‘ทิพย์รส’ ตำนานบทใหม่ 51 ปี ‘ไอศกรีม’ ไทยแห่งย่านเตาปูน
“ทิพย์รส” ทายาทรุ่น 3 สืบทอดตำรับ "ไอศกรีม" กะทิจากมะพร้าวทับสะแกแท้ รักษาคุณภาพไอศกรีมโฮมเมดตามสูตรผู้ก่อตั้งร้าน ปรับภาพลักษณ์ธุรกิจเตรียมขยายสาขาและแฟรนไชส์ รีดีไซน์เมนูฮิต “ทิพย์รสไข่แข็ง” หลังผ่านมา 50 ปี
พ.ศ.2513 หรือ 51 ปีที่แล้ว คุณอายุเท่าไรและกำลังทำอะไร มองย้อนกลับไปปี 2513 เป็นปีที่โลกก้าวสู่ยุค 70(ค.ศ.1970) มีเหตุการณ์เป็นที่จดจำมากมาย อาทิ เป็นปีที่ยานอะพอลโล 13 ออกเดินทางไปดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เป็นปีที่วงดนตรีร็อกแอนด์โรลชื่อก้องโลก ‘เดอะ บีเทิลส์’ แถลงข่าวแยกวงเป็นทางการ เป็นปีที่นักแสดงไทย ‘มิตร ชัยบัญชา’ โด่งดังเป็นอันดับหนึ่งในวงการภาพยนตร์ไทยและเป็นปีที่เขาประสบอุบัติทางเฮลิคอปเตอร์ เป็นปีที่ ‘โรงแรมดุสิตธานี’ เปิดบริการเป็นครั้งแรก
และเป็นปีที่ ประวิทย์ กาญจโนนันท์ เปิดร้านเล็กๆ ขายไอศกรีมที่เขาคิดสูตรเองเป็นครั้งแรกในห้องแถวริมถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ย่านเตาปูนของกรุงเทพฯ โดยตั้งชื่อร้านอย่างมีความหมายที่ดีว่า ทิพย์รส ปัจจุบันเติบโตเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ไอศกรีมทิพย์รส’ อันโด่งดัง ร้านขยับจากที่เดิมเข้ามาอยู่ในซอย ‘กรุงเทพ-นนทบุรี 2’ ยืนหยัดเข้าสู่ปีที่ 51 แล้วในปี 2564 นี้
"ร้านไอศกรีมทิพย์รสเกิดจากอาเหล่ากู๋(คุณตา) อาเหล่ากู๋ชอบทำอาหาร ชอบทำขนม ก็เริ่มผลิตไอศกรีมด้วยการคิดค้นสูตรด้วยตัวเอง" เสาวลักษณ์ โสภณธนวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านไอศกรีมทิพย์รส เล่าที่มาของการเกิดร้านทิพย์รส ซึ่งสมัยนั้นยังสะกดชื่อร้านด้วยคำว่า ‘ไอสครีมทิพย์รส’ และ ‘อาเหล่ากู๋’ ที่คุณเสาวลักษณ์เอ่ยถึง ก็คือคุณ ‘ประวิทย์ กาญจโนนันท์’
3 รสชาติก่อกำเนิดร้าน
รสชาติไอศกรีมที่อาเหล่ากู๋ของคุณเสาวลักษณ์ทำขายครั้งแรก คือ กะทิรวมมิตร เผือก กะทิแมงลัก ประกอบกับเมื่อ 51 ปีที่แล้วยังไม่ค่อยมีใครทำไอศกรีมขาย ยังไม่มีร้านไอศกรีม หรืออาจจะมีแต่ก็ค่อนข้างน้อย ดังนั้นเมื่อ ‘ทิพย์รส’ เปิดตัวเป็นร้านไอศกรีม ขายไอศกรีมรสชาติที่ร้านอื่นไม่มี ก็ประสบผลสำเร็จในทันที..และเกินความคาดหมาย
"ร้านแรกของอาเหล่ากู๋อยู่ริมถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ฝั่งตรงข้ามกับร้านปัจจุบัน) เป็นห้องแถวหนึ่งห้อง พอเปิดหน้าร้าน คนก็มาเอง อาจจะเมื่อก่อนยังไม่มีร้านแบบนี้ ส่วนแบ่งการตลาดยังไม่มาก” เสาวลักษณ์ กล่าว
