‘กฎหมายจราจร’ กับการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในการรักษา "กฎหมายจราจร" การมีส่วนร่วมของผู้ใช้รถใช้ถนนคือปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยใช้เหตุผลทางเทคนิคเพื่อจัดการจราจรให้ประชาชนมีความปลอดภัยและความสะดวกสบายร่วมกัน เป็นไปได้มากขึ้น
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของแต่ละบุคคลแล้วยังได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางสังคมอีกหลายประการ จากมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพของแต่ละบุคคลไม่ให้ต้องเป็นผู้ติดเชื้อหรือเป็นพาหะนำเชื้อ ที่สำคัญประการหนึ่งคือการให้อยู่บ้านหรือลดการเดินทางให้น้อยที่สุด ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งก็คือสภาพการจราจร กล่าวคือปริมาณการใช้รถใช้ถนนของประชาชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
แต่ในอีกด้านหนึ่งจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่าการใช้จักรยานยนต์ส่งอาหารในเขตเมืองเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาใหม่ๆ เช่น ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ในช่วงต้นเดือน มี.ค.2564 มีข่าวการประกาศใช้กฎกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ.2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2564 นับเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในขณะนั้น ก่อนที่การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ของโรคโควิด-19 จะดึงความสนใจของประชาชน ทำให้ข่าวการประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวถูกกลบหายไป
ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ การที่กฎกระทรวงได้แบ่งรถเป็น 7 ประเภท โดย 6 ประเภทแรกมีการกำหนดอัตราความเร็วรถไว้แตกต่างกันเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะและการใช้งานของรถ สำหรับรถอื่นที่นอกจากรถ 6 ประเภทแรกสามารถใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยหากรถดังกล่าวอยู่ในช่องเดินรถช่องขวาสุดก็ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น
กระทรวงคมนาคมเห็นว่า การกำหนดความเร็วในช่องจราจรขวาสุดไว้ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นก็เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุการชนกันในช่องทางที่รถวิ่งด้วยความเร็ว ในขณะที่ประชาชนบางส่วนเห็นด้วยกับกฎกระทรวงนี้ เพราะจะทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความปลอดภัยและสะดวกรวดเร็ว แต่บางส่วนกลับเห็นว่าน่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นและร้ายแรงมากขึ้นหากมีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ทางเดินรถร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงดังกล่าวนั้นมิได้ใช้บังคับในทางหลวงทั่วไป แต่จะมีผลใช้บังคับเฉพาะในทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่มีลักษณะตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ คือ ต้องมีทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องทางเดินรถขึ้นไป มีเกาะกลางถนนแบบกำแพง (Barrier Median) ที่มั่นคงแข็งแรงและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ซึ่งทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทเส้นใดจะอยู่ภายใต้กฎกระทรวงนี้จะเป็นตามที่ผู้อำนวยการทางหลวงประกาศกำหนด
เมื่อพิจารณาในแง่ทฤษฎีกฎหมาย กฎหมายจราจรไม่ใช่กฎหมายที่มีรากฐานจากเหตุผลทางศีลธรรม แต่เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยใช้เหตุผลทางเทคนิคเพื่อจัดการจราจรให้ประชาชนมีความปลอดภัยและความสะดวกสบายร่วมกัน จึงเป็นกฎหมายที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามสภาวะปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เสมอ
โดยมีวงจรที่เป็นหลักการและแนวทางในการพัฒนากฎหมายเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยสังเขป คือ
1.ก่อนออกกฎหมายหรือแก้ไขเพิ่มเติม ต้องมีกระบวนการร่วมกันในการคิดวิเคราะห์สภาพสังคม ปัจจัยแวดล้อมโดยใช้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน มีเหตุผล และมีกระบวนการที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนทัศนคติต่อกันได้
2.เมื่อกฎหมายออกบังคับใช้ ต้องถือเป็นกฎเกณฑ์ร่วมกันของสังคมอย่างเป็นทางการ ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น รวมถึงต้องร่วมกันรับผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายนั้นด้วย ทั้งที่เป็นผลโดยตรงและผลกระทบแวดล้อมอื่นๆ จากการใช้กฎหมาย
3.เมื่อระยะเวลาหนึ่งผ่านไปหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายและประชาชนต้องประเมินผลการใช้กฎหมายนั้นว่าเป็นไปตามความคาดหมายหรือวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือไม่ หากส่วนใดไม่บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่เป็นไปตามความคาดหมายก็หมุนเวียนกลับไปสู่ข้อ 1 คือจะต้องร่วมกันคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ แล้วดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายกันต่อไป
จากหลักการดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2560) จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรากฎหมายไว้โดยกำหนดว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างครบถ้วน รอบด้าน และเปิดให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อให้ผู้มีอำนาจตรากฎหมายได้นำมาใช้พิจารณาประกอบการตรากฎหมาย อีกทั้งเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วจะต้องมีกระบวนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามรอบระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วย เพื่อตรวจสอบความประสิทธิผลและความเหมาะสมของกฎหมายนั้นอย่างสม่ำเสมอ
ในส่วนของกฎจราจรที่อยู่ในรูปของ “อนุบัญญัติ” เช่นกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น อาจไม่ต้องผ่านกระบวนการที่เข้มข้นดังที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อย่างไรก็ดี กฎจราจรก็ควรถูกตรวจสอบความเหมาะสมอยู่สม่ำเสมอตามสภาพการณ์และปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ
1.สภาวะทางกายภาพของเส้นทางและป้ายจราจรต่างๆ 2.การบังคับใช้กฎจราจรโดยเคร่งครัดและสม่ำเสมอ และ 3.ประชาชนผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้เส้นทางเป็นไปโดยปลอดภัยและลดอุบัติเหตุในทางเดินรถตลอดการเดินทาง
ดังนั้น หากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่สนใจไม่เคร่งครัดต่อกฎจราจร การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎจราจรก็จะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เพราะถ้าเราคาดหมายให้ “การเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยเป็นชีวิตวิถีใหม่ในเส้นทางเดินรถ” การมีส่วนร่วมกันในการรักษากฎจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนคือปัจจัยสำคัญ และหากกฎจราจรนี้ไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ เราก็มาร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายกันต่อไป