‘ผัก’ 7 ชนิด ที่เจ้าของ ‘สุนัข’ ควรรู้ว่าน้องหม่ำได้
“ผัก” หลายชนิดที่ “สุนัข” กินได้โดยไม่เป็นอันตรายหากได้ในปริมาณเหมาะสม แต่ถ้าน้องหมาชอบกินผักมาก ต้องดูว่าเป็นชนิดใด เพราะสารอาหารในผักบางชนิดเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
คนรัก สุนัข และตั้งใจเลี้ยงด้วยความเอาใจใส่ ย่อมต้องพาไปตรวจสุขภาพ รับวัคซีนตามอายุ สังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับสุนัข มีขี้ตา ขนร่วงมาก มีอาการซึมๆ หรือไม่ เป็นต้น
โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน น้องหมาผอมไปไหม อ้วนเกินไปไหม น้ำหนักตัวมากๆ จะทำให้มีปัญหาข้อขารับน้ำหนักไหม
เดี๋ยวนี้บริษัทผู้ผลิตอาหารสุนัข มีการออกผลิตภัณฑ์แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งแบบเฉพาะสายพันธุ์ อาหารสำหรับคุมน้ำหนัก อาหารสำหรับสุนัขทำหมันแล้ว อาหารบำรุงขน ฯลฯ
สิ่งหนึ่งที่คนเลี้ยงสุนัขอย่างเราๆ น่าจะคุ้นเคยกับการทำการบ้าน ว่าสัตว์เลี้ยงของเรากินอะไรได้บ้างหรือไม่ควรกินอะไรบ้าง เพราะเศษอาหารดีๆ บนโต๊ะอาหารของคนที่กินไม่หมด(หรือจงใจกินไม่หมด) เจ้าของก็มักอยากเผื่อแผ่ไปถึงน้องๆ ที่เลี้ยงไว้
แน่นอนว่าเจ้าของทุกคนมีความต้องการให้สัตว์เลี้ยงของเรามีสุขภาพดี ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน หลายๆ ครั้งเราจึงสรรหาอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ มาเพิ่มเติมให้น้องหมากิน
บ่อยครั้งเรามักปรึกษาสัตวแพทย์ด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับการให้สุนัขกิน ผัก ว่ามันเป็นอันตรายหรือไม่ ทำอย่างไรให้น้องหมากินผักได้ เพราะเราเปรียบเทียบระบบขับถ่ายของเราเองกับระบบขับถ่ายของสุนัขโดยคิดเอาเองว่าน่าจะใกล้เคียงกัน ยกเว้นสุนัขบางตัวที่มีนิสัยชอบกินผักและผลไม้เอามากๆ เจ้าของยื่นให้ทีไรก็กินทุกที มีข้อควรระวังอย่างไรหรือไม่
วันนี้เราได้รวบรวมคำถามเหล่านั้นไปถามความเห็นของ นายสัตวแพทย์ ป้อมเพชร นพคุณวิจัย ที่ปรึกษาด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ทุกคนคลายข้อข้องใจกัน
แค่เราค้นคำว่า “ผักที่น้องหมาห้ามกิน” หรือค้นหาคำที่ใกล้เคียงนี้ ก็จะมีข้อมูลเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้รวมถึงอาหารอื่น โดยบทความจาก American Kennel Club ได้กล่าวถึง เมล็ดแอปเปิ้ล องุ่น อโวคาโด หัวหอม กระเทียม และ เชอร์รี ว่าเป็นสิ่งที่ ห้ามกินโดยเด็ดขาด อันตรายที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะมีเจ้าของบอกว่าเคยให้กินแล้วไม่เห็นเป็นอะไร แต่ในความเป็นจริงหากให้กินมากหรือนานกว่านั้นก็อาจเป็นอันตรายได้
ผักที่มีประโยชน์ในเชิงสุขภาพ ซึ่งหาได้ง่ายในประเทศไทย โดยมีข้อมูลจากคลินิกโภชนาการ ที่มีการสอบถามถึงชนิดของผักที่เจ้าของเลือกให้บ่อย ๆ มี ผักหลายชนิดที่สุนัขกินได้โดยไม่เป็นอันตรายหากได้ในปริมาณที่เหมาะสม ประกอบด้วย ผัก 7 ชนิด ได้แก่
- บร็อคโคลี
- กะหล่ำปลี
- ผักกาดขาว
- ดอกกะหล่ำ
- ฟักทอง
- แครอท
- ถั่วฝักยาว
ผัก 7 ชนิดดังกล่าว ล้วนเป็นผักที่สามารถให้สุนัขกินได้ แต่อาจต้องจำกัดปริมาณกันสักนิด เนื่องจากผักแต่ละชนิดก็ให้พลังงานมากน้อยต่างกัน