โดยเฉพาะความแปลกใหม่ในการนำ ‘ไข่แดง’ มาทำให้แข็งทั้งใบแล้วเสิร์ฟคู่กับไอศกรีมกะทิรวมมิตรและซุปข้าวโพด ตั้งชื่อว่า ทิพย์รสไข่แข็ง ยิ่งกลายเป็นเมนูขายดีประจำร้านอย่างที่สมัยนี้เรียกกันว่า ‘ซิกเนเจอร์’ และทำให้ร้านยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น
“พอปีที่สองพูดได้เลยว่าร้านมีชื่อเสียง ไม่ว่าเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ ตรุษจีน คือต่อคิว ไอศกรีมยังไม่แข็งก็เอากลับบ้าน เดี๋ยวไปแช่ต่อเอง แพ็คเกจยังไม่มีอะไร แค่ใส่ถุงพลาสติกแบบถุงแกง มัดปากถุง แล้วห่อหนังสือพิมพ์กลับบ้าน ผลิตไม่ทันกันทั้งวันทั้งคืน...
พอร้านดังมาก ที่นั่งไม่พอ ก็ข้ามถนนมาฝั่งนี้(ฝั่งเดียวกับที่ตั้งร้านปัจจุบัน) เป็นห้องแถวสามห้อง ขายไอศกรีมอย่างเดียว เพิ่มเค้กเข้ามากินกับไอศกรีม เป็นเค้กชิ้นสี่เหลี่ยม เช่น เค้กมะพร้าว เค้กวานิลลา เค้กกล้วยหอม ทำเอง...
รุ่นคุณตา ไม่มีโปรโมตเลย ไม่มีสื่อเหมือนทุกวันนี้ คือปากต่อปากอย่างเดียว ช่วงปีใหม่..ตำรวจล็อคล้อกันเป็นแถว ลูกค้ายอม ลงมาเอาไอติมก่อน แล้วไปเสียค่าปรับ" คุณเสาวลักษณ์ย้อนอดีตจากที่ฟังผู้ใหญ่ในครอบครัวเล่าความเป็นมาของร้าน
เพิ่มไอศกรีม 15 รสชาติใหม่ : ยุคทายาทรุ่นสอง
จากห้องแถว 3 ห้องริมถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ร้านไอศกรีมทิพย์รสย้ายทำเลอีกครั้ง โดยขยับเข้ามาอยู่ในซอย ‘กรุงเทพ-นนทบุรี 2’ ห่างจากปากซอยประมาณ 30 เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งร้านในปัจจุบัน ดำเนินธุรกิจต่อโดย ‘น้าชายของคุณเสาวลักษณ์’ เป็นผู้บริหารรุ่นที่สอง
พร้อมกับเพิ่มรสชาติไอศกรีมให้เข้ากับยุคสมัยในเวลาต่อมารวมทั้งสิ้น 18 รสชาติ คือ กะทิรวมมิตร เผือก กะทิแมงลัก ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี วานิลลา วานิลลาชิพ นมสด นมชิพ ข้าวโพด ชาเย็น ชาเขียว กาแฟ รัมลูกเกด ลิ้นจี่ มะนาว งาดำ โดยเฉพาะ ทุเรียน ที่เป็นอีกหนึ่งรสชาติซิกเนเจอร์อันโด่งดังของร้านก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาผู้บริหารรุ่นสอง
นอกจากความแปลกใหม่ของการทำไอศกรีมโฮมเมดเมื่อ 51 ปีก่อน ทิพย์รสยังให้ความสำคัญกับการคัดสรรวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำไอศกรีม ซึ่งทำให้ไอศกรีมทิพย์รสอร่อยถูกใจนักชิม อาทิ
- ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบแท้คุณภาพดี สดใหม่วันต่อวัน ไม่ใช้ของค้างคืนหรือค้างสต็อกเด็ดขาด
- ใส่วัตถุดิบแบบไม่หวงเครื่อง
- ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่ใช้สารช่วยคงตัว ไม่ใส่สารสังเคราะห์หรือแต่งกลิ่น
- ไอศกรีมเนื้อแน่น ไม่ตีฟู ไม่อัดอากาศ
- มีนักทำไอศกรีมที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งอยู่กับ ‘ทิพย์รส’ มารุ่นต่อรุ่นตั้งแต่รุ่นแรก
- ใช้คนมากกว่าเครื่องจักร เพื่อให้ได้ไอศกรีมไทยโฮมเมดแท้ๆ
โดยเฉพาะ ‘ไอศกรีมกะทิ’ ที่เป็นพื้นฐานในการทำไอศกรีมแต่ละรสชาติ ทำจาก ‘หัวกะทิ’ ที่มีทั้งความหวาน-มัน-หอม และเจาะจงใช้ มะพร้าวทับสะแก เท่านั้นตามสูตรที่ ‘อาเหล่ากู๋’ สั่งมะพร้าวจากที่นี่มาใช้ตั้งแต่ดั้งเดิม
ไอศกรีมทุเรียน ทำจากเนื้อทุเรียนหมอนทองจริงๆ ไม่แต่งกลิ่นเพิ่ม, ไอศกรีมรสชาเย็น ทำจากการชงใบชาจริงๆ ไม่ใช้ผงชาหรือแต่งรสช่วย คุณเสาวลักษณ์ยกตัวอย่าง
ข้อดีของ ไอศกรีมทิพย์รส คือมั่นใจได้ในรสชาติ แต่จุดอ่อนคือเก็บได้ไม่นาน ละลายเร็ว เนื่องจากไม่ใช้สารช่วยคงตัว ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ถ้าซื้อกลับบ้าน ไม่ควรเก็บเกิน 3 สัปดาห์ เพราะไอศกรีมจะโดนความเย็นกัด สีและเท็กซ์เจอร์จะเปลี่ยน แต่ก็เป็นข้อดีสำหรับผู้บริโภค ตรงที่ได้เลือกกินไอศกรีมโฮมเมดสดๆ ไม่มีวัตถุกันเสีย ไม่มีสารคงตัว
‘ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู’ : ยุคทายาทรุ่นสามและเพื่อน
เมื่อคุณเสาวลักษณ์ซึ่งเป็นหลานสาวของบ้าน สำเร็จการศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตัดสินใจเข้ามารับช่วงดูแลร้านไอศกรีมทิพย์รสต่อเป็นรุ่นที่สาม เธอมองถึงความเป็น ‘แบรนด์’ ที่สามารถพัฒนาต่อได้ จึงปรึกษากับเพื่อนๆ ว่าจะทำอย่างไรได้บ้างให้แบรนด์เติบโตต่อไปในทิศทางของยุคสมัย จึงชวนเพื่อนอีก 6 คนร่วมทุนบริหาร
หุ้นส่วนทั้ง 7 คนใช้เวลาคุยกันอยู่นานเพื่อกำหนด กลยุทธ์ทางธุรกิจ (roadmap) ในการพัฒนาแบรนด์ไอศกรีมทิพย์รส และเกิดการการปรับภาพลักษณ์ธุรกิจ(rebranding)เล็กๆ ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2562 ตามการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้บริโภค
กลยุทธ์แรกที่เผยโฉมออกมาในปี 2562 คือการสร้างสรรค์ ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู (Thipparot Amazing Menu) 10 รายการใหม่ สร้างความฮือฮาตรงการเพิ่มของกินที่เป็น ‘อัตลักษณ์ไทย’ เข้ามาเป็นองค์ประกอบคู่ไอศกรีมดั้งเดิมของทิพย์รส เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2562
