21 เมษายน กำเนิด ‘กรุงเทพมหานคร’ จากวันนั้นถึงวันนี้ 239 ปี

21 เมษายน กำเนิด ‘กรุงเทพมหานคร’ จากวันนั้นถึงวันนี้ 239 ปี

21 เมษายน ตรงกับวันก่อตั้ง "กรุงเทพมหานคร" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 6.54 น. หรือเมื่อ 239 ปีที่ผ่านมา ชวนรู้จักต้นกำเนิดเมืองฟ้าอมรของไทยให้มากขึ้น

รู้หรือไม่? วันที่ 21 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันกำเนิดเมืองหลวงของไทย นั่นคือ "กรุงเทพมหานคร" โดยมีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 6.54 น. จากวันนั้นถึงวันนี้กรุงเทพฯ ก็มีอายุครบ 239 ปีแล้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จักที่มาและต้นกำเนิดเมืองฟ้าอมรของไทยให้มากขึ้น

1. กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงและนครที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงิน การธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญของประเทศ ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

2. ก่อตั้ง "ยกเสาหลักเมือง" ณ 21 เม.ย. 2325

ย้อนกลับไปในสมัยที่เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นมีการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขต หากข้าศึกยกมาถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา

พระองค์ทรงประกอบ “พิธียกเสาหลักเมือง” เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54 นาที) ปีขาล จ.ศ.1144 จัตวาศก ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น. และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325

161893745834

3. สมัยก่อนเรียกเมืองหลวงว่า "บางกอก"

พื้นที่ของเมืองหลวงแห่งนี้ แต่เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า "บางกอก" มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มาของคำว่า "บางกอก" นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก" หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า "บางมะกอก" ต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า "บางกอก"

4. รัฐบาลจอมพลถนอม ตั้งชื่อเมืองหลวง "กรุงเทพมหานคร"

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ 

5. "กรุงเทพมหานคร" แปลว่าพระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร

ต่อมามีการตั้งชื่อเมืองว่า "กรุงเทพมหานคร" แปลว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร" มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

161893745856

6. กรุงเทพมหานครเป็น "เอกนครที่สุดในโลก"

กรุงเทพมหานคร เป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย ไม่ได้มีสถานะเป็นจังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตร.กม. มีประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 6 ล้านคน ทำให้กรุงเทพมหานครจัดเป็นเอกนคร (Primate City) มีผู้กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็น "เอกนครที่สุดในโลก" เพราะมีประชากรมากกว่านครที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ถึง 40 เท่า อีกทั้งเป็นเมืองที่มีตึกระฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี พ.ศ.2563 

7. กรุงเทพฯ เคยเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 ของโลก

ในปี พ.ศ. 2562 นิตยสารฟอบส์ นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินชื่อดังสัญชาติอเมริกัน ได้จัดอันดับกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นลำดับที่ 1 ของโลก โดยมีนักเดินทางเข้ามากว่า 22.78 ล้านคน และทำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 2,003 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากดูไบและเมกกะตามลำดับ