10 ‘สมุนไพร’ กอดคอเสริมภูมิคุ้มกันใน ‘แกงเขียวหวาน’

10 ‘สมุนไพร’ กอดคอเสริมภูมิคุ้มกันใน ‘แกงเขียวหวาน’

ส่อง “สมุนไพร” สิบชนิดยังน้อยไปใน “แกงเขียวหวาน” ตำรับเชฟป้อม-พัชรา พิระภาค แห่งโอเรียนเต็ลฯ พร้อมสูตรและขั้นตอนการทำ แกงถ้วยเล็กๆ แต่แน่นด้วยสมุนไพรเสริม “ภูมิคุ้มกัน” ให้แข็งแรง ไว้รับมือโควิด

อาหารไทย ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของ สมุนไพร ที่สรรพคุณมีส่วนช่วยเสริม “ระบบภูมิคุ้มกัน” ของร่างกาย นอกจากกินแล้วได้ผลดี ยังกินอร่อยอีกด้วย

วันนี้ชวนกิน 'กับข้าว' ที่คนไทยคุ้นเคย แกงเขียวหวาน แกงรสเผ็ดยอดนิยมประจำร้านอาหารไทยสุดหรูจนถึงร้านข้าวแกง กินกับข้าวสวยและขนมจีนก็เข้ากัน

หลายคนอร่อยกับการกินแกงเขียวหวานมานานจนเห็นว่าเป็นแกงธรรมดา แต่ถ้าได้รู้ในแกงเขียวหวานมี “สมุนไพร” อะไรอยู่บ้าง อาจจะมีความสุขกับการกินแกงถ้วยนี้มากยิ่งขึ้น

162066093364

แกงเขียวหวาน แกงเผ็ดที่คนไทยคุ้นเคย

แกงเขียวหวานที่นำมากล่าวถึงในวันนี้ เป็นแกงเขียวหวานสูตรพิเศษประจำตระกูลของ เชฟป้อม-พัชรา พิระภาค เชฟอาหารไทยประจำห้องอาหารเทอเรซ ริมน้ำ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

เชฟป้อม-พัชราเคยปรุงแกงเขียวหวานตำรับนี้เป็นอาหารกล่อง มอบกำลังใจและความช่วยเหลือให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19  ครั้งแรกตาม 'โครงการอาหารแห่งความห่วงใย' ของโอเรียนเต็ลเมื่อปีที่แล้ว โดยเชฟป้อมปรับเปลี่ยนจากแกงกะทิเป็น ข้าวผัดแกงเขียวหวาน เพื่อให้สะดวกในการรับประทาน และรักษาคุณภาพของอาหารได้ยาวนานขึ้นในสภาพอากาศร้อน

162066101549

หอมแดง หนึ่งในสมุนไพรสำคัญของการทำพริกแกงเขียวหวาน

สมุนไพรหลักๆ ของการทำ “พริกแกงเขียวหวาน” ประกอบด้วย

  • หอมแดง : เว็บไซต์ medthai.com ระบุสรรพคุณหอมแดงไว้มากถึง 50 ข้อด้วยกัน เช่น บำรุงโลหิต ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเส้นเลือด แก้หวัด-คัดจมูก ขับเสมหะ ป้องกันการติดเชื้อ ช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้

162066108712

กระเทียม สมุนไพรสำคัญอีกหนึ่งอย่างของการทำพริกแกงเขียวหวาน

  • กระเทียม : เว็บไซต์ med.mahidol.ac.th กล่าวถึงประโยชน์เพื่อสุขภาพของกระเทียมไว้ 10 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ “ถ้าเรามีสารแอนตี้ออกซิแดนท์พอเพียงในระบบภูมิคุ้มกัน เราก็จะป่วยได้ยาก ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากเราจะเพิ่มสารแอนตี้ออกซิแดนท์ให้ร่างกายมีกำลังไปต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ด้วยการรับประทานกระเทียมเป็นประจำ แต่หากโรคหวัดเข้ามาคุกคามเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถไล่หวัดได้ง่าย ๆ ด้วยการหั่นกระเทียมเป็นแว่น แช่ในน้ำร้อนประมาณ 2-3 นาที แล้วกรองเอากากออก จิบเป็นชากระเทียมอุ่น ๆ ก็ดี หรือถ้าทนกลิ่นไม่ไหว จะเติมน้ำผึ้งหรือน้ำขิงเข้าไปสักหน่อยก็ได้”

