‘สาละวิน’ แม่น้ำตะวันตก

‘สาละวิน’ แม่น้ำตะวันตก

ลัดเลาะล่อง "แม่น้ำสาละวิน" แห่งดินแดนตะวันตกของไทย พรมแดนระหว่างสองประเทศที่เป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของทั้งคนไทยและเมียนมา

บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเพิ่งจะมามีข่าวโด่งดังจากการตีข่าวด้วยความไม่รู้หรือจงใจ ก็ไม่แน่ใจ ของสื่อมวลชนบางสำนัก จากการที่มีกองกระสอบข้าวสาร 700 กระสอบ กองอยู่ริม แม่น้ำสาละวิน ตรงบ้านแม่สามแลบ โดยเนื้อข่าวออกไปทำนองที่ว่า ทางรัฐบาลไทยสนับสนุนเสบียงอาหาร แก่ทหารเมียนมา ที่ทำรัฐประหารในขณะนี้ เดี๋ยวเราค่อยมาว่ากัน แต่ถ้าท่านผู้อ่านสังเกต น่าจะเมื่อปี 2562 ดูเหมือนผมจะเขียนเรื่องการขับรถเลาะเลียบ “แม่น้ำสาละวิน” ไปบ้านท่าตาฝั่งมาแล้ว แต่คราวนั้นไม่ได้ลงรายละเอียดบ้านแม่สามแลบ และก่อนปี 2562 ก็เคยเขียนถึงบ้านท่าตาฝั่งมา 1-2 ครั้ง เอาเป็นว่าผมคุ้นเคยกับบ้านท่าตาฝั่งพอประมาณ เดินทางไปทั้งทางบก ทางเรือ ทางบกมีกี่ทาง ผ่านค่ายอพยพในป่า สารพัด ผมลองไปมาหมด จึงพอเข้าใจสภาพพื้นที่บ้าง

161802356445

แม่น้ำเมย

161802359974

ฝั่งน้ำสาละวินตรงบ้านแม่สามแลบ

ก่อนอื่นขอเล่าเรื่อง อำเภอสบเมยก่อน อำเภอสบเมยอยู่ทางใต้ของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือบริเวณที่แม่น้ำเมยมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมยนั้นทำหน้าที่แบ่งกั้นชายแดนระหว่างไทยและเมียนมานับ 100 กิโลเมตร เท่าที่ดูแผนที่แม่น้ำเมยก่อกำเนิดมาจากในดินแดนพม่า แล้วมาปรากฏตัวให้เรารู้จักชัดเจนเมื่อเข้าช่วงที่กั้นระหว่างแม่สอดของไทยกับเมียวดีของเมียนมา หลังจากนั้น ก็ไหลขึ้นเหนือ ทำหน้าที่แบ่งกั้นชายแดนไทยเมียนมาไปจนถึงอำเภอสบเมย แล้วแตะมือกับแม่น้ำสาละวิน กั้นเขตแดนไทยและเมียนมาต่อไป ตลอดการเดินทางของแม่น้ำเมยที่แบ่งกั้นชายแดนไทย-เมียนมานั้น เกิดเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดการเดินทางเลาะเลียบไปตามถนนหมายเลข 105 จากแม่สอดไปถึงแม่สะเรียง ว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สวยมากของฝั่งไทย จะสังเกตว่าแม่น้ำที่เกิดฝั่งไทยทางด้านตะวันตกนี้จะไหลลงแม่น้ำสาละวินทั้งหมด

แล้ว “แม่น้ำสาละวิน” มาจากไหน แม่น้ำนี้ว่ากันว่าเดินทางมาจากติ่งปลายชายขอบของเทือกเขาหิมาลัย ช่วงไหลเข้ายูนานของจีนเรียกแม่น้ำนู่เจียง เป็นแม่น้ำสายใหญ่สายหนึ่งในจีนทีเดียว แล้วไหลเข้าเมียนมา ทีนี้ท่านผู้อ่านเคยเห็นแผนที่ประเทศไทยมาแล้วนะ สังเกตทางตะวันตก ของภาคเหนือของแผนที่ประเทศ จะเห็นติ่งหนึ่งยื่นออกไปตะวันตกสุดเป็นติ่งเล็กๆ ปลายติ่งด้านบนนั่นแหละคือจุดที่แม่น้ำสาละวินมาทำหน้าที่เป็นเขตแดนกั้นระหว่างไทยและเมียนมา ฝั่งพม่าคือรัฐคะยา ฝั่งไทยก็คือแม่ฮ่องสอน

