ ของวัตถุดิบมาปรุงอาหารได้ โดยทั่วไปคนทั่วไปนิยมรับประทานเนื้อกระท้อนด้านในที่มีลักษณะเป็นพูฟูนุ่ม มีรสหวาน แต่สำหรับ เมี่ยงกระท้อนจะใช้เนื้อกระท้อนด้านนอกที่มีรสติดเปรี้ยว มาใช้เป็นส่วนประกอบหลัก ผสมกับเครื่องปรุงตามตำรับ วังสระปทุมรับประทานกับข้าวตังทอดเนื้อละเอียดกรอบ

“ตัวดิฉันเองก็ไม่เคยรับประทานเมี่ยงกระท้อน เพิ่งมาได้รับประทานก็ที่วังสระปทุม ผู้ปรุงใช้เนื้อกระท้อนส่วนที่เปรี้ยว ทำให้แห้งนิดหนึ่งก่อนผัดเพื่อไม่ให้แฉะ ผัดกับเนื้อหมูเนื้อกุ้งหมัก ปรุงให้ออกรสเปรี้ยวเค็มหวาน รับประทานกับข้าวตัง เข้ากันดีมาก แต่สำหรับการแพ็คขายเราใส่กับ ‘กระทงทอง เพื่อให้สะดวกกับการรับประทานเป็นคำๆ เป็นของว่างที่รับประทานได้ดี” คุณพาสินี กล่าว

161674869074

ปั้นสิบไส้ปลา แนมด้วยตะลิงปลิงสด ราคาชุดละ 100 บาท

ของว่างโบราณที่มีความโดดเด่นอีก 1 รายการ คือ ขนม ปั้นสิบไส้ปลา แต่ละตำรับจะเรียกต่างกันไป เช่น แป้งสิบ ปั้นขลิบ เหตุที่เรียก “ปั้นสิบ” เพราะโบราณกำหนดการจีบแป้งให้ได้จำนวน 10 จีบ จึงจะได้ขนาดชิ้นพอดีคำ

แต่ร้านปทุมสรัสขอปรับให้เกิน 10 จีบ เพื่อให้ได้ขนาดที่ใหญ่ขึ้นแต่ยังคงดูสวยงามน่ารับประทาน และทำให้ได้รับรสชาติของไส้ขนมที่ทำจากเนื้อปลาช่อนผัดปรุงรสได้อย่างเต็มที่ แถมเป็นไส้ปลาที่เนื้อนุ่มเนียนมาก เช่นเดียวกับตัวแป้งที่บางเนียนและใสจนเห็นไส้ข้างในชัดเจน เสิร์ฟกับผลไม้รสเปรี้ยวอย่างมะเฟืองสดหรือตะลิงปลิงสดแล้วแต่จะหาได้

“เหตุที่ไส้ขนมปั้นสิบนิยมทำจากเนื้อปลา เนื่องจากปั้นสิบมีรูปร่างแบนอย่างปลา ในขณะที่ขนมจีบไทยมักทำจากเนื้อไก่แล้วจีบเป็นรูปตัวนก” คุณพาสินี กล่าว

161674876143

ไข่พะโล้สูตรโบราณ (3 ฟอง) ราคา 120 บาท

อาหารอีก 1 รายการที่มัดใจนักชิมคือ ไข่พะโล้สูตรโบราณ ไข่พะโล้ของร้านปทุมสรัสปรุงตามตำรับโบราณที่มีการผัดรากผักชี พริกไทย กระเทียม จนหอม ใส่น้ำตาลโตนด ‘โล้ จนเหนียวเป็นคาราเมล นำไข่เป็ดขนาดใหญ่สุดและหมูสามชั้นลงไปโล้จนน้ำตาลเคลือบ แล้วจึงใส่ลงไปในน้ำซุป จากนั้นใส่เห็ดหอม ถั่วลิสงและเต้าหู้ แล้วเคี่ยวต่ออีกสามวันสามคืนจนเข้าเนื้อ ไม่เหมือนการรับประทานไข่ต้มธรรมดา แต่ได้ไข่พะโล้ที่เหนียวหนึบกำลังดี และไม่แห้งแข็งจนเกินไป

“รับรองว่าใครได้รับประทาน จะวางไม่ลง จะสังเกตว่าสีน้ำตาลเข้มของไข่พะโล้สูตรโบราณนี้มาจากสีของการเคี่ยวน้ำตาลโตนดจนเป็นคาราเมล ไม่ได้มาจากสีดำของซีอิ๊ว ไข่พะโล้ของวังสระปทุมอร่อยมาก จนมีผู้ขอให้ทำสูตรมังสวิรัติ แม่ครัวจึงใส่เต้าหู้ลงไปแทนเนื้อหมู ใส่เห็ดหอม ใส่ถั่วลิสงเพื่อให้มีโปรตีนเพิ่มขึ้น พอไม่ได้ทำให้คนมังสวิรัติรับประทาน ก็เลยยังใส่เห็ดหอมใส่ถั่วลิสงอยู่ คนที่ซื้อไปก็ชอบ” คุณพาสินี เล่าเพิ่มเติม

161674884955

เห็ดหอมและถั่วลิสงในเมนูไข่พะโล้สูตรโบราณ

161674892956

หมี่กรอบราดหน้าหมูนุ่ม ตำรับจีนกวางตุ้ง ราคา 100 บาท

161674898942

หมี่กรอบราดหน้าหมูนุ่มตำรับแต้จิ๋ว ราคา 100 บาท

นอกจากนี้ยังมีของอร่อยทั้งคาว–หวานซึ่งใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลมารังสรรค์อีกหลายรายการ อาทิ หมี่กรอบราดหน้าหมูนุ่มไก่นุ่ม มีให้เลือกแบบตำรับจีนกวางตุ้ง คือการหมักเนื้อสัตว์ให้นุ่มด้วยเหล้าจีน ไม่ใส่เต้าเจี้ยว และแบบตำรับแต้จิ๋ว ใส่เต้าเจี้ยวที่คุ้นเคย ที่สำคัญตัวหมี่กรอบนั้นทอดมาอย่างสวยงาม กรอบแท้ไม่แห้งแข็ง แม้แช่อยู่ในน้ำราดเป็นเวลานาน เส้นก็ไม่เหนียว แต่กลับนุ่มเคี้ยวง่าย

ขนมผักกาดทรงเครื่อง (60 บาท) เรียกอีกอย่างว่า “ไช้เท้าก้วย” ทำจากหัวผักกาดขูดฝอยผสมกับเครื่องปรุงต่างๆ ตามตำรับร้านปทุมสรัส เช่นแปะก๊วยและกุ้งแห้ง ใส่แป้งเล็กน้อยพอทำให้เหนียวจับตัวกันได้ รับประทานแล้วได้ความอร่อยของหัวผักกาดจริงๆ

161674905728

หมี่กะทิ ราคาชุดละ 100 บาท

หมี่กะทิ เส้นหมี่ผัดซอสเต้าหู้ยี้เพื่อให้ได้สีสันสวยงาม โรยหน้าด้วยไข่เจียวซอย น้ำราดมีเนื้อกุ้งผัดกับเต้าหู้ยี้รสเค็มๆ หวานๆ แต่งรสเปรี้ยวเพิ่มความสดชื่นด้วยการบีบมะนาวหั่นซีก คลุกเคล้ารับประทานด้วยกัน มีเครื่องแนมเป็นผักสด อาทิ ใบบัวบก ถั่วงอก กุ้ยช่าย ครบรสครบโภชนาการ

นอกจากนี้ยังมี สาคูไส้หมูไก่เห็ด, ขนมกล้วย, ขนมฟักทอง, ตับบด และ ขนมขาไก่ ปรุงด้วยความพิถีพิถัน สะอาดทุกขั้นตอน

161674941242

ลักษณะบรรจุภัณฑ์สำหรับรับกลับบ้าน

161675084847

บูธมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า บริเวณ Social Delicious Zone ชั้น G สยามเซ็นเตอร์

ผู้สนใจสามารถสั่งจองอาหารและของว่างตำรับชาววัง ร้านปทุมสรัส ได้ล่วงหน้า 2 วัน โดยสั่งจองและรับสินค้าได้ที่ บูธมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า บริเวณ Social Delicious Zone ชั้น G สยามเซ็นเตอร์  หรือ โทร.0 2257  0943 ได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 09.30 – 16.00 น. รับสินค้าได้ตั้งแต่เวลา 11.00 เป็นต้นไป 

พิเศษ เมื่อสั่ง ข้าวแช่ 10 ชุด บริการส่งฟรีในรัศมี 10 กิโลเมตร หากเกินจากระยะทางที่กำหนด คิดค่าบริการจัดส่งกิโลเมตรละ 40 บาท