ในพริกแกงเขียวหวานยังมี ข่า ตะไคร้ ขมิ้นสด พริกไทยขาว พริกชี้ฟ้า ใบโหระพา ใบมะกรูด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ ปัจจัยสำคัญของการเสริมสร้าง ภูมิต้านทาน ให้กับร่างกาย

162066214351

พริก เม็ดเล็กๆ แต่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ

ที่พิเศษคือ พริกแกงเขียวหวานสูตรประจำตระกูลของเชฟป้อม-พัชรา ยังมีการใช้พริกสีเขียวรวมกันทั้งสิ้น 3 ชนิด ได้แก่ พริกขี้หนูสวนสีเขียว พริกจินดาเขียว พริกชี้ฟ้าเขียว ซึ่ง พริกอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 6 วิตามินซี ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุเหล็ก ใยอาหาร  โดยในพริก 100 กรัม มีวิตามินซีสูงถึง 144 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสมุนไพรอย่าง ยี่หร่า ลูกผักชี อบเชย และ กานพลู เสริมให้พริกแกงเขียวหวานสูตรนี้มีกลิ่นหอมของเครื่องเทศที่เป็นเอกลัษณ์ เมื่อรับประทานจะมีกลิ่นหอมของเครื่องเทศและพริกคละคลุ้งในทุกรสสัมผัส

‘กานพลูและอบเชย’ ก็เป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากเปลือกของอบเชยและกานพลูประกอบไปด้วยสารแทนนิน (Tannins) สารอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

นอกจากนี้ทั้งกานพลูและอบเชยยังมี น้ำมันหอมระเหย การสูดดมเข้าไปจะช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับสบาย หากใช้เป็นยาจะช่วยขับลมท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ฯลฯ

สมุนไพรใน พริกแกงเขียวหวาน จึงล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกายให้สมดุล เมื่อร่างกายสมดุลก็ส่งผลให้ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สมุนไพรหลายตัวมีสรรพคุณเกี่ยวกับ ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นระบบสำคัญของร่างกายที่โควิดโจมตีเพื่อเข้าสู่ร่างกาย

162066222648

เชฟป้อม-พัชรา พิระภาค ในครัวโรงแรมโอเรียนเต็ลเมื่อครั้งทำ "ข้าวผัดพริกแกงเขียวหวาน" เพื่อบุคลากรทางการแพทย์

ใครเวิร์กฟรอมโฮมแล้วมีฝีมือทำกับข้าว อยากลองทำ ข้าวผัดพริกแกงเขียวหวาน ตำรับนี้ของเชฟป้อม-พัชรา สำหรับรับประทาน 3-4 คน เตรียมวัตถุดิบดังต่อไปนี้

วัตถุดิบ  “ข้าวผัดพริกแกงเขียวหวานไก่”

  • อกไก่ 300 กรัม
  • ข้าวสวยหอมมะลิ 750 กรัม
  • พริกแกงเขียวหวาน 200 กรัม
  • หัวกะทิสด 300 กรัม
  • น้ำมันรำข้าว 100 กรัม
  • น้ำปลา 100 กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว 140 กรัม
  • ใบมะกรูด 3 ใบ
  • ใบโหระพา 30 กรัม
  • พริกชี้ฟ้า 2 เม็ด

ส่วนผสมของพริกแกงเขียวหวาน ประกอบด้วย

  • กระเทียม 60 กรัม
  • หอมแดง 90 กรัม
  • ข่า 10 กรัม
  • ตะไคร้ 70 กรัม
  • พริกขี้หนูสวนสีเขียวทั้งก้าน 15 กรัม
  • พริกจินดาเขียว 10 กรัม
  • พริกชี้ฟ้าเขียว 50 กรัม
  • รากผักชี 20 กรัม
  • ขมิ้นสด 5 กรัม
  • พริกไทยขาว 1 กรัม 
  • ยี่หร่า ¼ ช้อนชา
  • ลูกผักชี 1 ช้อนชา
  • อบเชย ¼ ช้อนชา
  • กานพลู ¼ ช้อนชา