เมนูใหม่ 10 รายการ ตั้งชื่อไว้อย่างชวนชิม ได้แก่ หอมหมื่นไมล์, ถังทอง, ปลากริมไข่เต่ากะทิหอม, รสแห่งสยาม, แตงโมปลาแห้ง สังขยาเคี่ยว, จตุมงคลจารึก, น้ำเต้าหู้โบราณ, เหินห่าวซือ และ บานาน่าไทยสไตล์
"คอนเซปต์ในการดีไซน์ ‘ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู’ เราไม่ได้ผลิตไอศกรีมรสชาติใหม่ เราใช้ไอศกรีมเดิมที่เรามี แต่เราเพิ่มความเป็นไทยและจีนของผู้ก่อตั้ง เราทำงานร่วมกับเชฟให้ได้เมนูเหมือนไฟน์ไดนิ่ง มีการจัดจาน คิดสูตรซอส-มูส ใส่สิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน" ตรีทศพล วิจิตรกุล ครีเอทีฟบริษัทโฆษณา หนึ่งใน 7 หุ้นส่วน อธิบาย
เมนูชุด ‘ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู’ ประสบความสำเร็จดีเยี่ยม ลูกค้ารุ่นใหญ่ดั้งเดิมก็ชอบที่ได้กินขนมโบราณที่เริ่มหาชิมยาก ที่สำคัญคืออร่อยด้วย ลูกค้าวัยรุ่นก็ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียกันอย่างคึกคัก
พ.ศ.2563 ‘ตำนานความสุขบทใหม่’ รีแบรนดิ้งอีกครั้ง
การเสิร์ฟ ‘ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู’ สำหรับร้านเดียว ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามองต่อไปถึงการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต การทำให้โครงสร้างทางธุรกิจใหญ่ขึ้นและแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งการขยายสาขา นั้นเป็นเรื่องที่มีปัญหา
จึงทำให้เกิดการรีแบรนด์อีกครั้งในปีพ.ศ.2563 และเป็นที่มาของ ตำนานความสุขบทใหม่ ซึ่งเป็นเมนูชุดล่าสุดที่ ‘ทิพย์รส’ สร้างสรรค์ขึ้นใหม่
“ตอนทำ ‘ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู’ ต้องยอมรับว่าเรายังไม่มีความรู้แน่นพอ เมนูมีความหวือหวาน่าสนใจก็จริง แต่เกี่ยวข้องไปถึงการบริหารการปฎิบัติ ทั้งการจัดเตรียมในครัวและการเสิร์ฟบนโต๊ะ” คุณตรีทศพล กล่าว
โดยยกตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น ภาชนะ ที่คัดสรรมาเพื่อเสิร์ฟเมนูชุด ‘ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู’ มีความสวยงามอลังการก็จริง และก็มีขนาดใหญ่ เมื่อวางแผนขยายสาขาไปในทำเลมีพื้นที่จำกัด ทำให้เป็นปัญหาเรื่องพื้นที่เก็บรักษาและการทำความสะอาด หรือถ้าต้องเสียค่าเช่าพื้นที่เพิ่มเพื่อเก็บของเหล่านี้ ธุรกิจก็ดำเนินไปลำบาก โดยเฉพาะ ‘ครัวไอศกรีมทิพย์รส’ มีความเป็น ครัวกึ่งครัวร้อน ซึ่งต้องการพื้นที่ทำงานมากกว่าปกติอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันองค์ประกอบ ‘ของกินอัตลักษณ์ไทย’ ที่เพิ่มเข้ามาในแต่ละเมนู แม้ปรุงและส่งออกไปจาก ‘ครัวกลาง’ ที่เตาปูน แต่บางอย่างถ้าออกจากตู้เย็น ก็เสียระหว่างขนส่งได้ง่ายๆ ซึ่งทำให้เกิดของเสียโดยเปล่าประโยชน์ จึงเป็นที่มาของเมนูรีแบรนดิ้ง พ.ศ.2563 ชุดใหม่ ที่ประกอบด้วย
หอมหมื่นไมล์ (119 บาท) : ไอศกรีมนมสดกลิ่นหอมหวาน รับประทานคู่ขนมปังปิ้งเนยสด ราดซอสใบเตยเมเปิ้ล วัตถุดิบที่ขึ้นชื่อเรื่องความหอมอันเป็นเอกลักษณ์ที่สุดของเมนูของหวานรสเลิศ ส่งกลิ่นหอมชวนรับประทาน
ทองหลอม (109 บาท) : ไอศกรีมกะทิรวมมิตร จับคู่กับข้าวโพดย่างเนยสีเหลืองทอง บนแผ่นขนมปังปิ้งร้อนๆ หลอมรวมความอร่อยแบบครบรส
ต้องมนต์ (99 บาท) : ไอศกรีมช็อกโกแลตรสเข้มข้น เสิร์ฟพร้อมพุดดิ้งนมสดอบควันเทียนสูตรเฉพาะ เชื่อมความอร่อยด้วยซอสท้อฟฟี่แบบโบราณราวต้องมนต์เสน่ห์แห่งรสชาติ
หมี่กรอบส้มซ่า (109 บาท) : เปิดประสบการณ์ใหม่ของการกินไอศกรีมด้วยการผสมผสานสุดยอดเมนูระดับตํานานระหว่าง ‘ไอศกรีมกะทิรวมมิตร’ และ ‘หมี่กรอบชาววัง’อาหารว่างที่เป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่งแต้มรสคาวหวาน เติมความสดชื่นด้วยสับปะรด
ถังทอง (109 บาท) : ไอศกรีม 3 รส คือ งาดำ เผือก กะทิรวมมิตร เสิร์ฟพร้อม ‘ขนมถังแตก’ ขนมไทยโบราณกลิ่นหอม เนื้อแป้งเหนียวนุ่ม-มันกลมกล่อมลงตัว เมนูโปรดวัยเด็กของใครหลายคน
ขนมต้มแดง (109 บาท) : ขนมไทยโบราณพื้นบ้านคือแผ่นแป้งคลุกเคล้ากับกะฉีก เคี่ยวกับนํ้าตาลมะพร้าว รสชาติหวาน มัน หนึบ กรุบกรอบ เสิร์ฟมากับไอศกรีมกาแฟรสชาติเข้มข้นแบบกาแฟไทยโบราณ เข้ากันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ
ภารตี สายไหม (119 บาท) : ไอศกรีมรัมลูกเกด เสิร์ฟคู่กับแป้งโรตีอุ่นๆ หนากำลังดีในแบบฉบับดั้งเดิม เพิ่มมิติของรสชาติด้วยสายไหมและซอสท้อฟฟี่รัมลูกเกดสูตรเฉพาะของทิพย์รส
จตุมงคลจารึก (119 บาท) : ผสมผสานไอศกรีมเมล็ดแมงลักรสเข้มข้น เข้ากับขนมไทยมงคล 4 ชนิด ได้แก่ 'ไข่กบ(เมล็ดแมงลัก) นกปล่อย(ลอดช่อง) บัวลอย(ข้าวตอก) อ้ายตื้อ(ข้าวเหนียวดำ)' ที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ในศิลาจารึก