161802365014

เรือเหมาไปในสาละวิน

161802368665

การค้าขายริมชายแดน ขนจากฝั่งไทยไปฝั่งเมียนมา

แล้ว “แม่น้ำสาละวิน” ก็ไหลลงทางใต้ กั้นแบ่งไทยเมียนมา มาอีกไกล ผ่านสบแงะ ท่าตาฝั่งมาแม่สามแลบ มาสบเมย จากสบเมย สาละวินก็เข้าแดนเมียนมาอีกครั้ง แล้วไหลลงทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ ในเขตรัฐมอญ ลงสู่มหาสมุทรอินเดีย รวมระยะทางเกือบ 3000 กิโลเมตรทีเดียว

การเดินทางของ “แม่น้ำสาละวิน” นั้นมีหลากหลายรูปแบบทั้งเชี่ยวกรากในฤดูฝน แต่ยังไม่เคยประสบชะตากรรมแบบแม่น้ำโขงที่พอถูกจีนกั้นเขื่อน แม่น้ำโขงก็แทบหมดสภาพ ถามว่าแล้วแม่น้ำสาละวินมีโอกาสเป็นแบบแม่น้ำโขงไหม? มีสิทธิ์เป็นไปได้ ถ้าจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำนู่เจียงอีกแห่ง

น้ำใน “แม่น้ำสาละวิน” นั้นขุ่นอยู่ตลอดเวลา จะมีตะกอนปนอยู่ตลอด ตะกอนเหล่านี้ก็มีทั้งทับถมเป็นหาดทราย และมีทั้งที่น้ำพัดพาต่อไป ริมฝั่งสาละวินจึงมีแต่เนินทรายหนาๆ ทั้งสองฝั่งน้ำ ผมเคยไปนอนบนผืนทรายริมแม่น้ำสาละวิน อาบน้ำและแปรงฟันจากน้ำในแม่น้ำนี้ ถ้าถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องบอกว่าสากปาก แม่น้ำนี้อาบได้แต่ไม่ควรสระผม เพราะมันมีทรายปน เรื่องเล่าของคนริมน้ำสาละวินบอกว่า วันดีคืนดีหาดทรายริมน้ำนี้ก็จะมีศพลอยมาติด เป็นใครมาจากไหนไม่รู้ แล้วทำยังไงกับศพ ก็เอาไม่เขี่ยออกไปให้พ้นตลิ่ง จะได้ไม่เป็นภาระ  

ฟังดูแล้วอนาถใจไหมครับ?

161802374039

ท่าลงเรือทั้งสินค้าและคน ที่บ้านแม่สามแลบ

161802378277

สินค้ารอลงเรือที่บ้านแม่สามแลบ

ในคืนเดือนมืดจะมีเรือลำเล็กๆ ล่องมา อาศัยเสียงน้ำไหลกลบเสียงเครื่องเรือที่ดังเบาๆ ถ้าเป็นสมัยก่อน ต้องบอกว่านี่คือเรือประคองไม้ ไม้ที่ไหลล่องลงมาตาม “แม่น้ำสาละวิน” ไม้มาจากฝั่งไทยหรือฝั่งเมียนมา อันนี้ไม่รู้เลย ได้แต่ตั้งข้องสังเกตว่าถ้าไม้ถูกต้องหรือมีสินค้าที่มากับเรือถูกต้อง ทำไมต้องแอบมา

ตรงข้ามกับไทยมีฐานทหารฝั่งเมียนมาอยู่เป็นระยะ ไม่ได้บอกว่าเป็นฐานทหารเมียนมา แต่บอกว่าเป็นทหารทางฝั่งเมียนมา นั่นยอมหมายความว่า ฐานทหารที่เราเห็นในฝั่งเมียนมา มีทั้งฐานของทหารกะเหรี่ยงและทหารเมียนมา บางที่ก็อยู่กันฝ่ายละยอดเนิน ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร ในยามที่ยังไม่รบกันก็ดี บางทีเห็นลงมาเล่นตะกร้อกันบนหาดทรายริมน้ำ เวลารบกันก็อย่างที่เป็นข่าว