วิธีทำ

  • 1. เริ่มจากผัดพริกแกงเขียวหวานกับหัวกะทิสดโดยใช้ไฟกลาง
  • 2. พอพริกแกงเขียวหวานเริ่มร้อนใส่อกไก่ลงผัดพร้อมกันจนพริกแกงและไก่เริ่มสุก-หอม ปรุงรสชาติด้วยน้ำปลา น้ำตาล ผัดจนเข้ากันดีปิดไฟพักไว้
  • 3. นำข้าวสวยหอมมะลิลงคลุกกับพริกแกงเขียวหวานและไก่ที่ผัดเตรียมไว้ คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างเบามือ และระวังอย่าให้เมล็ดข้าวหัก
  • 4. พอเคล้าส่วนผสมจวนเข้ากันดี แล้วเปิดไฟค่อยๆ หยอด “น้ำมันรำข้าว” ตามขอบกระทะคนแบบตะล่อมไปเรื่อยๆ จนข้าวผัดพริกแกงเขียวหวานมีกลิ่นหอม
  • 5. เติมผักทั้งหมดที่เตรียมไว้ แล้วตักใส่ภาชนะพร้อมเสิร์ฟ

162066185560

ข้าวผัดแกงเขียวหวาน ตำรับเชฟป้อม-พัชรา พิระภาค

ในเรื่องของ กะทิ ที่คนส่วนใหญ่มักมีภาพของ ‘ข้อเสีย’ เช่น กินแล้วอ้วน ไขมันสูง เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของกะทิที่มีความข้นและความมัน(อร่อย)

เว็บไซต์ “แพทย์ทางเลือก.com” ระบุว่า ความจริงแล้วการกิน ‘กะทิ’ ไม่ได้ทำร้ายสุขภาพอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ ปัจจุบันมีงานวิจัยใหม่ๆ ที่พบว่า ‘กะทิ’ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงทำให้เทรนด์การกินกะทิกลับมาเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทั้งใช้ทำเครื่องดื่ม ปรุงอาหารคาว-หวาน รวมไปถึงการทำเบเกอรี่ ทดแทนการใช้นมวัวในเมนูต่างๆ

กะทิเป็นสารอาหารกลุ่มไขมันที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ให้พลังงานและช่วยในการดูดซึม วิตามิน A, D, E และ K เป็นส่วนประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มกระดูกและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย

162066202092

แกงเขียวหวานรุปแบบปกติที่มีส่วนผสมของ "กะทิ"

ในกะทิยังมีกรดลอริก (Lauric acid) เช่นเดียวกับใน “น้ำนมแม่” ซึ่งช่วยเพิ่มภูมิต้านให้แก่ร่างกาย สามารถช่วยต่อต้านเชื้อไวรัส และป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อจุลินทรีย์ และต่อต้านเชื้อราภายในร่างกาย

เนื่องจาก มะพร้าว เป็นพืช จึงทำให้กะทิไม่มีคอเลสเตอรอล อีกทั้งกะทิประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวขนาดปานกลาง (MCFAs) ซึ่งถูกย่อยได้ง่าย และดูดซึมได้เร็ว สามารถนำไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่เก็บสะสมเป็นไขมันส่วนเกิน นอกจากนี้ กะทิเมื่อโดนความร้อนจะไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์ ไม่เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ดี การกินกะทิให้เกิดประโยชน์ ต้องกินในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอาหารทุกอย่าง หากกินเกินความจำเป็นและความต้องการของร่างกาย ก็จะเกิดพลังงานสะสมส่วนเกินในรูปแบบของ 'ไขมัน' ทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้ และเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงยิ่งขึ้น ควรออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ

รวมทั้งยึดหลัก D-M-H-T-T..เว้นระยะห่าง (Social Distancing) สวมหน้ากากอนามัย  (Mask Wearing) หมั่นล้างมือ (Hand Washing) ตรวจวัดอุณหภูมิ (Testing) และสแกนแอปฯ ไทยชนะ (Thai Cha Na)

ยกการ์ดสูงๆ เข้าไว้