ส้มชื่น (99 บาท) : ที่สุดแห่งเมนูคลายร้อนกับไอศกรีมลิ้นจี่รสหวานอมเปรี้ยว กินคู่กับ ‘ส้มฉุน’ ของว่างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการปรุง ให้รสชาติเปรี้ยว หวาน เย็น และมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์
ขณะที่เมนูกลุ่มเก๋าระดับตำนาน ‘ทิพย์รสซิกเนเจอร์’ ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เพิ่มเติมการรีดีไซน์บางเมนู เช่น ทิพย์รสไข่แข็ง ที่เลือกใช้ไข่แดงของไข่ไก่สด นำมาเคลือบไอศกรีมกะทิรวมมิตรด้วยเทคนิคพิเศษที่ทำให้ไข่เคลือบกับไอศกรีมจนแข็ง กินแล้วได้รสชาติความมันของไข่ไก่พร้อมกับความหวานมันของไอศกรีมกะทิรวมมิตร รสชาติสุดคลาสสิกของทิพย์รส มีให้เลือกทั้งเวอร์ชั่นปีพ.ศ.2513 ตั้งชื่อว่า ทิพย์รสไข่แข็ง ๒๕๑๓ เสิร์ฟในถ้วยแก้วทรงปากดอกไม้ดั้งเดิม (59 บาท) และ ทิพย์รสไข่แข็ง ๒๕๖๓ เสิร์ฟในจานพร้อมซุปข้าวโพด เพิ่มความหอมด้วยการเบิร์นไฟสู่ตำนานบทใหม่ของไอศกรีมไข่แข็ง เพื่อทำให้ ‘ไข่แข็ง’ รับประทานง่ายยิ่งขึ้น
เมนูทุเรียนสุดคลาสสิก ข้าวเหนียวทุเรียน (109 บาท) ไอศกรีมทุเรียนหมอนทองแท้ เนื้อแน่น เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวมูนสด ผสานความกลมกล่อมด้วยมะพร้าวทันทึก สุดยอดสูตรลับความอร่อยฉบับทิพย์รส จากที่เคยเสิร์ฟในชามแก้วทรงเปล เปลี่ยนมาเสิร์ฟในถ้วยแก้วทรงปากดอกไม้, ทุเรียนสยาม (139 บาท) จัดเต็มเพื่อคนรักทุเรียน ในจานเสิร์ฟทั้งข้าวเหนียวสังขยาทุเรียนรสเข้มข้น ไอศกรีมทุเรียนหมอนทองราดซอสทุเรียนสูตรพิเศษ เพิ่มความหอมอร่อยได้รสทุเรียนเต็มๆ คำ
กลุ่มเมนู ‘ทิพย์รส ออริจินัล’ นำไอศกรีมรสชาติออริจินัลมาดีไซน์เป็นเมนูใหม่ๆ อาทิ กาแฟไทย ช็อกโก้ (89 บาท) ดื่มด่ำรสชาติกาแฟไทยโบราณกับไอศกรีมช็อกโกแลต เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หวานมันเค็มลงตัว เมนูนี้คล้ายอัฟโฟกาโต, เยลลี่แดงวันวาน (99 บาท) เยลลี่แดงกลิ่นสละสูตรลับระดับตำนานของทิพย์รส เสิร์ฟกับไอศกรีมนมสดและไอศกรีมสตรอว์เบอร์รีหนึ่งในตำนานความอร่อยจากวันวาน, ชาไทยโบราณ (99 บาท) ไอศกรีมรสชาไทยแท้ สูตรต้นตำรับ หอมละมุนกลิ่นในชาชงสด เสิร์ฟกับเครื่องเคียงแบบไทยๆ ตัดรสด้วยมูสกะทิเข้มข้น
นอกจากนี้ยังมีไอศกรีมพิเศษตามฤดูกาล เช่น ลำไยรสทิพย์ หรือไอศกรีมลำไย ที่ทำได้แค่ปีละครั้งเท่านั้นตามฤดูกาลของลำไย เพราะจะได้ลำไยลูกโต-หวานฉ่ำและกรอบกว่าช่วงเวลาอื่นของปี
ทิพย์รสเลือกใช้ลำไยของจังหวัดลำพูน จากสวนของเกษตรกรที่ไว้ใจได้ตั้งแต่กระบวนการปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว นำมาผลิตเป็นไอศกรีมสูตรลับของทิพย์รส โดยในเนื้อไอศกรีมมีเนื้อลำไยสดๆ แทรกอยู่ในทุกคำ และเพิ่มความพิเศษขึ้นไปอีกด้วยนำ ‘ไอศกรีมลำไยทิพย์รส’ มาสร้างสรรค์เป็นเมนูให้ชวนชิมยิ่งขึ้นอีก 3 เมนู คือ
- ไข่มุกเล่นไฟ : เป็นการผสมผสานระหว่างไอศกรีมลำไยทิพย์รส เสิร์ฟกับ ‘ไข่มุก’ ทำจากแป้งเหนียวเคี้ยวหนึบสอดไส้ลำไย แล้วนำไปย่างไฟ เป็นที่มาของคำว่า ‘ไข่มุกเล่นไฟ’ เพิ่มความกลมกล่อมด้วยซอสท้อฟฟี่โบราณ ข้าวเม่า และมะพร้าวขูด
- ละอองเหมันต์ : เมนูหวานเย็นด้วยธัญพืชต้มหลากชนิด คลุมด้วยเกล็ดน้ำแข็งไสใบเตย กินคู่กับไอศกรีมลำไยหวานฉ่ำ
- สังขยานมนวล : ผสานสองรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ คือไอศกรีมลำไยหวานฉ่ำและสังขยาชานมอู่หลงสูตรเฉพาะ หวานมันหอมนวล กินคู่ขนมปังปิ้งอุ่นๆ สุดแสนลงตัว
ปรับภาพลักษณ์บรรจุภัณฑ์-งานกราฟิก
การเตรียมความพร้อมเพื่อให้ ‘แบรนด์ทิพย์รส’ ซึ่งมีอายุ 51 ปี ก้าวไปในทิศทางที่ดีและเติบโตอย่างมั่นคงเข้ากับยุคสมัย การปรับภาพลักษณ์ธุรกิจครั้งที่สองนี้จึงครอบคลุมทั้ง Character และ Packaging
“เราอยากทำให้แบรนด์ไดเร็กชั่นชัดเจนขึ้นด้วยการดีไซน์ ดึงตัวตนของ ‘ทิพย์รส’ ที่คนชอบออกมากลั่นให้เป็นดีไซน์ของแบรนด์ไดเร็กชั่น เพื่อรักษาและสืบทอดคุณค่าร้านไอศกรีมไทย ของคนไทย ที่ทุกคนคุ้นเคย ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่าง โดยที่ยังไม่ทิ้งตัวตนดั้งเดิม เช่น ลายฉลุ การใช้สีขาว-แดง วัสดุตกแต่งร้าน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ดูดีและน่าเชื่อถือมากขึ้น เห็นแล้วแยกได้หรือจำได้ว่านี่คือไอศกรีมทิพย์รส เมนูเป็นแบบนี้ หน้าตาร้านเป็นแบบนี้” คุณตรีทศพล กล่าว
ถ้าหยิบกระปุกไอศกรีมทิพย์รสแบบซื้อกลับบ้านมาดูตอนนี้ เราจะเห็นกระปุกไอศกรีมทรงถ้วยแบบไอศกรีมแบรนด์เนมทั้งแบบโลคอลและนำเข้าแทนถ้วยพลาสติกใสและแปะสติ๊กเกอร์โลโก้แบบเดิม มากกว่าครึ่งค่อนบนของกระปุกเป็นสีแดง ครึ่งล่างเป็นสีขาว ตำแหน่งกลางถ้วยด้านข้างมีภาพกราฟิก ลายทิพย์รส ซึ่งผูกลายขึ้นใหม่โดยได้แรงบันดาลใจจากปากถ้วยแก้วไอศกรีมทรงดอกไม้บาน ความเรียวของจานเปลแก้วที่ใช้เสิร์ฟไอศกรีม และการผูกลายแบบลายไทย
