‘วันทอง’ มุม 'พิมพ์มาดา' คนเขียนบท ขอแก้ต่างหญิงที่ถูกตีตราว่าสองใจ

‘วันทอง’ มุม 'พิมพ์มาดา' คนเขียนบท  ขอแก้ต่างหญิงที่ถูกตีตราว่าสองใจ

‘วันทองตอนจบ เรตติ้งถึง 7.8 สูงสุด ตั้งแต่เปิดสถานีช่อง One 31 และอาจจะเป็นละครที่มีเรตติ้งสูงสุดของปี 2564 แล้วคนเขียนบทต้องการสื่อเรื่องใด

"ละครเรื่อง ‘วันทอง’ โดนใจคนในสังคมส่วนใหญ่ อาจจะเป็นเพราะมีเหตุการณ์ที่เปรียบเทียบได้ว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นไม่เหมือนคนอื่น เช่นเดียวกับวันทอง ที่เป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นพลเมืองที่ถูกกด แล้วเห็นต่างจากคนส่วนใหญ่

ซึ่งมันตรงกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราที่มีคนเห็นต่าง จนเกิดการถกเถียงกัน แล้วเขาผิดตรงไหน ที่คิดแบบนั้น สิ่งไหนที่เขาควรทำ ไม่ควรทำ อย่างที่วันทองเป็น" พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ หัวหน้าทีมเขียนบทละครวันทอง วิเคราะห์ให้ฟัง

161908814922

พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ หัวหน้าทีมเขียนบทละครเรื่อง วันทอง 2021

ละครจบ แต่คนดูไม่จบ ทุกคนยังพูดถึง ‘วันทอง ที่รับบทโดย ใหม่-ดาวิกา หญิงสาวผู้ถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงสองใจ กับ ขุนแผน รับบทโดย ป้อง-ณวัฒน์ และ ขุนช้างรับบทโดย ชาคริต แย้มนาม ฯลฯ กำกับการแสดงโดย สันต์ ศรีแก้วหล่อ เขียนบทโดย พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์, พิมสิรินทร์ พงษ์วานิชสุข, จุติมา แย้มศิริ แล้วคนเขียนบทละครยอดฮิตคิดเห็นอย่างไร...

ที่มาที่ไปของละครเรื่องวันทอง 2021 ?

"เค้าโครงเรื่องมาจากเสภาขุนช้างขุนแผน และขุนช้างขุนแผนมีหลายเวอร์ชั่น เราเลือกเอาเสภาขุนช้างขุนแผนเป็นบรรทัดฐานในการทำเรื่องนี้ แล้วดัดแปลงรายละเอียด ตีความใหม่ บทเสภาคือร้อยกรอง บทขับเสภาของราชบัณฑิต ที่รัชกาลที่ 2 ทรงรวบรวมไว้

อ่านยากเหมือนกัน แต่โชคดีที่มีคนแปลเป็นร้อยแก้วไว้  เราเอามาอ่านประกอบกัน ถ้าอ่านตรงไหนไม่เข้าใจ ก็ไปอ่านในร้อยแก้วเปรียบเทียบกัน แต่ส่วนใหญ่เอาจากเสภาเป็นหลัก"

161908823068

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ช่อง One 31

ใช้เวลาทำบทโทรทัศน์นานไหม

"ปีกว่าๆ นะคะ เริ่มทำตั้งแต่ธันวาคม ปีพ.ศ.2562 มาเสร็จเดือนเมษายน 2564"

มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องอย่างไร

"ตอนแรกตั้งเข็มว่า จะเล่าจากมุมของผู้หญิงที่ชื่อวันทอง นำเสนอประเด็นผู้หญิงที่เป็นคนชั้นสองของสังคมสมัยนั้น ไม่มีสิทธิเลือก ไม่มีสิทธิตัดสินใจ พอวันหนึ่งมีโอกาสตัดสินใจเลือกก็กลายเป็นจุดเปลี่ยน

เราตั้งใจเล่าประเด็นนี้ ก็เลยเกิดการตีความเนื้อเรื่องแบบเดียวกัน ลองมองจากมุมวันทอง ว่าเขารับรู้ผ่านเรื่องราวอะไร ก็เล่าเรื่องตามนั้น ก็เลยเป็นวันทองเวอร์ชั่นนี้ค่ะ

นอกจากนี้มีมุมพระไวยไปรบแล้วไปเจอสร้อยฟ้า ศรีมาลา ซึ่งไม่เกี่ยวกับวันทองเลย เราก็ตัดออก อย่างการเรียงลำดับตอนที่ขุนแผนไปเจอบัวคลี่ จริงๆ แล้ววันทองก็ไม่ได้รับรู้เลย

เพราะเขามาเจอกันอีกที หลังจากที่ขุนแผนมีกุมารทองแล้ว ก็มาชิงตัว แต่ว่าช่วงที่เขาไปอยู่กับบัวคลี่ วันทองอยู่กับขุนช้างแล้วก็ไม่ได้รับรู้เลยในเสภา เราก็เพิ่มเรื่องว่า วันทองเป็นห่วงก็เลยถอดจิตไปเห็นเหตุการณ์ ผ่าท้องบัวคลี่ เป็นการเล่าเรื่องจากมุมวันทอง แล้วก็มีการเติมรายละเอียดเข้าไปค่ะ"

161907251398

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ช่อง One 31

นำเสนอเฉพาะมุมมองของวันทอง ?

"ใช่ค่ะ ให้คนดูเห็นว่าวันทองคิดอะไร เขาเจออะไรมา แล้วทำไมเขาต้องทำอย่างนี้ โฟกัสมาที่วันทองคนเดียว"

แก่นเรื่องต้องการนำเสนออะไร

"ถ้าคิดแล้วและเชื่อมั่น เลือกที่จะทำแล้ว ถ้าสิ่งนั้นไม่ทำความเดือดร้อนให้ใครก็ทำไป ประเด็นหนึ่งที่อยากจะพูด คือเรื่องสิทธิสตรี ความเท่าเทียมของผู้หญิงในสังคม วันทองเป็นบทประพันธ์ที่เห็นชัดมากว่า เป็นบทประพันธ์ที่เขียนโดยกวีผู้ชายสมัยนั้น เราอยากเล่าเรื่องวันทองที่เล่าโดยมุมมองผู้หญิงบ้าง

โดยส่วนใหญ่แล้วในสังคมผู้ชายเป็นคนออกกฎหมาย ใช้กฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย ผู้หญิงจะเป็นพลเมืองชั้นสอง ในสังคม ยิ่งสมัยอยุธยา มันก็ยิ่งชัด"

161907256670

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ช่อง One 31

คำว่า วันทอง จึงดูเหมือนมีความหมายไม่ดีนัก ?  

"จริงๆ เธอไม่ได้สองใจ พอไปอ่านรายละเอียดในเสภา เธอไม่ได้อยากจะรักผู้ชายสองคนในเวลาเดียวกัน แต่เหตุการณ์พาไป เราเลยรู้สึกว่าประเด็นนี้น่าสนใจ แล้วทำไมไม่เคยมีใครพูดถึง พอไปอ่านในเสภาจริงๆ เหตุการณ์ทุกอย่างถูกจัดวางหมดเลย ก็เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ

เป็นพล็อตฟ้าประทานจริงๆ ค่ะ เรื่องนี้ต้องชื่นชมผู้รวบรวมผู้เขียนว่า เรื่องเขาสนุกมาก รายละเอียดต่างๆ  มีตัดทอนหลายอย่าง เพราะเราเล่าแต่มุมของวันทอง"

เป็นละครย้อนยุคที่พูดถึงสิทธิสตรีเป็นครั้งแรก ?

"เรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องผู้ชายสองคนตีกันเพื่อแย่งผู้หญิงหนึ่งคน ไม่ได้โฟกัสที่วันทอง เขาโฟกัสที่ชีวิตขุนช้างขุนแผน แต่เราพลิกมุมเล่าเรื่องวันทอง เราจึงเป็นผู้นำเสนอมุมมองของสิทธิสตรีผ่านละครจากบทประพันธ์ดั้งเดิม

ก่อนหน้าเคยมีคนทำ ‘วันทองเป็นละครเวที แต่ไม่ได้นำเสนอประเด็นนี้ ในมุมของ Empower Women เราเชื่อว่านี่เป็นเวอร์ชั่นแรกที่ได้พูดถึง"

การเขียนบทก็สำคัญไม่น้อย ?   

"ใช่ค่ะ วันทองบอกว่า “เรื่องของข้าจะถูกลืมเลือนไป แต่สิ่งเดียวที่อยากให้จำคือวันทองไม่ใช่หญิงสองใจ” มาจากบทพูดที่เราเขียนค่ะ"

ตอนจบให้ประหารชีวิตวันทอง แล้วทำไมให้มีชีวิตอยู่ต่อ

"แรกๆ ที่เขียนมา คิดตอนจบไม่ออกนะคะ ก็ยังเถียงกับผู้กำกับ หาจุดลงกันไม่ได้ คนหนึ่งอยากให้ตาย คนหนึ่งคิดว่าไม่ตาย กระทั่งระหว่างที่ทำบทไป เราเชื่อว่า เมื่อคนดูดูไปถึงตรงนั้น จนถึงลานประหาร คนดูจะรักวันทองและเข้าใจว่า "เฮ้ย วันทองไม่สมควรตาย" นี่คือประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สอง ที่ตัดสินใจเลือกให้วันทองไม่ตาย เพราะสมัยนี้การตายไม่ใช่คำตอบ การมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสิ่งดีๆ แล้วใช้โอกาสในชีวิตทำอะไรต่อไป เหมือนอย่างคำที่ขุนแผนบอก เราคิดอย่างนั้นจริงๆ ถ้าคุณอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง คุณต้องมีชีวิตอยู่เพื่อเห็นมัน ไม่ใช่ตายไป มันไม่มีความหวัง

