'โควิด-19' พาเครียด? 5 วิธีจัดการ 'ความเครียด' ด้วยตัวเองฝ่าวิกฤติโรคระบาด
รวม 5 วิธีจัดการตัวเอง เมื่อตกอยู่ในสภาวะ "เครียด" จากสถานการณ์ "โควิด-19" ที่เรื้อรัง และใกล้ตัวเกินกว่าจะหลีกเลี่ยง
วิกฤติ "โควิด-19" ที่ยืดเยื้อ ยาวนาน และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ นอกจากจะส่งผลต่อวิถีชีวิต สุขภาพกาย และเศรษฐกิจโดนตรงแล้ว ในทางอ้อมยังส่งผลกระทบต่อ "สุขภาพจิต" ที่ถึงขั้นสร้าง "ความเครียด" สะสมได้ง่ายๆ
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนสำรวจสุขภาพจิตของตัวเอง พร้อมกับวิธีรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นจากสภาวะที่น่ากังวล และตึงเครียด อันมีเหตุมาจากการแพร่ระบาดของ "ไวรัสโคโรน่า" หรือ "โควิด-19" ดังนี้
- เช็คลิสต์ คุณเครียดเกินไปหรือเปล่า?
ข้อมูลจาก CDC สหรัฐอเมริกา แนะนำให้สังเกตอาการของตัวเอง ซึ่งอาการเหล่านี้กำลังสะท้อนความเครียดที่เกิดขึ้นกับคุณ
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลง แปรปรวน
2. กลัว เครียด กังวล
3. เบื่อ เฉยชา
4. หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย
5. นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
6. ฝันร้ายต่อเนื่องเรื้อรัง
7. พฤติกรรมการกินผิดปกติ บางรายกินไม่ลง บางรายกินมากผิดปกติ
8. รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชาลง
9. ลดกิจกรรมลงอย่างชัดเจน เบื่อ ไม่อยากทำอะไร
10. สมาธิจดจ่อไม่ดี หลง ๆ ลืม ๆ ทำงานบกพร่อง
11. สูญเสียการตัดสินใจ
12. บางคนดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น หรืออาจมีการสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติดมากขึ้น
13. ผู้ป่วยที่มีโรคทางกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ในระยะนี้อาการอาจกำเริบแปรปรวน เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ปวดตามตัวหรือมีผื่นขึ้น ตื่นตระหนก ฯลฯ
14. เริ่มรู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่
- วิธีจัดการอารมณ์ และรับมือกับสถานการณ์ "โควิด" อย่างเข้าใจ
1. ติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็น
การติดตามข่าวสารในช่วงนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่อาจจะเช็คข่าวสักวันละครั้ง และเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น ประกาศของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ลดการเสพโซเชียลมีเดียที่อาจยังไม่ได้คัดกรองข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของ "ข่าวปลอม" หรือ "Fake news" ที่ยิ่งทำให้วิตกกังวลมากขึ้นไปอีก
2. ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
การระมัดระวังตัวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มั่นใจ และลดโอกาสในการติดเชื้อได้ จึงควรเว้นระยะห่างทางสังคม กินร้อน ช้อนกลางหรือช้อนส่วนตัว ล้างมือให้ถูกต้องตามขั้นตอน และสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นตลอดระยะเวลาที่วิกฤติยังไม่จบลง
3. ตรวจสอบอาการทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของตัวเองสม่ำเสมอ
เฝ้าระวังอาการซึมเศร้า การนอนที่ผิดปกติ การดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น หากมีอาการเหล่านี้จนถึงขั้นกระทบศักยภาพ หน้าที่การงาน หรือความสัมพันธ์ ควรพบแพทย์โดยเร็ว
4. ใช้ชีวิตอย่างปกติและมีคุณค่า
แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราก็จำเป็นต้องดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ แม้จะต้องหยุดงานกักตัวอยู่บ้าน 14 วันก็สามารถจัดการกิจวัตรแต่ละวันให้มีสุขภาพดีได้ อย่ามัวแต่จดจ่ออยู่กับข่าวจนป่วยทั้งใจและกาย
5. ไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
ความเครียดระยะยาวอาจทำให้เกิดภาวะท้อถอย หมดหวัง นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย เช่น การทำร้ายตัวเอง การลาออกจากงาน การย้ายที่อยู่ การหย่าขาดจากคู่สมรส การตัดสินใจผิดพลาดทางธุรกิจ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด เป็นต้น
การรู้เท่าทันตัวเองว่าอารมณ์ไม่ปกติ แล้วจะทำให้มีโอกาสตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่รอบคอบ ช่วยลดโอกาสในความผิดพลาดลง และลดความเครียดที่จะตามมาทีหลังได้ด้วย
แม้ "ความเครียด" จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่ทันทีความเครียดสะสม หรือเพิ่มขึ้นมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และสุขภาพกายตามมา ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้โรคต่างๆ รุกรานสุขภาพของเราได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น ในช่วงที่วิกฤติโรคระบาดยังไม่จบลง การดูแลตัวเองตัวเองทั้งมิติของสุขภาพกาย และสุขภาพใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ทั้ง 2 อย่างแข็งแรงและผ่านวิกฤติครั้งไปได้ด้วยดี
ที่มา: โรงพยาบาลกรุงเทพ