รู้จัก 'นกบินอิสระ' อยาก 'เลี้ยงนก' ให้มีสวัสดิภาพที่ดี ต้องมีอะไรบ้าง?
ทำความรู้จักการเลี้ยง "นกบินอิสระ" พร้อมแชร์ประสบการณ์จากคู่รัก ที่คลั่งไคล้นกบินอิสระ ถึงสุนทรียของการเลี้ยง "นก" ที่ไม่ได้เป็นแค่ "สัตว์เลี้ยง" พร้อมคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเลี้ยงต้องเตรียมตัว
เมื่อพูดถึงการ “เลี้ยงนก” ภาพในจินตนาการก็คงหนีไม่พ้นนกเกาะอยู่ในกรงสวยๆ มีน้ำและอาหารเตรียมพร้อมเอาไว้ให้ เดินไปทักทาย หรือพาออกมาบินเล่นบ้าง แล้วกลับเข้าไปอยู่ในกรงใหม่ในที่ปลอดภัยอีกครั้ง
แต่นั่นคือการเลี้ยงนกตามปกติทั่วไป ที่หลายคนคุ้นเคย แต่แทบจะตรงกันข้ามกับการเลี้ยง “นกบินอิสระ”
การเลี้ยงนกบินอิสระคือการเลี้ยงนก ที่มีการฝึกฝนให้นกได้ออกโบยบินในพื้นที่กว้างได้อย่างอิสระและสามารถกลับมาที่บ้านของตัวเองได้ หรือกลับมาตามคำสั่งของเจ้าของได้ คล้ายกับการฝึกสุนัขให้ทำตามสั่ง ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในบ้านเรา จนถึงขั้นมีการจัดการแข่งขันที่เรียกว่า มหกรรมแข่งขันกีฬานกบิน
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” เก็บตกงานมหกรรมแข่งขันกีฬานกบิน ชิงแชมป์ประเทศไทย 2563 (Thailand Grand Flight Championship 2020) ที่จัดขึ้นเมื่อ 19–20 ธ.ค. 63 ณ แหลมบาลีฮาย พัทยา จังหวัดชลบุรี ที่จัดโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, เมืองพัทยา,สมาคมนักธุรกิจ และการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และ หจก.ภมรชัย ซัพพลาย
ความน่าสนใจคือบรรยากาศภายในงานคึกครื้น มีเสียงร้องของนกสารพัดชนิด ที่ล้วนแล้วแต่ถูกฝึกเป็นนกบินอิสระมาแล้วทั้งสิ้น โดยมีคนเลี้ยงนกบินอิสระที่ร่วมเข้าแข่งแข่งกว่า 1,000 ตัว จากทั่วประเทศ
จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าความนิยมนกบินอิสระเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างไร แล้วอะไรทำให้มีคนเลี้ยงนกบินอิสระเยอะขนาดนี้ จึงถือโอกาสเก็บบรรยากาศและไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงนกบินอิสระไปพร้อมๆ กัน
เชษฐ์ พจนายน และ ชนกพร เจริญสุทธิโยธิน จาก Parrots's Paradise Club หนึ่งในผู้นำนกเข้าแข่งขันบินในครั้งนี้ เล่าถึงสาเหตุที่คลั่งไล้นกบินอิสระที่มีนกเกือบร้อยตัว หลากหลายสายพันธุ์ไว้ในครอบครอง
จุดเริ่มต้นของความคลั่งไคล้การเลี้ยงนกบินอิสระของทั้งคู่ว่า เริ่มต้นจากการได้นกหงส์หยกมาจากคนรู้จักด้วยความบังเอิญ พอได้เริ่มเลี้ยงนกหงส์หยกตัวนั้นก็ได้รู้ว่านกหงส์หยกคือนกแก้ว ชนิดหนึ่ง และพบว่าในต่างประเทศมีการฝึกบิน ก่อนค่อยๆ ซื้อนกพันธุ์อื่นๆ เช่น นกแก้วซันคอนัวร์ มาเลี้ยงและฝึกบินอิสระด้วย
- นกบินอิสระคืออะไร ฝึกอย่างไร
เชษฐ์ เล่าว่า การฝึกนกบินอิสระจะเหมือนการยืนด้วยขาสองข้างนั่นก็คือ “ความสัมพันธ์” และ “รางวัล”
ความสัมพันธ์ ณ ทีนี้ คือความสัมพันธ์ของการเลี้ยงนกบินอิสระหมายถึงการที่ทำให้นกไว้วางใจและมองว่าเราเป็นจ่าฝูง เพราะนกเป็นสัตว์สังคมและอยู่กันเป็นฝูง ดังนั้น ถ้าเราทำตัวเป็นศูนย์กลางของนกได้เขาจะเชื่อฟัง และอยู่กับเรา ไม่ไปไหน
ส่วนคำว่า รางวัล ณ ทีนี้ เชษฐ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า หลายคนใช้วิธีการฝึกเหยี่ยวเข้ามาเป็นตัวช่วย คือ ใช้วิธีให้กินอาหารไม่อิ่ม เหมือนเรากินข้าวจานเดียวแล้วยังอยากกินขนมต่อ ทำให้นกยอมทำตามคำสั่ง หรือเชื่อฟัง
ซึ่งส่วนตัวใช้เรื่องความสัมพันธ์อย่างเดียวก็สามารถฝึกฝนได้ โดยพิสูจน์แล้วว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถฝึกยกบินอิสระได้ จากการฝึกกระตั้วดำที่ถือว่ายากที่สุดในโลก
“ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดี ก็สามารถฝึกง่าย สร้างความสัมพันธ์ กระตั้ว มีลักษณะนิสัยที่ฝึกยากที่สุด ในโลก ไม่เคยมีใครปล่อยบินได้จริงๆ แต่นี่คือข้อพิสูจน์ว่าความสัมพันธ์ที่ดีสามารถฝึกได้ฝึกยาก ปล่อยบินได้” ชนกพร กล่าว
- อยากเลี้ยงนกบินอิสระ เริ่มต้นอย่างไร
ทั้ง 2 คนช่วยแชร์เทคนิคการเลือกนกที่จะนำมามาแบบบินอิสระและการเตรียมตัวว่า
1. หานกที่อยากเลี้ยงจริงๆ
เร่ิมจากหานกที่ชอบจริงๆ ก่อน เช่น ให้ลองไปตามชมรมนกบินต่างๆ เข้าไปสัมผัสดูก่อนว่านกที่เราอยากจะเลี้ยงเป็นอย่างที่เราคิดไหม เช่น ประสบการณ์ส่วนตัว เห็นนกแก้วมาร์คอว์เห็นครั้งแรกไม่คิดเลยว่าสัมผัสแล้วจะเหมือนไก่ หยาบๆ หรือนกบางชนิดนิ่มเหมือนกำมะหยีเลย ลองสัมผัสดูก่อนก็จะรู้ความแตกต่าง และเรียนรู้ว่านิสัยของเขาเป็นอย่างไร เช่น เสียงดัง ต้องการให้เอาใจมากๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของนกได้อย่างเหมาะสมและมีความสุขทั้ง 2 ฝ่าย
2. เช็คความพร้อมของตัวเอง
เมื่อเรารู้แล้วว่านกแก้วสายพันธุ์ไหนที่อยากเลี้ยง เราค่อยมาศึกษาว่าแล้วพิจารณาสิ่งที่เขาต้องการ เช่น อาหาร สถานที่ ค่าใช้จ่าย ค่าอาหารที่จะตามมา ถ้าศึกษาแล้วว่าสายพันธุ์ที่เราชอบและอาหารสถานที่พร้อมทุกอย่างเราก็สามารถเลี้ยงได้เลย
“ไม่อยากให้เลี้ยงเพราะกระแส หลายคนคิดว่าบินอิสระได้เลยเอามาเลี้ยง แต่พอมาเลี้ยงจริงๆ มาพบทีหลังว่ามันต้องการเวลาเยอะ ดูแลไม่ได้ สุดท้ายต้องขายน้องทิ้ง น่าสงสารเพราะเขารักเจ้าของ เขาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวไปแล้ว”
ส่วนเรื่องอาหาร เชษฐ์ และ ชนกพร แนะนำว่า อาหารนกที่ดีที่สุดคืออาหารสำเร็จรูปเพราะเขาผ่านการวิจัยมาแล้วว่านกแก้วแต่ละสายพันธต้องการสารอาหาร เช่น โปรตีน กี่เปอร์เซ็นต์เพื่อให้เหมาะกับสายพันธุ์ โดยเราสามารถเสริมผลไม้เข้าไปได้ เช่น กล้วย ฝรั่ง มะละกอ แตงโม แอปเปิ้ล ฯลฯ
ทั้งนี้ ต้องศึกษาและระวังอาหารที่ไม่ควรให้อย่าง เมล็ดเชอรี่และแอปเปิล เพราะมีไซยาไนส์ อะโวคาโด ทุเรียน หรือผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงมากๆ อาหารคนที่มีเกลือเยอะ ขนมสำเร็จรูป หรือแม้แต่พวกถั่วหรือธัญพืชอบเกลือ ช็อกโกแลต กาแฟ ที่อาจทำให้ใจเต้นเร็วและมีการช็อกได้
- "เลี้ยงนกบินอิสระ" แล้วได้อะไร?
การเลี้ยงนกบินอิสระ ไม่ได้เป็นแค่เพื่อนแก้เหงาของมนุษย์ แต่ยังเป็นไลฟ์สไตล์หนึ่งที่ช่วยเติมเต็ม หรือเพิ่มสีสันในชีวิตให้กับคนเลี้ยงและครอบครัวได้ด้วย
เชษฐ์ เล่าว่า “มีรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า ไปหานกมาเลี้ยงแล้วก็ดีขึ้น เราจะได้รับความรักจากนกกลับมาแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีค่าขึ้น หลักการเดียวกับการเลี้ยงสุนัขเลยครับ”
ชนกพร เสริมเรื่องข้อดีและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากเริ่มเลี้ยงนกว่า “นกทำให้เปิดโลก คนเราสมัยนี้ทำงาน อาจจะเจอแค่เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสมัยเรียน แต่ว่าการที่เลี้ยงนกทำให้เราเกิดสังคมๆ หนึ่งจากที่ไม่เคยรู้จักกัน ได้มารู้จักกันผ่านโซเชียลมีเดีย มีการช่วยเหลือกันระหว่างคนรักนก มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น ได้ไปเที่ยวที่ใหม่ๆ ไปต่างจังหวัดก็พานกไปบินได้
นอกจากนี้ มันเปลี่ยนบุคลิกคนได้เลย บางคนเคยเป็น Introvert แต่พอถือนกไปคนก็จะเข้ามาคุย บางคนเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี พัฒนาบุคลิกภาพ เช่น จากเมื่อก่อนพูดไม่เก่ง ก็กลายเป็นคนพูดเก่งไปเลย”
ยิ่งไปกว่านั้น นกบินอิสระยังต่อยอดเป็นคอมมิวนิตี้ที่กำลังเติบโตในไทย ต่างประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา และจีน ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต