ผู้เชี่ยวชาญ แนะปรับระบบยุติธรรมทางอาญา ช่วยคุ้มครองผู้หญิงจากการกระทำความรุนแรงทางเพศ
ผู้เชี่ยวชาญ แนะปรับระบบยุติธรรมทางอาญา ช่วยคุ้มครองผู้หญิงจากการกระทำความรุนแรงทางเพศ
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ร่วมกับ สมาคมนักเรียนทุนชีฟนิ่งประเทศไทย และ RoLD 2020 จัดเสวนา RoLD Virtual Forum ผ่านเฟซบุ๊กเพจ หัวข้อ “ระบบยุติธรรมทางอาญาที่ตอบสนองต่อการคุ้มครองผู้หญิงจากการกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในประเทศไทย” (Effective and Integrated Criminal Justice Responses to Violence against Women in Thailand) โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ด้านกฎหมาย ด้านสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน มาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันและหาทางออกของปัญหาความรุนแรงต่อสตรีด้วยเหตุแห่งเพศในประเทศไทย
งานเสวนาเริ่มด้วยการปาฐกถาโดย ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อสตรีด้วยเหตุแห่งเพศ ว่าเป็นงานที่ท้าทายสัมพันธ์กับปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอุปสรรคทางด้านวัฒนธรรมและด้านกฎหมาย ทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นไปได้ไม่เต็มที่ ซึ่งบทบาทของทาง TIJ เน้นการให้ความรู้ และให้ความสำคัญ ทุ่มเทกับงานวิจัยและจัดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อผลักดันประเด็นนี้มาโดยตลอด โดยหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น อิงแนวทางสากลและคำนึงถึงบริบทเฉพาะในสังคมไทย
“ปัญหาความรุนแรงต่อสตรี เป็นปัญหาที่ยากและท้าทาย ที่ผ่านมาสถาบัน TIJ เราได้พยายามสร้างองค์ความรู้ให้เราเข้าใจสิ่งนี้ดีขึ้นผ่านการทำงานร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีเป็นประเด็นที่สหประชาชาติให้ความสำคัญมาตลอด และก็มีมาตรฐาน รวมถึงบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นยุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการดูแลแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสตรี มีการประชุมทบทวนทำให้เป็นปัจจุบัน การแก้ปัญหาอาจต้องดูทุกอย่าง ทั้งแนวปฏิบัติที่เป็นแนวทางสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องคำนึงถึงบริบทเฉพาะซึ่งเวลาที่มันเป็นมิติทางสังคม เชื่อว่ารายระเอียดที่เราจะได้เรียนรู้ในวันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้เราเข้าใจปัญหานี้ได้ชัดเจนขึ้น” ดร.พิเศษ กล่าว
ในช่วงเสวนาหัวข้อ “ระบบยุติธรรมทางอาญาที่ตอบสนองต่อการคุ้มครองผู้หญิงจากการกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในประเทศไทย” ผศ. ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้เชื่อมโยงทัศนคติสังคมว่า ด้วยผู้หญิงมีความเปราะบางด้านสรีระและต้องพึ่งพิงผู้ชาย กลายเป็นจุดอ่อนของการถูกล่วงละเมิด และจุดบกพร่องของกระบวนยุติธรรมแบบดั้งเดิมที่ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศต้องเผชิญหนักหน่วง เหมือนถูกกระทำซ้ำ จากการที่ต้องผ่านกระบวนการแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้ยินยอมให้มีการกระทำผิด
“เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม น.ส.แดง (ยกตัวอย่าง) ถูกกระทำรุนแรงทางเพศจะต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ยินยอม ต้องไปเปิดหลักฐานให้ใครดูบ้าง ต้องไปเปิดคลิปนี้ให้กับใครดูบ้าง ไปถึงอัยการ อัยการถามคำถามแบบเดียวกัน เข้าถึงขบวนการในศาล ศาลก็ต้องถามแบบเดียวกัน และทนายก็ต้องมาซักค้านว่า อ้าว วันนั้นก็เห็นเธอยินยอมนี่นา แล้วเราจะแน่ใจได้แค่ไหนว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยที่อยู่ในกระดาษที่เป็นกฎหมายสวยงามนั้น คนปฏิบัติเขาเข้าใจ สิ่งที่จะชี้ให้เห็นทั้งหมด จริงๆมันมีอีกหลายประเด็นมาก ภาพของคลิปที่ยังอยู่บนอินเทอร์เน็ต น.ส.แดงจะขอเอาลงมา(จากการเผยแพร่)ได้ไหม เขาจะไปแจ้งใคร โรงพักทำให้ได้ไหม ถ้าโรงพักทำให้ไม่ได้ ไปหากระทรวงเทคโนโลยี เขาจะต้องวิ่งไปเอง ใครจะเป็นคนเข้ามาดูแลเขา” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว
ขณะที่ น.ส.บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน นักวิจัยด้านความรุนแรงในครอบครัว และผู้ก่อตั้ง S-Hero กลุ่มรณรงค์เรื่องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง กล่าวว่า มี
กรอบมายาคติทางเพศ ที่เป็นอุปสรรคของผู้หญิงในการขอความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมและการไม่ได้รับความเป็นธรรม
"อุปสรรคของผู้หญิงคนหนึ่งในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่เรื่องเขารู้กฎหมายไหม บางทีเขารู้เข้าใจโครงสร้าง และรู้ว่ากฎหมายมีความท้าทายยังไง แต่เสียงของสังคมชุมชนที่ตีตราผู้ถูกกระทำ เสียงของครอบครัวที่ discourage (บั่นทอนความกล้า) หรือทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำไม่กล้าฟ้องผู้กระทำ โดยย้ำว่า อย่าไปฟ้องเขาเลย สงสารเขา อย่าไปทำให้เขาเสียอนาคตเลย แล้วก็เป็นเสียงของเพื่อนที่บอกว่า แกไปทำอะไรเขาละ ไปทำอะไรมาถึงโดนกระทำแบบนั้น” น.ส.บุษยาภา กล่าว
น.ส.บุษยาภา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สิทธิ์ผู้เสียหายในการฟ้องคดีอาญาได้เอง แต่เราใช้สิทธิน้อยมากเพราะผู้เสียหายมีกำลังทรัพย์น้อย มีทรัพยากรน้อยในการที่จะเข้าถึง เพราะจะต้องจ้างทนาย ต้องรวบรวมพยานหลักฐานอะไรต่ออะไรเอง มันลำบาก แต่เป็นไปได้ไหมว่าเราจะใช้ช่องทางนี้ในการที่จะเพิ่มสิทธิ์ เพิ่มกำลัง เพิ่มพาวเวอร์ผู้เสียหายที่จะใช้ผ่านกระบวนการนี้ ให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีอาญาได้เอง โดยเฉพาะคดีที่หลักฐานทั้งหมดมันเป็นหลักฐานที่อยู่กับตัวเขาเอง
ในวงเสวนากล่าวถึงแนวทางช่วยเหลือผู้เสียหายโดยยึดหลัก ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (survivor-centred approach) จากมิติด้านสาธารณสุขที่มุ่งประเด็นเยียวยาความบอบช้ำทางจิตใจของผู้ถูกกระทำความรุนแรง อาจเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันการถูกกระทำซ้ำจากกระบวนการยุติธรรมและเป็นการเปิดทางเลือกและคืนอำนาจให้กับผู้ถูกกระทำอย่างแท้จริง โดยอาศัยช่องทางของกฎหมายไทยที่เปิดให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาได้เอง แม้ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเรื่องทุนทรัพย์และความรู้ แต่หากมีการพัฒนาต่อยอดจาก ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ของผู้เสียหาย น่าจะมีส่วนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้
งานเสวนาครั้งนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วม นำโดย ดร.คเณศ วังส์ไพจิตร นายกสมาคมนักเรียนทุนชีฟนิ่งประเทศไทย นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นางสันทนี ดิษยบุตร อัยการจังหวัดคดีเยาวชนแลครอบครัวจ.พระนครศรีอยุธยา สำนักงานอัยการ คดีเยาวชนและครอบครัว จ.พระนครศรีอยุธยา และผู้อำนวยการสำนักงาน เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์, น.ส.กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม UN Women, ดร.พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม, นางวรภัทร แสงแก้ว นักจิตวิทยาและหัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์และศูนย์พึ่งได้ (OSCC) รพ.ปทุมธานี กระทรวงสาธารณสุข โดยมี ร.ต.ปารเมศ บุญญานันต์ นิติกรชำนาญการ กระทรวงยุติธรรม และน.ส.ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมฯ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา ผู้สนใจสามารถติดตามชมบันทึกการประชุมเสวนาย้อนหลังออนไลน์ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/tijthailand.org/videos/1331738437208784/