ฝากระปุกไอศกรีมด้านบนมีโลโก้ชื่อทิพย์รส ตรงกลางฝามี ภาพกราฟิกที่ดีไซน์จากรสชาติไอศกรีม แตกต่างกันไป 18 รสชาติ 18 ลวดลาย เช่น รสช็อกโกแลต เป็นกราฟิกช็อกโกแลตแท่ง, รสข้าวโพด เป็นกราฟิกเมล็ดข้าวโพด, รสกะทิรวมมิตร เป็นลวดลายที่เกิดจากการรวมกันของกราฟิกที่ใช้แทนส่วนผสมของไอศกรีมรสนี้ คือ วงกลมแทนกะทิ วงรีเรียวบางแทนลอดช่อง และรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ด้านกว้างเป็นเส้นโค้งแทนขนุน
ปัจจุบัน ไอศกรีมทิพย์รส มีด้วยกัน 3 สาขา คือร้านดั้งเดิมในซอย ‘กรุงเทพ-นนทบุรี 2’ สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน (ชั้น G) และสาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า (ชั้น 1)
หุ้นส่วนและทายาทผู้ก่อตั้งไอศกรีมทิพย์รสมีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมด้วยบริษัทเองและพัฒนาโมเดลสำหรับขายแฟรนไชส์ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกสาม แผนทุกอย่างจึงระงับไว้ก่อน
คุณตรีทศพลกล่าวว่า ตั้งแต่โควิดครั้งแรกจนมาถึงการระบาดระลอกที่สาม ธุรกิจได้รับผลกระทบมาตลอด แต่ก็ยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ผ่านการขายหน้าร้านที่เตาปูน ซึ่งปกติปิด 20.00 น.อยู่แล้ว ส่วนสาขาในห้างสรรพสินค้าเปิด-ปิดตามเวลาที่ห้างและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด รวมทั้งบริการเดลิเวอรี่
หากสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น ทีมผู้บริหารตัดสินใจที่จะลดค่าใช้จ่ายของตัวเองเพื่อรักษาพนักงานทุกคนไว้เป็นลำดับแรก
และรักษาตำนานความสุขที่ผ่านมาแล้ว 51 ปีบทนี้ให้ดำเนินต่อไป
ร้านไอศกรีมทิพย์รส สามแยกเตาปูน
จุดเด่น : ไอศกรีมกะทิทำจากมะพร้าวทับสะแกของแท้
ประเภทอาหาร : ไอศกรีม
เมนูเด็ด : ไอศกรีมกะทิรวมมิตร, ทิพย์รสไข่แข็ง, ไอศกรีมทุเรียน
ราคา : 35-159 บาท
ที่อยู่ : เลขที่ 50/2-3 ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 2, ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี สามแยกเตาปูน บางซื่อ กรุงเทพฯ สอบถามและสั่งซื้อสินค้าปลีก-ส่ง โทร.0 2585 0415 Line ID : @thipparot, Grab และ Lineman ค้นหาคำว่า ไอศกรีมทิพย์รส
* * * * *
ติดตามคอลัมน์ "50 ปีอร่อยเหมือนเดิม" ได้ทุกวันศุกร์ ทางไลฟ์สไตล์ @Taste
ร้านที่คุณอาจสนใจ
‘กุ้งแม่น้ำเผา’ ร้าน ‘ฮงเส็งโภชนา’ 64 ปียังอร่อยเหมือนเดิม
'ตั้งซุ่ยเฮงโภชนา' ก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ้าเก่าสะพานเหลือง
ทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี...ผัดไทยในตำนาน 82 ปี
‘สตูลิ้นวัว’ ที่ร้าน ‘มิตรโกหย่วน’ อร่อยมากว่า 80 ปี