ผักมีประโยชน์หลากหลาย เช่นมีวิตามินและแร่ธาตุสูง บางชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระ และบางชนิดมีใยอาหารสูงเพื่อช่วยให้อิ่มท้องแถมยังเป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารในการบีบตัวอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยให้จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย
ความชอบของน้องหมาแตกต่างกัน ถ้าน้องหมาไม่ชอบกินผัก และให้อาหารที่ครบถ้วนอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนให้น้องกินผักเพิ่มเติม เนื่องจากในอาหารที่ให้นั้นมีใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุอย่างเหมาะสมและเพียงพอแล้ว
ในทางตรงข้าม ถ้าน้องหมาชอบกินผักมาก อาจต้องดูว่าเป็นชนิดใด และให้กินมากน้อยแค่ไหน เช่นการให้กินแครอท และ ฟักทอง นั้นดีต่อสุขภาพ แต่ก็ทำให้อ้วนได้ ในกรณีการให้ ผักโขม คะน้า หรือ ผักที่มีใบเขียวเข้มมากเกินไป ก็จะทำให้ได้รับ ออกซาเลท (Oxalate) สูง ซึ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้
ผลสำรวจจาก Minnesota Urolith Center ชี้ให้เห็นว่า การเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ สามารถเกิดจากการได้รับสารบางอย่างที่มากเกินไปหรือการขับน้ำในระบบปัสสาวะก็ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ว่านี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกหากน้องหมามีน้ำหนักตัวมากเกินหรืออ้วนเกินไปนั่นเอง
ดังนั้นการให้ผักเพิ่มเติมจากอาหารที่ให้ในแต่ละวันก็จะต้องคำนึงถึงสารอาหารที่สุนัขจะได้รับเพิ่มขึ้นจากความจำเป็นอีกด้วย
นายสัตวแพทย์ป้อมเพชร นพคุณวิจัย สัตวแพทย์ประจำคลินิกโภชนาการในโรงพยาบาลสัตว์หลายแห่ง ซึ่งมีความสนใจและมีประสบการณ์ด้านการจัดการโภชนาการให้น้องหมาน้องแมวมากว่า 10 ปี อีกทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรของมหาวิทยาลัยและงานประชุมวิชาการต่าง ๆ ที่มีหัวข้อเรื่องโภชนาการและโรคที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า
“ถ้าจะว่ากันตรง ๆ แล้ว การให้ผักอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย หากน้องหมาได้รับอาหารที่ครบถ้วนและสมดุลอยู่แล้ว แต่ในบางกรณีที่น้องหมามีความต้องการพิเศษ เช่นเป็นโรคบางโรคหรืออาหารที่มีในท้องตลาดไม่สามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพได้อย่างครบถ้วน คุณหมอก็อาจจะแนะนำผักบางชนิดได้เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายด้านพืชพรรณธัญญาหาร จึงมีความเป็นไปได้ที่เจ้าของจะลองให้กินอะไรแปลกใหม่ โดยผักหลายชนิดไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายเลย ในขณะที่ผักบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวโดยต้องมีการสะสมในร่างกายเสียก่อน”
กล่าวโดยสรุปคือ การให้ สุนัขที่ชอบกินผัก ได้กินผักอร่อยๆ ที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ ในปริมาณเล็กน้อยโดยหากรวมกับปริมาณของขนมน้องหมาแล้ว ไม่ควรเกิน 5-10% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ประกอบกับการให้มื้ออาหารหลักที่มีสารอาหารที่ ครบถ้วน-สมดุล ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อสุขภาพ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