161907271053

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ช่อง One 31

แล้วการตายของวันทองจะทำให้คนคิดว่า อ้าว ทำดีมาทั้งชีวิต แล้วต้องมาตาย ในมุมหนึ่งคนก็บอกว่า มันจะสร้างผลกระทบมากนะ แต่เรารู้สึกว่าคนสมัยนี้ต้องลุกขึ้นมาสู้

พอเราเลือกว่า ไม่ให้วันทองตาย เพราะไม่อยากทำให้เสียโครงบทประพันธ์ที่เขาทำมา วันทองต้องถูกตัดหัว เป็นหนึ่งในแกนหลักของเรื่อง แล้วพระไวยมาช่วยไม่ทัน แม้จะได้รับอภัยโทษแล้ว

มีความดราม่าบางอย่าง เขาตั้งใจเล่าแบบนั้น เพราะอยากคงดราม่าเนื้อเรื่องเนื้อหาที่เสภาได้ถ่ายทอดไว้ เลยเกิดเป็นตอนจบแบบนี้ ทำให้คนคิดว่าวันทองตาย ทำให้สมบูรณ์เหมือนในเสภาเลย"

และแล้วก็มีการตีความใหม่ ?

"แต่เมื่ออ่านบทเสภาตอนที่พระพันวษาตัดสินประหารชีวิตวันทอง ถ้าไปอ่านดีๆ จะเห็นว่า เขาพูดถึงขุนแผนน้อยมาก ส่วนใหญ่พูดถึงขุนช้างว่า คร่ำครวญ ฟูมฟาย  ศรีประจัน คนโน้น คนนี้ อ่านอยู่หลายรอบก็เลยคิดว่า นี่อาจจะเป็นช่องว่างระหว่างบรรทัดที่เราจะเติมสิ่งนี้ได้ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็เห็นว่า วันทองถูกตัดหัว ทุกคนเสียใจ ทุกคนสูญเสีย แต่เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างบรรทัด ขุนแผน อาจจะทำอะไรอย่างที่เราทำก็ได้ แต่มันไม่ถูกเล่า ในเสภา นี่ล่ะ คือการตีความใหม่ในมุมของเรา"

161907266598

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ช่อง One 31

เป็นที่มาของแฮชแท็ก  #อย่าไว้ใจช่องวัน

"ตอนทำบท เรารู้อยู่แล้วว่า เราจะมาทางนี้ ระหว่างละครออนแอร์ไป เราก็เห็นแล้วว่า คนดูเริ่มคิดว่าจะจบแบบในเสภาไหม เราก็ให้คนดูเข้าใจไปเลยว่า เราตัดหัวเหมือนในเสภา แล้วค่อยทวิสต์สุดท้าย เป็นความตั้งใจ เป็นการคุยกันค่ะ พอฝ่ายโปรโมทรู้ว่าเรามาทางนี้ เขาก็โปรโมทไปทางนี้ ความสำเร็จมันเลยเป็นเรื่องของทีมเวิร์ค ทุกคนช่วยกันเติม ช่วยกันเสริม"

การให้วันทองยังมีชีวิตอยู่เหมือนปลอบใจคนดูไปด้วย ?

"มันคือการบอกว่า การตายไม่ใช่คำตอบ สำหรับคนสมัยนี้ เข้าใจนะคะว่าตายแล้วมันจะยิ่งใหญ่ แต่ถ้าเราเลือกได้ เราก็คงอยากจะให้เขาอยู่ เราก็เหมือนวันทอง ถ้าเราเลือกได้ เราก็เลือก" 

สิ่งที่อยากบอกกับคนดูมากที่สุดคือ

"ถึงวันนี้ละครจบแล้ว แต่กระแสที่คนพูดถึงวันทองยังอยู่ตลอด ยังมีคนส่งข้อความตลอดเวลา ต้องขอบคุณคนดูที่รักวันทองและรักละครเรื่องนี้

มากกว่านั้น ขอบคุณที่เห็นคุณค่าของวรรณกรรมไทยอย่างขุนช้างขุนแผน เราดีใจที่ได้มีส่วนทำให้คนไทยสมัยนี้หันไปมองและรู้จักวรรณกรรมเรื่องนี้ ถ้าคิดถึงวันทองแล้วหยิบเสภาขุนช้างขุนแผนขึ้นมาอ่าน เราจะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จในการทำละครเรื่องวันทอง"