'วันครอบครัว' เทศกาล 'สงกรานต์' เปิด 5 กิจกรรมสำหรับทุกคนในบ้าน

'วันครอบครัว' เทศกาล 'สงกรานต์' เปิด 5 กิจกรรมสำหรับทุกคนในบ้าน

ส่องวิธีเสริมสร้างความสัมพันธ์รับ "วันครอบครัว" ช่วงเทศกาล "สงกรานต์" 2564 ที่ทุกคนออกไปเที่ยวสงกรานต์นอกบ้านไม่ได้เหมือยเคย แต่ยังสามารถทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันได้ในบ้าน ช่วยแก้เบื่อได้ดีแถมลดความเสี่ยง "โควิด-19"

เมื่อ "สงกรานต์" 2564 คนไทยไม่ได้เที่ยวสงกรานต์เหมือนเคย เพราะเกิดการระบาดของ "โควิด-19" ระลอก 3 หลายครอบครัวต้องหยุดอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยง และช่วยลดการแพร่ระบาด แต่จะอยู่บ้านเฉยๆ ก็คงน่าเบื่อ เนื่องใน "วันครอบครัว" ช่วงวันหยุดสงกรานต์ ชวนส่องกิจกรรมสนุกๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในบ้านได้ดี

มีข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ สมาชิกของครอบครัวใด ที่ได้อยู่ในครอบครัวอันอบอุ่น จะรู้สึกว่าอยากกลับบ้านเมื่อเลิกงานหรือเลิกเรียน อยากมีกิจกรรมร่วมกับคนที่บ้าน ในวันครอบครัวปีนี้ มีเทคนิคเพิ่มความรักเสริมความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวมาแนะนำ ได้แก่

  • "วันครอบครัว" ปีนี้ ชวนบอกรักคนในบ้าน

เมื่อเป็นคนครอบครัวเดียวกัน การสานสัมพันธ์ด้วยการแสดงออกถึงความรักจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแรง โดยอาจใช้คำพูดสั้นๆ จากปากของคนในครอบครัว เช่น เหนื่อยไหม กินข้าวหรือยัง ดูแลสุขภาพด้วยนะ เป็นห่วง ฯลฯ

ประโยคเหล่านี้มักจะทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการแสดงออกทางกาย เช่น การสวมกอด การหอมแก้ม การประคองผู้สูงวัยยามเดิน ฯลฯ

  • 5 กิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์รับ "วันครอบครัว"

ช่วงหยุดอยู่บ้านในสถานการณ์ "โควิด-19" ระลอก 3 แบบนี้ แนะนำให้หากิจกรรมทำร่วมกันบ่อยๆ สร้างกิจกรรมง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริมความผูกพันและความสามัคคี เช่น

1. จัดงานสังสรรค์รับสงกรานต์ 2564 หรือวันปีใหม่ไทย แต่ให้จัดทำที่บ้านตนเอง โดยอาจจะทำอาหารร่วมกัน แล้วนำมาล้อมวงกินข้าวด้วยกัน และเปิดเพลงเต้นรำกับคนในครอบครัว

2. ชวนกันไปออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพดีทั้งครอบครัว

3. ช่วยกันปลูกต้นไม้ยามว่าง สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มออกซิเจนในบ้าน

4. เล่นเกมฝึกสมอง เช่น บอร์ดเกมต่างๆ บางเกมเล่นง่ายๆ สามารถเล่นได้ทั้งครอบครัวตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยสูงอายุ

5. วิดีโอคอลหาญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ โดยพูดคุยผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์กันทั้งครอบครัว เพื่อแสดงให้ญาติผู้ใหญ่รับรู้ถึงความห่วงใย แม้เดินทางไปหาไม่ได้เหมือนเดิม แต่ยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ 

  • รู้จักชื่นชมกันและกันภายในครอบครัว

การชื่นชมเป็นการสร้างเสริมกำลังใจที่ดีเยี่ยม ครอบครัวยุคก่อนพ่อแม่หลายคนอาจมีความเชื่อว่าถ้าชมลูกบ่อยๆ  เด็กจะเหลิง อาจกลายเป็นคนไม่ดีได้ ทำให้พ่อแม่ไม่ชื่นชมเมื่อลูกกระทำสิ่งที่ดี ส่งผลให้เด็กขาดกำลังใจ ซึ่งโดยทั่วไปคนเราต้องการคำชมเชยในหลายจังหวะของชีวิต วิธีการชื่นชมง่ายๆ มีดังนี้  

- ชมพฤติกรรมดีๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่

- ชมพฤติกรรมที่ทำได้ดี โดยชมทีละ 1 พฤติกรรม

- ชมพฤติกรรมนั้นอย่างจริงใจ

- ชมเฉพาะสิ่งที่ควรชม ไม่ชมมากเกินกว่าความเป็นจริง

  • ติเพื่อก่อ ไม่ใช่ติจนให้เสียใจหรือซ้ำเติมความผิด

คนส่วนใหญ่ไม่ชอบฟังคำติเตียน บรรดาลูกๆ ก็เช่นกัน การติที่ไม่เหมาะสมของพ่อแม่มักจะทำให้เกิดผลเสียหายตามมา แต่การติในเชิงสร้างสรรค์มีประโยชน์ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีได้ สำหรับวิธีการติเพื่อก่อ ลองทำตามนี้

- ต้องแน่ใจว่าลูกสนใจที่จะรับฟังคำติ พร้อมที่จะรับฟัง

- เรื่องที่จะติต้องเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว

- สิ่งที่จะติต้องเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้

- พูดถึงพฤติกรรมที่ติให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม

- อย่าลืมแนะแนวทางแก้ไขให้ลูกรู้ด้วยว่าควรทำอย่างไร

- ไม่สมควรติเตียนลูกต่อหน้าคนอื่น

- เลือกเวลาและจังหวะที่เหมาะสม ดูว่าลูกไม่ได้อยู่ในอารมณ์เสียใจหรืออารมณ์โกรธอยู่

สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การรับฟังความคิดเห็นของคนในครอบครัว เพราะการช่วยเหลือ สนับสนุนกันอย่างมีเหตุผลจะช่วยสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้น

-------------------------

ที่มา : สสส. - เทคนิคเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว