โกลก...คราหนึ่ง

ลงใต้ไปชายแดน สัมผัสความงดงามของ "สุไหงโกลก" หนึ่งในดินแดนที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สุดของไทย

สุไหงโกหก...ช่างดูไกลสุดไกล ใต้สุดกันเลยทีเดียว ตอนยังเป็นหนุ่มนักศึกษาในกรุงเทพ พอปิดเทอมก็ชวนกันนั่งรถไฟไปให้สุดสายที่สุไหงโกลก เป็นการเดินทางไกลที่ไกลจริงๆ นั่งรถไฟจากต้นทางที่หัวลำโพงไปถึงสุไหงโกลกเอาเกือบ 11 โมงเช้า แล้วจึงเริ่มการเดินทางท่องเที่ยว เป็นประทับใจแรกที่รู้จักสุไหงโกลก ต่อมายังได้อาศัยสุไหงโกลก เป็นช่องทางเดินทางทางรถยนต์ไปยังอุทยานแห่งชาติทามานเนการา ในมาเลเซียด้วย มาวันนี้ วันที่การเดินทางมาสุไหงโกลกง่ายราวพลิกฝ่ามือ ก่อนที่โควิดจะมาเยือนมีเครื่องบินไปลงที่นราธิวาส แล้วนั่งรถตู้โดยสารสายนราธิวาสมาสุไหงโกลก หรือเช่ารถขับมาเองก็ได้ ง่ายจริงๆ

คนในท้องถิ่นก็เรียกสั้นๆ ว่า โกลกๆ “สุไหงโกลก” เติบโตเพราะเป็นสุดสายปลายทางของทางรถไฟสายใต้ และเป็นประตูไปสู่รัฐกลันตัน หรือลงไปกัวลาลัมเปอร์ได้ แต่สำหรับนักดูนกที่มีจุดหมายปลายทางที่ฮานาบาลา ก็ต้องมาเริ่มต้นที่สุไหงโกลก แล้วจึงเดินทางสู่ฮานาบาลาเช่นกัน นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียข้ามแดนเข้ามาไทยก็ผ่านที่นี่ สุไหงโกลกจึงเป็นจุดหมายปลายทางของคนหลายกลุ่ม หลายวัตถุประสงค์ที่มุ่งมาที่นี่ สุไหงโกลกจึงเป็นอำเภอชายแดนที่เจริญสุดๆ แห่งหนึ่ง

162043761046

นราธิวาส ไม่ใช่ไกลอีกต่อไปแล้ว

จากพื้นที่ที่เคยเป็นป่ารก ทึบ ไร้คนอยู่อาศัย พอเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมไปถึงกลันตันมาสุดที่เขตไทยใต้สุดตรงนี้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญของเมืองชายแดนแห่งนี้ จากบ้านป่า กลายเป็นตำบล เป็นเทศบาล เป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอในที่สุด จนว่ากันว่า “สุไหงโกลก” นั้นเจริญกว่าตัวเมืองนราธิวาสด้วยซ้ำ

“สุไหง” ในภาษามลายู แปลว่า แม่น้ำ ส่วนคำว่า “โกลก” แปลว่า คดเคี้ยว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพื้นที่ในย่านนี้มาแต่ครั้งอดีต เดี๋ยวผมจะขยายความต่อ

โกลกในปัจจุบันมีบ้านเรือน ร้านค้ามากมาย มีสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ร้านรวง และผู้คน เหมือนเมืองๆ หนึ่ง ที่นี่เป็นการผสมผสานกันระหว่างคนจีน คนไทย และคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม อยู่ในพื้นที่เดียวกันมาแต่ดั้งเดิม ช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ นี่จึงเป็นลักษณะพิเศษอีกหนึ่งอย่างของเมืองนี้

162043744274

ภาพชินตาของนราธิวาส

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ คือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีน ศาลเจ้าตั้งอยู่ในตัวเมือง “สุไหงโกลก” โดยเจ้าแม่เป็นองค์เทพธิดาแห่งท้องทะเลซึ่งเป็นองค์เดียวกับเจ้าแม่ทับทิมนั่นเอง โดยแรกเริ่มนั้น ศาลท่านอยู่ที่เหมืองทองคำที่เขาโต๊ะโมะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งชาวบ้านได้มีการตั้งศาลให้ท่านครั้งแรกที่บริเวณเขาโต๊ะโม๊ะ (ปัจจุบันคือตำบลภูเขาทอง)  ต่อมาพอมีการสร้างศาลเจ้าที่ตัวเมืองสุไหงโกลก ก็อัญเชิญท่านมาแล้วตั้งชื่อศาลเจ้าตามที่ตั้งเดิม จะมีงานฉลองศาลเจ้ากันทุกปี

ทีนี้จะพาไปดูพรุโต๊ะแดง ของดีในเมือง “สุไหงโกลก” กัน  

ท่านผู้อ่านดูภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงที่ผมเอามาลงประกอบ จะเห็นว่าเป็นพื้นที่ป่าที่กว้างใหญ่มากเป็นป่าในที่ราบลุ่ม เป็นป่าพรุ พรุที่มีน้ำมาเป็นส่วนประกอบอย่างมาก น้ำที่อยู่ในพื้นที่พรุจึงไหลรวมคดเคี้ยวเป็นแม่น้ำ สมดั่งชื่อสุไหง และโกลกนั่นเอง เป็นพื้นที่ป่าลุ่มต่ำ เนื้อที่ป่าพรุนับแสนๆ ไร่ เรียกว่ากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ซึ่งเนื้อที่ขนาดนี้ใหญ่พอที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้สบาย โดยเริ่มแรกที่นี่ถูกตั้งขึ้นเป็นสถานีวิจัยเกี่ยวกับป่าพรุ และด้วยความโดดเด่นของพืชพรรณและสถานที่จึงเป็นพื้นที่ศึกษาธรรมชาติด้วย ต่อมายกฐานะขึ้นเป็นศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติ และเนื่องด้วยองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพื้นที่แห่งนี้หลายครั้ง จึงขอพระราชทานนามเป็นศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร หลังจากนั้น ก็มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นมาในนราธิวาส พื้นที่เขตรักษาพันธุ์ก็คลุมพื้นที่ของศูนย์วิจัยทั้งหมดทุกวันนี้ส่วนที่เป็นศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติจึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปด้วยนั่นเอง

