พอร์ตชีวิต

เปิดแนวทางการจัด "พอร์ตชีวิต" ที่ต้องเริ่มต้นจากการจัดพอร์ตเวลาที่ใช้ไปกับการทำงาน ตามด้วยพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมไปถึงการจัดการเศษของเวลาที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน เมื่อคราวที่แล้วผมเขียนเรื่องของเศษของเวลาและเศษของเงิน ว่าเราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันได้

หากเราสามารถปรับวิธีการใช้หรือบริหารจัดการเวลาหรือเงินที่เราคิดไม่เคยมองเห็นค่าของมันเสียใหม่ คราวนี้ผมเลยอยากต่อยอดจากแนวคิดดังกล่าวให้กว้างขึ้นไปอีกสักหน่อย ทั้งเรื่องของเวลาและเงินของเรา

ในความเป็นจริงแล้วในวัยทำงานของเรานั้น เรามีพอร์ตการลงทุนอยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งพอร์ตโดยที่เราอาจไม่ได้สังเกตหรือสนใจ พอร์ตแรกคือ “พอร์ตเวลา” ที่เราใช้ไปกับการทำงาน โดยพอร์ตนี้มีสินทรัพย์คือ ตัวเราและเวลาของเราที่เราใช้เพื่อสร้างรายได้หลักไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเงินเดือน หรือรายได้อื่นๆ ส่วนพอร์ตที่สองคือ “พอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ในกรณีที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือน ส่วนพอร์ตที่สามหรือสี่นั้นขึ้นอยู่กับจัดการเวลาที่เหลือหรือเงินที่เหลือของเราอย่างไร

ในส่วนของพอร์ตที่สร้างรายได้หลักของเรานั้น ปัจจัยที่สร้างผลตอบแทนนั้นมักจะมาจากความสามารถของเราทั้งจากสิ่งที่เราได้เรียนมา ประกอบกับทักษะเฉพาะของเราทั้งในด้านฮาร์ดสกิลและซอฟท์สกิล รวมถึงอุตสาหกรรมหรือองค์กรที่เราทำงานอยู่ โดยหากเราอยากเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตนี้ เราต้องอาศัยความขยัน หรือหาทางเพิ่มทักษะให้ตรงกับงานที่เราทำอยู่ในปัจจุบันหรือทักษะที่จำเป็นที่จะทำให้เราเติบโตในหน้าที่ของเราให้เหนือกว่าค่าเฉลี่ยหรือความคาดหวังของหัวหน้าหรือองค์กร

การปรับวิธีการคิดหรือ Mindset ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทดลองนำสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาใช้ในการทำงานหรือรู้จักแก้ไขจุดด้อยของเราเช่น หากรู้ว่าเรามีจุดด้อยในเรื่องทักษะประเภทฮาร์ดสกิล ก็ควรขวนขวายหาความรู้ในเรื่องนั้น ๆเพิ่มเติม หรือถ้าจุดอ่อนของเราอยู่ในซอฟท์สกิลก็ควรหาทางเรียนรู้ในทักษะนั้นๆและนำมาปรับใช้ ประกอบกับการทุ่มเทให้กับงานที่ทำ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ผลของงานของเราที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเกินกว่าความคาดหวังของหัวหน้า เมื่อนั้นผลตอบแทนจากการปรับขึ้นเงินเดือนหรือโบนัสก็จะมากขึ้น

ในส่วนที่สองคือเรื่องของอุตสาหกรรมหรือองค์กรที่เราทำอยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อผลตอบแทนทั้งในปัจจุบันหรืออนาคตเช่นกัน แม้ว่าเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยที่สองได้โดยตรงเหมือนกับที่เราสามารถปรับปรุงตัวเองแต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่า อุตสาหกรรมหรือองค์กรที่เราทำงานอยู่ไม่เหมาะสม เราอาจพิจารณาเปลี่ยนงานที่เราคิดแล้วว่าดีกว่าได้

ในพอร์ตที่สองหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรานั้น แม้ว่าเราได้เลือกให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรารับได้แล้วก็ตาม แต่ในภาวะปัจจุบันหรือในอนาคตที่ค่อนข้างมีความไม่แน่นอนสูง เราอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนทั้งในแง่ของสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจหรือปรับเปลี่ยนไส้ในหรือสินทรัพย์ที่เราเลือกลงทุน โดยส่วนใหญ่แล้ว บลจ.ที่บริหารกองทุนมักจะให้เราปรับเปลี่ยนได้อย่างน้อยปีละ 4 ครั้งซึ่งก็พอเพียงแล้ว หรือมักจะมีกองทุนหลากหลายประเภทให้เราได้เลือกลงทุน เช่น กองทุนหุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ เป็นต้น

ในพอร์ตที่สามของเรานั้น ผมขอยกเรื่องของเงินที่รายได้ที่เหลือหลักหักค่าใช้จ่ายซึ่งหากเราไม่เคยสนใจในพอร์ตนี้โดยทิ้งไว้ในบัญชีเงินฝาก เราสามารถนำมาเพิ่มผลตอบแทนได้ง่ายๆ โดยการเริ่มวางแผนและนำเงินส่วนนี้มาลงทุนโดยอาจแบ่งเป็นเงินเพื่อเป้าหมายเกษียณ หรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรเป็นต้น

หากยังมีส่วนที่เหลือเราสามารถนำมาลงทุนได้อย่างอิสระมากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้น หรือในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง (แต่ความผันผวนก็สูงตามด้วย) แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าเรามีอิสระกับเงินส่วนนี้เพราะเราได้จัดสรรเงินไปยังส่วนที่สำคัญอื่นๆแล้ว หรือเราอาจเพิ่มเงินส่วนนี้จากการจัดการค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นดังในบทความที่แล้วเรื่องเศษของเงินเราก็จะได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากพอร์ตที่สามของเรา

ในพอร์ตที่สี่นั้นอาจมองไม่ชัดเหมือนพอร์ตที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะมันเป็นพอร์ตที่เราต้องสร้างมันขึ้นมาจากเวลาที่เราไม่ได้ใช้ไปกับงานประจำหรืองานหลัก(ในกรณีของฟรีแลนซ์) และจากเวลาที่เราไม่สามารถจัดการได้ เช่น การเดินทาง หรือการนอน ซึ่งหากเรามีเศษของเวลาที่เราสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในบทความที่แล้วเราสามารถนำมาใช้ในการอ่านหนังสือ เรียนออนไลน์ เราก็สามารถนำเวลาส่วนนี้มาสร้างเป็นงานที่เกิดรายได้ เช่น การเขียนบล็อค การทำยูทูป การทำอาหาร เป็นต้น เราก็จะสามารถมีพอร์ตการลงทุนที่สี่ได้ แม้ว่าในช่วงแรกมันอาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูง (หรืออาจไม่มีรายได้เลย) เหมือนงานประจำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหากเราทำไปอย่างต่อเนื่องและรู้จักปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม ผลตอบแทนจากพอร์ตนี้ก็จะเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน

ท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนครับ