‘อรสม สุทธิสาคร’เจ้าแม่สารคดีสายดาร์ค ครูของคนคุก ที่เป็นมากกว่า‘ครู’

‘อรสม สุทธิสาคร’เจ้าแม่สารคดีสายดาร์ค ครูของคนคุก ที่เป็นมากกว่า‘ครู’

เดินเข้า เดินออก “คุกบางขวาง”กว่า 10 ปีและยังทำอย่างต่อเนื่อง จากสอนเขียนสารคดี มาสู่โครงการปั้นพระ เมื่อพวกเขาพ้นโทษ "อรสม สุทธิสาคร" ทำกองทุนกู้ยืมประกอบอาชีพ

 เพิ่งถูกคัดเลือกให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ  ปี 2563 สาขาวรรณศิลป์ อรสม สุทธิสาคร ย่อมดีใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่การสนทนาครั้งนี้ ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องขีดๆ เขียน ๆ แค่เฉียดๆ 

เราคุยกันเรื่อง คนคุกบางขวาง ถ้าใครคิดว่าจะได้อ่านเรื่อง ดราม่าน้ำตาไหลพราก คงต้องผ่านไปเลย เพราะเป็นเรื่องชีวิตที่สุกงอม ตั้งแต่เธอก้าวเท้าเข้าไปในคุกวัย 53  ปี เพื่อสอนการเขียนผ่านมา 10 กว่าปี เธอก็ยังเดินเข้าออกเรือนจำบางขวาง และยังทำอย่างต่อเนื่อง

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าแม่สารคดีสายดาร์ค ไม่ท้อและไม่ถอย...

ทั้งๆ ที่หลายโครงการที่ช่วยเหลือนักโทษ ส่วนใหญ่ทำไม่นานก็เลิกลา แต่สำหรับ‘อรสม’ เวลาจะทำอะไร เธอใช้คำว่า “สุดลิ่มทิ่มประตู” ไม่ว่างานเขียนสารคดีหรือเรื่องอะไรก็ตาม ต้องทำให้สุด

ดังนั้นสิ่งที่เธอทำ จึงไม่ใช่แค่สอนเขียนสารคดี ยังชวนเพื่อนฝูงมาช่วยสอนวาดภาพ ถักหมวกให้พระ และล่าสุดสอนปั้นพระพุทธรูป แรกๆ คิดว่า นักโทษไม่น่าจะทำได้ แต่ตอนนี้พระพุทธรูปจากสองมือนักโทษ ได้นำไปให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ คนป่วยระยะสุดท้าย โดยมีเจ้าภาพพระพุทธรูป เพื่อนำรายได้กลับมาสร้างอาชีพให้นักโทษที่ออกจากคุก 

และนี่คือ เรื่องเล่าของนักเขียนสารคดีที่สุกงอมกับชีวิต

...........

161828762953

อรสม สุทธิสาคร ศิลปินแห่งชาติ ปี 2563 

  • คุณเคยบอกว่า “ชีวิตไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ” อยากให้เล่าสักนิด ? 

    ทุกๆ อย่างที่ทำ เราก้าวเดินตามความรัก ความฝัน มีอุปสรรคเยอะ แต่ที่สุดก็สมฝัน เราไม่เคยได้อะไรมาง่ายๆ ต้องผ่านการต่อสู้อย่างหนักหน่วง การต่อสู้เรื่องงานสารคดี ซึ่งเป็นงานที่เรารัก ทุกอย่างเป็นเรื่องการรอคอย ต้องพิสูจน์ตัวเอง บางคนเขียนหนังสือเล่มแรกก็ได้รางวัลแล้ว แต่สำหรับอรสมทำงานสารคดีอย่างมั่นคงกว่า 30 ปี มีผลงานหนังสือ 54 เล่มต้องใช้ทั้งเวลาและการลงพื้นที่ และเรารอคอยเพื่อจะทำงานในเรือนจำอย่างอดทนมา 10 ปี

  • รอ 10 ปี เพื่อเข้าไปทำงานในเรือนจำ ?

มีคนตั้งสมญานามว่า เจ้าแม่สารคดีสายดาร์ค ประเด็นที่เราทำจะเป็นด้านมืดของสังคม คนชายขอบ เราอยู่ท่ามกลางปัญหาและความทุกข์ของผู้คน เมื่อมาดูว่า คนกลุ่มไหนมีความทุกข์ซับซ้อนมากที่สุด เราพบว่าคนในเรือนจำ 

ต่อให้คุณมีคำนำหน้าว่า  ม.ร.ว.,ม.ล.,ศาสตราจารย์,ดอกเตอร์,นายแพทย์ ,รัฐมนตรี ฯลฯ ถ้าวันหนึ่งคุณมีคำนำหน้านามว่า น.ช.(นักโทษชาย)หรือน.ญ. (นักโทษหญิง) ทุกสิ่งในชีวิตคุณพังทลายไม่ใช่แค่อิสรภาพ ชื่อเสียงเกียรติยศทุกอย่างหมดไป กลายเป็นคนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทั้งตัวคุณและชื่อเสียงวงษ์ตระกูลมัวหมองหมด ไม่ว่าจะผิดจริงหรือพลาด หรือเป็นแพะ ทุกอย่างถูกพรากไปจากชีวิตคุณ กลายเป็นคนน่ารังเกียจ

  • ไม่ค่อยมีคนอยากทำงานในนั้น แล้วทำไมคุณอยากทำงานเพื่อนักโทษ

      ตอนที่เข้าไปอายุ 53 ปี จำวันแรกได้ 24 พฤศจิกายน 2553 ใกล้วันครบรอบวันเกิด เหมือนเป็นรางวัลสำหรับความอดทนที่เฝ้ารอมาสิบกว่าปี จากความเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทำโครงการกำลังใจ

     เราอยากสอนผู้ต้องขังให้เขียนเรื่องเล่า ที่เลือกบางขวางเพราะเป็นท็อปออฟเดอะท็อป เป็นเรือนจำเก่าแก่ มีผู้ต้องโทษ 30 ปีขึ้นไปจนถึงประหารชีวิต แต่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปถึงประหารชีวิต เวลามีการประหารต้องเอาตัวนักโทษมาที่เรือนจำบางขวางแห่งเดียวเท่านั้น

ที่นี่เคยเป็นสถานที่ขังนักโทษการเมืองอย่างสอ เสถบุตร, หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน เขียนเรื่อง ความฝันของนักอุดมคติ(เมืองนิมิตร) จัดเป็นนวนิยายการเมืองที่ว่าดีที่สุดในยุคนั้น และปีพ.ศ. 2481 สอ เสถบุตร ก็ทำปทานุกรมที่ดีที่สุด บางขวางเคยมีการประหารนักโทษการเมืองสูงสุด 18 คน สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม  เราเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ ถ้าเราจะทำงาน ก็อยากทำในพื้นที่ที่มีคนต้องโทษสูงสุด ตอนแรกก็ถามตัวเองว่า แล้วจะสอนอะไร ก็ต้องสอนเรื่องเล่า ให้ชีวิตของพวกเขาเป็นครู เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้อ่าน

  • โครงการแรกเรื่องเล่าจากแดนประหารบางขวาง มีความเป็นมาอย่างไร

      ตอนนั้นมีลูกศิษย์มาเรียน 30 กว่าคน มาพร้อมโซ่ตรวน มีโทษประหารอยู่ 6-7 คน ตอนหลังมีการถอดโซ่ตรวนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผ่านมาพื้นที่ในเรือนจำเหมือนแดนสนธยาสำหรับคนนอก เราก็ทำหน้าที่เชื่อมโลกทั้งสอง เราเชื่อส่วนตัวว่า มนุษย์มีทั้งมุมมืดและมุมสว่าง ไม่มีเลวหมด หรือดีงามเต็มร้อย ยกเว้นบรรลุธรรม เพราะฉะนั้นต้องให้โอกาส สอนการเขียนมาหลายรุ่น บางผลงานได้รางวัลรองชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด สองปีซ้อน,รางวัลชมเชยจากวรรณกรรมแว่นแก้ว และผลิตหนังสือออกมาทั้งหมด 7 เล่ม ในฐานะครูก็ปลื้มใจ

  • การทำงานในเรือนจำ มีเรื่องที่คาดไม่ถึงบ้างไหม

     มีเรื่องราวที่สะเทือนใจบ้าง กรณีที่เขาไม่ผิดแล้วโดนประหารชีวิต อย่างยายเขียว เลี้ยงหลานอยู่บ้าน เมื่อหลานอีกคนแวะมาฝากกระเป๋า แกก็ไม่สนใจเปิดดู สักพักตำรวจมาพร้อมหลานชาย เปิดกระเป๋าเจอยาบ้า ยายเขียวก็ถูกจับ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ไม่เห็น ถ้าแกรับสารภาพ โทษจะเหลือครึ่งหนึ่ง แต่ยายเขียวบอกว่า อะไรที่แกไม่ได้ทำ ต่อให้โดนประหารก็ยอม แกขอตายด้วยความบริสุทธิ์      

     หรือเรื่องของเนตรน้อย ชาวเขา ที่ตามเพื่อนไปเที่ยวกรุงเทพฯ ทั้งๆที่เพื่อนไม่อยากให้มา เนตรน้อยดวงซวย ไม่รู้ว่าเพื่อนพกยาบ้ามาด้วย ทุกคนในรถสารภาพว่าขนยา แต่เนตรน้อยไม่สารภาพ เพราะไม่รู้เรื่อง และไม่รู้เวรกรรมอะไร ปกติจะมีการลดโทษ แต่เนตรน้อยโดนโทษประหารชีวิต เนตรน้อยเล่าให้ลูกศิษย์เราฟัง ลูกศิษย์ก็ไม่ได้เชื่อเต็มร้อย จนเมื่อคู่คดีเนตรน้อยย้ายมาเรือนจำบางขวาง เล่าให้ฟังว่า เนตรน้อยบริสุทธิ์  

  • จบโครงการแรก ก็น่าจะเลิกลา แล้วทำไมทำต่อ

โครงการแรกเข้าไปสอนการเขียนสิบกว่าครั้งก็จบ กลับมาบ้านนั่งน้ำตาคลอเป็นห่วงลูกศิษย์ รู้สึกว่ายังส่งไม่ถึงฝั่ง คิดว่าต้องทำโครงการต่อ จึงเชิญวิทยากรเข้าไปสอนนักโทษทำอักษรเบรลล์ให้คนตาบอด สอนถักหมวกถวายพระ ผ้าพันคอให้คนชรา โครงการนิทานสร้างสุข ตอนหลังทำโครงการปั้นดินให้เป็นบุญ สอนปั้นพระพุทธรูป เรื่องนี้มาจากไอเดียเพื่อนรุ่นน้อง

  • สอนปั้นพระพุทธรูป ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีพื้นความรู้ทางศิลปะ? 

ตอนแรกคิดว่าเป็นไปได้ยาก นักโทษส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางศิลปะ เราเชิญอาจารย์จากศิลปากรและหลายหน่วยงานมาช่วยสอน ตอนหลังใช้ชื่อว่ากลุ่มเพื่อนหลังกำแพง พอปั้นออกมาแล้ว เราเห็นว่าพระพุทธรูปมีความสงบเย็น จึงตั้งกองทุนเพื่อให้ลูกศิษย์ที่พ้นโทษกู้เงินไปประกอบอาชีพ รอบปีนี้ปล่อยไปสามแสนบาทแล้ว บางคนกู้หมื่นสองหมื่นบาท 

เงินกู้มาจากคนเป็นเจ้าภาพพระพุทธรูปแต่ละองค์ แล้วนำไปมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ถวายวัดในเนปาลและอินเดีย ส่วนการปั้นพระพุทธรูปองค์เล็ก เอาไปไว้ในเรือนนอนของผู้ต้องขังทั่วประเทศ มีประมาณ 140 กว่าแห่ง และเรานำพระสงฆ์เข้าไปบิณฑบาตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ทำมา 9 ปีแล้ว ถ้าสถานการณ์ดีแล้ว เราจะทำโครงการกุศลสุดท้าย เนื่องจากมีผู้ป่วยในเรือนจำเสียชีวิตเดือนละ 7-8 ราย เราจะนิมนต์พระมาให้เขาได้ถวายสังฆทาน และผ้าไตร

  • ผู้พ้นโทษกู้ยืมเงินไปทำอะไรบ้าง

มีนักโทษคนหนึ่งกู้เงินไปขายโรตี เล่ากี่ โรตีบางขวาง อร่อยมาก สาธิตกู้เงินไปทำโรงหล่อพระพุทธรูป บางคนกู้ไปทำการเกษตร ขายของ เราอยากให้เขายืนได้อย่างมั่นคง ถ้าลูกศิษย์เราไม่ทำผิดซ้ำ ปลายทางก็คือสังคมปลอดภัย

161828777150

โครงการที่อรสมทำอย่างต่อเนื่องในเรือนจำบางขวาง

  • ประสบการณ์การเข้าไปทำงานในคุก จะนำมาเขียนหนังสือไหม

คงอีกปี สองปี อยากให้พระพุทธรูปที่ปั้นครบหนึ่งพันองค์ คงเป็นงานเขียนจากประสบการณ์ตรง เหมือนอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เขียนเรื่อง เดินสู่อิสรภาพ งานเขียนแบบนี้มีน้อย การทำงานในพื้นที่เรือนจำสิบกว่าปี มีเรื่องราวเยอะ บางเรื่องเขียนไม่ได้ บางอย่างเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีใครทำงานต่อเนื่องยาวนานแบบเรา เราได้ทั้งประสบการณ์ดีๆ และบางเรื่องก็ทำให้สะท้าน

  • ตอนนั้นเรื่องอะไรที่ทำให้รู้สึกสะท้าน? 

ในเรือนจำ ห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าไป เราเคยเผลอติดเข้าไป เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ครั้งนั้นรายงานไปถึงอธิบดี ถ้าถูกฟ้องร้อง ติดคุก 5 ปี ปรับแสน สองแสนบาท ตอนนั้นน้ำตาไหล ถามตัวเองว่าจะหยุดหรือไปต่อ ถ้ามีการฟ้องร้องจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และข้ออ้างที่บอกว่า ลืม ไม่ใช่เหตุผล ที่รอดมาได้เพราะเขารู้ว่า เราไม่มีเจตนา

เหตุการณ์นั้นทำให้เรารู้ว่า การทำงานในเรือนจำขาข้างหน้าอยู่ในคุก ถ้าเกิดอะไรขึ้นไม่มีใครปกป้องเราได้ ชื่อเสียงก็คงเน่า คนจะคิดว่าเราเข้าไปในคุก เพราะอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราสุจริตใจ เราใช้เงินส่วนตัวจำนวนไม่น้อย ส่งลูกศิษย์เรียนและอีกหลายเรื่อง

ถ้าให้พูดอย่างไม่ดัดจริต ตอนนั้นเรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระองค์บริสุทธิ์ขนาดนั้น แล้วเราเป็นใคร เป็นมนุษย์ที่ยังมีกิเลส เรารู้เลยว่าต้องเดินหน้าต่อ ต้องระมัดระวังมากขึ้น ไม่ถืออะไรเข้าไปในคุก เราเป็นคนขี้หลงขี้ลืม

  • อะไรทำให้คุณอยากทำหน้าที่มากกว่าคำว่า“ครู” 

      ในคอร์สปั้นพระ มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อหนู หายไปไม่มาเรียน เราให้คนไปตาม ตอนนั้นหนูเล่าว่า ภรรยาไปมีผู้ชายอื่น รอไม่ไหว หนูเป็นห่วงลูก เราก็บอกว่า บางเรื่องคิดไปตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์ บางปัญหาเราจัดการไม่ได้ เราก็ชวนหนูคิดว่า การอยู่ตรงนี้(ในคุก) มีข้อดียังไง มือปืนอย่างเขาได้ละเว้นการฆ่าชีวิตสิบยี่สิบคนในช่วงสิบปี  ได้ใช้มือที่ทำร้ายคนมาปั้นพระ ปั้นเสร็จเอาไปให้โรงพยาบาล ถือว่าเป็นบุญกุศล

      ถ้าเราเข้าไปทำโครงการในเรือนจำช่วงอายุ 40 ต้นๆ อาจจะรู้สึกอีกแบบ แต่การเข้าไปในช่วงวัย 53 ปีสุกงอมกับชีวิตแล้ว เราดีใจที่ทำให้ลูกศิษย์มองเห็นคุณค่าในตัวเอง และตอนนี้ลูกศิษย์ในคุกออกมากว่าสี่สิบคน ได้ดูแลกันตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง (หลังพ้นโทษ)อยากให้พวกเขามีอาชีพที่ยั่งยืน     

161828784743

อรสมกับลูกศิษย์ในเรือนจำ

  • ทำไมต้องช่วยเหลือย่างต่อเนื่องขนาดนั้น

เป็นคนที่สุดลิ่มทิ่มประตู เวลาทำงานเขียนสารคดีต้องไปให้สุด เดินทางเก็บข้อมูลเต็มที่ ลูกศิษย์เรายังไม่เคยมีใครกลับเข้าไปในเรือนจำอีก แต่เราไม่ได้เคลิมว่า เราดี เราวิเศษอะไร ไม่ใช่แบบนั้น เป็นเพราะพวกเขาอยู่ในบางขวางสิบยี่สิบปี จนเข็ดคุก

  • เพราะอะไรจึงให้ความสำคัญกับนักโทษบางขวางมากเป็นพิเศษ

เป็นงานที่ทุ่มเทมากที่สุด แต่ไม่ต้องชมว่า อรสมเป็นคนเสียสละ เป็นคนดี หรืออะไรก็ตาม ถ้ามีคนชมเรามากๆ เราจะอึดอัด เราตั้งใจทำตรงนี้ เหมือนการทดแทนบุญคุณพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์คือที่สุดของชีวิต มุมตรงนี้คนไม่ค่อยรู้ คนจะเห็นแต่ความเป็นนักเขียน 

ตอนที่เราอุ้มพระพุทธรูปไปให้คนป่วยที่บ้าน เราเห็นสายตาที่เขามองพระพุทธรูป เห็นความศรัทธา หรืออุ้มพระพุทธรูปเข้าไปในห้องไอซียู โรงพยาบาล ลูกบางคนต้องการทำให้พ่อแม่ในวาระสุดท้าย  และคนเป็นเจ้าภาพพระพุทธรูป ยังมีแม่ชีชาวไต้หวัน คนไทยในอังกฤษ อเมริกา เดนมาร์ค

เรารู้สึกว่า พระพุทธรูปจากบางขวาง เป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความห่วงใย เป็นความงดงามที่เราทำหน้าที่เชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างคนในคุกและคนนอกคุก เราได้ใช้พุทธศาสนาในหนทางของเรา

  •  คำว่า“สุกงอมกับชีวิต”ในความหมายของคุณคืออะไร

ทุกครั้งที่เราเข้าในโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ เราเห็นความทุกข์ เห็นความตาย เราเห็นมาตลอด แต่ละช่วงวัยมีความงามต่างกัน เราพอใจกับชีวิตแล้ว ตอนนี้คือ ทำงานและเตรียมตัวตายให้ดี อีกปีสองปี คงเขียนหนังสือประสบการณ์จากเรือนจำบางขวาง เคยอ่านหนังสือหลายชีวิตของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชไหม หลายคนชอบเรื่องนี้มากกว่าสี่แผ่นดิน โครงเรื่องอาจมาจากฝรั่ง ท่านเขียนแต่ละชีวิตเป็นตอนๆ อ่านแล้วชอบ เราอยากเอาประสบการณ์ที่เห็นในเรือนจำมาเขียนแบบนั้น 

  • สารคดีที่คุณเขียน ส่วนใหญ่เป็นด้านมืดของมนุษย์ แล้วความรื่นรมย์ของอรสมอยู่ตรงไหน

ทำแบบนี้แหละคือ ความรื่นรมย์ สุขทุกข์มาพร้อมกัน เราเป็นคนมีพลัง มีความฝันเยอะ อย่างโครงการที่ทำมาสิบกว่าปี เราก็พยายามทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พยายามมองหลายมิติ ทั้งเรื่องศาสนา ตลาดบุญ เชื่อมโยงความเข้าใจ การสร้างคุณค่า ชีวิตที่เหลือยังเป็นชีวิตที่สนุก ไม่เสียชาติเกิด เราอาสาและพอใจที่จะทำ มีความสุขปีติ 

  • จะทำโครงการในคุกอีกนานแค่ไหน

     น่าจะเกษียณตัวเองตอน 70 ตอนนี้ย่าง 64 ปี ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าการมอบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ให้โรงพยาบาลจะครบทั่วประเทศแล้ว ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กก็หาเจ้าภาพ เพื่อนำไปมอบในเรือนจำทั่วประเทศ และอีกหลายแห่ง ถึงตอนนั้นก็อายุ 70 คงมีเงินเพิ่มให้ลูกศิษย์กู้ยืมไปประกอบอาชีพ ตอนนั้นคงอำลาวงการ น่าจะทำครบ 17 ปี ถ้าไม่ตายก่อน

..........................

หมายเหตุ : สำหรับคนที่อยากเป็นเจ้าภาพพระพุทธรูปที่นักโทษปั้น ติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ค อรสม สุทธิสาคร