เรือที่แล่นในลำน้ำ “สาละวิน” จะเป็นเรือหางยาวค่อนข้างใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นเรือบรรทุกสินค้า ท้องเรือจึงเปิดโล่ง นานๆ จึงจะเห็นเป็นเรือโดยสายที่มีที่นั่ง ผู้โดยสารก็มาจากหมู่บ้านริมน้ำนั่นแหละ มาจากทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา ถ้าเป็นคนเมียนมาก็จะข้ามมานั่งรอเรือโดยสารที่ฝั่งไทย และจุดหมายปลายทางจะอยู่ที่บ้านแม่สามแลบทั้งนั้น เรือทุกลำจะติดธงไทย ไม่เคยเห็นติดธงเมียนมา อาจจะเพราะว่าปลายทางอยู่ที่บ้านแม่สามแลบฝั่งไทยก็ได้

บ้านแม่สามแลบอยู่ริมน้ำ “สาละวิน” ในฝั่งไทยผมไม่แน่ใจว่าอาณาบริเวณบ้านแม่สามแลบไปไกลขนาดไหน แต่ที่เห็นเป็นชุมชนก็คือย่านริมน้ำอย่างที่บอก บ้านเรือนจะปลูกยาวไปตามริมน้ำและริมถนนที่เลียบแม่น้ำ เป็นเพียงแบบง่ายๆมากกว่าเป็นแบบถาวร ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาเมียนมา ดูรูปร่างท่าทางก็เป็นคนเมียนมานี่แหละ นุ่งโสร่ง เคี้ยวหมาก ทาหน้าด้วยแป้งทานาคา เหมือนคนชายแดนทั่วไปที่มีแบบนี้หลายที่ ถามทหารที่รักษาการณ์ บอกบางคนอาจจะมีบัตรประชาชนไทยแล้ว ส่วนใหญ่พูดไทยไม่ได้ บ้านแม่สามแลบจึงแทบเหมือนดินแดนเมียนมาบนแผ่นดินไทย

161802383635

บรรยากาศแม่น้ำเมย

161802386969

บ้านแม่สามแลบเป็นเหมือนด่านชายแดนค้าขายเพราะสินค้าสารพัดจะถูกสั่งจากไทยไปยังหมู่บ้านริมน้ำสาละวินทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา สินค้าจะมากองกันบนตลิ่ง รอขนลงเรือไปยังจุดหมาย ซึ่งเป็นแบบนี้มานาน ทหารเมียนมาก็ซื้อข้าวไทย เพราะถ้าข้าวมาจากเมียนมาจะขนส่งยาก กะเหรี่ยงก็ซื้อ ส่วนของที่มาจากฝั่งเมียนมาก็จะเป็นพืชไร่ ใส่เรือมาเหมือนกัน มาถึงก็มากองกันบนตลิ่ง รอขนเข้าแม่สะเรียง เป็นแบบนี้มานานจนไม่ใช่เรื่องแปลก การค้าขายชายแดนที่บ้านแม่สามแลบนอกจากสินค้าพวกนี้ก็ยังมีการค้าวัว วัวพวกนี้มาจากฝั่งพม่า มาเลี้ยงในฝั่งไทย พอได้ขนาดก็ส่งขาย น่าจะเป็นวัวเถื่อนแหละ เพราะผมเคยเห็นเห็นไล่ต้อนข้ามแม่น้ำเมยมาฝั่งไทย แล้วมีรถบรรทุกมารอขน

ใครเคยไปแม่สามแลบก็ไม่แปลกใจที่จะเห็นข้าวสารหรือสินค้าอื่นๆ กองกันริมแม่น้ำ ไม่ใช่ฝ่ายเราไปหนุนฝ่ายใดในเมียนมาหรอก เขาก็ค้าขายกันมาแบบนี้นานแล้ว เมียนมา กะเหรี่ยง ซื้อของไทยทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก

ออกไปเห็นโลกมากก็จะเข้าใจโลก ไม่ค่อยออกไปดูโลก เห็นอะไรมาก็จะมโนไปตามเรื่อง อยากรู้จักแม่สามแลบ ก็ต้องไปแม่สามแลบ...