'ความสุข' มาจาก 'เงิน' หรือ 'เวลา'?
หากนั่งทบทวนตัวเอง หลายคนอาจตั้งคำถามขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วระหว่างทรัพย์สิน "เงิน" ทองที่เพิ่มมากขึ้นกับการมี "เวลา" เพิ่มมากขึ้นในชีวิต อย่างไหนนำไปสู่ความสุขมากกว่ากัน? แล้วการมีเงินเพื่อซื้อเวลาจะทำให้เกิดความสุขได้หรือไม่?
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายท่านต้องอยู่บ้านมากขึ้นและเป็นโอกาสอันดีที่จะมาทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข คำถามคลาสสิกหนึ่งที่อาจจะวนเวียนอยู่ในใจหลายๆ ท่านก็คือ ระหว่างทรัพย์สินเงินทองที่เพิ่มมากขึ้นกับการมีเวลาเพิ่มมากขึ้นในชีวิต อย่างไหนนำไปสู่ความสุขมากกว่ากัน?
การมีเงินเป็นสิ่งที่สำคัญและช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อมีทรัพย์สินเงินทองเพียงพอสำหรับการดำรงชีพแล้ว ระหว่างการหาเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับการมีเวลาที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยใดที่ทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่ากัน
ในหนังสือเล่มชื่อ Time Smart เขียนโดย Ashley Whillans ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่ Harvard Business School ผู้เขียนได้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่ความสุขว่าเป็นเรื่องของการมีเงินมากขึ้น หรือมีเวลามากขึ้น และพบว่าสำหรับคนส่วนใหญ่นั้นเงินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ขณะเดียวกัน ค่านิยมของสังคมก็มักจะใช้เงินเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดความสำเร็จ นอกจากนี้เงินเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าเวลา เช่น การมีเงินเพิ่มขึ้น 100,000 บาท ย่อมวัดและจับต้องได้ชัดเจนกว่าการมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น 3 ชั่วโมง อีกทั้งมักจะมีทัศนคติว่าการทำงานหนักเพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ ก็เพื่อที่จะได้มีเวลาว่างและมีความสุขในภายหลัง
จากสาเหตุข้างต้นทำให้คนส่วนใหญ่ให้คุณค่าและความสำคัญต่อเงินมากกว่าเวลา อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยของผู้เขียนกลับให้ผลกลับกัน นั้นคือพบว่าคนที่ให้ความสำคัญกับเวลามากกว่าเงิน จะเป็นผู้ที่มีความสุขกว่า เครียดน้อยกว่า มีสุขภาพที่ดีกว่า มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบข้าง อีกทั้งยังเป็นคนที่มีผลิตภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากกว่าด้วย
อย่างไรก็ดี ความยากคือในปัจจุบันที่มีเรื่องต่างๆ เข้ามาในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกคล้ายๆ กันว่าในแต่ละวันมีสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำอยู่มากมาย เวลาที่มีอยู่ในแต่ละวันนั้นไม่เพียงพอต่อกิจกรรมและสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำ
การจะทำให้มีเวลาเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่ความสุขที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ยากแต่จะต้องมีวินัยและจิตใจที่เข้มแข็งพอสมควร เริ่มจากการปิดกั้นตนเองจากการถูกรบกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ทำงานที่สำคัญ เพราะเมื่อถูกรบกวนแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นจากไลน์ อีเมล หรือการเข้ามาชวนพูดคุยจากคนรอบข้าง) จะทำให้สมาธิหลุดจากสิ่งที่สำคัญและจากงานวิจัยพบแล้วว่าจะต้องใช้เวลาถึง 19 นาที ในการทำให้สามารถมีสมาธิและกลับมามุ่งเน้นในงานที่สำคัญดังกล่าวได้ใหม่
การมีสมาธิและสามารถทำงานที่สำคัญ (งานที่สำคัญไม่ได้หมายถึงงานที่ด่วน) ให้สำเร็จได้นั้นจะสามารถช่วยประหยัดเวลาในชีวิตไปได้ และทำให้แต่ละคนมีเวลาเพิ่มขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้การรู้จักที่จะปฏิเสธผู้อื่น โดยเฉพาะกับสิ่งที่มาโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า คำขอร้องจากผู้อื่น หรือมาแบบกะทันหัน และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้สามารถเพิ่มเวลาในแต่ละวันได้โดยไม่รู้ตัว
อีกแนวทางหนึ่งคือการใช้เงินเพื่อซื้อเวลา กิจกรรมหรืองานบางอย่างที่ไม่สำคัญหรือไม่ทำให้เกิดความสุข ก็อาจจะสามารถจ้างให้ผู้อื่นมาทำแทนได้ เช่น บางคนที่ไม่ชอบชอปปิง ก็สามารถจ้างให้ผู้อื่นไปซื้อสินค้าที่จำเป็นแทนได้ และถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น แต่ตัวเลขดังกล่าวก็จะคุ้มเมื่อการจ้างให้ผู้อื่นทำนั้น ทำให้มีเวลาและนำไปสู่ความสุขที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การเสียเวลาในการหาของที่ถูกที่สุด เช่น การเปรียบเทียบราคาจากร้านหลายๆ ร้าน หรือขับรถวนเพื่อหาสถานีบริการน้ำมันที่ถูกที่สุด หรือเช็คจากหลายๆ แอพฯเพื่อหาร้านที่ราคาถูกสุด ถึงแม้จะช่วยประหยัดเงินได้จริง แต่ก็ทำให้มีการสูญเสียของเวลาไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นต้องเป็นของที่ถูกที่สุด แต่สามารถประหยัดเวลาในชีวิตไปได้ และทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นก็อาจจะคุ้มมากกว่า
สรุปคือถ้าเอาใจใส่กับเรื่องเวลาอย่างดี จะทำให้มีเวลาในชีวิตมากขึ้นและมีความสุขเพิ่มขึ้น