162043767873

ป่าพรุโต๊ะแดงอันอุดสมสมบูรณ์และกว้างใหญ่

162043753289

ป่าต้นสาคู พืชเด่นของป่าพรุ

ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเคยไปเที่ยวป่าพรุที่ไหนมาก็ตามแต่รับรองว่าถ้ามาที่ป่าพรุโต๊ะแดงนี่ จะเห็นถึงความสมบูรณ์และสวยงามของป่าประเภทนี้ โครงสร้างหรือองค์ประกอบของป่าพรุนั้นคือ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำขัง เป็นพื้นที่ที่ฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี จึงมีความชื้นสูง มีอูณหภูมิสูงคือเข้าไปก็จะอบอ้าว พื้นดินด้านล่างนั้นจะเป็นดินเลนทะเล แล้วถูกตะกอนใบไม้ กิ่งไม้ทับถมกันและจะมีสารกำมะถันปนอยู่ พืชพันธุ์ในป่าพรุ ถึงไม่ใช่พืชพรรณปกติทั่วไป

โดยศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร เขาจัดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่มาเดินชื่นชมความสมบูรณของป่าพรุอย่างแท้จริง ทำสะพานไม้เป็นทางเดินเข้าไปในป่าพรุ มีจุดศึกษาธรรมชาติเป็นสถานีๆ ไปตลอดทาง ร่มรื่น แต่อบอ้าวด้วยอากาศของป่าพรุอย่างที่บอก แต่ก่อนเคยมีหอสูงให้ขึ้นไปดูเรือนยอดไม้ได้ เดี๋ยวนี้หอนั้นชำรุดยังมี่การซ่อมแซม ผมไปโกลกทีไร เป็นต้องไปเที่ยวที่นี่ทุกที

162043776381

เส้นทางเหนือน้ำในป่าพรุโต๊ะแดง

อบอ้าวจากป่าพรุตะแดงแล้ว ไปเล่นน้ำกันต่อ โดยออกมาอีกไม่กี่กิโลเมตรถึงอำเภอสุไหงปาดี (สุไหงโกลกแยกออกไปจากสุไหงปาดีนี่เอง) ไปที่น้ำตกฉัตรวาริน ของอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี  คืออุทยานฯแห่งนี้ จะมีพื้นที่ใหญ่ๆสองก้อน ก้อนใหญ่อยู่ที่เทือกเขาบูโด อีกก้อนหนึ่งอยู่ที่อำเภอสุไหงปาดีนี่เอง

12 กิโลเมตรจากสุไหงโกลก ถึงน้ำตกฉัตรวาริน ซึ่งเป็นน้ำตกที่ได้รับความนิยมมากของคนในพื้นที่ตอนที่ด่านชายแดนยังไม่ติดปัญหาโควิด คนจากมาเลเซียเข้ามาเที่ยวกันประจำ น้ำตกแห่งนี้มีถึง 7 ชั้น ไหลลดหลั่นลงมาเรื่อย แต่ที่นิยมกันก็แค่ชั้นล่าง ที่เป็นเพียงลาดหินแก่งน้ำกว้างธรรมดา แต่อุทยานแห่งชาติในบ้านเรามีการจัดการที่ดี เป็นระบบ ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อน ปิกนิกนำอาหารมารับประทานกันไม่ขาด ยิ่งวันฮารีรายอด้วยแล้ว คนแน่นแทบไม่มีที่เดิน บรรยากาศที่ร่มรื่นตามลักษณะป่างดงดิบทางใต้ มีแอ่งลำธารให้เล่นน้ำได้ตลอดและเดินทางสะดวก ที่นี่จึงได้รับความนิยมดังกล่าว

เมื่อปี 2560  มีการค้นพบตราสัญลักษณ์รัชกาลที่ 9 ที่ก้อนหินขนาดใหญ่ริมลำธารน้ำของน้ำตกฉัตรวาริน คาดว่าน่าจะครั้ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรน้ำตกราวปี 2516-2517 และเพิ่งมามีการค้นพบดังกล่าว

162043783893

ตราสัญลักษณ์ของในหลวง ร.9

162043783862

บรรยากาศอันร่มรื่นในน้ำตกฉัตรวารินทร์

นี่ขนาดว่ายังไม่ได้พาไปถึงเขาโต๊ะโมะ หรือป่าฮานาบาลา สุไหงโกลกก็ยังมีอะไรให้เที่ยวให้ดูจนล้นพื้นที่เขียนของผมแล้ว ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้เดินทางสักครา ขอเป็นที่ “สุไหงโกลก” ราวเดือนมิถุนายน ก็จะเริ่มเข้าสู่ฤดูผลไม้ทางใต้แล้ว ผลไม่ราคาถูกออกเกลื่อนตลาด

ก็เชิญชวนกันมาเที่ยวที่โกลกสักครั้ง จะได้เห็นโลกกว้างในบ้านเราอีกที่หนึ่ง...