'โควิด-19' กับผลกระทบต่อสุขภาพจิต
ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ "โควิด-19" แม้อาจไม่ได้ส่งผลต่อร่างกาย แต่จะไปกระตุ้นความหวาดกลัวในสมองของคน และนำไปสู่ความวิตกกังวลซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพจิตโดยตรง
สถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นเชื่อว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนทั่วๆ ไปมากกว่าในระลอก 2 ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งจากลักษณะของเชื้อที่ระบาดได้ง่ายขึ้น จำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักจำนวนมากขึ้นที่ตกเป็นเหยื่อของโควิดในครั้งนี้ ประกอบกับความไม่แน่นอนของโอกาสที่จะได้รับฉีดวัคซีน ก็ทำให้หลายๆ ท่าน (หรือคนใกล้ตัวท่าน) เกิดทั้งอาการกลัว วิตกกังวล จนถึงขั้นตื่นตกใจขึ้นมาได้
ความน่ากลัวของโควิดนั้นนอกจากตัวเชื้อโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพกายแล้ว ความไม่แน่นอนที่มาจากโควิดก็ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตอีกด้วย ความไม่แน่นอนดังกล่าวครอบคลุม ทั้งความไม่แน่นอนว่าตนเองหรือคนในครอบครัวจะได้รับเชื้อโรคมาโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ ความไม่แน่นอนว่าถ้ารับเชื้อมาแล้วอาการจะเป็นอย่างไร ความไม่แน่นอนว่าถ้าติดเชื้อมาจะมีโรงพยาบาลรับรักษาหรือไม่ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนการต่างๆ ที่ได้วางไว้ล่วงหน้า (แผนการเรียน การทำงาน ท่องเที่ยว สังสรรค์ ฯลฯ) ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจะได้รับวัคซีน ความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนว่าตนเองจะมีงานและรายได้หรือไม่ ฯลฯ
“ความไม่แน่นอน” (Uncertainty) ที่เกิดขึ้นเนื่องจากโควิดนั้น อาจจะพบว่าร้ายกาจพอๆ กับเจ้าตัวไวรัสโควิดเอง เพียงแต่แทนที่จะส่งผลต่อสุขภาพกาย ก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตแทน เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจะไปกระตุ้นความหวาดกลัว (Fear) ในสมองของคน ซึ่งความกลัวก็เป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของคนและเมื่อเราเผชิญกับความกลัว คนก็จะมีปฏิกิริยาที่จะปรับพฤติกรรมหรือปรับตัวเพื่อหลบเลี่ยงจากความกลัวดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี เมื่อความกลัวที่เกิดขึ้นมาจากความไม่แน่นอน และเป็นความไม่แน่นอนที่มีปริมาณมาก ก็จะนำไปสู่ความวิตกกังวล หรือ Anxiety ที่จะส่งผลสุขภาพจิตโดยตรง และที่น่ากลัวคือการแพร่กระจายของข้อมูลต่างๆ บนโลกสังคมออนไลน์ ที่เมื่อเปิดเข้าไปอ่านข้อความหรือข้อมูลต่างๆ ในช่วงนี้ก็มักจะมีแต่เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด ซึ่งถึงแม้ผู้โพสต์ข้อความจะมีเจตนาดีที่จะกระจายข้อมูลข่าวสารให้ผู้อื่นได้รับรู้ แต่เมื่อผู้รับสารต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากโควิด มีความความกลัวและความวิตกกังวลเป็นทุนเดิม ก็ยิ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับนั้นกลายเป็นการตอกย้ำ และทำให้ความวิตกกังวลแพร่กระจายไปในวงกว้างมากขึ้น และสามารถที่จะนำไปสู่ความตื่นตกใจในสังคมวงกว้างได้
ไม่น่าแปลกใจเลยว่าเมื่อมีอาจารย์จาก Harvard Business School ได้ทำวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์โควิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนโดยทั่วไป จะพบว่ากว่าครึ่งที่ระบุว่าโควิดนำไปสู่สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง ความเครียดที่เพิ่มขึ้น ความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น ยังพบอีกว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากโควิดและความไม่แน่นอนที่เกี่ยวเนื่องนั้น จะอยู่ในความจิตใจและความคิดของคนจำนวนมากตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถไปคิดในเรื่องอื่นๆ และต้องใช้พลังงานทางความคิดและอารมณ์จำนวนมาก เพื่อปิดกั้นความวิตกกังวลที่อยู่ในความคิดได้
นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดยังทำให้คน (ที่เป็นสัตว์สังคม) ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและลดกิจกรรมทางสังคมลง จากงานวิจัยข้างต้นพบว่าทั้งความกลัว ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น และการต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้สังคมกับคนอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพจิตของคนในช่วงสถานการณ์โควิดนี้
งานวิจัยดังกล่าวยังปิดท้ายอีกว่า ที่น่ากลัวและเป็นการซ้ำเติมคนที่ต้องประสบปัญหาทางด้านสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโควิด นั้นก็คือการมีผู้นำที่ไม่เข้าใจต่อปัญหาทางด้านจิตใจที่ลูกน้องเผชิญ อีกทั้งไม่สนับสนุนและพยายามช่วยเหลือในด้านจิตใจต่อลูกน้องในช่วงของความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดนี้
ทางออกหลักของปัญหาทางด้านจิตใจที่สืบเนื่องมาจากโควิดนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นตรงกัน นั้นคือต้องเริ่มจากการมีสติ ทั้งสติในการรับรู้ พิจารณา ไตร่ตรองข้อมูลข่าวสาร สติในการใช้ชีวิตเพื่อดูแลป้องกันตัวเองและครอบครัวจากโควิด รวมถึงสติต่อความไม่แน่นอน ความกลัว และความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น